In Focusผ่าวิกฤตการเมืองร้อนระอุของฮ่องกง เมื่อการประท้วงบานปลายสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 31, 2019 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่าทางการฮ่องกงจะประกาศยอมอ่อนข้อต่อกระแสการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการระงับการพิจารณากฎหมายดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การประท้วงยังไม่คลี่คลายลงง่าย ๆ และยังสร้างรอยร้าวในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเลื่อนการพิจารณากฎหมายดังกล่าวออกไป ไม่ได้เป็นการรับประกันแต่อย่างใดว่า ทางการจะยกเลิกพิจารณากฎหมายฉบับนี้จริงตามความตั้งใจเดิมของประชาชนหรือไม่

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังปักธงข้อเรียกร้องใหม่ที่ดุดันและหนักแน่นกว่าเดิมจนสะเทือนถึงจีนแผ่นดินใหญ่อีกระลอก In Focus สัปดาห์นี้ จึงพาผู้อ่านไปเจาะลึกสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุบนเกาะฮ่องกง พร้อมจับตาแนวโน้มล่าสุดของจีนแผ่นดินใหญ่และอนาคตของฮ่องกงหลังจากนี้

ฮ่องกงไม่ใช่จีน : จากการประท้วงอย่างสันติสู่การลุกฮือที่ปกคลุมด้วยก๊าซน้ำตา

"ความรุนแรงมีแต่จะสร้างความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด เกาะฮ่องกงและประชาชนเองจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หากบ้านเมืองไร้ซึ่งระเบียบและกฎหมาย" นี่คือถ้อยแถลงของนางแคร์รี ลัม ผู้บริหารหญิงแกร่งของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่เผยให้เห็นถึงสถานการณ์สุดตึงเครียดบนเกาะฮ่องกงจากการประท้วงในช่วงตลอด 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่ากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะถูกปัดตกไปโดยไม่มีกำหนด ทว่าผู้ประท้วงยังคงยืนกรานเดินหน้าเรียกร้องผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จนเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวระลอกแรกเกิดจากความไม่พอใจต่อคำแถลงการณ์อันคลุมเครือเกี่ยวกับการถอนร่างกฎหมาย ชาวฮ่องกงนับแสนคนจึงตบเท้าออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกร่างกฎหมายอย่างถาวร ในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบที่อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตัดสินใจเดินขบวนประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ปิดล้อมและบุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภา พร้อมตะโกนอย่างกึกก้องว่า "ฮ่องกงไม่ใช่จีน" หรือ "ถึงเวลาปฎิรูปเพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งนับเป็นการประท้วงที่รุนแรงอย่างยิ่ง จนทำให้นางลัม ต้องออกแถลงการณ์ย้ำอีกครั้งว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นตายไปแล้ว และรัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว

ทว่าท่าทีของนางลัมกลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างโจษจันว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด โหมกระพือเชื้อเพลิงแห่งความโกรธาทั่วเกาะฮ่องกงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผู้ประท้วงนับแสนคนได้ออกมาชุมนุมกันอีก ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปคือ กลุ่มผู้ชุมนุมหันหัวเรือออกประจัญหน้ากับจีนเป็นครั้งแรก โดยบุกเข้าไปยังอาคารสำนักงานติดต่อประสานงานของจีนประจำเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ปาหิน ขว้างไข่ใส่สัญลักษณ์ประจำชาติ และพ่นสเปรย์ข้อความแสดงจุดยืนใส่ตัวอาคาร ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม การโจมตีสัญลักษณ์ของจีนถือเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านจีนอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนเกาะฮ่องกง

ยันไม่ทันข้ามวันดี สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อกลุ่มชายเสื้อขาวสวมหน้ากากปิดบังใบหน้านับ 100 คน ได้บุกเข้าไปที่สถานีรถไฟใต้ดินหยุ่นหลง และใช้ไม้เบสบอล ท่อนโลหะ และท่อนเหล็ก กระโจนทำร้ายผู้ประท้วงที่ใส่เสื้อสีดำขณะเดินทางกลับ รวมถึงผู้สื่อข่าวและผู้คนที่อยู่บริเวณโดยรอบนั้น ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 45 คน

การกระทำที่อุกอาจนี้สร้างความโกรธเกรี้ยวและความสลดใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก นางลีแนต ฮ. ออง ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ประจำมหาวิทยาลัยโตรอนโต กลับมองว่า กลยุทธ์การปราบปรามโดยการข่มขู่เช่นนี้ยิ่งสร้างพลังความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นในหมู่ประชาชนชาวฮ่องกง

