In Focusจากสิงคโปร์สู่ฮานอย จับตาทุกความเคลื่อนไหวก่อนเปิดฉากซัมมิต "ทรัมป์-คิม" รอบ 2 สัปดาห์หน้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 20, 2019 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ท่ามกลางเสียงร้องแสดงความยินดีอันกึกก้องจากนานาชาติต่อความสำเร็จในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ทว่าผลการประชุมที่เกิดขึ้นกลับเป็นที่กังขาและเคลือบแคลงใจสำหรับหลายฝ่าย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูถึงประเด็นที่ยังคงคลุมเครือและขาดความชัดเจน มิหนำซ้ำหลังจากเสร็จสิ้น "สิงคโปร์ ซัมมิต" ก็ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมจากทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางแห่งสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีดูไม่ราบรื่นอย่างที่คิด แต่ผู้นำทั้งสองชาติเตรียมจับมือเข้าสู่ประตูซัมมิตรอบ 2 ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอชวนผู้อ่านไปย้อนรอยเส้นทางแห่งสันติภาพระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ พร้อมจับตาความเคลื่อนไหวล่าสุดก่อนซัมมิต "ทรัมป์-คิม" รอบ 2 เปิดฉาก

จากสิงคโปร์ : ย้อนรอยซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์

"ถ้าผมไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ผมคิดว่าป่านนี้เราคงก่อสงครามครั้งใหญ่กับเกาหลีเหนือไปแล้ว" นี่เป็นถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำฝีปากกล้าแห่งยุคจากดินแดนแห่งเสรีภาพ หลังจากที่เขาประกาศจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดูท่าจะราบรื่นกับเกาหลีเหนือ อดีตศัตรูทางการเมือง แต่ถ้าหากย้อนกลับไปก่อนหน้าเพียง 2 ปี คงไม่มีใครคาดคิดว่าผู้นำจากสองขั้วอุดมการณ์ที่เคยสาดน้ำลายกันอย่างดุเดือดจะหันหน้ามาเจรจากันด้วยสันติวิธี จนเกิดการประชุมสุดยอดครั้งหยุดโลกระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 บนเกาะเซนโตซ่า ประเทศสิงคโปร์

หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง ผู้นำสหรัฐออกแถลงการณ์ด้วยท่าทียิ้มแย้ม ขานรับผลประชุมที่เป็นไปในทิศทางบวก สองประเทศเห็นพ้องลงนามข้อตกลงที่ระบุว่า 1. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันครั้งใหม่ ตามความปราถนาของประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรือง 2. สหรัฐและเกาหลีเหนือจะทำงานร่วมกันในการสร้างสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี 3. เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์บนคาบสมุทรเกาหลี ตามปฏิญญาปันมุมจอม วันที่ 27 เม.ย. 2561 และ 4. สองชาติให้คำมั่นว่าจะร่วมกันค้นหาเชลยศึกหรือผู้ที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งส่งผู้รอดชีวิตหรือร่างที่เหลืออยู่กลับคืนบ้านเกิด

การประชุมครั้งนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ ที่ทำหน้าที่คนกลางผู้ประสานรอยร้าวระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ ได้ร่วมแสดงความยินดี และกล่าวว่า "นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากทั้งสหรัฐและสองเกาหลี และเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับผู้คนทั่วโลกที่ปรารถนาสันติสุข" ไม่เพียงเท่านั้น นานาประเทศต่างร่วมแสดงความยินดีและชื่นชมว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของสันติสุขบนคาบสมุทรเกาหลี

แม้การเผชิญหน้ากันครั้งแรกของสองผู้นำจะจบลงอย่างราบรื่น ทว่าการประชุมที่เกิดขึ้นกลับสร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่ายที่มองว่า บางประเด็นยังคงคลุมเครือ ซ้ำยังไม่มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น กรอบรายละเอียดในการยุติการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยนายดารีล จี. คิมบอล กรรมการบริหารสมาคมควบคุมอาวุธของสหรัฐ แสดงความเห็นต่อผลการประชุมครั้งนี้ว่า "ยังไม่มีความชัดเจนว่า ณ จุดนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นที่ตรงกันต่อคำจำกัดความและลำดับขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีหรือไม่" ข้อตกลงที่ดูไร้นำหนักนี้ไม่เพียงสร้างความผิดหวังแก่หลายฝ่าย แต่ยังสร้างปัญหาที่ไม่มีทางออกตามมาในภายหลัง

