In Focusย้อนรอยการเมืองโลกปี 2561 กับประเด็นสำคัญตลอด 12 เดือน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 12, 2018 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เวลาผ่านไปได้ไม่เท่าไรปฏิทินก็เปลี่ยนหน้าเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคมเสียแล้ว ปี 2561 นี้ถือเป็นปีที่แวดวงการเมืองมีประเด็นที่ต้องจับตาอยู่แทบทุกเดือน โดยสื่อทั่วโลกต่างหันกล้องไปที่สองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐกับจีน ที่แม้เคลื่อนไหวเพียงนิดเดียวแต่ก็ส่งอิทธิพลไปทุกวงการไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เวทีการเมืองโลกปีนี้ยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่เป็นที่จับตาไม่แพ้กัน In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาทุกท่านย้อนรอยแวดวงการเมืองโลกเริ่มตั้งแต่ต้นปี

*มกราคม: เก็บตกสถานการณ์ "ชัตดาวน์" สะท้อนปมความขัดแย้งรีพับลิกัน-เดโมแครต

เปิดฉากเวทีการเมืองช่วงต้นปีด้วยความโกลาหลที่เรียกว่า "ชัตดาวน์" นั่นคือการปิดหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากสภาคองเกรสของสหรัฐคว้าน้ำเหลวในการรับรองงบประมาณชั่วคราวให้ทันเส้นตายเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 19 มกราคม ส่งผลให้พนักงานรัฐราว 850,000 คนถูกสั่งให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แม้ว่าในเวลาต่อมาสถานการณ์ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี และปิดฉากสุญญากาศงบประมาณลงได้ภายใน 3 วัน แต่เหตุการณ์แค่เพียงช่วงสั้น ๆ นี้ ก็สะท้อนหลายๆอย่างได้เป็นอย่างดี

ภาวะชัตดาวน์อยู่คู่กับการเมืองสหรัฐมาหลายยุคหลายสมัย การชัตดาวน์ครั้งนี้นับเป็นเป็นครั้งที่สี่ในรอบ 25 ปี โดยมีสาเหตุหลักจากปมความขัดแย้งระหว่างรีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐ (DACA) ซึ่งเป็นนโยบายสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อให้สิทธิในการพักอาศัยและประกอบอาชีพชั่วคราวแก่ผู้ที่อพยพเข้ามาในสหรัฐก่อนอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ แต่พอมาถึงสมัยของปธน.ทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐก็ได้ยกเลิกโครงการดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิกพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาเสนอให้ร่างกฎหมายงบประมาณพ่วงการต่ออายุโครงการ DACA เข้าไปด้วย จึงจะยอมลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างกฎหมาย ทว่าพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย จึงเป็นเหตุให้รวบรวมคะแนนเสียงได้ไม่ทันเส้นตายและทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์ท้ายที่สุด

*กุมภาพันธ์: ปูเสื่อต้อนรับ "เจอโรม พาวเวล" ประธานเฟดคนใหม่

ปิดฉากยุคของนางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเธอถูกแทนที่ด้วยนายเจอโรม พาวเวล ซึ่งได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานเฟดคนที่ 16 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ นางเยลเลน ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เฟดเป็นเวลาเกือบ 17 ปี โดยทำหน้าที่ 4 ปีในฐานะประธานเฟด อีก 4 ปีในฐานะรองประธานเฟด และอีก 3 ปีในตำแหน่งผู้ว่าการเฟด และ 6 ปีในฐานะประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ส่วนนายพาวเวลเป็นอดีตผู้ว่าการเฟดและประธานเฟดรายแรกในรอบประมาณ 40 ปีที่ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์

*มีนาคม: จีนอุ้ม "สี จิ้นผิง" ขึ้นแท่นประธานาธิบดีตลอดกาล – "ปูติน" ไม่น้อยหน้า

เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในแวดวงการเมืองจีนและรัสเซีย โดยในฝั่งจีนนั้น เป็นเดือนของการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) หรือ "ฉวนกั๋วเหรินต้า" ชุดที่ 13 ขณะที่สื่อกระแสหลักของจีนก็ปูดข่าวกันออกมาแต่เนิ่น ๆ แล้วว่า ที่ประชุม NPC คราวนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งจะเปิดทางให้สี จิ้นผิง นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีได้ต่อไปหลังจากปี 2566 และแล้วก็เป็นไปตามคาด เมื่อที่ประชุม NPC มีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย หรือ 10 ปี ซึ่งจะปูทางให้สี จิ้นผิง ครองอำนาจต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด นับเป็นข่าวใหญ่ในคราวนั้น

