In Focusญี่ปุ่น vs เกาหลีใต้ จากอดีตคู่แค้นในสมรภูมิรบ สู่คู่ชกคู่ใหม่แห่งสังเวียนสงครามการค้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 17, 2019 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสุดยอด G20 ที่นครโอซากา เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จบลงด้วยความชื่นมื่นเกินคาด เมื่อสองบิ๊กอย่างสหรัฐและจีนตกลงจับมือสงบศึกกันชั่วคราว แต่ในขณะที่มวยคู่เอกเข้ามุมพักเพื่อรอที่จะกลับขึ้นเวทีชกกันต่อในยกใหม่นั้น ระหว่างนี้กลับมีคู่ชกคู่ใหม่เกิดขึ้น

โดยเพียงไม่กี่วันให้หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้กล่าวต่อหน้าบรรดาผู้นำโลกที่การประชุมซัมมิต G20 ว่า "เศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเสรีคือพื้นฐานของสันติภาพและความรุ่งเรือง" จู่ ๆ ญี่ปุ่นก็ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกสารเคมี 3 ชนิดที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และจอแสดงผล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสมาร์ทโฟน ทีวี และอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์อื่นๆ โดยพุ่งเป้าการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวไปที่เกาหลีใต้ พร้อมอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ ขณะที่เกาหลีใต้ออกมาสวนกลับว่า ไม่จริง การแก้แค้นทางการเมืองต่างหากที่เป็นสาเหตุแท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง

จากสงครามโลก สู่สงครามการค้า

จุดเริ่มต้นของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อญี่ปุ่นประกาศควบคุมการส่งออกเคมีภัณฑ์ 3 ชนิดไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ fluorinated polyimides ซึ่งใช้ในการผลิตหน้าจอแสดงผล photosensitising agent resist ใช้ในชิปประมวลผล และ hydrogen fluoride ใช้ในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสารเคมีทั้งหมดนี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาวุธได้ และด้วยเหตุนี้เอง ญี่ปุ่นจึงอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยระบุว่า หากไม่ควบคุมการส่งออกให้เข้มงวดมากขึ้น วัตถุดิบเหล่านี้ก็อาจถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารได้ โดยมาตรการนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม

อันที่จริงแล้ว การที่ญี่ปุ่นบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ และเกาหลีใต้พึ่งพิงอย่างมากนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ โดยที่มาที่ไปต้องเท้าความย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่เกาหลีอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นยาวนานถึง 30 ปี เริ่มเมื่อพ.ศ. 2453 ที่ญี่ปุ่นได้ผนวกเกาหลีเป็นดินแดนของตน และเกาหลีถูกญี่ปุ่นปกครองเรื่อยมาจนกระทั่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกเมื่อพ.ศ. 2488

โดยในช่วงสามทศวรรษที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นนั้น ชาวเกาหลีใต้ถูกกดขี่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส เพื่อเป็นกำลังการผลิตสำคัญให้กับอุตสาหกรรมหนัก-เบาทั้งหลายของญี่ปุ่น รวมถึงการสร้างถนนและทำเหมืองแร่ นอกจากนี้ ชายชาวเกาหลียังถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่นเพื่อต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และหนึ่งในบันทึกหน้าประวัติศาตร์ที่ทำให้ชาวเกาหลีผูกใจเจ็บญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือ การที่หญิงชาวเกาหลีจำนวนมากได้ถูกส่งตัวไปเป็นนางบำเรอของทหารญี่ปุ่น

ปัจจุบันหญิงบำเรอเหล่านั้น เช่นเดียวกับชายชาวเกาหลีที่ถูกกดขี่ให้เป็นแรงงานทาส หลายคนล้มหายตายจากไปแล้ว แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงมีชีวิตอยู่และกำลังเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งนี่เองเป็นสาเหตุให้ทางเกาหลีใต้รื้อคดีความเรื่องค่าชดเชยแรงงานในสมัยสงครามกลับมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ศาลสูงของเกาหลีใต้ได้สั่งให้บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบริษัทบังคับใช้แรงงานหนักในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม เช่นเดียวกับบริษัท นิปปอน สตีล และบริษัท ซูมิโตโม เมทัล ที่ถูกตัดสินในคดีคล้ายกันก่อนหน้านั้นไม่นาน

