วันนี้ ถือเป็นวันเริ่มนับถอยหลัง 100 วัน ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการในเวลา 23.00 น.ของวันที่ 29 มี.ค.2562 ตามเวลาอังกฤษ หรือเวลา 06.00 น.ของวันที่ 30 มี.ค.2562 ตามเวลาไทย
อย่างไรก็ดี แม้จะเหลือเวลาเพียง 100 วัน แต่ขณะนี้ กระบวนการ Brexit ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยชาวอังกฤษยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันดังกล่าว อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) อย่างราบรื่น โดยมีการทำข้อตกลงอย่างเรียบร้อยหรือไม่ หรือเป็นการหย่าขาดจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลงกัน
นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำลังปวดหัวอยู่กับปัญหา Brexit โดยชาวอังกฤษเองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุน หรือคัดค้าน Brexit ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง Brexit ที่นางเมย์ทำไว้กับผู้นำ EU และเมื่อนางเมย์ไปพบผู้นำ EU เพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในข้อตกลง ผู้นำเหล่านี้ก็ปิดประตูไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขข้อตกลง
In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอเจาะลึกเรื่องราวของ Brexit ซึ่งถึงแม้อังกฤษผ่านการลงประชามติเกี่ยวกับ Brexit เป็นเวลา 2 ปีครึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่บนทางสองแพร่งระหว่างจะออกหรือไม่ออกจาก EU
วิกฤตการณ์ที่นางเมย์กำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อังกฤษอาจเปลี่ยนใจหันกลับมาอยู่กับ EU ต่อไป
ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 ฝ่ายที่สนับสนุน Brexit ชนะไปด้วยคะแนน 52% ต่อ 48% แต่หลังจากนั้น ฝ่ายที่คัดค้าน Brexit ก็พยายามหาทางเพื่อให้มีการลงประชามติครั้งใหม่ ถึงแม้นางเมย์ยืนกรานหลายครั้งว่าจะไม่มีการลงประชามติใหม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ในแวดวงการเมืองให้ความเห็นว่า โอกาสที่อังกฤษจะลงประชามติครั้งใหม่ยังคงมีอยู่ หากเกิดปัจจัยต่างๆเหล่านี้
1)รัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลง Brexit
ถึงแม้ว่าร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ได้รับการยอมรับจากผู้นำ EU แต่ร่างข้อตกลงดังกล่าวก็ได้สร้างความคลางแคลงใจต่อสมาชิกสภาสามัญชนของอังกฤษ แม้แต่ในพรรคอนุรักษ์นิยมของนางเมย์เอง โดยมีประเด็นที่อ่อนไหวคือ การควบคุมชายแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งรวมตัวอยู่กับ EU ในขณะนี้ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และจะต้องแยกตัวออกจาก EU ตามอังกฤษ
นางเมย์พอจะรู้ชะตากรรมของร่างข้อตกลง Brexit ว่าจะถูกคว่ำกลางสภา จึงได้ตัดสินใจเลื่อนการโหวตออกไปอย่างไม่มีกำหนด ก่อนที่การลงมติจะมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงในวันที่ 11 ธ.ค. โดยนางเมย์หวังที่จะซื้อเวลาชี้แจงทำความเข้าใจต่อสมาชิกสภาสามัญชนจำนวนมากที่ยังคงมีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อร่างข้อตกลงดังกล่าว ขณะที่หาทางเจรจากับ EU เพื่อแก้ไขร่างข้อตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ดี EU ได้ปิดทางเจรจาแก้ไขร่างข้อตกลง Brexit โดยยืนยันว่าร่างข้อตกลงฉบับนี้ ถือเป็นฉบับดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ล่าสุด นางเมย์ประกาศว่า จะมีการลงมติในรัฐสภาต่อร่างข้อตกลง Brexit ในกลางเดือนม.ค.ปีหน้า โดยเป็นสัปดาห์ที่เริ่มต้นวันที่ 14 ม.ค.
ทางด้านนายฮิวโก ดิกสัน รองประธานของกลุ่มรณรงค์ People’s Vote ซึ่งสนับสนุนให้มีการลงประชามติ Brexit ครั้งใหม่ กล่าวว่า "ผมคาดว่าสภาจะโหวตคว่ำร่างข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น อำนาจในการโหวตก็จะกลับสู่มือประชาชน"
"การที่รัฐสภาไม่ให้การอนุมัติร่างข้อตกลง Brexit ไม่ได้หมายความว่าเราจะออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง แต่จะหมายความว่าประชาชนจะมีอำนาจโหวตใหม่ โดยมีทางเลือกที่จะอยู่กับ EU ต่อไป" นายดิกสันกล่าว
2)เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอังกฤษ
หากรัฐสภาอังกฤษไม่ให้การรับรองข้อตกลง Brexit ก็จะทำให้อังกฤษเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยอาจส่งผลให้นางเมย์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และอาจต้องมีการยุบสภาสามัญชนเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ 3 ใน 4 คนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้แก่ นายจอห์น เมเจอร์ นายโทนี่ แบลร์ และนายกอร์ดอน บราวน์ ต่างก็กล่าวว่า การทำประชามติครั้งที่ 2 จะเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว
"ผมยังคงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่กระบวนการ Brexit จะยุติลง" นายแบลร์กล่าว
ส่วนพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ทางพรรคจะผลักดันให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ หากร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา
อย่างไรก็ดี การที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ สมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 ของทั้งหมดจำนวน 650 คนจะต้องลงชื่อสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งใหม่ .
3)รัฐสภาออกออกฎหมายสนับสนุนการจัดการลงประชามติครั้งใหม่
หากอังกฤษเผชิญวิกฤตการณ์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ท่ามกลางความล้มเหลวของทางเลือกอื่นๆ เช่น การจัดการเลือกตั้งใหม่, การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และการเปิดการเจรจาข้อตกลง Brexit ครั้งใหม่ต่อ EU รัฐสภาก็อาจเรียกร้องให้มีการจัดทำประชามติ Brexit ครั้งใหม่ ด้วยการออกกฎหมายรองรับการทำประชามติดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการนำพาให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะชะงักงันทางการเมือง
4) อังกฤษประกาศยกเลิกกระบวนการ Brexit แต่เพียงฝ่ายเดียว
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของ EU แถลงคำวินิจฉัยครั้งประวัติศาสตร์ โดยระบุว่า อังกฤษสามารถดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวในการยกเลิกกระบวนการ Brexit โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก EU
ก่อนหน้านี้ นักการเมืองของสก็อตแลนด์เป็นผู้ยื่นเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ECJ โดยหวังว่าคำวินิจฉัยของ ECJ จะช่วยปูทางให้มีการจัดการลงประชามติ Brexit ครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้สหราชอาณาจักรมีทางเลือกในการตัดสินใจอยู่กับ EU ต่อไป
อย่างไรก็ดี การประกาศยกเลิกกระบวนการ Brexit ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีประเทศใดเคยทำมาก่อน และรัฐบาลของนางเมย์ก็ยังไม่เคยส่งสัญญาณว่าจะเลือกใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อให้มีการจัดการลงประชามติ Brexit ครั้งใหม่
*ชาวอังกฤษเสียงแตกเกี่ยวกับหัวข้อการทำประชามติ
หากมีการทำประชามติครั้งใหม่ ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการใช้หัวข้ออะไร ขณะที่นายโจ จอห์นสัน น้องชายของนายบอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ควรมีการตั้ง 3 หัวข้อให้ประชาชนเลือก คือ 1) สหราชอาณาจักรควรแยกตัวออกจาก EU โดยใช้ข้อตกลงที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ทำไว้กับ EU ในขณะนี้ 2) สหราชอาณาจักรควรแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง 3) สหราชอาณาจักรควรรวมตัวกับ EU ต่อไปตามข้อตกลงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนับสนุน Brexit แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการตั้งหัวข้อดังกล่าว โดยระบุว่า การตั้งหัวข้อที่ 1 และ 2 เกี่ยวกับการแยกตัวออกจาก EU จะทำให้มีการตัดคะแนนกันเองระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน Brexit