ด้านรัสเซียเองก็ไม่น้อยหน้า โดยในเดือนเดียวกันนี้ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเพื่อครองตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สี่ ด้วยคะแนนเสียง 76.6% ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ และทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 ที่ได้คะแนนเสียงเพียง 11.9% โดยนายปูตินได้รับคะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากที่เขาเคยได้รับ 52.9% ในปี 2543, 71.3% ในปี 2547 และ 63.6% ในปี 2555

*เมษายน: "เฟซบุ๊ก" ถูกดึงเข้าสังเวียนการเมือง บีบ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" ให้การสภาคองเกรส

เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้เข้ามาครองพื้นที่สื่อการเมืองหลังจากมีข่าวออกมาว่าแคมบริดจ์ อนาลิติกา ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์การเมือง สามารถเข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคนโดยไม่ได้รับอนุญาต และเอื้อประโยชน์ต่อทีมหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 เหตุการณ์ดังกล่าวบีบให้นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ต้องเข้าให้การต่อบรรดานักการเมืองในสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยการที่ผู้บริหารของโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลกต้องตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

*พฤษภาคม: มาเลเซียเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ สหรัฐประกาศสะบั้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

เดือนนี้เป็นเดือนที่มาเลเซียเป็นที่จับตาจากสื่อทั่วโลก โดยเป็นเดือนที่มาเลเซียได้เปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไป แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ ผลการเลือกตั้งที่นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สามารถนำพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้แบบหักปากกาเซียน เป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้านล้มอำนาจพรรคอัมโน และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ที่ครองตำแหน่งรัฐบาลมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "มารดาแห่งการเลือกตั้งทั้งปวง" (The mother of all elections)

และในเดือนเดียวกันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านก็ได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน พร้อมประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งอิหร่านได้ลงนามร่วมกับกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี เมื่อปี 2558 นั้น คว้าน้ำเหลวในการลดความทะเยอทะยานของอิหร่านในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

*มิถุนายน: ซัมมิต "ทรัมป์-คิม" ชิงพื้นที่สื่อทุกเจ้า

สำหรับความเคลื่อนไหวในแวดวงการเมืองโลกในเดือนนี้ เหตุการณ์ที่ถูกจับตามากที่สุดคงหนีไม่พ้นการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นัดหยุดโลกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ กับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ณ โรงแรมคาเปลลา ประเทศสิงคโปร์

"โลกจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่" เป็นถ้อยแถลงของนายคิม จอง อึน ระหว่างการลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดดังกล่าว แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วการประชุมที่เกิดขึ้นจะทำให้หลายฝ่ายกังขาถึงผลการหารือที่ตามมา เนื่องจากยังคงมีหลายประเด็นที่ยังคงคลุมเครือและขาดความชัดเจน อย่าง การปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

*กรกฎาคม: กัมพูชาเปิดหีบเลือกตั้ง พรรค"ฮุนเซน"กวาดเรียบทุกที่นั่งในสภาผู้แทนฯ

ย้อนกลับมาที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราบ้าง ในเดือนนี้ชาวกัมพูชาได้เปิดหีบเลือกตั้ง โดยพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนี้ได้อย่างถล่มทลาย จากการที่ทางพรรคสามารถกวาดที่นั่งทั้งหมดจำนวน 125 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หนุนพรรค CPP จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ต่อเนื่องจากที่ได้ครองอำนาจมานานกว่า 30 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาคมนานาชาติถึงความไม่ชอบธรรม เนื่องจากปราศจากพรรคการเมืองคู่แข่งหลักลงชิงชัย ยังไม่รวมถึงการดำเนินมาตรการที่ไม่ชอบมาพากล สร้างความได้เปรียบให้กับพรรครัฐบาลในการเลือกตั้ง

*สิงหาคม: "สหรัฐ-ตุรกี" ลั่นกลองรบ กระทบทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