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยืนกรานว่าได้ชำระค่าชดเชยหมดแล้วตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปีพ.ศ. 2508 แต่เกาหลีใต้ไม่เห็นเช่นนั้น โดยมองว่าข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไม่ได้ช่วยเยียวยาประชาชนของเกาหลีใต้ได้ดีพอ

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ออกโรงเตือนว่า หากเกาหลีใต้ยังคงบังคับใช้คำตัดสินของศาล ญี่ปุ่นก็จะดำเนินการตอบโต้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ และสิ่งที่ผู้นำญี่ปุ่นลั่นวาจาไว้ ก็เกิดขึ้นจนได้ แถมดูทีท่าว่าจะไม่จบลงง่าย ๆ เสียด้วย

ยิ่งคุย ยิ่งเดือด

หลังเกิดเหตุ ใช่ว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่พยายามหาทางแก้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะผู้แทนจากเกาหลีได้เดินทางไปยังกรุงโตเกียวเพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่า การคุยกันครั้งนี้น่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ภายหลังจบการเจรจาที่ใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการพูดคุยในระดับคณะทำงาน ซึ่งในระหว่างการพูดคุยกันนั้น ทางเกาหลีใต้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรการควบคุม เพียงแต่ซักถามถึงเหตุผลของการบังคับใช้เท่านั้น

แต่ในวันรุ่งขึ้น ทางเกาหลีได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงสื่อเกี่ยวกับการเจรจาที่เกิดขึ้นในแบบหนังคนละม้วน โดยกระทรวงการค้าเกาหลีใต้ๆก้แสดงความผิดหวังต่อมาตรการควบคุมของญี่ปุ่น พร้อมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการควบคุมโดยทันที เจ้าหน้าที่เกาหลีที่เข้าร่วมประชุมเผยด้วยว่า เกาหลีขอให้ญี่ปุ่นหันหน้ามาเจรจากัน แต่คำขอนี้ถูกฝ่ายญี่ปุ่นปฏิเสธ

ทันทีที่เกาหลีใต้จบการแถลงถึงรายละเอียดการประชุม ทางกระทรวงการค้าญี่ปุ่นก็ไม่รอช้า รีบจัดการแถลงข่าวตอบโต้ทันควันในวันเดียวกัน โดยญี่ปุ่นยืนยันว่าตรวจสอบบันทึกการประชุมแล้ว และไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าทางเกาหลีใต้ได้ร้องขอให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออก เพียงแต่เรียกร้องให้แก้ปัญหา ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ได้ตอบกลับไปแล้วว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงและไขข้อข้องใจเกี่ยวกับมาตรการนี้เท่านั้น ไม่ใช่การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกมาตรการแต่อย่างใด

เรื่องเลยกลับตาลปัตร จากที่หวังกันว่า คุยกันแล้ว อะไร ๆ น่าจะดีขึ้น แต่กลายเป็นว่า สถานการณ์แย่ลงยิ่งกว่าเดิม แถมลุกลามบานปลายจากระดับรัฐบาลไปสู่ภาคธุรกิจและประชาชน โดยเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมหลายสิบแห่งของเกาหลีใต้พากันเดินขบวนกลางกรุงโซลเพื่อเรียกร้องให้มีการบอยคอตต์สินค้าจากญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือ นายคิม ซัง-มิน ประธานสมาคมเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีใต้ ที่ออกมาเรียกร้องให้ร้านค้าต่างๆ ยุติการจำหน่ายสินค้าญี่ปุ่น จนกว่าญี่ปุ่นจะออกมาขอโทษต่อเกาหลีใต้ และยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง

ขณะเดียวกัน ชาวเกาหลีใต้จำนวนหลายพันคนพากันลงชื่อในเว็บไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้เพื่อเรียกร้องให้บอยคอตต์สินค้าจากญี่ปุ่นเช่นกัน นอกจากนี้ ชาวเกาหลีใต้ยังเรียกร้องให้มีการยกเลิกการเดินทางไปยังญี่ปุ่น รวมทั้งไม่ให้เกาหลีใต้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปีหน้าด้วย

นั่นก็เพื่อน นี่ก็เพื่อน สหรัฐขอไม่ยุ่ง

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรสนิทใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเพื่อนรักทั้งสองทะเลาะกัน สหรัฐจะทำเช่นไร

เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NHK ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐไม่มีแผนที่จะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ นายสติลเวลล์ไม่ได้แสดงความเห็นว่าสหรัฐจะแสดงบทบาทในเรื่องนี้อย่างไร

"ผมสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายนั่งลงและคุยกัน เพื่อหาทางออกที่ดีให้กับสถานการณ์นี้" นายสติลเวลล์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสติลเวลล์ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงโซลในวันพุธนี้ เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงนางคัง คยอง-ฮวา รัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะที่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญจับตาและคาดว่า นายสติลเวลล์อาจถูกตั้งคำถามถึงประเด็นความขัดแย้งนี้ แต่เขาไม่น่าจะทำอะไรได้มาก เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นพันธมิตรที่สำคัญ สหรัฐจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะเลือกข้างได้

WTO ยื่นมือช่วย

ในเมื่อคุยกัยแล้วไม่ดีขึ้น หวังพึ่งสหรัฐก็ไม่ได้ เกาหลีใต้จึงนำเรื่องดังกล่าวฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากเชื่อว่า มาตรการควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่นนั้นละเมิดกฎกติกาของ WTO ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็เป็นสมาชิก

โดยคาดว่า ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีทั่วไป (General Council) ของ WTO ในวันที่ 23-24 กรกฎาคมนี้ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้แทนเกาหลีใต้ประจำ WTO จะเรียกร้องให้ญี่ปุ่นอธิบายเหตุผลของการบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออก หรือไม่ก็เรียกร้องให้ญี่ปุ่นถอนมาตรการออกไปอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นนั้น น่าจะยืนยันจุดยืนที่ว่าจะไม่มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากญี่ปุ่นมองว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้เป็นการละเมิดข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ห้ามส่งออก เพียงแต่ปรับระบบให้เข้มงวดขึ้น

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวทางการทูตและเหล่าผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การอภิปรายในที่ประชุมปลายเดือนนี้ไม่น่าจะมีความคืบหน้ามากนักในการยุติความขัดแย้ง แต่น่าจะช่วยในแง่ของการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เรียกความเห็นใจจากประชาคมโลก เนื่องจากสมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งรวมถึงสมาชิกรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

ท้ายที่สุดแล้ว ปมขัดแย้งนี้จะคลี่คลายเช่นไร เมื่อพิจารณาจากท่าทีของทั้งสองฝ่ายแล้ว คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยประธานาธิบดี มูน แจ อิน แสดงท่าทีว่าไม่อยากรีบผลีผลามสงบศึก เพราะเกรงว่าการเร่งเจรจาอาจเป็นการยอมทำตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น ขณะที่ทางฝ่ายนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ก็ไม่น่าจะยอมอ่อนข้อเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นยืนกรานมาโดยตลอดว่า การจ่ายเงินชดเชยเกี่ยวกับหญิงบำเรอและแรงงานทาสสมัยสงครามนั้น ได้รับการชำระสะสางไปแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลก ตามข้อตกลงการค้าทวิภาคีของสองประเทศ ตลอดจนข้อตกลงทางการทูตอื่น ๆ

เรียกว่า แข็งกันทั้งคู่ ยอมหักไม่ยอมงอ อย่างว่า การทะเลาะกันบนสังเวียนการค้าครั้งนี้ มีปมเหตุที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยสงคราม เราคงได้แต่เอาใจช่วย ขอให้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็เป็นประเทศที่คนไทยชื่นชอบ ยอมถอยกันคนละก้าว และหันหน้ากลับมาเจรจากันใหม่ในเร็ววัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