การเลือกตั้งของประเทศต่างๆกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เปิดฉากขึ้นใน "ปีหมู 2019" แบบที่ไม่ได้นัดกันแทบจะทุกทวีป โดยทวีปเอเชียก็มีอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลียซึ่งตั้งอยู่ในทวีปโอเชเนีย ส่วนทวีปยุโรปมีการจัดการเลือกตั้งมากกว่า 30 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ และสเปน สำหรับทวีปอเมริกาก็มีแคนาดา และอาร์เจนตินา ขณะที่ซีกตะวันออกกลางก็มีอิสราเอล ทางด้านทวีปแอฟริกาก็ไม่น้อยหน้า เพราะไนจีเรีย โมซัมบิก นามิเบีย และแอฟริกาใต้ ต่างก็พร้อมใจจัดการเลือกตั้งปีนี้ ... ไม่เว้นแม้แต่เกาหลีเหนือ ที่เลือกปีหมูเป็นปีจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นไปตามคาดที่ คิม จอง อึน ยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ
-- ปีหมูนำโชค หรือเหตุบังเอิญ
หลายฝ่ายอาจตั้งข้อสังเกตว่า ปีหมูอาจเป็นปีแห่งโชค เพราะหมูเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ ก็ขนาดชาวจีนยังมีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า การมีบุตรในปีนักษัตรปีหมูจะโชคดีมีชัย ดังนั้น การก่อกำเนิดใดๆก็ตามในปีนี้ อาจจะเป็นประตูที่ทอดยาวไปสู่ความสำเร็จและชัยชนะ
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กว่า 50 ประเทศที่จัดการเลือกตั้งในปีนี้คงมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจจะรวมถึงเหตุผลของความสะดวกและความพร้อมในหลายๆด้าน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายภูมิภาคเช่นนี้ ย่อมมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงประเทศต่างๆในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจของเอเชีย อินโดนีเซียยักษ์ใหญ่แห่งอาเซียน ออสเตรเลียซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งของขั้วอำนาจการเมืองตะวันตก และการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป ซึ่งเปรียบเสมือนคณะทำงานที่กุมชะตากรรมยุโรปทั้งหมดเอาไว้ในมือ
-- 2019 ปีแห่งรอยต่อการเลือกตั้งจาก 2018
อาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งปี 2019 ถือเป็นรอยต่อของการเลือกตั้งทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปี 2018 เนื่องจากผลการเลือกตั้งของปีที่แล้วย่อมสร้างแรงกระเพื่อมต่อแวดวงการเมืองและเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่ถูกมองว่าเป็นประชามติชี้วัดผลงานทั้งในอดีตและอนาคตของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เส้นทางในอีกสองปีที่เหลือของทรัมป์คงไม่สดใสนัก เพราะผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรครีพับลิกันของทรัมป์ได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา ซึ่งสร้างความยากลำบากต่อทรัมป์ในการผ่านนโยบายต่างๆ นอกจากนี้ การค้ำยันทางการเมืองของสหรัฐยังส่งผลทั้งทางตรงและอ้อมต่อประเทศรายรอบที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่ค้าของสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางด้านผลการเลือกตั้งในรัสเซียปี 2018 ก็เป็นไปตามคาดว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ขณะที่การเลือกตั้งในกัมพูชาก็เป็นไปตามโผ เมื่อพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุนเซน กวาดเรียบทุกที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผลการเลือกตั้งในมาเลเซียกลับพลิกผันแบบหักปากกาเซียน หลังจากพรรคฝ่ายค้านของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด โค่นเอาชนะพรรคอัมโน และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (BN) จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เสร็จ
ส่วนยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) หรือ "ฉวนกั๋วเหรินต้า" ชุดที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2018 ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางให้สี จิ้งผิง นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีจีนตลอดชีพ โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า เหตุผลที่ NPC ซึ่งเปรียบเสมือน "สภาตรายาง" ของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดทางให้ สี จิ้นผิง ผูกขาดบัลลังก์ผู้นำนั้น ก็เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในระยะยาวดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อภิมหาโครงการอย่าง "One Belt One Road"
-- จับตา 4 การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่อาจพลิกหมากบนกระดานเศรษฐกิจและการเมืองโลก
- อินเดีย
ทั่วโลกจับตาการเลือกตั้งในอินเดียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่มูลค่ามหาศาลของอินเดียมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การเลือกตั้งในอินเดียยังยิ่งใหญ่ในแง่ของจำนวนประชากร เนื่องจากอินเดียมีประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงสูงถึง 900 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งของอินเดียจึงถูกแบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.- 19 พ.ค. โดยทางการอินเดียจะนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 23 พ.ค.
