สัญญาณความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านได้ทวีความรุนแรงถึงขีดสุดในรอบหลายปี หลังจากที่กองทัพสหรัฐเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า โดรนของสหรัฐถูกขีปนาวุธอิหร่านโจมตีขณะบินอยู่เหนือน่านฟ้าสากลบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ขณะที่อิหร่านเองก็ได้ออกมายอมรับว่า ทางกลุ่มเป็นผู้ยิงโดรนสอดแนมของสหรัฐร่วงลงทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความตึงเครียดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง หลังจากเกิดเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ
การเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ประเทศทำให้ทั่วโลกหวาดวิตกว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านจะก่อตัวกลายเป็นสงครามที่ขยายวงกว้างจนส่งผลต่อแถบตะวันออกกลางทั้งหมดหรือไม่ ฉะนั้น คอลัมน์ In Focus ในสัปดาห์นี้ จึงขอพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเบื้องหลังความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ
*เกิดอะไรขึ้นกับโดรนของสหรัฐ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน (IRGC) ได้ออกมายอมรับว่า ทางกลุ่มเป็นผู้โจมตีโดรนสอดแนมของสหรัฐที่บินเข้ามาในเขตแดนของประเทศ ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวของทางสหรัฐที่ยืนยันว่า โดรนถูกยิงที่น่านฟ้าสากลบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ
การโจมตีโดรนของสหรัฐถือเป็นการประกาศต่อชาวโลกว่า กองทัพของอิหร่านไม่หวั่นเกรงต่อการรุกรานจากต่างชาติ โดยนายฮอสเซน ซาลามี ผู้บัญชาการ IRGC กล่าวว่า "อิหร่านไม่ได้ต้องการทำสงครามกับประเทศใด แต่เราก็พร้อมรับมือกับสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้"
หลังจากนั้น สหรัฐและอิหร่านต่างโต้แย้งกันไปมาว่าการโจมตีโดรนเกิดขึ้นที่บริเวณใดกันแน่ ซึ่งทางอิหร่านยืนกรานว่า กองกำลังของตนยิงโดรนตกในเขตแดนของประเทศ โดยนายโมฮัมหมัด จาวาด ซาริฟ รมว.ต่างประเทศของอิหร่าน ได้ทวีตข้อความในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า อิหร่านไม่ได้ต้องการสงคราม แต่เราจำเป็นต้องปกป้องน่านฟ้า แผ่นดิน และน่านน้ำของประเทศ พร้อมระบุว่า อิหร่านจะนำหลักฐานการรุกรานของสหรัฐไปแสดงต่อองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นว่าสหรัฐเป็นฝ่ายโกหก
*ทำไมอิหร่านจึงเลือกเปิดศึกกับสหรัฐ
หากจะพูดถึงประเด็นนี้ ก็คงต้องย้อนกลับไปในปี 2561 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ พร้อมประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งอิหร่านได้ลงนามร่วมกับกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนีเมื่อปี 2558 นั้น คว้าน้ำเหลวในการลดความทะเยอทะยานของอิหร่านในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อิหร่านได้ขู่ว่าจะเพิ่มระดับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมให้สูงกว่าขีดจำกัดที่ระบุไว้ในข้อตกลง พร้อมประกาศว่า จะระงับพันธกิจข้อตกลงนิวเคลียร์บางประการ และกำหนดเส้นตายภายในต้นเดือนก.ค. เพื่อเจรจาข้อตกลงใหม่กับประเทศต่าง ๆ อันเป็นการกดดันรัฐบาลสหรัฐอย่างเต็มตัว
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. นายแพทริค ชานาฮาน อดีตรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐจะส่งทหารเข้าไปประจำการในตะวันออกกลางเพิ่มอีก 1,000 นาย หลังจากที่ได้ส่งฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ไปยังภูมิภาคดังกล่าว โดยอ้างถึงจุดประสงค์ในการป้องกันภัยคุกคามทางอากาศ ทางทะเล และภาคพื้นดิน
อย่างไรก็ดี การโจมตีโดรนของกองทัพสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.นั้น เป็นเพียงแค่ความท้าทายครั้งล่าสุดระหว่าง 2 ประเทศ โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐได้กล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้โจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. รวมถึงการโจมตีเรือพาณิชย์ 4 ลำนอกชายฝั่ง UAE เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทางอิหร่านได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนายอิชาค อัล ฮาบับ เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า "เห็นได้ชัดว่าการสร้างเหตุการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อใส่ร้ายอิหร่าน และผู้ลงมืออาจเป็นสหรัฐเองเสียด้วยซ้ำ"
ทั้งนี้ ช่องแคบฮอร์มุซซึ่งมีความกว้างเพียง 21 ไมล์นั้น เป็นเพียงช่องทางเดียวในการขนย้ายน้ำมันจากผู้ผลิตในอ่าวเปอร์เซียไปยังประเทศต่าง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันถึงสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และเขย่าตลาดการเงินไปทั่วโลก
*สหรัฐโต้กลับ
หลังเหตุการณ์โจมตีโดรนเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. รัฐบาลสหรัฐก็ได้สั่งเปิดฉากโจมตีทางอากาศ โดยมีเป้าหมายที่สถานีเรดาร์และแท่นยิงขีปนาวุธของอิหร่าน แต่แล้วปธน.ทรัมป์ได้กลับลำยกเลิกปฏิบัติการดังกล่าวไปแบบเฉียดฉิว
นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า จริง ๆ ปธน.ทรัมป์ได้อนุมัติการโจมตีดังกล่าวแล้ว โดยเครื่องบินโจมตีของสหรัฐได้บินขึ้นสู่น่านฟ้า ก่อนที่จะถูกสั่งยกเลิกในนาทีสุดท้าย ซึ่งปธน.ทรัมป์ได้ออกมากล่าวในภายหลังว่า ตนเองสั่งระงับการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของพลเรือน และยืนยันว่าต้องการที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกดดันอิหร่านมากกว่า
