ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่คลอนแคลน เป็นที่โจษขานขึ้นมาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เมื่อกูเกิลออกมาประกาศระงับความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่จากแดนมังกร และล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามธุรกิจสหรัฐร่วมงานกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เป็นการชั่วคราว โดยอนุญาตให้มีการอัพเดทซอฟท์แวร์เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ของหัวเว่ยได้ การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจะมีผลจนบังคับใช้จนถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกูเกิล เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อห้ามบริษัทของสหรัฐจากการใช้เทคโนโลยีและบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทที่สหรัฐเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ว่า ทรัมป์จะไม่ได้เอ่ยชื่อหัวเว่ยออกมาตรงๆ แต่ก็เป็นที่รู้ดีกันว่าการดำเนินการดังกล่าวพุ่งเป้ามายังหัวเว่ยอย่างชัดเจน จนทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (BIS) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และบริษัทในเครืออีก 70 แห่งไว้ใน "Entity List" ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบริษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐเข้าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐ
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงมีชื่อหัวเว่ยเข้ามาเกี่ยวข้อง In Focus สัปดาห์นี้ขอพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปตามหาความเป็นมาพร้อมๆกัน
- ชนวนสงคราม! พญาอินทรีย์งัดพญามังกรทำโลกสะเทือน
ก่อนจะพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นล่าสุด คงต้องเท้าความไปถึงชนวนความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ที่เริ่มมาตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ ทรัมป์ได้เดินหน้าทำตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีว่า เขาต้องการให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ผ่านนโยบาย "Make America Great Again" โดยมุ่งเป้าไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และแน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของทรัมป์ก็คือ จีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญที่ทรัมป์มองว่า สหรัฐต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาอย่างยาวนาน ประกอบกับจีนก็ได้ประกาศนโยบาย "Made in China 2025" ที่เน้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพสินค้าและเทคโนโลยีออกมา พร้อมแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนได้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ทรัมป์ต้องการที่จะสกัดจีนไม่ให้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเทียบเคียงสหรัฐ
สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่สหรัฐประกาศใช้มาตรการ Safeguards เพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเริ่มจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาเซลล์และเครื่องซักผ้าสำหรับใช้งานในที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ตามด้วยการตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกภายใต้มาตรา 232 ซึ่งอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องรุดเข้ามาเจรจาเสนอข้อแลกเปลี่ยนกับสหรัฐเพื่อแลกกับการยกเว้นภาษี ส่วนจีนนอกจากจะไม่ยอมรอมชอมให้สหรัฐแล้ว ยังออกมาตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากสหรัฐเช่นเดียวกัน จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทำให้ทั้งสองประเทศต่างออกมาตอบโต้กันไปมาด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้นอีกเป็นระลอกๆ จนนำมาสู่การเจรจาการค้าร่วมกันเพื่อหาทางยุติข้อพิพาท แต่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
แน่นอนว่าเมื่อสองขั้วเศรษฐกิจสำคัญของโลกมีปัญหากัน ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ออกมาประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และปีหน้า สู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี เนื่องจากผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ออกมาเตือนว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หากไม่ได้รับการแก้ไข
- "หัวเว่ย" หมากสำคัญกลางสมรภูมิเดือด