หลังจากประกาศศึกไปรอบด้าน แต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังไม่หยุดท่าทีแข็งกร้าวต่อนานาประเทศ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี โดยสั่งอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และห้ามชาวสหรัฐทำธุรกรรมใด ๆ กับรัฐมนตรีตุรกีทั้งสองคนนี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐไม่เคยทำกับตุรกีมาก่อน ขณะที่รัฐบาลตุรกีก็ได้ออกมาตอบโต้ทันควัน ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกันต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของสหรัฐ

การประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของต่างฝ่ายมีขึ้น หลังจากที่ตุรกีไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวง แอนดรูว์ บรุนสัน ชาวสหรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรก่อการร้ายและสายลับ ด้วยการให้การช่วยเหลืออิหม่ามเฟตุลเลาะห์ กูเลน ซึ่งถูกทางการตุรกีกล่าวหาว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2559 จนต้องลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจตุรกีที่เดิมทีนั้นไม่สู้ดีอยู่แล้วต้องย่ำแย่ลงไปอีก โดยค่าเงินลีราได้ร่วงลงอย่างหนัก ขณะเดียวกันตุรกียังเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประธานาธิบดีตุรกีต้องออกมาใช้มาตรการรับมือมากมาย ทว่าสถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ส่งผลให้ล่าสุดศาลตุรกีมีคำตัดสินปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นก้าวแรกในการช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและตุรกี แต่จนถึงวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนี้ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน

*กันยายน: ศาลเมียนมาจำคุกสองนักข่าวรอยเตอร์ โต้เสียงวิจารณ์นานาชาติ

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ศาลเมียนมาได้ตัดสินจำคุกผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน คนละ 7 ปี หลังจากถูกจับกุมตัวก่อนหน้านี้ในข้อหาทำผิดกฎหมายว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการของเมียนมา เหตุเพราะพบว่าพวกเขาครอบครองเอกสารเกี่ยวกับความขัดแย้งในรัฐยะไข่ โดยนายวา โลน อายุ 32 ปี และนายจ่อ โซโอ อายุ 28 ปี เป็น 2 ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ที่ถูกทางการเมียนมาควบคุมตัว ขณะที่พวกเขากำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฆาตกรรมชาวโรฮิงญา 10 ราย ในพื้นที่ทางตะวันตกของพม่าเมื่อสามเดือนก่อนหน้านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันอย่างหนักจากนานาประเทศให้ปล่อยตัวนักข่าวทั้งสอง หลังจากนั้นไม่นาน นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว โดยนางออง ซาน ซูจี เปิดเผยว่า ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากพวกเขาทำผิดกฎหมายว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการของเมียนมา ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาเป็นผู้สื่อข่าว พร้อมตั้งคำถามถึงบรรดาผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้อ่านคำพิพากษาของศาลหรือไม่

ล่าสุดแม้ว่าจะยังไม่มีข่าวการปล่อยตัว แต่เมื่อคืนนี้ นิตยสารไทม์ได้ประกาศยกย่องผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารหรือจำคุก เป็นบุคคลแห่งปีประจำปีนี้ โดยภาพของนายวา โลน และนายจ่อ โซโอ เป็นหน้าปกแบบที่ 4 ของไทม์

*ตุลาคม: ปริศนาชะตากรรม "จามาล คาช็อกกี" กับบทสรุปที่สะเทือนใจ

ไม่กี่เดือนนี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับมนุษยธรรมขึ้น เมื่อการหายตัวไปอย่างลึกลับของ "จามาล คาช็อกกี" ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนระอุที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐ ซึ่งท้ายที่สุด ทางการซาอุดีอาระเบียก็ได้ออกมายืนยันว่า นายคาช็อกกีนั้นเสียชีวิตแล้ว อันเนื่องมาจากเหตุทะเลาะวิวาท

แม้ซาอุดีอาระเบียได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใด ๆ กับคดีนี้ แต่เรื่องราวยังไม่จบลงง่าย ๆ เพราะสหรัฐยังคงเคลื่อนไหวกับเรื่องนี้ต่อไป โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ได้สรุปว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้สั่งการให้สังหารนายจามาล คาช็อกกี ขณะที่ฝั่งซาอุดีอาระเบียได้ออกมาปฏิเสธ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุฯ สั่นทอนถึงขั้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมินทักทายมกุฏราชกุมารเสียสิ้น

