In Focus"อีลอน มัสก์" กับภารกิจนำเทสลาบุกตลาดรถแดนมังกรผ่านโรงงาน Gigafactory 3

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 9, 2019 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โรงงาน Gigafactory แห่งที่ 3 ของเทสลา (Tesla) นับเป็นโครงการด้านการผลิตที่ลงทุนโดยต่างชาติโครงการใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เซี่ยงไฮ้ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านหยวน หรือ 7 พันล้านดอลลาร์ "อีลอน มัสก์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ได้เดินทางมาจีน เพื่อร่วมพิธีเปิดการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ด้วยตนเองเมื่อวานนี้ (8 ม.ค.)

ภารกิจของเทสลา คือ การเร่งการเปลี่ยนโฉมสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนด้วยการผลิตรถไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานที่ทุกคนสามารถซื้อหามาใช้งานได้ในปริมาณที่มากขึ้น หากพูดกันถึงการผลิตรถ 5 แสนคันต่อปีแล้ว บริษัทคงจะต้องใช้ซัพพลายแบตเตอรี่ลิเธียมไออนทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกใบนี้ แต่ด้วยความเป็น "อีลอน มัสก์" โรงงาน Tesla Gigafactory จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อผลิตทั้งรถและแบตเตอรี่

เพราะเหตุใด "อีลอน มัสก์" จึงเลือกจีนให้กับ Gigafactory แห่งที่ 3 และทำไม "จีน" เปิดประตูต้อนรับ "เทสลา" In Focus สัปดาห์นี้ จะพาไปหาคำตอบกัน

ตลาดรถไฟฟ้าแดนมังกร

"โรงงานแห่งนี้จะเป็น Gigafactory ที่ทันสมัยที่สุดของเทสลา ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ณ ที่นี้ เราสามารถสร้างโรงงานได้ภายใต้ระยะเวลาที่น่าประทับใจ เราหวังว่า จะสามารถผลิตเทสลา โมเดล 3 ได้ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะสามารถผลิตได้ในปริมาณมากขึ้นในปี 2563" มัสก์ ประกาศในพิธีเปิดการก่อสร้างโรงงาน

ด้วยนโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้รถพลังงานทางเลือก ยอดขายรถพลังงานไฟฟ้าในจีนปี 2561 จึงเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ยอดขายปี 2561 อยู่ที่ 1 ล้านคัน สำหรับปี 2563 จีนตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายรถพลังงานไฟฟ้าให้ได้ถึง 2 เท่า หรือ 2 ล้านคัน ขณะที่ โรบิน เรน รองประธานฝ่ายขายทั่วโลกของเทสลา เผยมุมมองที่มีต่อตลาดจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ว่า กลุ่มผู้ใช้รถในจีนตระหนักถึงเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เทสลาจึงตัดสินใจกรุยทางและบุกตลาดจีนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและครบวงจรด้วยการจัดแสดงรถเทสลา โมเดล S, โมเดล X และโมเดล 3 ในงาน China International Import Expo เมื่อเดือนพ.ย. 2561 ด้วยเป้าหมายที่จะตอกย้ำถึงจุดยืนของบริษัทในตลาดรถไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้ เทสลายังได้สร้างเครือข่ายสำหรับชาร์จแบตรถในเมืองต่างๆของจีน เช่น แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงทางตะวันออกของประเทศ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลทางตอนใต้ และไม่ลืมที่จะจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาในปักกิ่ง เพื่อโฟกัสในเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ การดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น การวิเคราะห์ข้อมูลของจีนและเอเชียแปซิฟิก ยานยนต์ที่เชื่อมโยงด้วยระบบอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการชาร์จพลังงาน

การผลิตรถของเทสลาในจีนจะทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มหาศาล หากมองในเรื่องของราคาขายเทสลารุ่นต่างๆแล้ว จะเห็นความแตกต่างของราคาได้ดี โดยเทสลา โมเดล 3 ที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐ ราคาเริ่มต้นที่ 35,000 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาจำหน่ายรถรุ่นนี้ในจีนจะอยู่ที่ 5-5.6 แสนหยวน หรือประมาณ 72,980 และ 81,738 ดอลลาร์ แต่หลังจากที่เทสลาเข้ามาผลิตรถในจีนแล้ว โมเดล 3 คาดว่า ราคาจะลงมาอยู่ที่ 4 แสนหยวน

Gigafactory 3

เทสลาได้เซ็นข้อตกลงสร้างโรงงานกับเทศบาลเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนก.ค. 2561 และได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ 864,885 ตารางเมตรในเขตนิคมอุตสาหกรรมหลินกัง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้ Gigafactory มีความสามารถในการผลิตรถไฟฟ้า 5 แสนคันต่อปี

เทสลาเริ่มก่อสร้างโรงงาน Gigafactory แห่งแรกที่เนวาดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 เพื่อผลิตแบตเตอรี่ และต่อมาได้สร้าง Gigafactory 2 ที่เมืองบัฟฟาโล นิวยอร์ก ช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ส่วนที่มาของชื่อ Gigafactory นั้น มาจากคำว่า Giga ซึ่งเป็นหน่วยวัดหลักพันล้าน

มลพิษ:ปัญหาใหญ่ที่รุมเร้า

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จีนต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะในเมืองใหญ่อันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วงจนตอนนี้ รัฐบาลต้องรับมือกับผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาแบบไม่ลดละ โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ

หนึ่งในนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน คือ นโยบายรถพลังงานไฟฟ้าที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหามลพิษในอากาศ ซึ่งจะเห็นได้จากการให้เงินอุดหนุนแก่ชาวจีนผู้ที่ซื้อรถพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ยอดซื้อรถพลังงานไฟฟ้าในจีนเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เจาะตลาดรถไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึง

สื่อต่างชาติมองว่า การผลิตเทสลา โมเดล 3 และโมเดล Y ถือเป็นการฉีกกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อจำหน่ายรถไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึงได้ในวงกว้างมากขึ้นทั้งในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ระดับโลกและยังเป็นตลาดที่มีความต้องการรถไฟฟ้าสูง หลังจากที่เทสลาได้ส่งเทสลา โมเดล S และโมเดล X ดึงส่วนแบ่งตลาดในจีนด้วยราคาที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าที่ผลิตในจีน และยังเป็นทางเลือกระดับพรีเมียมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับแบรนด์ ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานะและคุณภาพ คล้ายๆกับผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมอย่างไอโฟน

ค่ายรถจีนพร้อมรับมือ

ค่ายรถจีนเองก็พร้อมที่จะรับมือกับคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จิน กัวฉิง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฉางอาน ออโตโมบิล เปิดเผยว่า บริษัทของเขาได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนา และการควบคุมคุณภาพมาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ ยังมีจุดยืนด้านการตั้งราคาและเจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างไปจากลุ่มลูกค้าของเทสลา

"เราจะเพิ่มข้อได้เปรียบของเราให้เป็นไปได้มากที่สุด" จิน กล่าว

ชุย ตงชู เลขาธิการสมาคมรถยนต์ของจีน มองว่า การเข้ามาผลิตรถในจีนของเทสลาจะก่อให้เกิดผลพวงตามมากับอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน เช่น การผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตรถภายในประเทศเร่งยกระดับด้านการอัพเกรดเทคโนโลยีของตนเอง นอกจากนี้ เมื่อโรงงานของเทสล่าเริ่มการผลิตในปี 2563 รถของเทสลาในจีนก็จะได้แข่งขันกับค่ายรถจีนกันแบบแฟร์ๆ เนื่องจากจีนมีกำหนดการยุติการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลสำหรับการผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในปีดังกล่าว

ส่องกฎการอนุมัติบริษัทร่วมทุนจีน-ต่างชาติ

จะเห็นได้ว่า จีนได้เร่งดำเนินการเพื่อการเปิดเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดภาษีเพื่อเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆได้ โดยกฎระเบียบใหม่ของจีนที่เกี่ยวกับการอนุมัติการร่วมลงทุนด้านธุรกิจยานยนต์ระหว่างจีนและต่างชาติ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ โดยมาตรการที่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินของจีน จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ยาวนานในการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องให้กับบริษัทร่วมลงทุนด้านยานยนต์ให้อยู่ในรูปแบบของการยื่นเรื่องหรือลงทะเบียน

นอกจากนี้ จีนยังได้ยกเลิกประเด็นที่ก่อให้เกิดผลด้านลบสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศให้เหลือ 48 รายการ จากเดิมที่ 63 รายการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการขยายขอบเขตในการเข้าถึงตลาดสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

ค่ายรถจากเยอรมนีอย่าง BMW ประกาศเมื่อเดือนต.ค. 2561 ว่า จะเพิ่มสัดส่วนหุ้นในบริษัทร่วมลงทุนอย่าง BMW Brilliance Automotive ในเมืองเสิ่นหยางจาก 50% เป็น 75% รวมทั้งขยายระยะเวลาความร่วมมืออีก 22 ปี ไปจนถึงปี 2583 ส่วนบริษัท Mercedes-Benz Parts Manufacturing & Service Ltd. ได้ตั้งโรงงานแห่งแรกนอกทวีปยุโรปเมื่อเดือนต.ค. 2561 ที่หลินกัง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่โรงงานแห่งใหม่ของเทสลาตั้งอยู่

ในยุคที่จีนเปิดประเทศแบบจีนอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ที่ หลิว เจียง ชาวเซี่ยงไฮ้ ได้บอกกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวนั้น คงจะสะท้อนได้ดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด หลิวจำได้ว่า ตนเองเคยซื้อจักรยานในราคา 200 หยวนตอนที่เขาแต่งงานเมื่อปี 2523 และอีกหลายปีต่อมา หลิวก็ซื้อรถยนต์คันแรกยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หลังจากนั้นก็นิสสันอีกคัน และตอนนี้ ลูกของหลิวก็อยากจะได้ "เทสลา" สักคัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