ชื่อของหัวเว่ยปรากฏออกมาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจของโลก หลังจากที่ทางการแคนาดาเข้าจับกุมตัวนางเมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) หัวเว่ย และบุตรสาวของนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัท หัวเว่ย ตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐ ในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่ออิหร่าน เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สงครามการค้ายิ่งปะทุความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
การดึงหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีนเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐนั้น นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า เป็นเพราะหัวเว่ย มีธุรกิจหลักคือธุรกิจด้านเครือข่าย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยี 5G ที่หัวเว่ยถือเป็นผู้นำด้านนี้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยเองก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของชาติตะวันตกอย่างเทียบเคียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกับเจ้าใหญ่ในตลาดอย่าง Nokia และ Ericsson ด้วยประสิทธิภาพที่เป็นที่ยอมรับในราคาถูกกว่ามาก ยังไม่รวมถึงสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยก็กำลังเป็นที่นิยมแซงหน้าเจ้าตลาดสัญชาติสหรัฐอย่างไอโฟนขึ้นเป็น 2 ของโลก เป็นรองแค่เพียงซัมซุงของเกาหลีใต้เท่านั้น แม้ยังต้องเผชิญข้อกังขาในเรื่องการสอดแนมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน
นอกจากนี้ ยังมีอีกบางส่วนที่มองว่า สาเหตุที่ทำให้หัวเว่ยตกเป็นเป้าในสมรภูมินี้ คือความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารของหัวเว่ยกับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของนายเหริน เจิ้งเฟย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยเป็นถึงวิศวกรในกองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงไม่แปลกที่จะทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งสอง
- แสงที่ปลายอุโมงค์ดับวูบ หลังกูเกิลรับลูกรัฐบาล ประกาศแบนหัวเว่ย
การเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐได้ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเจรจาครั้งล่าสุดนี้เป็นการเจรจาครั้งที่ 11 ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แม้การเจรจาจะจบลงด้วยความล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสำคัญบางประการได้ แต่ก็ได้สร้างความหวังแก่ทั่วโลกว่าความตึงเครียดที่ยืดเยื้อมายาวนานอาจคลี่คลายลงในไม่ช้า เมื่อสื่อจีนออกมาเปิดเผยว่า จีนยังคงเปิดทางให้มีการเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐ ในขณะที่นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐกล่าวว่า เขาอาจเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งในไม่ช้านี้เพื่อสานต่อการเจรจาการค้ากับจีน
อย่างไรก็ดี ความหวังที่ว่าข้อพิพาทระหว่างสองมหาอำนาจอาจพบทางออกได้นั้น ถูกทำให้สะบั้นลง หลังจากที่ทรัมป์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อห้ามบริษัทของสหรัฐจากการใช้เทคโนโลยีและบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทที่สหรัฐเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่พุ่งเป้าอย่างชัดเจนไปที่หัวเว่ย ทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (BIS) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศรวมหัวเว่ยและบริษัทในเครือ 70 แห่งไว้ในรายชื่อบริษัทใน "Entity List" ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อของบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐเข้าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐ ได้สร้างแรงกดดันต่อบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจอยู่กับหัวเว่ยจนกูเกิลต้องออกมาขานรับด้วยการระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย ตามคำสั่งของรัฐบาล ส่งผลให้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะไม่สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และบริการต่างๆของกูเกิลได้อีกต่อไป เว้นแต่ในส่วนที่เป็นโอเพนซอร์สซึ่งกูเกิลเปิดให้ใช้งานได้ทั่วไป ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝั่งจีนเป็นอย่างมาก จนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถึงกับออกมาส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมที่จะทำสงครามการค้าที่ยืดเยื้อกับสหรัฐต่อไป
