In Focusจับตาเกมการเมืองสุดร้อนระอุจากปมความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นเดิมพัน?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 15, 2019 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านก็ปะทุขึ้นอยู่เป็นระลอกตลอดช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ทว่ายังไม่มีแรงสั่นสะเทือนครั้งใดที่จะทำให้ทั่วโลกหวาดผวาได้มากเท่ากับภาพเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น พร้อมกับเครื่องบินทิ้งระเบิด ที่เดินทางมุ่งหน้าสู่อ่าวเปอร์เซียเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งอันร้าวลึกระหว่างสองประเทศมีที่มาที่ไปอย่างไร In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาผู้อ่านมาย้อนรอยปมความขัดแย้งที่คุกรุ่นของสองประเทศ พร้อมกับจับตาทุกความเคลื่อนไหวล่าสุดอย่างไม่คลาดสายตา

อ่าวเปอร์เซียตึงเครียด : สหรัฐพร้อมรบ อิหร่านพร้อมสู้ยิบตา

"การโจมตีต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ หรือชาติพันธมิตรของสหรัฐ จะได้รับการตอบโต้อย่างไม่ปราณี" นี่คือถ้อยแถลงของนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ที่เผยให้เห็นอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุระหว่างสหรัฐและอิหร่านที่พร้อมเปิดฉากโจมตีกันได้ทุกเมื่อ

ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศยกเลิกคำสั่งผ่อนผันแก่ 8 ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี อิตาลี และกรีซ เพื่อกำจัดช่องทางการส่งออกน้ำมันของอิหร่านให้เป็นศูนย์ แม้ว่าความพยายามครั้งนี้จะได้รับเสียงชื่นชมถึงความเด็ดเดี่ยวจากนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้กับอีกหลายประเทศ ด้านตุรกี นายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ออกคัดค้านการกระทำที่เป็นปฎิปักษ์ของสหรัฐต่อสันติภาพบนภูมิภาค "เราไม่ยอมรับการคว่ำบาตรแต่เพียงฝ่ายเดียว และการบังคับให้เรามีความสัมพันธ์เช่นไรกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา"" ขณะเดียวกัน ฝั่งจีนก็มีปฏิกริยาเช่นกัน นายเกิง ชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กระโดดลงเรือเดียวกับตุรกีคัดค้านการตัดสินใจที่เกินขอบเขตของสหรัฐ "จีนคัดค้านการประกาศคว่ำบาตรแต่เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐ และการที่สหรัฐใช้อำนาจนอกเหนือขอบเขตทางกฎหมายของตน"

ยังไม่ทันข้ามวันดี เปลวเพลิงจากกระแสจากความไม่พอใจโหมกระพือขึ้นเมื่อนายอับบาส อารักกี รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประประเทศของอิหร่าน วิพากษ์อย่างไม่ไว้หน้าว่าการตัดสินใจของสหรัฐครั้งนี้จะแผดเผาข้อตกลงนิวเคลียร์จนมอดไหม้ มิหนำซ้ำเมื่อวันที่ 3 พ.ค. เสถียรภาพบนภูมิภาคตะวันออกกลางส่อแววระส่ำระสาย เมื่อนายบิจาน ซานกาเนห์ รัฐมนตรีน้ำมันอิหร่าน ออกโจมตีซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อาจจะมีส่วนทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ล่มสลาย เพราะทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านนั้นร่วมมือกับสหรัฐในการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยกับปริมาณน้ำมันที่ลดลงจากอิหร่าน

การแสดงจุดยืนอันแข็งกร้าวของอิหร่านต่อทั้งสหรัฐ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 7 พ.ค. สหรัฐส่งกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีและเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าสู่ตะวันออกกลางในทันที หวังตอบโต้ภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นจากกองกำลังทหารอิหร่าน แต่ถัดมาเพียง 1 วัน หลังจากที่เรือรบของสหรัฐแล่นเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย อิหร่านปล่อยหมัดเด็ดด้วยการรขู่ว่าจะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ปี 2558 และเริ่มการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และอาวุธอีกครั้ง หากมหาอำนาจอีก 5 ชาติ ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ร่วมลงนามข้อตกลงนี้ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของอิหร่านจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐได้ภายใน 60 วัน

คำขู่ของอิหร่านยิ่งทวีความโกรธให้กับสหรัฐอย่างมาก รัฐบาลสหรัฐจึงประกาศคว่ำบาตรรอบใหม่ในวันที่ 9 พ.ค. โดยพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้า อลูมิเนียม และทองแดงของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ด้านการส่งออกนอกกลุ่มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง นายเซย์เอ็ด อับบาร์ มูซาวี โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน สวนหมัดกลับด้วยการประณามว่า การประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรนี้เป็นการละเมิดพันธสัญญาระหว่างประเทศของสหรัฐกับประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้

