In Focusเปิดโปรไฟล์เครื่องบิน "Boeing 737 Max 8" เมื่อทั่วโลกสั่งห้ามบิน แต่สหรัฐยังปกป้อง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 13, 2019 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุเครื่องบิน Boeing 737 Max 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ ประสบอุบัติเหตุขณะกำลังเดินทางสู่กรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเครื่องบินเทคออฟไปไม่นาน ส่งผลให้ผู้โดยสาร 157 รายเสียชีวิตทั้งหมด

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องน่าสลดใจ แต่ก็น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีกเพราะไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา ได้เกิดเหตุเครื่องบิน Boeing 737 Max 8 ของสายการบินไลอ้อนแอร์ อินโดนีเซีย ประสบอุบัติเหตุตกกลางทะเลชวา ส่งผลให้ผู้โดยสาร 189 รายเสียชีวิตทั้งหมดเช่นกัน

เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นคนละเวลา คนละทวีป แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ นอกจากจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กันจนไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญแล้ว เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นเพราะใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน นั่นคือ "Boeing 737 Max 8" เครื่องบินรุ่นใหม่เอี่ยมจาก "โบอิ้ง" บริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของสหรัฐ ซึ่งมีสายการบินชื่อดังมากมายนำไปใช้บิน รวมถึงประเทศไทย

*Boeing 737 Max 8 นั่งสบาย ค่าเชื้อเพลิงถูก สมการที่ดูสมบูรณ์แบบ

Boeing 737 Max 8 เป็นเครื่องบินในตระกูล Boeing 737 MAX ซึ่งมีอยู่ 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ MAX 7, MAX 8, MAX 9 และ MAX 10 แตกต่างกันไปตามจำนวนที่นั่งและระยะทางที่บินได้ โดย Boeing 737 รุ่น Max 8 นั้นมีสายการบินนำไปให้บริการตั้งแต่ปี 2560 และเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีพื้นที่วางขาที่มากพอทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายแล้ว ยังเป็นรุ่นที่ประหยัดเชื้อเพลิงด้วย

ปัจจุบัน มีเครื่องบิน Boeing 737 Max 8 ให้บริการเที่ยวบินอยู่ประมาณ 350 ลำทั่วโลก ซึ่งมีสายการบินใช้เครื่องบินรุ่นนี้ทั้งสิ้น 54 ราย ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบสายการบินใดที่ใช้เครื่องบินรุ่น Max 8

เมื่อนับรวม Boeing 737 Max ทั้งตระกูลแล้ว ยังเป็นเครื่องบินกลุ่มที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของโบอิ้งด้วย

*แต่ความปลอดภัยถูกตั้งข้อกังขา

นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน Boeing 737 Max 8 ประสบอุบัติเหตุตกที่อินโดนีเซียเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เหล่าผู้เชี่ยวชาญก็ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องบินรุ่นนี้ โดยย้อนกลับไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ต้นตอของอุบัติเหตุดังกล่าวมาจากระบบทำงานอัตโนมัติ หลังเซ็นเซอร์ตัวหนึ่งเข้าใจผิดว่าเครื่องบินอยู่ในอาการร่วงหล่น (stalling) ส่งผลให้ระบบกดปลายหัวเครื่องบินลง จนตกลงกลางทะเลในท้ายที่สุด และที่สำคัญยิ่ง ทีมผู้ตรวจสอบยังเตือนด้วยว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยมากพอที่จะบินด้วย

ระบบการบินของ Boeing 737 Max 8 นั้นมีเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ที่ทำงานแตกต่างไปจากเครื่องบิน 737 รุ่นเก่า ๆ ที่มาก่อนหน้าตระกูล Max แต่รายงานข่าวระบุว่า ทางผู้ผลิตไม่เคยแจ้งให้นักบินทราบมาก่อนถึงความแตกต่างนี้ก่อนเกิดเหตุน่าสลดที่อินโดนีเซีย กว่าทางโบอิ้งจะประกาศให้ทราบก็เกิดเหตุการณ์นี้ไปแล้ว ขณะที่ทางสำนักงานการบินพลเรือนสหรัฐ (FAA) ก็เพิ่งออกประกาศเกี่ยวกับการทำงานของเซ็นเซอร์ดังกล่าวหลังเกิดเหตุ ซึ่งเซ็นเซอร์นี้มีชื่อว่า Angle of Attack (AOA) โดยเนื้อความในประกาศของ FAA ระบุว่า หากเซ็นเซอร์ที่ว่านี้มีปัญหาและไม่มีนักบินเข้ามาจัดการแล้ว นักบินอาจควบคุมเครื่องบินได้ลำบาก จนปลายหัวเครื่องบินลดต่ำลงมากเกินไป ทำให้เครื่องบินเสียระดับความสูง และร่วงลงพื้นในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ดี ในกรณีของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า อุบัติเหตุครั้งล่าสุดนี้เกี่ยวข้องกับเซ็นเซอร์ตัวดังกล่าวหรือไม่ แต่เชื่อกันว่า ประเด็นเรื่องการทำงานของเซ็นเซอร์นี้ น่าจะเป็นที่รับทราบกันทั่วโลกแล้ว เพราะทาง FAA ได้ส่งประกาศเตือนดังกล่าวไปยังบรรดาหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินทั่วโลก ซึ่งตามหลักการแล้ว หน่วยงานเหล่านี้จะเป็นผู้แจ้งให้สายการบินในประเทศของตนรับทราบ จากนั้นทางสายการบินก็จะแจ้งให้นักบินทราบในภายหลัง

นอกจากนี้ Boeing 737 Max 8 ยังถือเป็นเครื่องบินที่ค่อนข้างใหม่ จึงอาจมีข้อผิดพลาดที่ยังไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน โดยขณะนี้ทางคณะผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศกำลังเข้าตรวจสอบต้นตอของอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อสรุปสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

*ดับฝันเครื่องบินดาวรุ่ง เมื่อทั่วโลกพากันห้ามบิน

การที่เครื่องบินรุ่นเดียวกันประสบอุบัติเหตุในเวลาที่ไม่ห่างกันมากนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลังเกิดเหตุครั้งที่สอง ผู้คนทั่วโลกต่างเกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่น Boeing 737 Max 8 เพราะอุบัติเหตุดังกล่าวดูจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกต่อไป และก่อให้เกิดคำถามว่า เครื่องบินรุ่นนี้ปลอดภัยมากพอที่จะฝากชีวิตไว้หรือไม่

นับจนถึงวันนี้มีสายการบินมากมายที่สั่งหยุดให้บริการเที่ยวบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว ขณะเดียวกัน บรรดาหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของหลาย ๆ ประเทศ ก็พากันห้ามบินเครื่องบินรุ่นนี้ด้วย ไล่ตั้งแต่บราซิล ยุโรป ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ จนเกือบสุดแผนที่อย่างนิวซีแลนด์และฟิจิ หรือแม้แต่ลูกค้ารายใหญ่ของโบอิ้งอย่างจีนและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ บางประเทศยังถึงขั้นห้ามเครื่องบินรุ่นนี้บินผ่านน่านฟ้าของตนเองอีกด้วย แม้จะไม่ได้บินมาประเทศของตนก็ตาม

*เจ้าบ้านไม่หวั่นถูกกดดัน ยืนยันยังไม่พบหลักฐานมากพอ

แม้หลาย ๆ ประเทศได้พากันห้ามบินเครื่องบินรุ่นนี้ แต่สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของบริษัทโบอิ้ง ยังคงไม่ได้มีคำสั่งห้ามบินอย่างเป็นทางการ แม้ถูกกดดันจากทั้งประชาชนและนักการเมือง ส่งผลให้ขณะนี้ยังมีเที่ยวบินของสายการบินสหรัฐที่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้เป็นจำนวนมาก

สำนักงานการบินพลเรือนสหรัฐ (FAA) ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า "จนถึงขณะนี้ จากการตรวจสอบของเราพบว่า เครื่องบิน Boeing 737 Max 8 ไม่ได้มีปัญหาด้านประสิทธิภาพของระบบ และไม่มีเหตุผลที่จะต้องสั่งระงับการให้บริการเครื่องบินรุ่นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังไม่มีหน่วยงานการบินพลเรือนอื่น ๆ ที่ให้ข้อมูลแก่เราว่าควรจะสั่งระงับการให้บริการเครื่องบินรุ่นดังกล่าว"

ด้านบริษัทโบอิ้ง ยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ด้วยว่า โบอิ้งมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง แต่ขณะเดียวกัน โบอิ้งก็เข้าใจหากหน่วยงานหรือสายการบินในบางประเทศมีความกังวล โดยบริษัทกำลังทำงานร่วมกับ FAA เพื่อพัฒนาการยกระดับซอฟต์แวร์ ซึ่ง FAA หวังว่าจะได้รับการรับรองความสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive) ไม่เกินเดือนเม.ย.

*รัฐบาลโดนวิจารณ์หนัก เหตุไม่กล้าจัดการโบอิ้ง

แม้ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการถึงสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ แต่ทุกสายตาได้จับจ้องไปที่ท่าทีของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการบินพลเรือนสหรัฐ กระทรวงคมนาคม ไปจนถึงตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีความ "เกรงใจ" โบอิ้งมากเกินไป ในฐานะที่โบอิ้งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สร้างรายได้ให้สหรัฐเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่นายเดนนิส มุยเลนเบิร์ก ซึ่งเป็นซีอีโอของโบอิ้ง ก็ดูพยายามตีสนิทปธน.ทรัมป์ และปรากฏตัวเคียงข้างกันมาหลายโอกาสแล้ว

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนยังไม่มีท่าทีเด็ดขาด อาจเป็นเพราะ FAA ไม่มีผู้อำนวยการประจำตำแหน่งมา 14 เดือนแล้ว ปัจจุบันมีเพียงรักษาการผู้อำนวยการเท่านั้น นอกจากนี้ FAA ยังถูกลดจำนวนพนักงานและตัดงบประมาณ อันเป็นผลจากนโยบายของปธน.ทรัมป์ เป็นเหตุให้ทางสำนักงานไม่สามารถจัดการกับปัญหาใหญ่ ๆ เช่น อุบัติเหตุเครื่องบินตก ได้อย่างเต็มที่

ด้านนางอิเลน เชา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของสหรัฐ ซึ่งมีอำนาจเหนือ FAA และมีอิทธิพลมากพอในเรื่องนี้ ก็ยังไม่ได้ออกมาประกาศจุดยืนอย่างเด็ดขาด ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาทวีตข้อความเมื่อวานนี้ โดยมีเนื้อหาเพียงว่าเครื่องบินสมัยนี้ "ขับยากเกินไป" แต่ไม่ได้มีการระบุถึงชื่อบริษัทโบอิ้งโดยตรง

ความเคลื่อนไหวที่ดูไม่เด็ดขาดพอเหล่านี้ ทำให้นักการเมืองออกมากดดันรัฐบาลให้ออกมาดำเนินการมากขึ้น โดยล่าสุด คณะกรรมาธิการด้านพาณิชย์แห่งวุฒิสภาสหรัฐ มีแผนจะเปิดการไต่สวนกรณีเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ของบริษัทโบอิ้ง ตก 2 ครั้งในรอบ 5 เดือน หลังสมาชิกสภาสหรัฐจำนวนมากเรียกร้องให้สำนักงานการบินพลเรือนสหรัฐ สั่งห้ามเครื่องบินรุ่นดังกล่าวขึ้นบินจนกว่าจะมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ นายมิตต์ รอมนีย์ และนางเอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกสหรัฐเรียกร้องให้ FAA สั่งห้ามเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ขึ้นบินเป็นการชั่วคราวเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยนายรอมนีย์ทวีตข้อความว่า FAA ควรจะสั่งห้ามนำเครื่องบินรุ่น Boeing 737 MAX 8 ขึ้นบินจนกว่าจะรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เครื่องตก และมั่นใจได้ว่าเครื่องบินพร้อมขึ้นบิน ขณะที่นางวอร์เรน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า FAA ควรจะสั่งห้ามเครื่องบินรุ่นดังกล่าวขึ้นบินในสหรัฐจนกว่าจะมั่นใจได้ในความปลอดภัยเช่นกัน

ทั้งนี้ สหรัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการบินโลก เพราะมีจำนวนผู้โดยสารสายการบินพาณิชย์มากกว่าประเทศอื่น ๆ และสายการบินชั้นนำของโลกมักมีเส้นทางบินไปยังสหรัฐด้วย ซึ่งสายการบินหนึ่งจะบินเข้า-ออกสหรัฐได้ ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามระเบียบความปลอดภัยของ FAA ดังนั้น ทั้งสหรัฐและ FAA จึงจำเป็นต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นจากทั่วโลกกลับมา มิเช่นนั้นสหรัฐก็จะไม่มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมการบินโลกอีกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