อังกฤษยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อไป ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายครั้งที่ 2 ที่อังกฤษจะต้องออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ หลังจากที่อังกฤษต้องเลื่อน Brexit มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา และกำหนดเส้นตายใหม่ดังกล่าวก็อาจจะถูกเลื่อนออกไปอีก เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Brexit แบบไร้ข้อตกลง เพราะจนถึงขณะนี้ รัฐสภาอังกฤษก็ยังไม่ยอมอนุมัติข้อตกลงการถอนตัวที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ทำไว้กับสหภาพยุโรป (EU) ขณะที่รัฐสภาอังกฤษได้ลงมติคัดค้านข้อตกลงดังกล่าวไปแล้วถึง 3 ครั้ง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นางเมย์ได้ส่งหนังสือถึง EU เพื่อขอขยายเวลา Brexit ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. และเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) สมาชิกสภาสามัญชนของอังกฤษก็ได้ลงมติ 420 ต่อ 110 เสียง สนับสนุนให้รัฐบาลเลื่อนกำหนด Brexit ไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย.
ผู้นำชาติสมาชิกของ EU ทั้ง 27 ชาติจะประชุมซัมมิตกันในวันพุธที่ 10 เม.ย.นี้ เพื่อตัดสินใจว่า EU จะยินยอมหรือปฏิเสธคำขอของอังกฤษในการเลื่อนกำหนด Brexit ดังกล่าว และถ้าหาก EU อนุมัติให้เลื่อนเวลา Brexit ออกไปจนถึง 30 มิ.ย. อังกฤษก็จะยังคงเป็นสมาชิกอยู่ใน EU และในวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งรัฐสภายุโรป อังกฤษก็จะเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
จนถึงขณะนี้ เราก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า กระบวนการ Brexit จะลงเอยอย่างไร และจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน แต่ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การเงิน และเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ดังนั้น In Focus สัปดาห์นี้ จะขอนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนดังกล่าวก่อนจะถึงกำหนดเส้นตาย Brexit ในวันศุกร์นี้ ตลอดจนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว
*การเคลื่อนย้ายสินทรัพย์มูลค่า 1 ล้านล้านปอนด์
แอบิเนย์ มูธู ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอร์วิคกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ที่เกิดจาก Brexit ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ ต่อภาคธุรกิจ และประชาชนจำนวนมาก นับเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะวางแผนสำหรับอนาคต หรือตัดสินใจด้านการลงทุนในสภาวะที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน
เอลีน ดอสซิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายการค้าของโฮแกน โลเวลล์ บริษัทกฏหมายระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า "ลูกค้าของเรายังคงเตรียมการสำหรับ Brexit แบบไร้ข้อตกลง เพราะยังคงเป็นทางเลือกที่พวกเขาคิดว่า อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เรารู้ในตอนนี้ก็คือ เราต้องมีแผนรองรับทั้งในอังกฤษ และในประเทศ EU อื่นๆ อีก 27 ประเทศ สำหรับบริษัทที่ทำการค้าระหว่างอังกฤษกับ EU"
สำหรับรายงานล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษา EY เปิดเผยว่า บริษัทบริการด้านการเงินกำลังทำการโอนย้ายสินทรัพย์มูลค่าราว 1 ล้านล้านปอนด์ (1.3 ล้านล้านดอลลาร์) และโอนย้ายตำแหน่งงาน 7,000 ตำแหน่ง จากลอนดอนไปยังเมืองอื่นๆ ของยุโรปแล้ว
โอมาร์ อาลี จากบริษัท EY ซึ่งเป็นผู้นำบริการทางการเงินของอังกฤษแสดงความเห็นว่า "ความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการโอนย้ายสินทรัพย์ และผู้คนจำนวนมากขึ้นออกจากอังกฤษ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องโอนย้ายไปยังประเทศต่างๆใน EU"
*ความเสี่ยงของเศรษฐกิจขาลง
เศรษฐกิจของอังกฤษปรับตัวซบเซานับตั้งแต่มีการลงประชามติ Brexit ในปี 2559 และมีการขยายตัวเพียง 1.4% ในปี 2561 ซึ่งอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เตือนว่า แม้กระบวนการ Brexit จะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอังกฤษก็จะตกต่ำลงสู่ 0.8% ในปี 2562 เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ผลสำรวจของ IHS Markit บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาลงทั้งในอังกฤษและยูโรโซน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของอังกฤษ ลดลงสู่ระดับ 48.9 ในเดือนมี.ค. ซึ่งดัชนี PMI ที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอังกฤษหดตัวลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน ลดลงเป็นเดือนที่ 8 สู่ระดับ 47.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2556
เอียน เบกก์ นักวิจัยของสถาบันเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะผ่าทางตัน Brexit และ เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ EU และทั่วโลก"
"หากผลออกสรุปออกมาคืออังกฤษต้องออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง ก็อาจจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงในอังกฤษ และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สำหรับ EU นั้น Brexit แบบไม่มีข้อตกลง จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ในขณะที่เศรษฐกิจโลก ก็จะเผชิญกับความเสี่ยงขาลงด้วย"