ปลดแอกฮ่องกง : ธงใหม่ของการประท้วงที่ดุดัน

กระแสความไม่พอใจของชาวฮ่องกงที่มีต่อนางแคร์รี ลัม เกิดจากความรู้สึกที่ว่ารัฐบาลฮ่องกงไม่ได้อยู่เคียงข้างประชาชน เพราะผู้นำของฮ่องกงได้รับเลือกโดยผ่านการอนุมัติล่วงหน้าจากจีนมาโดยตลอด ประชาชนชาวฮ่องกงจึงเพรียกหาสิทธิในการจัดการเลือกตั้งผู้นำ ความขัดแย้งหลายครั้งหลายคราที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความอัดอั้นอันเนื่องมาจากการขาดเสรีภาพในการเลือกตั้งผู้นำ

การประท้วงระลอกใหม่นี้จึงยกระดับจากประเด็นการกดดันนางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ให้ลาออกจากตำแหน่งและยกเลิกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนถาวร มาสู่การประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย การเลือกตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่จะนำมาซึ่งความสงบในสายตาของชาวฮ่องกง เหมือนกับสิ่งที่นายเบนนี่ ไต้ อดีตอาจารย์คณะกฎหมายมหาวิทยาลัยฮ่องกงและอดีตแกนนำการประท้วงเชิงสันติ ระบุว่า "การปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนเกาะฮ่องกงได้"

หากมองให้ลึกกว่านั้น ปฎิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักของการประท้วงที่บานปลายส่วนหนึ่งมาจาก ปัญหาที่สภานิติบัญญัติไม่สามารถจัดการให้เกิดผลประโยชน์ที่ลงตัวระหว่างจีนและฮ่องกง ด้วยรูปแบบนโยบายการปกครอง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่แสนพิสดาร กล่าวคือ เมื่อปี 2540 อังกฤษได้คืนฮ่องกงให้กับจีนอย่างเป็นทางการ ฮ่องกงจึงกลายเป็นเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีอิสระจากจีนในแง่ของระบบการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน และกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law)

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลจีนเริ่มใช้อำนาจกับฮ่องกงมากขึ้น ชาวฮ่องกงจำนวนมากรู้สึกว่าถูกจีนครอบงำ จนเกิดกระแสความไม่พอใจอยู่บ่อยครั้ง เช่น การปฎิวัติร่มเมื่อปี 2557 นอกจากนี้ ชาวฮ่องกงจำนวนมากยังกังวลเกี่ยวกับการที่จีนมีอำนาจควบคุมสื่อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนทำการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยไม่รู้ตัว และปฏิบัติตามคำสั่งของจีนไปโดยปริยาย

นายหย่งชุน ไค่ ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง กล่าวย้ำถึงต้นตอของปัญหาการประท้วงครั้งนี้ว่า ด้วยการปกครองแบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เมื่อผลประโยชน์ของจีนและฮ่องกงไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน รัฐบาลกลางพยายามควบคุมฮ่องกงอย่างเข้มงวด และสวนทางกับเจตจำนงด้านเสรีภาพของชาวฮ่องกง ปัญหาจึงบานปลาย

ขณะที่นายอิวาน ชอย อาจารย์ด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง แสดงความคิดเห็นว่า การเลือกผู้บริหารระดับสูงของฮ่องกงด้วยคะแนนเสียงสากลเป็นเรื่องที่ดี แต่คงยากที่รัฐบาลจีนจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้

ท่าทีของจีนแผ่นดินใหญ่ : เชื่อมั่นผู้นำฮ่องกง

การแถลงการณ์ของสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของรัฐบาลจีน เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ถือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ร้อนระอุทางการเมืองในฮ่องกง และยังเป็นครั้งแรกที่สำนักงานที่มีอำนาจระดับคณะรัฐมนตรีออกมากล่าวถึงสถานการณ์บนเกาะฮ่องกงภายหลังการประท้วงที่ยืดเยื้อ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเคลื่อนไหวและสื่อมวลชนที่เฝ้ารอการแถลงจุดยืนของรัฐบาลกลางเป็นจำนวนมาก

นายหยาง กวง โฆษกสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของรัฐบาลจีน กล่าวว่า จุดยืนของรัฐบาลจีนจะยังคงสนับสนุนการทำหน้าที่ของนางแคร์รี ลัม อย่างเต็มกำลัง และมั่นใจในความสามารถของตำรวจและหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกงในการลงโทษอาชญากรตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางจีนยังได้ประณามผู้ประท้วงหัวรุนแรงที่โจมตีสำนักงานติดต่อประสานงานของจีน เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค. รวมทั้งการทำลายสัญลักษณ์ประจำชาติ และท้าทายอำนาจอธิปไตยของประเทศอย่างเปิดเผย ตลอดจนการประท้วงที่เกิดขึ้นตลอดหลายสัปดาห์ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรม ความสงบเรียบร้อยทางสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน และภาพลักษณ์ของฮ่องกงอย่างรุนแรง

