ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่อยยาวจนถึงสัปดาห์นี้ ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไม่กระพริบตา เพราะทุกความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่เฟด ไล่ตั้งแต่หัวเรือใหญ่อย่างนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับผู้ว่าการเฟดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย และจะส่งผลอย่างมากต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นบรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์พยายามที่จะ "ตีความ" และ "อ่านปาก" ทุกคำพูดและปฏิกริยาของเจ้าหน้าที่เฟดที่มีต่อตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อซึ่งถือเป็นข้อมูลที่คณะกรรมการเฟดให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นปรอทวัดสุขภาพเศรษฐกิจแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังมีผลต่อการตัดสินใจว่า เฟดควรใช้เครื่องมือชนิดใดในการ "กระตุ้น" หากเศรษฐกิจอ่อนแรงลง และเครื่องมือใดที่เหมาะแก่การ "คุมบังเหียน" หากเศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัวร้อนแรงและอัตราเงินเฟ้อส่อแววไร้เสถียรภาพ
อาจกล่าวได้ว่า ในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ถือเป็นยุคแห่งความยากลำบากและปวดเศียรเวียนเกล้าของเฟดอย่างแท้จริง เพราะเฟดเองนั้น นอกจากจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลความเรียบร้อยของระบบเศรษฐกิจและภาคธนาคารแล้ว เฟดยังต้องต่อสู้เพื่อปกป้องการดำรงอยู่ในฐานะองค์กรอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับวาทะกรรมและการข่มขู่จากประธานาธิบดีหัวร้อนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นับวันก็จ้องแต่จะเหน็บแนมและค่อนแคะนโยบายการเงินซึ่งมีแต่เฟดเท่านั้นที่รู้ว่าควรจะงัดนโยบายเหล่านี้ออกมาใช้เมื่อใด โดยเจ้าหน้าที่เฟดที่ถูกคุกคามด้วยคำพูดอันเจ็บปวดของทรัมป์มากที่สุดนั้น คงหนีไม่พ้น เจอโรม พาวเวล ในฐานะหัวขบวนที่ต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาทุกครั้งหากการตัดสินใจของที่ประชุมเฟดส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงในเวลาต่อมา
เจอโรม พาวเวล ถูกสปอตไลท์ในตลาดการเงินจับจ้องอีกครั้ง เพราะมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่า นักลงทุนจะพยายามจับสัญญาณว่า ประธานเฟดวัย 66 ปีผู้นี้จะส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตเป็นวงกว้างว่า เฟดอาจจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างมากถึง 0.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ เนื่องจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ พุ่งขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ส่องเครื่องมือในคลังเฟด: จากนโยบายดอกเบี้ยต่ำสู่ QE...จาก QE สู่การปรับลดงบดุล...จากลดงบดุลสู่การขึ้นดอกเบี้ย
QE หรือ Quantitative Easing แปลความตามตัวอักษรว่า "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินอธิบายว่า เป็นมาตรการที่ธนาคารกลางนำมาใช้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต สภาพคล่องในระบบหดตัว และสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับการถดถอย หลักการทำ QE ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆก็คือ ธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน และตราสารหนี้ประเภทที่มีสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) เมื่อสภาพคล่องสูงขึ้น เม็ดเงินในระบบก็ไหลลื่น สถาบันการเงินก็ปล่อยเงินกู้เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง
เฟดเริ่มนำมาตรการ QE มาใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งมีต้นตอมาจากปัญหาในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐ หรือการปล่อยกู้แก่ผู้ที่มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้คืนต่ำกว่ามาตรฐาน การที่เฟดออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในนาม QE1 เพื่อกู้ซากเศรษฐกิจในครั้งนั้น เป็นเพราะนโยบายดอกเบี้ยต่ำ 0-0.25% ไม่เวิร์ค
ที่ผ่านมา มาตรการ QE ให้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยสามารถทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราการว่างงานลดต่ำลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี แต่การใช้มาตรการ QE แม้จะเกิดผลดีมหาศาล แต่ก็ถือเป็นมาตรการทางการเงินที่ไม่ปกติ ซึ่งเฟดก็รู้ว่า สักวันหนึ่งเฟดจะต้องปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เฟดจำเป็นจะต้องทำ 2 สิ่งด้วยกัน ซึ่งก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดงบดุล
การปรับลดงบดุลถือเป็นหนึ่งในมาตรการของเฟดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการปรับนโยบายการเงินของเฟดกลับสู่ภาวะปกติ โดยเฟดได้เริ่มกระบวนการปรับลดงบดุลในเดือนต.ค. 2560 ซึ่งขณะนั้นงบดุลของเฟดมีมูลค่าสูงกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งในการปรับลดงบดุลนั้น เฟดจะปล่อยให้พันธบัตรจำนวนหนึ่งครบอายุโดยไม่มีการนำรายได้ไปลงทุนในพันธบัตรใหม่
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 9 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2561 ซึ่งเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จนปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed Fund Rates) อยู่ที่ระดับ 2.25 - 2.50%
เฟดเผชิญโจทย์ใหญ่ หลังทำเนียบขาวบีบลดดอกเบี้ย-ตลาดการเงินคาดหวังการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ในช่วงแรกนั้น ตลาดการเงินมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยย่อมส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และนำไปสู่ภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน ซึ่งในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค กระแสความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ในตลาดหุ้นทั่วโลกที่ร่วงลงอย่างหนักในปีนี้ เสมือนเป็นการส่งส่งสัญญาณทางอ้อมไปถึงคณะกรรมการเฟดว่า ถึงเวลาแล้วที่เฟดควรจะปรับลดดอกเบี้ย
นอกจากจะต้องแบกรับความหวังจากนักลงทุนในตลาดการเงินแล้ว เฟดยังต้องรับมือกับการกดดันจากทำเนียบขาว โดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ผลักดันด้วยการทวีตข้อความรายวัน ด้วยความหวังว่าเฟดจะยอมถอยซักก้าวในการตัดสินใจนโยบายการเงิน
-- เปิดวาทะกรรม "เฟดจะใช้ความอดทน" แต่ทรัมป์ "ไม่อดทน"
ในช่วงหลายเดือนมานี้ นักลงทุนในตลาดการเงินอาจคุ้นหูกับคำว่า "เฟดจะใช้ความอดทน" ในการปรับนโยบายการเงิน ความจริงแล้ว เฟดใช้คำว่า "อดทน" มาตั้งแต่ยุคที่เจเน็ต เยลเลน นั่งตำแหน่งประธาน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น คณะกรรมการเฟดก็ใช้ความอดทนสมกับเป็นองค์กรอิสระที่ต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจก่อนที่จะดำเนินการใดๆที่จะมีผลกระทบตามมา ต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มี DNA นักธุรกิจที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำน่าจะเป็นผลดีกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ และต้องการให้ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วดั่งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ทุกสิ่งเป็นไปที่ตามที่ตนเองได้ลั่นวาจาไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำประเภทใจเร็วด่วนได้และขาดความอดทน
หากย้อนดูไทม์ไลน์แถลงการณ์ของเฟดในแต่ละครั้ง จะพบว่า เฟดดำเนินนโยบายด้วยความอดทนเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่จะกระทำการใดๆกับอัตราดอกเบี้ย นั่นเพราะเฟดไม่เพียงแต่คำนึงถึงภาพใหญ่อันหมายถึงเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น แต่ยังมองลึกไปถึงผลกระทบที่จะมีต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และเฟดมักจะมีคำพูดติดปลายนวมในแทบจะทุกครั้งของการประชุมนโยบายการเงินว่า เฟดพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่จำเป็น หากเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว
ในยุคของเจเน็ต เยลเลน อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ที่ระดับใกล้ 0% ซึ่งประธานเฟดหญิงผู้แข็งแกร่งนี้ได้ใช้คำว่า "อดทน" ในสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) แทบจะตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง จนเมื่อส่งไม้ต่อให้กับเจอโรม พาวเวล คำว่า "อดทน" ก็ยังคงอยู่ในสัญญาณชี้นำล่วงหน้า กระทั่งในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ปีนี้ เฟดได้ตัดคำว่า "อดทน" ออกจากประโยคที่เคยใช้มาเนิ่นนานว่า "เฟดจะใช้ความอดทนก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย" ซึ่งนักลงทุนตีความทันทีว่านี่อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น
-- "ทรัมป์" VS "พาวเวล": มวยวัด ปะทะ มวยสากล
หากจำลองภาพทรัมป์และพาวเวลเป็นนักชกบนเวที เราคงได้เห็นคู่ต่อสู้ที่ผิดฝาผิดตัวและอยู่ผิดที่ผิดทาง นั่นเพราะทรัมป์สวมบทนักชกที่อาศัยทวิตเตอร์เป็นอาวุธโจมตีคู่ต่อสู้แบบรายวัน ขณะที่พาวเวลยังคงดำรงตนในฐานะประธานเฟดที่ต้องใช้ทั้งความอดทนในการพูดและการแสดงความรู้สึก
ทรัมป์โจมตีเฟดและพาวเวลตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยที่ร้ายแรงสุดก็เห็นจะเป็นวิวาทะที่ว่า "เฟดเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจสหรัฐ" และถึงขนาดเคยโพล่งออกมาว่า "เฟดบ้าไปแล้ว" เนื่องจากทรัมป์ไม่พอใจที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้งนับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนม.ค. 2560 เทียบกับที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ทรัมป์กังวลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งจะกระทบการส่งออกของสหรัฐ และทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ให้ความสนใจ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเปิดฉากทำสงครามการค้ากับประเทศคู่ค้า ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงออกอาการขู่ "ปลดพาวเวล" แบบรายวัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลรั่วไหลออกมาว่า ทรัมป์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของทำเนียบขาว หาทางปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งประธานเฟด
ต่างจากพาวเวลที่นิ่งฟังอย่างสงบ และแถลงตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างสุภาพว่า กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าประธานเฟดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และเขาตั้งใจที่จะทำหน้าที่จนครบวาระ ... คำว่า "น้อยแต่มาก" คงใช้ได้ดีกับประธานเฟดผู้นี้ และที่สำคัญ พาวเวลไม่ได้สู้แค่เพียงลำพัง เพราะยังมีรุ่นพี่อย่างเจเน็ต เยลเลน และประธานเฟดรุ่นเดอะอย่าง อลัน กรีนสแปน ที่ออกมาปกป้องพาวเวลด้วยการตอกหน้าทรัมป์ โดยเยลเลนให้สัมภาษณ์กับรายการ Marketplace ของสถานีวิทยุ Minnesota Public Radio เมื่อช่วงปลายเดือนก.พ.ปีนี้ว่า ทรัมป์ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าหมายหลักของเฟดคือการจ้างงานสูงสุดและการรักษาเสถียรภาพของราคา ซึ่งเป็นภารกิจที่สภาคองเกรสมอบหมายแก่เฟด ขณะที่ปู่กรีนสแปนแนะนำให้พาวเวลใส่ที่อุดหู เพื่อจะไม่ต้องฟังคำขู่ที่ไร้สาระของทรัมป์
ผู้สังเกตการณ์มองว่า ทรัมป์ทำได้แค่ขู่ปลดพาวเวลรายวัน เพราะสำหรับสหรัฐแล้ว การปลดประธานธนาคารกลางย่อมนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรงเกินกว่าจะควบคุม ผิดกับความใจถึงของประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกันแห่งตุรกี ที่ออกคำสั่งฟ้าผ่าปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแบบฟ้าฝ่าเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา เพียงเพราะผู้ว่าการธนาคารกลางผู้นี้ลังเลที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
จับตาสัญญาณจากพาวเวล...ลด/ไม่ลดดอกเบี้ย ในการประชุมเฟดเดือนก.ค.
นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาถ้อยแถลงของพาวเวลในวันนี้และพรุ่งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมิ.ย.
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แม้มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว โดยผลการสำรวจล่าสุด พบว่า FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า มีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค.
นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 93% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.25-2.50% และมีโอกาส 7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%
ทั้งนี้ พาวเวล มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 10 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ และแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