พรรคการเมืองหลักที่เป็นคู่ชิงหลัก ได้แก่ พรรคบีเจพีของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี และพรรคคองเกรสของนายราหุล คานธี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ จะเป็นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีชื่อว่า "โลกสภา" (Lok Sabha) จำนวน 543 คน โดยพรรคที่ได้เสียงข้างมาก จะต้องกวาดส.ส.ให้ได้ 272 ที่นั่ง หรือเกินครึ่งในสภาผู้แทนฯ จึงจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
นายโมดีประกาศลงชิงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ในนามพรรคบีเจพี ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าเลือกตั้งครั้งนี้เรียกว่ามีความเสี่ยงต่อสถานะผู้นำของนายโมดี หลังจากที่รัฐบาลล้มเหลวเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงานและความยากจน ซึ่งคะแนนนิยมอันถดถอยนี้ ทำให้พรรคบีเจพีพ่ายแพ้การเลือกตั้งระดับรัฐถึง 3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคะแนนนิยมของนายโมดีจะลดน้อยลงบ้าง แต่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่า อินเดียจะยังได้นายโมดีเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่อาจมีชัยชนะแบบเฉียดฉิว
คูหาเลือกตั้งของอินเดียในปีนี้จะเปิดทำการถึง 7 เฟส ตลอดระยะเวลาเลือกตั้ง 39 วัน โดยการเลือกตั้งเฟสแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนการเลือกตั้งเฟสที่ 2 ได้เริ่มขึ้นในช่วงเช้านี้ เวลา 07.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น
นายโมดีได้ทวีตข้อความก่อนการเปิดคูหาเลือกตั้งว่า "การเลือกตั้ง "โลกสภา" เฟส 2 ได้เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ ผมมั่นใจว่าผู้ที่ได้รับการเลือกทุกที่นั่งในวันนี้จะช่วยเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแกร่ง และผมคาดหวังว่าจะมีคนหนุ่มสาวออกมาเลือกตั้งกันมากขึ้น"
- อินโดนีเซีย
สำนักโพลเอกชนชั้นนำ 7 แห่งในอินโดนีเซียระบุว่า นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เหนือคู่แข่งคนสำคัญอย่างนายปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายพลแห่งกองทัพอินโดนีเซีย โดยศึกแห่งการชิงอำนาจครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างมาก เนื่องจากนายซูเบียนโตซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าที่เคยพ่ายในศึกเลือกตั้งครั้งก่อนนั้น ประกาศสู้ตายในการชิงบัลลังก์ผู้นำอินโดนีเซีย
ขณะนี้ อินโดนีเซียได้นับคะแนนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 95% โดยผลสำรวจบ่งชี้ว่า นายวิโดโด มีคะแนนนำนายซูเบียนโตอย่างน้อย 7% ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พ.ค.นี้
หลังจากโพลหลายสำนักชี้ไปในทางเดียวกันเช่นนั้น นายวิโดโดได้ออกมากล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนว่า ขอให้ทุกคนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันดุจพี่น้องภายหลังการเลือกตั้ง พร้อมกล่าวว่า เขาจะยังไม่ประกาศชัยชนะ จนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
หากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามโพลดังกล่าว ก็จะปูทางให้นายวิโดโดมีโอกาสแก้ตัวในด้านการบริหารประเทศอีกครั้ง เนื่องจากปี 2018 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับนายวิโดโด เนื่องจากอินโดนีเซียเผชิญปัญหาการขาดดุลแฝด หรือภาวะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการค้าเกิดขึ้นพร้อมกัน นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังทุกข์ระทมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิครั้งล่าสุดที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวอินโดนีเซียจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกนิติบัญญัติระดับจังหวัด รวมทั้งสมาชิกสภาเขตและสภาเมือง ภายในวันเดียวกัน