สำหรับประเด็นด้านการส่งกองทัพจีนเข้าไปแทรกแซงที่หลายฝ่ายเป็นกังวลนั้น นายหยางกล่าวแต่เพียงว่า ลำดับความสำคัญในขณะนี้คือการหยุดยั้งความรุนแรง และฟื้นฟูความเป็นระเบียบในสังคม ตำรวจฮ่องกงให้การยอมรับการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ทว่าเหตุประท้วงซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. กลับลุกลามบานปลายไปไกลกว่าการชุมนุมประท้วงอย่างสันติแล้วในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายหวู่ เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนว่า ถ้ารัฐบาลฮ่องกงต้องการ จีนก็สามารถส่งกองทัพทหารจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) เข้าควบคุมสถานการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงได้ สอดคล้องกับที่สิ่งผู้เชี่ยวชาญยืนกรานการแทรกแซงทางการทหารว่า ยังคงมีความเป็นไปได้

นายจาง เต๋งหัว ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจีน แห่งมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น กล่าวชื่นชมท่าทีของรัฐบาลกลางที่เคร่งขรึมและมีความเป็นผู้นำว่า "แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงอดทนและอดกลั้น จีนต้องการเอาชนะคนส่วนใหญ่ในฮ่องกงด้วยการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการประท้วงอย่างสันติ และการประท้วงที่ผิดกฎหมายและมีความรุนแรง"

เสียงจากนักวิเคราะห์ : ก้าวต่อไปของฮ่องกงและการประท้วง

หลังจากที่สำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของจีนแผ่นดินใหญ่ออกแถลงการณ์ส่งสัญญาณเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นักวิชาการจากทั่วสารทิศต่างร่วมถอดรหัสจากถ้อยแถลงและวิเคราะห์อนาคตของเกาะฮ่องกง แม้จะยังไม่มีมาตรการหรือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากจีนที่จะสามารถบ่งชี้ถึงทิศทางในอนาคตของฮ่องกงก็ตาม

ท่าทีอันรอมชอมของจีนในการมอบความรับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ให้กับผู้บริการฮ่องกงแสดงให้เห็นว่า จีนยังต้องการรักษาภาพลักษณ์ท่ามกลางการเจรจาการค้าที่ดุเดือดกับสหรัฐ จีนไม่ต้องการให้ทั่วโลกหันมาจับตาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เชิงลบ โดยนายเทียน เฟยหลง รองศาสตราจารย์จากโรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยเป่ยหัง มีความเห็นว่า รัฐบาลกลางยังหวังว่าฮ่องกงจะสามารถแก้ไขวิกฤตด้วยตัวเองได้ ถ้าหากสถานการณ์ในฮ่องกงยังไม่ถึงจุดที่เกินควบคุม รัฐบาลกลางไม่ต้องการมีส่วนร่วมใดๆ"

ขณะที่หลายฝ่ายยังคงเป็นกังวลกับท่าทีของจีน สำหรับพรรคคอมมิวนิวสต์จีนแล้ว การลุกฮือของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ เฉกเช่นการประท้วงที่ดุเดือดบนเกาะฮ่องกงครั้งนี้ นายวิลลี่ แลม ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ชี้ว่า จะต้องมีการหาวิธีแก้แค้นอย่างแน่นอน มิฉะนั้น พวกเขาจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่มีประสิทธิภาพ

นายอดัม หมี่ นักวิจัยด้านจีนศึกษา มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ มองแนวโน้มล่าสุดว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในฮ่องกงไม่เพียงแต่เป็นการท้าทายอำนาจโดยตรง แต่ยังสร้างความเสียหายต่อศักดิ์ศรีในประเทศและชื่อเสียงระดับนานาชาติ

เมื่อกลับมามองถึงความเป็นไปได้ของการจัดการเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วง บรรดานักวิเคราะห์ต่างแสดงความเห็นไปทิศทางเดียวกันว่า จีนจะไม่ยอมให้เรื่องการเลือกตั้งโดยตรงเกิดขึ้นเด็ดขาด เนื่องจากจะเป็นการสั่นคลอนอิทธิพลของจีนและระบบที่วางไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน อีกทั้ง ใครก็ตามที่เรียกร้องสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ควรต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 เพราะผู้ที่มีแนวคิดดังกล่าวกำลังผลักดันให้ฮ่องกงตกอยู่ในสภาพที่อันตราย ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีใครทราบถึงบทสรุปของการประท้วงกลางศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชียว่า จะจบลงเมื่อไรและอย่างไร จีนจะยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้อง หรือกลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงต้องสยบยอมต่ออำนาจจีนอย่างที่เคยเป็นมา เราคงต้องจับตารอดูกันต่อไปชนิดห้ามคลาดสายตา


แท็ก In Focus:   ฮ่องกง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