- "หัวเว่ย" เดินหน้าชน งัดแผนสำรองระบบปฏิบัติการ HongMeng แย้มแอบซุ่มพัฒนามานานแล้ว
หลังจากกูเกิลออกมาประกาศระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ยเพียงไม่นาน หัวเว่ยก็ได้ออกแถลงการณ์ฉบับแรกออกมา โดยระบุว่า บริษัทจะยังคงเปิดให้อัปเดตโปรแกรมด้านความปลอดภัย รวมถึงดูแลบริการหลังการขายให้กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทั้งในแบรนด์ Huawei และ Honor ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ถูกขายไปแล้ว และผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในสต็อกทั่วโลกอยู่ขณะนี้ พร้อมยืนยันว่า มาตรการคุมเข้มของสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าระดับไฮเอนด์ของหัวเว่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าในระบบโครงข่าย 5G
นอกจากการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเบื้องต้นแล้ว ยังมีการเปิดเผยชื่อของระบบปฏิบัติการ ‘HongMeng’ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 สอดคล้องกับคำพูดของนายริชาร์ด หยู ซีอีโอแผนกคอนซูเมอร์ของหัวเว่ยที่ออกมาเปิดเผยเมื่อเดือนมี.ค.ว่า หัวเว่ยได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ (OS) ของตนเองเอาไว้ เพื่อใช้เป็นแผนสองกรณีที่หัวเว่ยถูกแบนไม่ให้ใช้ซอฟต์แวร์ของสหรัฐในอุปกรณ์ของตน
- "สี จิ้นผิง" หงายไพ่เด็ด รุดเยี่ยมชมโรงงานแร่หายาก
หลังจากที่สหรัฐงัดไม้เด็ดขึ้นมาหวังสกัดขาจีนด้วยหัวเว่ยเพียงไม่นาน ทางฝั่งของรัฐบาลจีนก็ไม่น้อยหน้า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเยือนบริษัท เจแอล แม็ก แรร์-เอิรธ์ (JL MAG Rare-Earth) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปแร่หายากแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซี เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตและการบริหารกิจการของบริษัท รวมถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมแร่หายากในทันที ทำให้เกิดเสียงฮือฮาขึ้นมาว่า จีนอาจใช้แร่หายากเป็นเครื่องมือตอบโต้ในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ โดยอาจสั่งห้ามการส่งออกแร่เหล่านี้ หากการทำสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น
สำหรับแร่หายากที่กำลังถูกพูดถึงอยู่นี้ ประกอบด้วยแร่ธาตุทั้งหมด 17 รายการ ตามที่กำหนดไว้โดยสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (International Union of Pure and Applied Chemistry) หรือ ไอยูแพ็ก (IUPAC) ซึ่งเป็นแร่หายากที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หน้าจอโทรทัศน์ ไปจนถึงขีปนาวุธต่างๆ โดยจีนนับเป็นประเทศผู้ส่งออกแร่หายากรายใหญ่ที่สุดในโลก ครองส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 90% นอกจากนี้ จีนยังเคยนำแร่เหล่านี้มาเป็นไม้เด็ดทางการค้ามาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ด้วยการหั่นโควต้าส่งออกแร่หายากถึง 40% จนถูกร้องเรียนจากสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นว่าเป็นการสร้างการได้เปรียบให้บริษัทจีนมีต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่าบริษัทต่างชาติจนจีนต้องยกเลิกโควต้าดังกล่าวในท้ายที่สุด
- สหรัฐใส่เกียร์ถอย เลิกคำสั่งแบน "หัวเว่ย" ชั่วคราว
ดูเหมือนความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนจะได้ผล หรืออีกนัยหนึ่งสหรัฐเองก็อาจรู้ตัวว่าการดับเครื่องชนในสนามนี้จะสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับตนเองด้วย ถึงกับต้องออกมาประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามธุรกิจสหรัฐร่วมงานกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เป็นการชั่วคราว โดยอนุญาตให้มีการอัพเดทซอฟท์แวร์เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ของหัวเว่ยได้ เปิดโอกาสให้กูเกิลยังคงสามารถร่วมงานกับหัวเว่ยได้ต่อไป และหัวเว่ยก็จะสามารถใช้ระบบแอนดรอยด์ได้เหมือนเดิมจนถึงวันที่ 19 ส.ค.
อย่างไรก็ดี ประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถเข้ามาลบล้างบรรยากาศแห่งความวิตกกังวลที่ยังคงคุกรุ่นให้หมดลงไปได้ ขณะที่หลายฝ่ายยังคงมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาจทำให้บริษัทเทคโนโลยีจากจีนหาระบบปฏิบัติการใหม่ขึ้นมาแทนที่แอนดรอยด์และ iOS ที่ครองตลาดมายาวนาน และแน่นอนว่าเมื่อถึงเวลานั้น จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเทคโนโลยีกับโลกตะวันตกอย่างแท้จริง สงครามครั้งนี้ดูเหมือนจะยังไม่มีท่าทีที่จะจบลงง่ายๆ เราในฐานะผู้บริโภคคงได้แต่เฝ้าดู เมื่อปลายทางยังคงห่างไกล และความหวังก็เหมือนจะริบหรี่ลงทุกที