สิ่งที่น่าสนใจในการเลือกตั้งของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และประกอบด้วยเกาะต่างๆราว 18,000 เกาะนั้น ก็คือจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดสูงถึง 193 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่อยู่ในวัย 17-35 ปีมีจำนวน 80 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนประชากรของเยอรมนี, จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศมีมากถึง 245,000 คน, หน่วยลงคะแนนเลือกตั้งมีจำนวนถึง 800,000 หน่วย และช่วงเวลาในการลงคะแนนมีเพียง 6 ชั่วโมง
Lowy Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิเคราะห์ของออสเตรเลียระบุว่า การเลือกตั้งของอินโดนีเซียในครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งภายในวันเดียวที่มีความซับซ้อนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
- ออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย หรือชื่อที่เป็นทางการว่า เครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) มีระบบการปกครองที่แบ่งออกเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยฝ่ายบริหารอยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งอังกฤษ มีคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรผู้บริหาร และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (มี 150 ที่นั่ง) และวุฒิสภา (มี 76 ที่นั่ง) มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดและครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทุกๆ 3 ปี การออกพระราชบัญญัติทุกฉบับต้องผ่านการเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา และประชาชนที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ต้องมีอายุครบ 18 ปีขึ้นไป
สำหรับในปี 2019 ออสเตรเลียประกาศจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ โดยนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศวันเลือกตั้งดังกล่าวหลังจากที่ได้เข้าพบเซอร์ปีเตอร์ คอสโกรฟ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อขอให้ประกาศยุบสภาและเตรียมจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่
ทั้งนี้ ชาวออสเตรเลียจะลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ในขณะที่รัฐสภาสมัยปัจจุบันใกล้ครบวาระ 3 ปี โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งที่คาดว่าจะให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายภาษี ค่าจ้าง ไปจนถึงการลดการปล่อยมลพิษ
สำหรับนายมอร์ริสันซึ่งสังกัดพรรคเสรีนิยมนั้น ผลสำรวจบ่งชี้ว่าเขาอาจต้องเผชิญภาระหนักในการแข่งกับพรรคคู่แข่งอย่างพรรคแรงงาน เพื่อให้พรรคของตนเองจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นสมัยที่สาม หลังครองอำนาจมาแล้ว 6 ปี โดยรัฐบาลออสเตรเลียซึ่งเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเสรีนิยมและพรรคแนชั่นแนลนั้น เริ่มสูญเสียความนิยมเนื่องด้วยความเฉื่อยชาในเรื่องนโยบายและปัญหาภายในที่ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนผู้นำถึงสองครั้ง นอกจากนี้ ประชาชนยังเดือดร้อนเพราะค่าไฟแพงและค่าจ้างไม่ขึ้นด้วย
ผลสำรวจล่าสุดเผยให้เห็นว่า พรรครัฐบาลของออสเตรเลียยังคงมีคะแนนนิยมตามหลังพรรคฝ่ายค้าน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ค.นี้ โดยผลสำรวจจากนิวส์โพลล์ระบุว่า พรรคแรงงานออสเตรเลีย (ALP) มีคะแนนนำพรรครัฐบาลผสม ซึ่งประกอบด้วยพรรคเสรีนิยมและพรรคชาติ (LNP) อยู่ที่ 54 ต่อ 46 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 53 ต่อ 47 คะแนนในผลการสำรวจครั้งก่อน
ผลสำรวจดังกล่าวถือเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีนักสำหรับรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมอร์ริสันที่ได้เริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ด้วยการโจมตีนายบิล ชอร์ทเทิน ผู้นำฝ่ายค้าน ในประเด็นความมั่นคงแห่งชาติและความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ
พรรค ALP ได้ให้คำมั่นว่า จะรับผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งนโยบายภาษีและการใช้จ่ายที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่พรรค LNP ชูประเด็นเสถียรภาพ โดยระบุว่าทางพรรคมีความพร้อมมากที่สุดในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ
การเลือกตั้งในออสเตรเลียอยู่จับตาจากตลาดการเงินทั่วโลกว่า จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนในอดีตหรือไม่ เนื่องจากการเมืองออสเตรเลียเคยตกอยู่ในภาวะ "Hung Parliament" หรือภาวะที่ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งในรัฐสภา โดยเหตุการณ์ Hung Parliament ในออสเตรเลียเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2010 ส่งผลให้ตลาดหุ้นและค่าเงินออสเตรเลียร่วงลงอย่างหนัก ลุกลามไปจนสร้างความวิตกกังวลว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากออสเตรเลียซึ่งมีฉายาว่า "อัศจรรย์แห่งดาวน์อันเดอร์" ต้องอาศัยอุตสาหกรรมการส่งออกทรัพยากรและแร่ธาตุเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ดังนั้นหากค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียผันผวนอย่างหนัก ย่อมส่งผลต่อการส่งออกของออสเตรเลียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- รัฐสภายุโรป
การเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (EP) มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23-26 พ.ค.นี้ โดยชาวยุโรปจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จะเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติเข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภายุโรป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอกฎหมายและลงมติอนุมัติในประเด็นต่างๆ
ที่ผ่านมานั้น มีน้อยคนนักที่จะรู้จักรัฐสภาแห่งนี้ แม้ว่าองค์กรดังกล่าวมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของยุโรป แต่การเลือกตั้งในปีนี้ ตลาดการเงินให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า พรรคการเมืองกลุ่มขวาจัดของยุโรปจะขึ้นมายุติการครองอำนาจของกลุ่มพรรคการเมืองกระแสหลัก ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเช่นกัน
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศสมาชิก 27 ชาติของ EU มีมติให้อังกฤษขยายเวลา Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งนานกว่าที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ยื่นขอต่อ EU ก่อนหน้านี้ว่าให้เลื่อนเวลา Brexit เป็น 30 มิ.ย.
คณะมนตรียุโรประบุว่า ระหว่างการขยายเวลา Brexit นั้น อังกฤษจะยังคงเป็นรัฐสมาชิกที่มีสิทธิ์และหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป พร้อมระบุว่า หากอังกฤษยังคงเป็นสมาชิก EU ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ค. อังกฤษก็จะต้องเข้าร่วมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปตามกฏหมายของ EU และถ้าหากอังกฤษไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ การถอนตัวออกจาก EU ก็จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิ.ย.
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่สำคัญใน EU ซึ่งได้แก่ ประธานรัฐสภายุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการแต่งตั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คนใหม่ ขณะที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB คนปัจจุบันจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนต.ค.นี้
การแต่งตั้งประธาน ECB คนใหม่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลต่อนโยบายการเงินของ ECB ขณะที่มีความวิตกว่า ประธาน ECB คนใหม่อาจมีจุดยืนนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่านายดรากี และอาจจะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น และตลาดการเงินทั่วโลก
... การเมืองที่ร้อนระอุแข่งกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวในยามนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดี เคารพและให้เกียรติกติกาของแต่ละประเทศ ไม่ว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป ไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามฤดูกาลที่ผันเปลี่ยน เพราะการเมืองก็ไม่ต่างจากต้นไม้ที่ผลัดใบตามฤดูกาล เมื่อใบไม้ใบหนึ่งร่วงหล่นตามวาระ อีกไม่นานใบใหม่ก็จะงอกขึ้น และทำหน้าที่ของมันต่อไป