"ก่อนหน้านี้เราเตรียมถล่มเป้าหมาย 3 แห่งในอิหร่าน และเมื่อผมถามว่า การโจมตีนี้จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ นายพลท่านหนึ่งตอบว่า 150 คน ผมจึงสั่งระงับการโจมตีก่อนเวลาที่กำหนด 10 นาที เพราะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เมื่อเทียบกับการที่อิหร่านยิงโดรนของสหรัฐ" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ถึงแม้สหรัฐจะสั่งระงับการโจมตีทางอากาศ แต่ทางการก็ได้พยายามที่จะเปิดฉากโจมตีทางไซเบอร์ระบบอาวุธของอิหร่านในวันเดียวกัน แต่สหรัฐก็คว้าน้ำเหลวไปในปฏิบัติการครั้งนี้ โดยนายโมฮัมหมัด จาวัด อาซารี จาห์โรมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอิหร่าน ได้ทวีตข้อความว่า "พวกเขาใช้ความพยายามอย่างหนัก แต่การโจมตีดังกล่าวกลับไม่ประสบความสำเร็จ สื่อเข้ามาถามผมว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่ออิหร่านนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ผมต้องบอกว่าเราเผชิญกับการก่อการร้ายในโลกไซเบอร์มาเป็นเวลานาน อย่างปีที่แล้ว เราต้องรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ในไฟร์วอลล์ของประเทศมากถึง 33 ล้านครั้ง"
*สั่งคว่ำบาตรอีกระลอก
อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะตอบโต้อิหร่าน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้บัญชาการอาวุโสของกองทัพอิหร่าน 8 นาย รวมถึงนายอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งจะทำให้ผู้นำของอิหร่านไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับสหรัฐได้ โดยให้เหตุผลว่า นายคาเมเนอีเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหรัฐ คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ทรัพย์สินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ของอิหร่านถูกอายัด
ด้านนายโมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ รมว.ต่างประเทศอิหร่าน ก็ได้ออกมาตอบโต้ปธน.ทรัมป์ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า "สหรัฐกระหายที่จะทำสงคราม" และมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐถือเป็นการปิดตายช่องทางการทูตกับอิหร่าน
อนึ่ง คำสั่งของปธน.ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะกดดันให้อิหร่านยอมเปิดโต๊ะเจรจากับสหรัฐเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ โดยสหรัฐได้เรียกร้องให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ การผลิตขีปนาวุธ และหยุดสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในดินแดนอาหรับ
สถานการณ์ที่ตึงเครียดนี้ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นถึง 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ถีบตัวขึ้นกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2559
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ผลกระทบจากการคว่ำบาตรนั้นทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านหายไปถึง 2 ใน 3 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของอิหร่านอยู่ในระดับที่อันตราย และถึงแม้ว่าอิหร่านจะใช้ไม้แข็งในการต่อสู้กับสหรัฐ แต่อิหร่านก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่พร้อมจะทำสงครามอยู่ดี ขณะที่ยูเรเซีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 ประเทศจะทำสงครามกันถึง 40%
นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ค่าประกันการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลางทะยานสูงขึ้น โดยแหล่งข่าวระบุว่าคาร์โก้น้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียและเรือลากในปัจจุบัน มีมูลค่าการประกันสูงถึง 500,000 ดอลลาร์ ขณะที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เบี้ยประกันยังมีมูลค่าเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น
ด้านประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ก็ได้ออกโรงประณามการคว่ำบาตรอิหร่านโดยรัฐบาลสหรัฐ โดยระบุว่า นโยบายของสหรัฐที่มีต่ออิหร่านนั้น แสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังของคณะทำงานของทรัมป์
ขณะเดียวกัน นายมาจิด ตากห์-ราเวนจี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาประกาศว่า อิหร่านจะไม่ยอมเจรจากับสหรัฐอย่างแน่นอน พร้อมกล่าวว่า หนทางที่สหรัฐควรทำเพื่อลดความตึงเครียดลงนั้น คือการยุตินโยบายทางการทหารในภูมิภาค รวมถึงควรถอนกองเรือรบทั้งหมด และเลิกใช้วิธีการกดดันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอิหร่าน
ด้านนายวาสซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบเชือดเฉือนว่า "เจ้าหน้าที่ของอิหร่านบางคนกล่าวว่า เราไม่สามารถเจรจากับสหรัฐได้ขณะที่มีมีดมาจ่อคออยู่แบบนี้ … คุณคาดหวังการเจรจาแบบไหน ทั้งที่ตัวเองใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดกับอิหร่าน"
และเมื่ออิหร่านยังแสดงท่าทีแข็งขืนอยู่เช่นนี้ ปธน.ทรัมป์จึงได้ทวีตข้อความล่าสุดว่า "แถลงการณ์ที่โง่เขลาและเหยียดหยามของอิหร่านในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าอิหร่านไม่เข้าใจต่อความเป็นจริง และหากอิหร่านโจมตีต่อสิ่งใดที่เป็นของอเมริกา อิหร่านก็จะเผชิญกับกองทัพที่ยิ่งใหญ่และทรงพลัง" ซึ่งอาจถึงขั้น "ล้างบาง" กันเลยทีเดียว
ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีฝ่ายใดต่างยอมลดลาวาศอกเช่นนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ศึกในครั้งนี้จะจบลงเช่นไร …