*การทำประชามติครั้งใหม่จะแก้ปัญหาจริงหรือ
ถึงแม้จะมีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนให้มีการทำประชามติครั้งใหม่ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น
แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติรอบใหม่กล่าวว่า การทำเช่นนี้จะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากหากผลการลงประชามติคร้งที่ 2 ปรากฎว่า ฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษรวมตัวกับ EU ได้รับชัยชนะ ก็จะทำให้ฝ่ายที่สนับสนุน Brexit ออกมาเรียกร้องให้มีการทำประชามติรอบที่ 3 โดยหวังให้ฝ่ายตนเองกลับมามีชัยชนะ ซึ่งก็จะทำให้มีการลงประชามติไม่จบไม่สิ้น
*นักวิเคราะห์เตือนหุ้นตก, ปอนด์ร่วง หากอังกฤษจัดการเลือกตั้งใหม่
หลังจากที่นางเมย์ประกาศเลื่อนการลงมติในรัฐสภาเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ก่อนที่การลงมติจะมีขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค. เนื่องจากวิตกว่าข้อตกลงดังกล่าวจะถูกคว่ำกลางสภา บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองก็ได้เสนอให้อังกฤษจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อหารัฐบาลที่จะมานำพาประเทศผ่านกระบวนการ Brexit ก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า
อย่างไรก็ดี นายหลุยส์ คอสตา หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนของซิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่า ตลาดหุ้นจะดิ่งลง และค่าเงินปอนด์จะทรุดตัวลง หากอังกฤษจัดการเลือกตั้งใหม่ ก่อนการแยกตัวออกจาก EU
"ผมเชื่อว่านักลงทุนจะไม่ตอบรับการเลือกตั้ง เนื่องจากจะสร้างความเสี่ยงที่ไม่ต้องการ และปอนด์ก็ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรับความเสี่ยงดังกล่าว" นายคอสตากล่าว
เขาคาดว่า ปอนด์จะร่วงลงแตะระดับ 1.21 ดอลลาร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังจากที่ดิ่งลงมากกว่า 7% นับตั้งแต่ต้นปีนี้
ปอนด์ทรุดตัวลงอย่างหนักในวันที่ 23 มิ.ย.2559 ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจาก EU โดยปอนด์ร่วงลงจากระดับ 1.50 ดอลลาร์ สู่ระดับ 1.32 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี และขณะนี้ได้ปรับตัวลงเกือบ 13% นับตั้งแต่การลงประชามติดังกล่าว
*ทหารตบเท้า เตรียมรักษาความปลอดภัย หากเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย
นายแกวิน วิลเลียมสัน รมว.กลาโหมอังกฤษ กล่าวว่า กองทัพจะจัดเตรียมกำลังทหารจำนวน 3,500 นายในการให้การสนับสนุนต่อรัฐบาล หากเกิดการจลาจลในประเทศ ในกรณีที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า
นายวิลเลียมสันกล่าวว่า ถึงแม้ว่าทางกองทัพยังไม่ได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการให้เข้าช่วยเหลือรัฐบาลในการรักษาความสงบในประเทศ แต่ทางกองทัพก็จะจัดเตรียมกำลังพลจำนวน 3,500 นาย ซึ่งรวมทั้งทหารที่รับราชการในปัจจุบัน และทหารกองหนุน เพื่อรองรับความต้องการจากหน่วยงานใดๆของรัฐบาลที่ต้องการความช่วยเหลือ
*เคาท์ดาวน์ 100 วันสู่ Brexit: ราบรื่น หรือ รุ่งริ่ง?
คณะรัฐมนตรีอังกฤษได้จัดการประชุมวานนี้ เพื่อหารือการเตรียมการรับมือในกรณี Brexit ที่ไม่มีการบรรลุข้อตกลง โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 2 พันล้านปอนด์ (2.5 พันล้านดอลลาร์) เพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว
ในระหว่างนี้ เราคงต้องจับตาการแก้ไขปัญหา Brexit ของรัฐบาลอังกฤษ ขณะที่เหลือเวลาอีกเพียง 100 วันก่อนเส้นตายแยกตัวจาก EU ในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า ซึ่งหากอังกฤษแยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง Brexit สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่สำหรับตลาดการเงินทั่วโลก ขณะที่ไทยเองก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากผลกระทบในครั้งนี้