ญี่ปุ่นเข้าสู่ "ยุคเรวะ" อย่างเป็นทางการทันทีที่เข็มนาฬิกาแตะเวลา 0.01 น. ของวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2562 โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 แห่งราชวงศ์ดอกเบญจมาศ
ประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่รัชศกใหม่นี้ พร้อมด้วยความหวังว่า ยุคเรวะ จะนำมาซึ่งความหวังและสันติสุข
"ผมรักบรรยากาศรื่นเริงเช่นนี้ ไม่เหมือนเมื่อตอนเปลี่ยนเข้าสู่ยุคเฮเซ" โยชิอากิ ซากาอิ วัย 77 ปี ชาวจังหวัดวากายามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น กล่าว ซากาอิเป็นหนึ่งในประชาชนจำนวนมากที่เดินทางมายังพระราชวังอิมพีเรียลในกรุงโตเกียว เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่รัชสมัยใหม่
การผลัดรัชกาลครั้งก่อน จากโชวะเป็นเฮเซ เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ต่างจากการผลัดรัชศกสู่เรวะที่เกิดขึ้นภายหลังการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน 2562
"ฉันรู้สึกได้ว่า รัชสมัยใหม่จะเป็นยุคแห่งความสุข" มินาโกะ อากานุมะ พยาบาลวัย 27 ปี กล่าว โดยเธอเดินทางจากจังหวัดนากาโนะ ในภาคกลางของญี่ปุ่น มาร่วมซึมซับบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองที่พระราชวังอิมพีเรียลเช่นกัน
ขณะที่ในสารแสดงความยินดีแด่สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้กล่าวถึงบรรยากาศแห่งความหวังของประเทศว่า "ท่ามกลางสถานการณ์ในต่างประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างยุคสมัยที่ญี่ปุ่นมีอนาคตสดใส สุขสงบ เปี่ยมด้วยความหวัง และเราสามารถภาคภูมิใจได้ รวมทั้งเป็นยุคที่ประชาชนปลูกฝังวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน"
ยุคเรวะ จะสดใสเรืองรองอย่างที่ญี่ปุ่นหวังหรือไม่นั้น แน่นอนว่ายังไม่มีใครรู้ แต่อนาคตย่อมเป็นผลมาจากอดีตและปัจจุบัน ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากยุคเฮเซ เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า และต่อไปนี้คือความท้าทายบางส่วนที่ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญในยุคสมัยใหม่นี้
- เทคโนโลยีและนวัตกรรม
หากเอ่ยถึงประเทศนวัตกรรมอันดับต้น ๆ ของโลก ย่อมมีญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยในช่วง 30 ปีแห่งยุคเฮเซ ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยี จากปี 2543 ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด แต่ด้วยยุทธศาสตร์ไอทีแห่งชาติของรัฐบาล ภายในอีก 10 ปีต่อมา เกือบทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจึงมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่สนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นสุขสบายขึ้น ตลอดจนสร้างความหรรษา (และอาจปนความมึนงง) ให้แก่นักท่องเที่ยว ก็คือห้องน้ำไฮเทคที่มาพร้อมฟังก์ชั่นสุดล้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์น้ำอุ่น เป่าแห้ง เสียงดนตรีกลบเสียงไม่พึงประสงค์ ไปจนถึงฝารองนั่งเปิดปิดอัตโนมัติ ซึ่งข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่า 80% ของครัวเรือนญี่ปุ่นในปัจจุบันมีโถสุขภัณฑ์แบบไฮเทคใช้ เทียบกับตัวเลขเพียง 14% ในปี 2535
ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นอินโนเวชั่นฮับแห่งหนึ่งของโลก โดยรั้งอันดับที่ 6 ในดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) ของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) โดยเฉพาะในด้านการใช้สิทธิบัตรและการใช้จ่ายด้าน R&D
อย่างไรก็ตาม รายงานความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกประจำปี 2561 ของ WEF เตือนว่า ญี่ปุ่นจะต้องไม่หยุดอยู่แค่นี้และจะต้องพยายามเพื่อหล่อเลี้ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งรวมถึง วัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ ความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนความกล้าที่จะเสี่ยง เพื่อที่ญี่ปุ่นจะได้ก้าวขึ้นเป็น "super innovator"
ทั้งนี้ เมื่อเริ่มต้นยุคเฮเซ มีบริษัทญี่ปุ่นถึง 7 แห่งที่ติดอันดับท็อป 10 ของโลกในแง่ของมูลค่าตลาดโดยรวม แต่ในปี 2561 บริษัท 10 อันดับแรกของโลกเป็นบริษัทอเมริกันไปเสีย 8 แห่ง ขณะที่จีนชิงส่วนแบ่งไปได้ 2 แห่ง ส่วนบริษัทญี่ปุ่นติดอันดับท็อป 50 เพียงหนึ่งหรือสองบริษัทเท่านั้น ดังนั้น หากยังย่ำอยู่กับที่ ชื่อของญี่ปุ่นอาจจะหายไปจากเวทีโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่นบริษัท โซนี่ ที่เคยยืนหนึ่งในยุคอนาล็อกด้วยผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เด่น ๆ เช่น เครื่องเล่นเพลงพกพา Walkman แต่ปัจจุบันถูกบริษัทต่างชาติอย่าง แอปเปิ้ลของสหรัฐ และ ซัมซุง ของเกาหลีใต้ เขี่ยตกอันดับพร้อมกับการเข้ามาของยุคดิจิทัล