จนถึงขณะนี้ ความขัดแย้งระหว่างสองชาติดูท่าจะบานปลายและย่างกรายสู่ภาวะสงครามทุกนาที ในวันที่ 12 พ.ค. สหรัฐออกแถลงพร้อมตอบโต้ต่อการกระทำที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประเทศ ขณะเดียวกันอิหร่านก็พร้อมสู้ยิบตา นายฮาจิซาเดห์ ผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน "หากสหรัฐมีความเคลื่อนไหว เราจะเปิดฉากโจมตีทันที"

อิหร่านจนตรอก? : ชนวนความขัดแย้งจากมาตรการคว่ำบาตร

"อิหร่านให้โอกาสมากเพียงพอแล้วสำหรับการเจรจาทางการทูตเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่ความอดทนของอิหร่านกำลังจะหมดลง" นี้คือถ้อยแถลงของนายอับบาส อารักกี รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศของอิหร่าน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้นต่อมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐเปรยว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อิหร่านต้องเผชิญมรสุมพิษร้ายทางการเมืองและเศรษฐกิจจอย่างสาหัสสากรรจ์ ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจล้มระเนระนาด ค่าเงินตกต่ำเป็นประว้ติการณ์ บริษัทต่างประเทศพากันทิ้งอิหร่าน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นกับประเทศ

ปมความขัดแย้งล่าสุดระหว่างสองประเทศปะทุขึ้นจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 ที่ยังคงเป็นปัญหา เมื่อเดือนพ.ค. 2562 ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อตกลงไม่มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะป้องกันอิหร่านจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ มิหนำซ้ำยังเป็นข้อตกลงที่ผุพังและน่าอับอาย ส่งผลให้สหรัฐประกาศถอนตัวจากข้อตกลงที่ลงนามกับกลุ่มมหาอำนาจอีก 5 ประเทศ และประกาศรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรขึ้นมาใหม่เพื่อกดดันให้อิหร่านยอมรับข้อตกลงฉบับใหม่

นอกจากนี้ ข้อตกลงฉบับใหม่ที่ทรัมป์ต้องการให้อิหร่านยอมรับนั้น มีเงื่อนไขที่กว้างมากขึ้น ได้แก่ การยุติโครงการขีปนาวุธ ลดบทบาทของอิหร่านในภูมิภาค และแก้ไขสิ่งที่สหรัฐเรียกว่า "พฤติกรรมที่ชั่วร้าย" แต่นักวิจารณ์หลายฝ่ายกลับมองว่านัยยะแอบแฝงของข้อตกลงฉบับนี้คือ การที่สหรัฐต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่าน นายสก็อตต์ ลูคัส ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านประจำมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เปิดเผยว่า "แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่บริษัทหรือบุคคล มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐมีเป้าหมายที่จะทำลายระบอบการปกครองอย่างสิ้นเชิง" ข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่นายสตีฟ ฮันเค นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ ระบุว่า "มาตรการคว่ำบาตรของสหรัรฐไม่มีความเชื่อมโยงกับรายละเอียดของการคว่ำบาตร มีแต่ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของระบอบการปกครอง"

มาตรการคว่ำบาตรจำนวนนับไม่ถ้วนตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่สหรัฐประกาศใช้กับอิหร่านล้วนมุ่งเป้าโจมตีเศรษฐกิจของอิหร่าน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 2561 สหรัฐโจมตีภาคการเงินและอุตสาหกรรมของอิหร่าน โดยห้ามทำการซื้อขายด้วยเงินเรียลของอิหร่าน เพื่อสะกัดกั้นการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลเรียลของอิหร่าน จนส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อค่าเงินเรียลของอิหร่านที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง มาตรการคว่ำบาตรระลอกที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 สหรัฐประกาศคว่ำบาตรการทำธุรกรรมของธนาคารกลาง การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน และการขนส่งทางเรือ นอกจากเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบแล้ว รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศขึ้นบัญชี ‘กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน’ ให้มีสถานะเป็นกลุ่มก่อการร้าย กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ซึ่งเป็นกองกำลังทหารขั้นสูงในสังกัดกองทัพอิหร่าน เป็น "องค์กรก่อการร้ายในต่างแดน" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศให้กองทัพของอีกประเทศหนึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้าย

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรส่งผลให้เศรษฐกิจและค่าเงินของอิหร่านทรุดตัวลงอย่างมาก ค่าเงินของประเทศตกอยู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ นายไบรอัน ฮุก ผู้แทนพิเศษของสหรัฐสำหรับอิหร่าน ประมาณการว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2561 แม้ว่าก่อนหน้านี้ อิหร่านมีรายได้มากถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีจากการขายน้ำมัน ความเสียหายดังกล่าวยังสอดคล้องกับทิศทางการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่า เศรษฐกิจอิหร่านจะหดตัวลง 6% ในปีนี้ โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ปรับตัวลดลงไป 3.9% ขณะที่เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงถึง 40% เพราะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐยังเดินหน้าใช้มาตรการกดดันอิหร่าน

ชนวนจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ยิงเข้าสู่กรุงเตหะรานอยู่ตลอดทั้งปี ยังสร้างความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดแรงปะทุที่คาดไม่ถึงต่อสหรัฐ นางบาร์บารา สเลวิน ผู้อำนวยการของโครงการริเริ่มอนาคตอิหร่านของสภาแอตแลนติก ให้ความเห็นว่า "การตัดสินใจของสหรัฐก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม เพราะจะไม่ทำให้อิหร่านกลับสู่โต๊ะเจรจาและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงท่าทีในระดับภูมิภาคของอิหร่านได้อย่างมีนัยสำคัญ" นอกจากนี้ เพื่อตอบโต้ต่อความเป็นปรปักษ์ของสหรัฐนั้น เธอกล่าวเสริมว่า "อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการทำให้การบรรลุข้อตกลงของสหรัฐกับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่ลำบากมากยิ่งขึ้น อิหร่านอาจกดดันอิรักให้ขับไล่กองทัพของสหรัฐด้วย และจะทำให้สถานการณ์ในเยเมนเลวร้ายลงไปอีก"

ความเป็นไปได้ของสงคราม : เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ

หลังจากที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐส่งกำลังทหาร รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 เข้าสู่ตะวันออกกลาง หลายประเทศเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่อาจบานปลาย พร้อมเตือนให้เลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างอิหร่านและสหรัฐ นางเฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) ได้เรียกร้องให้สหรัฐใช้ความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการเพิ่มความขัดแย้งทางทหารต่ออิหร่าน

ด้านนายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษเตือนว่าสหรัฐและอิหร่านอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่ตั้งใจ หลังจากความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า "เราวิตกกังวลกับความขัดแย้ง ความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง… เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่นำอิหร่านหวนกลับสู่เส้นทางสู่การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์"

ท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีดูจะสอดคล้องกับอังกฤษ นายเฮโกะ มาส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีย้ำถึงจุดยืนในการไม่เอาสงคราม "เราไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางทหาร เราต้องทำให้มั่นใจว่าเราไม่ได้ทำให้อิหร่านต้องกลับไปสู่เส้นทางนิวเคลียร์เดิม"

อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิหร่านจะตกอยู่ในสถานการณ์คุกรุ่นถึงขั้นรุนแรง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังมีมุมมองที่เป็นบวกว่าความตึงเครียดระหว่างสองชาติจะไม่นำไปสู่สงคราม นายโจนาธาน ชานเซอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยประมูลนิธิการป้องกันประชาธิปไตยของวอชิงตัน เปิดเผยว่า สหรัฐจะไม่เลือกการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรง การส่งกลุ่มเรือรบเข้าสู่อ่าวเปอร์เซียมีความหมายเพียงเพื่อส่งสาส์นเท่านั้น อิหร่านจะรู้สึกกลัวมากขึ้น เราเพียงใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้"

นายเอียน โกลเดินเบิร์ก เจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงของตะวันออกกลางประศูนย์ความมั่นคงแห่งอเมริกา แสดงทัศนคติที่สอดคล้องกัน โดยระบุว่า "ไม่มีใครต้องการความขัดแย้งทางการทหารโดยตรง ผมคิดว่านายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล จะยินดีหากอเมริกาเป็นผู้นำทัพ และทรัมป์ก็คงยินดีหากอิสราเอลเป็นผู้นำทัพ แต่ผมไม่คิดว่าทั้งสองคนอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งครั้งใหญ่นี้"

นอกจากจะไม่เกิดสภาวะสงครามบนอ่าวเปอร์เซียแล้ว นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าอาจจะมีการทำข้อตกลงใหม่ โดยมียุโรปเป็นตัวประสาน นายมาร์ก ดูโบวิทซ์ หัวหน้าผู้บริหาร FDD สถาบันนโยบายที่ไม่ฝักฝ่ายใดกล่าวว่า "เงินทุนสำรองในสกุลเงินตราต่างประเทศของอิหร่านกำลังจะหมด สกุลเงินทรุดตัว เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง อัตราเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นยุโรปอาจจะสามารถโน้มน้าวให้อิหร่านกลับมาเจรจากันอีกครั้งก็เป็นได้"

แม้ว่ายังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ที่ตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียจะจบลงเช่นไร สหรัฐจะเปิดฉากรบกับอิหร่าน หรืออิหร่านจะยอมเปิดข้อตกลงฉบับใหม่ คงต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