*พฤศจิกายน: สหรัฐเลือกตั้งกลางเทอม ชี้อนาคต "ทรัมป์"

เมื่อเดือนที่ผ่านมา สหรัฐได้เปิดฉากการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งถูกมองว่าเป็นประชามติชี้วัดผลงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นการชี้อนาคตอีกสองปีที่เหลือว่า ทรัมป์จะเดินหน้าอย่างราบรื่นบนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือต้องเหยียบย่ำไปบนหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม

เส้นทางในอีกสองปีที่เหลือของปธน.ทรัมป์คงดูไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะผลการเลือกตั้งชี้ชัดแล้วว่า พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรครีพับลิกันของปธน.ทรัมป์ สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งการที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะสร้างความยากลำบากต่อปธน.ทรัมป์ ในการผ่านนโยบายต่าง ๆ

*ธันวาคม: จับตาการเมืองอังกฤษ ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ส่งท้ายปีนี้

สถานการณ์ทางการเมืองปลายปีนี้ยังคงร้อนแรงไม่แพ้ต้นปี ประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นั้นยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ แม้ผ่านไปแล้ว 2 ปีนับตั้งแต่วันลงประชามติ เส้นทางการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นไม่เคยราบรื่น รัฐมนตรีคนสำคัญ ๆ ของอังกฤษต่างพากันลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านแผน Brexit ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ล่าสุด แผนการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากฝั่งยุโรปแล้ว และขณะนี้รอการรับรองจากฝั่งอังกฤษเท่านั้น แต่ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ฝั่งอังกฤษมีผู้ที่คัดค้านแผนการดังกล่าวมากมาย ถึงขั้นที่นางเทเรซา เมย์ ต้องยอมเลื่อนโหวตข้อตกลง Brexit อย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาในการชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะถ้าเปิดโหวตตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 11 ธ.ค.นั้น แผนการนี้อาจถูกคว่ำกลางสภา

ในฝั่งของสหรัฐกับจีนนั้นก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เมื่อนางเมิ่ง ว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทหัวเว่ย และบุตรสาวผู้ก่อตั้งบริษัท ถูกทางการแคนาดาจับกุมตัวเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ตามคำขอของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เนื่องจากคาดว่าทางบริษัทอาจลักลอบขายสินค้าให้กับอิหร่าน ซึ่งถูกสหรัฐคว่ำบาตร ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ทางการจีนออกมาตอบโต้ทันที เพราะหัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติจีน โดยหลังจากนั้นไม่นาน กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์สั่งให้ทางการสหรัฐปล่อยตัวนางเมิ่งทันที

ข่าวการจับกุมตัวผู้บริหารหัวเว่ยนี้ ได้สร้างความกังวลไปทั่วโลก เพราะคาดว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ก่อนหน้านั้นดูเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยนอกเหนือจากการออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางเมิ่ง ว่านโจวแล้ว ทางการจีนยังได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีนเข้าพบ ทั้งยังได้ควบคุมตัวอดีตนักการทูตชาวแคนาดารายหนึ่ง ซึ่งคาดกันว่ามีขึ้นเพื่อตอบโต้บทบาทของแคนาดาในเรื่องนี้

ล่าสุดวันนี้ ศาลแคนาดาได้อนุญาตให้ประกันตัวนางเมิ่ง ว่านโจวแล้ว หลังจากอดีตเพื่อนร่วมงานและครอบครัวของนางเมิ่งได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดและบ้านในการขอประกันตัว อย่างไรก็ดี ยังมีความเป็นไปได้ที่นางเมิ่งจะถูกส่งตัวไปยังสหรัฐเพื่อรับการพิจารณาคดีต่อไป แต่ถึงอย่างนั้น ในวันเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศพร้อมแทรกแซงกรณีการจับกุมตัวนางเมิ่ง หากจะช่วยให้บรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า นางเมิ่ง ว่านโจว เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ เมื่อดูจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังหาบทสรุปไม่ได้ ทั้งความเคลื่อนไหวในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับตุรกี ซาอุฯ และจีน ไปจนถึงความคืบหน้าในการแยกอังกฤษออกจากยุโรป โดยบทสรุปของเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นเช่นใด คำตอบอาจปรากฏให้เห็นได้ในปีหน้า


แท็ก In Focus:   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