เอลีน ดอสซิน คาดการณ์ว่า ด้านการค้านั้น จะเป็นไปอย่างยากลำบากระหว่างอังกฤษและ EU ในกรณีที่เกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง
"Brexit แบบไร้ข้อตกลง จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องบิน เวชภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงบริการทางการเงิน โดยอังกฤษมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการเป็นปัจจัยพื้นฐาน และผลกระทบของการออกจาก EU ก็จะรุนแรงอย่างมาก" ดอสซิน ระบุ
แม้เจ้าหน้าที่ศุลกากรในอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ได้เตรียมพร้อมสำหรับ Brexit แบบไร้ข้อตกลง แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า มาตรการทางกฏหมายเหล่านี้ จะจำเป็น และเพียงพอที่จะทำให้การค้าดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
ความไม่แน่นอนของ Brexit ส่งผลต่อความผันผวนในภาคการเงิน โดยเฉพาะผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดการเงิน และกดดันเงินปอนด์ให้อ่อนค่าลง รวมถึงการลดการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินในรูปสกุลเงินปอนด์ ตลอดจนการชะลอการตัดสินใจลงทุนที่อาจส่งผลให้การผลิตรวมของอังกฤษอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ
*ผลกระทบของ Brexit ต่อประเทศไทย
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากความผันผวนของค่าเงินปอนด์ที่เกิดจากสถานการณ์ Brexit ขณะที่ในระยะยาว ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากอังกฤษมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยในสัดส่วนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น จึงคาดว่า Brexit จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยโดยรวมเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายกลับมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ Brexit
*แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แม้ว่า จะมีการคาดการณ์ผลกระทบที่ร้ายแรงสำหรับ Brexit แต่ เอียน เบกก์ กลับคิดว่า ไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง ขณะที่ใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายอีกครั้งในวันที่ 12 เม.ย.นี้แล้วก็ตาม
เบกก์ คิดว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษจะชะลอกระบวนการ Brexit ออกไปอีก ก่อนที่รัฐสภาอังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในที่สุด ข่าวดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจทั้ง 3 ระดับ ซึ่งได้แก่ของอังกฤษ EU และระดับโลก ก็คือ การที่อังกฤษจะได้ข้อสรุปโดยเร็วในการสนับสนุน Brexit แบบมีข้อตกลง (softer Brexit) หรือไม่ก็ยกเลิกกระบวนการ Brexit ไปเลย
แพทริค มินฟอร์ด ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งสนับสนุน Brexit เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคลี่คลายความวิตกเกี่ยวกับ Brexit
"สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ หากไม่คำนึงถึง Brexit เศรษฐกิจของอังกฤษก็น่าจะยังคงอยู่ในสภาวะที่ดี โดยภาคการเงินสาธารณะในขณะนี้ มีการกู้ยืมที่ระดับ 0% และอัตราการว่างงานก็อยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์" เขากล่าว
มินฟอร์ด เชื่อว่า การเจรจาต่อรองเรื่อง Brexit ต่อไปอีกนั้น จะทำให้สถานะเดิมๆ ยังคงไม่ถูกกระทบในระยะสั้น และเป็นการปูทางสำหรับความสัมพันธ์ใหม่กับ EU ในระยะยาว
ในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับ Brexit นั้น Liverpool Research Group in Macroeconomics ระบุว่า อังกฤษจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าเสรีได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐ เพื่อหาประโยชน์ล่วงหน้าจาก Brexit
อย่างไรก็ตาม เอลีน ดอสซิน ตั้งข้อสังเกตว่า อังกฤษยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าทวิภาคีกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐ และจีน แม้ว่าจะซ้ำซ้อนกับข้อตกลงการค้าของ EU บางส่วน ซึ่งอังกฤษได้รับประโยชน์ในฐานะที่เป็นสมาชิก EU ก็ตาม
อังกฤษได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกับสวิตเซอร์แลนด์ ชิลี ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ประเทศในแถบทะเลแคริบเบียนและอื่นๆ โดยข้อตกลงเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ในทันที หากเกิดกรณี Brexit แบบไร้ข้อตกลง หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านในกรณีที่ Brexit เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถทำการค้าได้อย่างอิสระต่อไป
ปีเตอร์ เอสต์ลิน นายกเทศมนตรีแห่งกรุงลอนดอนได้ปฏิเสธถึงผลกระทบของ Brexit ต่ออุตสาหกรรมการเงินในอังกฤษ
"ภาคบริการทางการเงินในอังกฤษมีพนักงานประมาณ 2.2 ล้านคน และขณะที่เรากำลังพูดถึงพนักงานราว 7,000 หรืออาจจะ 10,000 คน ที่จะถูกโยกย้ายนั้น จึงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก" เอสต์ลินกล่าว
ขณะที่ความไม่แน่นอนยังคงดำเนินต่อไป เราก็คงต้องติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิดว่า จะมีบทสรุปเช่นใด ทางด้าน EU จะเปิดไฟเขียวเพื่อขยายเวลา Brexit ให้กับอังกฤษหรือไม่ ก็คงจะได้รู้กันหลังซัมมิตของ EU ในวันนี้ หรือว่า อังกฤษจะต้องถอนตัวออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลงในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะได้เห็นความปั่นป่วนตามมาอีกมากมาย