ระหว่างทางสู่ฮานอย : เส้นทางแห่งสันติภาพที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อตกลงที่หละลวมดังกล่าว ทว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายพยายามเดินหน้าบรรลุข้อตกลงท่ามกลางความคิดเห็นและจุดยืนที่แตกต่าง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏเป็นรูปธรรมมากที่สุดจากวอชิงตันและเปียงยาง เห็นจะเป็นเพียงแค่ "การระงับชั่วคราว" มากกว่า "การยุติถาวร" โดยเริ่มตั้งแต่ที่สหรัฐสั่งระงับปฏิบัติการซ้อมรบร่วมทางทหารกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการกระทำที่รัฐบาลเกาหลีเหนือโจมตีมาตลอดว่าเป็นการฝึกเพื่อทำสงคราม นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐยังได้ส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะลดข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เกาหลีเหนือ ส่วนด้านเกาหลีเหนือได้ระงับการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา รวมถึงรื้อถอนฐานทดสอบขีปนาวุธตงชาง-รี และส่งคืนร่างทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่เสียชีวิตและถูกฝังไว้ในเกาหลีเหนือในช่วงสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493-2496

เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้พบปะหารือกันหลายต่อหลายครั้ง และมีการปรับท่าทีกันเรื่อยมา แต่ทางสหรัฐยังคงแสดงจุดยืนอันแข็งกร้าวในการยืนกรานมาตรการการคว่ำบาตรอย่างเต็มกำลังและกดดันเกาหลีเหนือจนกว่าจะทำการปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ถาวร และสามารถตรวจสอบได้ ทว่าทางฝ่ายเกาหลีเหนือกลับมองว่าข้อเรียกร้องการปลดอาวุธอย่างถอนรากถอนโคนของสหรัฐ มีลักษณะไม่ต่างจากข้อเรียกร้องของอันธพาล พร้อมกับเรียกร้องหามาตรการที่ต่างตอบแทน และได้ผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมากกว่า เมื่อข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การเจรจาในประเด็นสำคัญ เช่น การยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ การผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร จึงแทบไม่ปรากฏให้เห็นถึงความคืบหน้าเลยแม้แต่น้อย

ความคืบหน้าระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือยังคงดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า จนกระทั่งนายคิม จอง อึน อดีต "มนุษย์จรวดน้อย" ได้ออกมาแสดงจุดยืนผ่านสุนทรพจน์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เขาส่งสัญญาณพร้อมเจรจาและเต็มใจผลักดันให้กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่แสดงความไม่พอใจที่สหรัฐยังคงใช้มาตรการกดดันและคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ โดยกล่าวว่า "เราอาจจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและผลประโยชน์สูงสุดของรัฐ" หรือหมายความว่า เกาหลีเหนือก็อาจจะกลับไปดำเนินการแบบเดิม คือการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง

คำปราศัยของคิมไม่เพียงแต่แสดงเจตจำนงอันแรงกล้าในการเดินหน้าเจรจาหารือกับสหรัฐ แต่ย้ำถึงสถานะของผู้คุมชะตาคาบสมุทรเกาหลีที่ไม่ยอมเสียเปรียบและเป็นรองสหรัฐอยู่ฝ่ายเดียว นายแฮรี่ คาเซียนิส ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาป้องกันที่ศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ประจำกรุงวอชิงตัน มองว่าสุนทรพจนของคิมแสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือ "เต็มใจที่จะร่วมหารือกับสหรัฐ แต่ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของตัวเอง"

ท่าทีที่ประกาศกร้าวของเกาหลีเหนือว่า สหรัฐไม่ใช่ผู้คุมเกมกระดานแต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้สหรัฐมีท่าทีอ่อนข้อลงต่อเกาหลีเหนือ ทรัมป์ดูเหมือนยอมรับข้อเรียกร้องของคิมในเรื่องหลักการต่างตอบแทน หลังจากที่เคยยืนกรานข้อเรียกร้องฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ในที่สุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศในระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาครองเกรสว่าจะประชุมสุดยอดครั้งที่สองกับผู้นำเกาหลีเหนือในช่วงปลายเดือนนี้ที่ประเทศเวียดนาม

การปักหมุดเลือกเวียดนามเป็นสถานที่จัดการประชุมสะท้อนให้เห็นว่า เวียดนามมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเกาหลีเหนือมายาวนาน ตลอดจนเป็นพันธมิตรที่ดีกับทางฝั่งสหรัฐเช่นกัน เวียดนามจึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัวอย่างยิ่ง แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น การเลือกเวียดนามยังแฝงด้วยนัยเชิงสัญลักษณ์ นางซาชารีย์ อบูซา ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำวิทยาลัยสงครามแห่งชาติที่กรุงวอชิงตัน แสดงความเห็นว่า "จากฝั่งของสหรัฐ เราต้องการแสดงให้เกาหลีเหนือเห็นว่าประเทศจะเป็นอย่างไรหลังจากปลดอาวุธนิวเคลียร์และหยุดทำตัวเป็นชาติที่อันธพาล เราอยากแสดงภาพเวียดนามในฐานะตัวอย่างของรัฐสังคมนิยมที่ได้รับการปฏิรูปและเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่เฟื่องฟู" ดังนั้น การเลือกเวียดนามจึงมีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์และเหมาะสมกับภารกิจเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรของทรัมป์

ก่อนจะถึงฮานอยซัมมิต : ส่องวาระการประชุมทรัมป์-คิม

แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการถึงสิ่งที่ผู้นำจากแดนอินทรีและโสมแดงจะหารือกันในระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงฮานอย แต่นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ในการจัดประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 นี้ จะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นและมีรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนแต่ละฝ่ายคงจะยื่นข้อเรียกร้องและตอบรับข้อต่อรองของกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม

นายกอร์ดอน ชาง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชีย แสดงทัศนะต่อการประชุมสุดยอดที่เวียดนามครั้งนี้ว่า "สหรัฐจำเป็นต้องเรียกร้องให้เกาหลีเหนือเปิดเผยโรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมด รวมถึงกรอบเวลาในการปลดอาวุธนิวเคลียร์" ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีนับเป็นวาระสำคัญที่สุดที่สหรัฐต้องการ ขณะที่นายช็อง ซง-ชาง รองประธานฝ่ายวางแผนการวิจัยประจำสถาบันเซจง คาดการณ์ถึงวาระการประชุมโดยอ้างอิงข้อตกลงจากการเจรจาระหว่างผู้นำสองเกาหลีเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วว่า "วาระสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 นั้น หาใช่การยุติการทดสอบนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ แต่เป็นการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองยองเบียน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีขนาดใหญ่มากของโครงการนิวเคลียร์ รวมถึงทำลายฐานทดสอบเครื่องยนต์ขับดันขีปนาวุธและฐานปล่อยขีปนาวุธที่เมืองดงชางรี โดยแลกเปลี่ยนกับการดำเนินมาตรการของสหรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป"

สำหรับสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการที่จะได้รับมากที่สุดจากการประชุมครั้งนี้ คือ การผ่อนคลายมาตรการการคว่ำบาตรเพื่อมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมของประเทศ นายชอน ฮยอนจุน ประธานสถาบันการศึกษาด้านความร่วมมือเพื่อสันติภาพแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือในเกาหลีใต้ ระบุว่า "สำหรับเกาหลีเหนือ การทำลายโรงงานนิวเคลียร์ที่เมืองยองเบียนถือเป็นการเจรจาต่อรองที่ค่อนข้างใหญ่ ดังนั้น เกาหลีเหนือจะต้องมั่นใจก่อนว่าตนจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ขณะเดียวกัน ทางเกาหลีเหนือยังต้องการให้สหรัฐอนุมัติสองเกาหลีสานต่อโครงการเศรษฐกิจ ตลอดจนเปิดสำนักประสานงานของสหรัฐในกรุงเปียงยาง

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่หลายฝ่ายคาดการณ์คงหนีไม่พ้น การลงนามปฏิญญายุติสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งถือเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งของเกาหลีเหนือเพื่อแลกเปลี่ยนกับกรณีการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ที่ผู้นำทั้งสองได้เห็นชอบร่วมกันในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 1 ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมิ.ย. 2561 โดยนายสตีเฟน บีกัน ผู้แทนพิเศษของสหรัฐ ได้กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องนี้ว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์ยินดีที่จะเจรจาเกี่ยวกับการประกาศนี้ รวมไปถึงการดำเนินการอื่นๆเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐ" เพราะในทางเทคนิคแล้ว เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังอยู่ในสงคราม เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2493-2496 นั้นยุติลงด้วยการพักรบชั่วคราว โดยที่ไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแต่อย่างใด บีกันตอกย้ำต่อมาว่า "ผลลัพธ์ที่อาจจะเป็นรูปธรรมก็คือการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การประกาศยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ"

จนถึงขณะนี้ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับการประชุม "ฮานอย ซัมมิต" ที่ยังไม่ชัดเจน ไม่มีใครล่วงรู้ก่อนว่าเส้นทางสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจะดำเนินไปในทิศทางใด ถ้าหากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ เราคงเห็นโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกครั้งใหม่ แต่ถ้าหากไม่เป็นดั่งที่ฝัน เกาหลีเหนืออาจจะกลับไปเดินตามแนวทางเดิม และโลกคงจะต้องกลับมาหวาดผวาอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