ขณะที่ ชาร์ป บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แทบทุกบ้านต้องมี ก็ตกต่ำเกือบถึงขั้นล้มละลาย จนต้องตัดสินใจขายกิจการให้บริษัทหงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี จากไต้หวัน ด้าน พานาโซนิค ก็เผชิญกับมูลค่าตลาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเผชิญกับ "ทศวรรษที่สูญหาย" หรือ "Lost Decade" นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทต่าง ๆ ไม่มองการณ์ไกลและลังเลที่จะก้าวออกจากกรอบเดิม ๆ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่แปลกใหม่ ไม่หยุดนิ่ง ที่จะช่วยถ่ายทอดงานวิจัยให้ออกมาเป็นรูปธรรมและกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดได้
- ความเท่าเทียมทางเพศ
เมื่อ 30 ปีก่อน มีผู้หญิงไม่ถึง 4% ครองที่นั่งในรัฐสภาญี่ปุ่น และแม้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสามเท่าหลังจากนั้น มาอยู่ที่ 14% แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ
คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ มีผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียว คือ นางซัทสึกิ คาตายามะ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการบูรณะภูมิภาคและความเสมอภาคทางเพศ
นายอาเบะได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบาย "Womenomics" หรือการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงาน รวมถึงในทุกวงการมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ รับผู้หญิงเข้าทำงานมากขึ้น แม้ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงพนักงานพาร์ทไทม์หรือพนักงานสัญญาจ้างก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สัดส่วนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในแวดวงธุรกิจและการเมือง เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2563
ญี่ปุ่นสามารถรั้งอันดับ 110 จากทั้งหมด 149 ประเทศในรายงานว่าด้วยความเหลื่อมล้ำทางเพศ หรือ Global Gender Gap Report ประจำปี 2561 ของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม อย่างไรก็ดี มีสัญญาณที่ดีขึ้นสำหรับญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาจากดัชนีย่อย เช่น โอกาสและการมีส่วนร่วมเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity) และการได้รับการศึกษา (Educational Attainment)
แม้ว่า การแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศในสังคมญี่ปุ่นยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ก็ยังคงมีความหวังว่า มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลน่าจะช่วยให้เด็กผู้หญิงในยุคเรวะมีแรงกระตุ้นในการเข้าสู่โลกของการทำงานมากขึ้น
- อัตราการเกิดต่ำและประชากรสูงอายุ
ประชากรหดตัวถือเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เร่งด่วนที่สุดของญี่ปุ่น โดยเมื่อครั้งที่อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์นั้น ญี่ปุ่นมีประชากร 123 ล้านคน และในขวบปีแรก ๆ ของรัชสมัย ประชากรญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 128 ล้านคนเมื่อหนึ่งทศวรรษก่อน
แต่นับแต่นั้น ประชากรญี่ปุ่นกลับอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเกิดที่ทำสถิตินิวโลอยู่เป็นประจำ แม้ว่ารัฐบาลพยายามเพิ่มอัตราการเกิด แต่ปัจจุบัน ประชากรญี่ปุ่นมีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 126 ล้านคน และหากไม่รวมชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นแล้ว ตัวเลขดังกล่าวอาจน้อยกว่านี้มาก
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเผชิญกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่มีการเปิดเผยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ประชากรวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนอยู่ที่ 28.1% ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลงเหลือไม่ถึง 60%
ด้านธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในโลก โดยประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสาม
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคแรงงานของประเทศ ซึ่งรัฐบาลของนายอาเบะก็ได้พยายามงัดมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรง ซึ่งรวมถึงนโยบาย Womenomics ที่นอกจากมุ่งหวังเรื่องความเสมอภาคทางเพศแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชากรสูงอายุ ด้วยการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้อนุมัติการใช้วีซ่าระบบใหม่ ซึ่งเป็นการผ่อนคลายกฎระเบียบการเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่อาจทะลักเข้าประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นด้วยวีซ่าระบบใหม่จะมาจาก 9 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย มองโกเลีย เมียนมา เนปาล ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำงานใน 14 ภาคอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร การเกษตร และการดูแลสุขภาพ
- แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
ยุคเฮเซถูกขนานนามว่าเป็น ยุคแห่งทศววรษที่สูญหาย ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ประสบกับภาวะชะงักงัน
เศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดภาวะฟองสบู่ ราคาสินทรัพย์พุ่งทะยานขึ้น โดยดัชนีนิกเกอิพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 38,957.44 จุดในวันที่ 29 ธ.ค.2532 แต่แล้วฟองสบู่ก็แตก ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวสู่ช่วงขาลงหลังจากนั้น และตามมาด้วยการร่วงลงของราคาที่ดิน
ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร (GDP per capita) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานความเป็นอยู่หรือความกินดีอยู่ดีของประชากรโดยเฉลี่ย เคยอยู่ที่ระดับต้น ๆ ของโลกในช่วงปีแรก ๆ ของยุคสมัยเฮเซ แต่ปัจจุบันลงมาอยู่ที่อันดับประมาณ 25 ของโลก
นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ยังถูกจีนแย่งตำแหน่งนี้ไปได้ในปี 2553
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2555 ได้ให้คำมั่นว่า จะฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น ภายใต้นโยบายผ่อนคลายการเงิน กระตุ้นการคลัง และปฏิรูปเชิงโครงสร้าง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อาเบะโนมิกส์"
นโยบายอาเบะโนมิกส์ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น และกลับมาอยู่บนเส้นทางของการขยายตัวที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในยุคหลังสงคราม
อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีการบริโภคที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ ประกอบกับการชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก อาจส่งผลให้การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นมาถึงปลายทางในเร็ว ๆ นี้
ขณะเดียวกัน ปัญหาประชากรลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องถือเป็นความท้าทายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าหดหายอีกด้วย ขณะที่รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมที่สูงขึ้น เมื่อจำนวนผู้เสียภาษีลดลง ทำให้ไม่มีเงินภาษีมาจุนเจือระบบประกันสังคม
และยังมีข้อมูลด้วยว่า อัตราการออมภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นลดลงจากอันดับต้นของโลกที่ราว 20% ลงมาอยู่ที่ 3-4% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสัดส่วนประชากรสูงอายุ ซึ่งนำเงินที่เก็บออมไว้ออกมาใช้หลังเกษียณ
มาตรการทั้งหลายแหล่ยังไม่สามารถช่วยให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังนับทศวรรษอย่าง "เงินฝืดและอัตราการเติบโตต่ำ" ได้อย่างยั่งยืน และบัดนี้ ญี่ปุ่นกำลังฝากความหวังเอาไว้ที่อีเวนต์ใหญ่ระดับโลกงานแรกในรัชสมัยเรวะ ซึ่งก็คือ การที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนในปี 2563
ยุคโชวะถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่งความวุ่นวาย เฮเซคือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ในสมัยเรวะนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเผชิญคลื่นลมรุนแรง ท่ามกลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้ากันอย่างแพร่หลาย ขณะที่ในทางการเมืองนั้น ระเบียบโลกเสรีกำลังล่มสลาย โลกาภิวัตน์และการค้าเสรีกำลังถูกคุกคาม การปรับตัวในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อการอยู่รอด แต่เพื่อกลับมาผงาดยืนหนึ่งบนเวทีโลก ญี่ปุ่นในรัชสมัยเรวะจึงจำเป็นต้องก้าวให้เร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาในยุคเฮเซ