เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเฟียต ไครสเลอร์ ออโต้โมบิลส์ (FCA) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ร่วมทุนระหว่างอิตาลีและสหรัฐ ยื่นข้อเสนอขอควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการกับเรโนลต์ เอสเอ ผู้ผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศส ในลักษณะการถือหุ้นบริษัทใหม่ฝ่ายละ 50% อย่างไรก็ตาม ทางนิสสัน มอเตอร์ จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเรโนลต์มาเป็นเวลาร่วม 20 ปี กลับบอกว่าเพิ่งทราบเรื่องข้อเสนอควบรวมดังกล่าวเพียง 1 วันก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หากเกิดการควบรวมจริง สถานะของกลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ จะเป็นอย่างไร In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปดูข้อมูลและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นถ้าเกิดการควบรวมกิจการจริง
ปัจจุบัน เฟียต ไครสเลอร์ บริษัทผลิตรถยนต์ร่วมทุนระหว่างอิตาลีและสหรัฐ รั้งอันดับ 8 ของโลก ด้วยยอดขาย 4.6 ล้านคันต่อปี ขณะที่เรโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศส อยู่ในอันดับ 9 ด้วยยอดขาย 4.1 ล้านคันต่อปี
หากเกิดการควบรวมกิจการขึ้นจริง จะทำให้เกิดเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลกที่มีบริษัทแม่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ เป็นรองเพียงโฟล์คสวาเกนของเยอรมนี และโตโยต้า มอเตอร์ของญี่ปุ่น โดยบริษัทใหม่นี้จะมีมูลค่าในตลาดหุ้นประมาณ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐ
บอร์ดบริหารของบริษัทใหม่จะประกอบด้วยกรรมการอิสระ 11 ราย โดย 4 รายมาจากการเสนอชื่อของทางเรโนลต์ อีก 4 รายมาจากเฟียต ไครสเลอร์ และอีก 1 รายจะมาจากนิสสัน
เฟียตคาดว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะช่วยประหยัดเงินได้กว่า 5 พันล้านยูโร (5.6 พันล้านดอลลาร์) ต่อปี รวมถึงยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการปิดโรงงานใดๆ
เหล่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์เชื่อว่าการควบรวมกันครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฟียต ไครสเลอร์ จะได้ประโยชน์จากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเรโนลต์-นิสสัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟียต ไครสเลอร์ต้องการอย่างยิ่งเพื่อรับมือช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่เครื่องยนต์ไฟฟ้า ขณะที่เรโนลต์จะสามารถเข้าสู่ตลาดในสหรัฐได้ (ในทางทฤษฎี) หลังจากถอนตัวออกมาร่วม 10 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ หากเกิดการควบรวมบริษัทขึ้นจริง จะทำให้บริษัทใหม่มีเงินทุนและทรัพยากรที่สามารถนำไปลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งเปรียบเสมือนอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์
นอกจากนี้ การที่รถยนต์ที่เป็นจุดเด่นของทั้งสองบริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนละกลุ่มกัน โดยเฟียต ไครสเลอร์ จะมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในกลุ่มรถที่เน้นประโยชน์ใช้สอยอย่างรถจิ๊บและรถกระบะ ขณะที่เรโนลต์มีจุดเด่นที่รถโดยสาร ทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ในเกือบทุกเซกเมนต์ อย่างไรก็ตาม ในตลาดรถหรูนั้นยังเป็นรอง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ของเยอรมนี กับออดี้ของเยอรมนี นอกจากนี้ เฟียต ไครสเลอร์ และเรโนลต์ ยังไม่สามารถตีตลาดในประเทศจีนได้
เฟียต ไครสเลอร์ ระบุในข้อเสนอควบรวมกิจการว่า เมื่อคิดจากยอดขายในปี 2561 ของทั้งสองบริษัทรวมกันแล้ว จะทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 ในอเมริกาเหนือ อันดับ 2 ในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา อันดับ 1 ในลาตินอเมริกา และเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดในเอเชียแปซิฟิกได้
ณ ปัจจุบัน รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งมีหุ้นอยู่ในเรโนลต์ 15% ได้ออกมาสนับสนุนการควบรวมกิจการนี้ ภายใต้ข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีการปรับลดตำแหน่งงานหรือปิดโรงงานใดๆ เช่นเดียวกับนายมัตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่มองว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดี และตั้งตารอที่จะรักษาตำแหน่งงานเดิมไว้ทั้งหมด พร้อมกับผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปยิ่งใหญ่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้เฟียต ไครสเลอร์ จะระบุว่า การควบรวมกิจการจะช่วยประหยัดเงินได้ และไม่มีการปิดโรงงานใดๆ พร้อมบอกว่าจะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับพนักงานทั้งสองบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายอื่นๆ แต่ในปัจจุบันที่โรงงานยังคงผลิตรถต่ำกว่ากำลังการผลิตจริง และอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับช่วงชะลอตัว ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานหรือปิดโรงงานใดๆ
นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสยังคงถือหุ้นในเรโนลต์ ขณะที่รัฐบาลอิตาลีนั้นไม่ได้ถือหุ้นใดๆในเฟียต ไครสเลอร์ เลยนั้น ก็อาจทำให้เป็นเรื่องยากที่ทางเรโนลต์จะยอมควบรวมกิจการ แม้ว่าหลังจากควบรวมแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสจะเหลือหุ้นเพียง 7.5% ในบริษัทใหม่ และจะเสียสิทธิ์โหวตแบบ Double voting rights ที่มีไป แต่นายโรเบอร์โต อัลฟองซี นักวิเคราะห์ภาครถยนต์ของเอบีเอส ซีเคียวริตีส์ก็ยังเชื่อว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นของเฟียตจะไม่อนุมัติ เว้นแต่รัฐบาลอิตาลีจะถือหุ้นในรูปแบบเดียวกับเฟียต หรือรัฐบาลฝรั่งเศสขายหุ้นในเรโนลต์ออก
อีกปัจจัยคือ กลุ่มสหภาพแรงงาน C.G.T. ของเรโนลต์ไม่พอใจข้อเสนอดังกล่าว โดยมองว่าข้อเสนอดังกล่าวให้อำนาจแก่เฟียต ไครสเลอร์ในการเลือกดำเนินงานในอิตาลีเหนือฝรั่งเศส เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่มีตัวแทนในบอร์ดบริหารใหม่ พร้อมระบุว่าเรโนลต์ในฝรั่งเศสต้องปรับลดตำแหน่งงานลงอย่างน้อย 22,000 ตำแหน่งแล้วนับแต่ปี 2005
แถลงการณ์ข้อเสนอควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการของเฟียต ไครสเลอร์ ระบุไว้ว่า แม้ข้อเสนอจะมุ่งเน้นที่การรวมกันระหว่างเฟียต ไครสเลอร์กับเรโนลต์ แต่ก็มีแผนที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิในอนาคตด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ได้เตรียมเสนอตำแหน่งในบอร์ดบริหารของบริษัทใหม่ให้กับนิสสัน 1 ที่ จาก 11 ที่นั่ง แต่ทางนิสสันแจ้งว่าทราบข่าวก่อนมีการประกาศอย่างเป็นทางการเพียง 1 วัน
ความสัมพันธ์ระหว่างนิสสันกับเรโนลต์นั้นตึงเครียดขึ้น นับตั้งแต่ที่มีการจับกุมนามคาร์ลอส กอส์น อดีตประธานกลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และจากการที่แหล่งข่าวระบุว่า นายฮิโรโตะ ไซคาวะ ซีอีโอนิสสัน ทราบเรื่องข้อเสนอดังกล่าวเพียง 1 วันก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอนาคตของนิสสันจะเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมา หลังการจับกุมตัวนายกอส์น รัฐบาลฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับการควบรวมกิจการนิสสันกับเรโนลต์เข้าด้วยกัน แต่นายไซคาวะได้ยืนกรานปฏิเสธ โดยระบุว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม แต่ยังคงความสัมพันธ์การเป็นพันธมิตรไว้ตามเดิม
ถ้าหากเกิดการควบรวมกิจการระหว่างเฟียต ไครสเลอร์กับเรโนลต์ขึ้นจริง นิสสันอาจประสบปัญหาได้ เนื่องจากตลาดในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดที่เรโนลต์ไม่สามารถชิงส่วนแบ่งมาได้ เป็นตลาดที่เฟียต ไครสเลอร์กับนิสสันแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งเฟียต ไครสเลอร์ครองส่วนแบ่งในสหรัฐที่ 12.6% ขณะที่นิสสันได้ไป 8.4%
คริสโตเฟอร์ ริชเตอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสภาครถยนต์จากซีเอสแอลเอ กล่าวว่า แต่เดิมนั้นเรโนลต์กับนิสสันช่วยเติมเต็มในตลาดที่ขาดไปของแต่ละฝ่าย การยื่นข้อเสนอควบรวมกิจการจากเฟียต ไครสเลอร์นี้ ทำให้นิสสันมีสำคัญกับเรโนลต์น้อยลงไปอีก และสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากให้กับนิสสัน
แม้ตัวเลือกการควบรวมกิจการ 4 บริษัทระหว่าง เฟียต ไครสเลอร์ เรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ ซึ่งจะทำให้เกิดบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายรวมกันถึง 15 ล้านคันต่อปีนั้นยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การควบคุมบริษัท 4 แห่งนั้นเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนอย่างมาก
ครั้งหนึ่งนายโอซามุ มาซึโกะ ซีอีโอของมิตซูบิชิ มอเตอร์เคยกล่าวไว้ว่า เขาไม่คิดว่านอกจากนายกอส์นแล้วจะมีผู้ใดที่สามารถบริหารเรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิได้พร้อมกัน
ปัจจุบันเรโนลต์และนิสสันต่างยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว และในวันนี้ กลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ ได้มีกำหนดประชุมผู้บริหาร ซึ่งคาดว่าเรื่องข้อเสนอควบรวมกิจการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมด้วยเช่นกัน ซึ่งเราคงต้องจับตาดูผลจากการประชุมต่อไป