In Focusจากเท็กซัสถึงโอไฮโอ เหตุกราดยิงจากความเกลียดชังหรือปัญหาครอบครองอาวุธปืน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 7, 2019 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

257 ครั้งในรอบ 219 วัน มีผู้เสียชีวิต 285 ราย บาดเจ็บอีก 1,059 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค.) คือ จำนวนตัวเลขเหตุกราดยิงและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวในสหรัฐตั้งแต่ขึ้นปี 2562 จนคล้ายจะเป็นข่าวประจำวันเหมือนกับอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศในเอเชียบางประเทศไปแล้ว

แต่ทว่า ข่าวคราวของเหตุกราดยิงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากที่ล่าสุดได้เกิดเหตุกราดยิง 2 ครั้งในช่วงเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 24 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 31 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 50 ราย

ถึงกระนั้น ทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลยโดยสิ้นเชิง ทั้งตัวผู้ก่อเหตุ แรงจูงใจ สถานที่เกิด อาจจะมีจุดเหมือนกันเพียงแค่ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีความแค้นส่วนตัวกับผู้เสียชีวิตก็เท่านั้น

In Focus สัปดาห์นี้ จะนำเสนอข้อมูลหลากหลายมุมของเหตุการณ์ รวมถึงพื้นหลังและแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ

เหตุสะเทือนขวัญในเวลาห่างกันเพียง 13 ชั่วโมง
  • เหตุกราดยิงที่ห้างวอลมาร์ทในเมืองเอลพาโซ รัฐเท็กซัส 3 ส.ค. 2562

เมื่อวันเสาร์เวลาประมาณ 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ชายผิวขาวซึ่งทราบภายหลังว่าชื่อแพทริก ครูเชียส อายุ 21 ปี จากเมืองเอลเลน รัฐเท็กซัส ได้ก่อเหตุกราดยิงห้างวอลมาร์ท ซึ่ง ณ เวลานั้นมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากเนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่สถาบันการศึกษาจะเปิดทำการอีกครั้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 24 ราย ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

  • เหตุกราดยิงที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ 4 ส.ค. 2562

วันอาทิตย์เวลาประมาณ 1.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุกราดยิงที่ย่านบาร์และร้านอาหารในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอของสหรัฐ โดยมีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 27 ราย โดยใช้ระยะเวลาลงมือเพียงแค่ 30 วินาทีเท่านั้น และหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือน้องสาวของนายคอนเนอร์ เบรตต์ อายุ 24 ปี ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุเอง

ขณะที่ผู้ก่อเหตุได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

อาชญากรรมจากความเกลียดชังหรือผู้คลั่งไคล้ความรุนแรง ?

เหตุกราดยิงแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นนั้นมีความแตกต่างกันไปตามมูลเหตุจูงใจของผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากความเกลียดชังเชื้อชาติ สี ผิว ศาสนา การโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน หรืออาจจะมาจากสภาพจิตใจของผู้ก่อเหตุด้วย ดังจะเห็นได้จาก 2 เหตุการณ์นี้ที่มีมูลเหตุจูงใจแตกต่างกันออกไป

นายคริสต์ แกรนท์ ชายผิวสีวัย 50 ปี ผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงในห้างวอลมาร์ทกล่าวว่า นายแพทริก ครูเชียส มือปืนที่ก่อเหตุนั้นเล็งเป้าหมายไปที่ "บุคคลที่ดูเป็นชาวลาตินและฮิสแพนิก" โดยปล่อยให้ชาวผิวขาวและผิวดำหนีออกจากห้องที่เกิดเหตุ

นอกจากนี้ ก่อนลงมือก่อเหตุ นายครูเชียสได้เขียนแถลงการณ์ชื่อ "The Inconvenient Truth" บนเว็บบอร์ด 8chan โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เตือนถึงการถูก "รุกรานจากกลุ่มเชื้อสายฮิสปานิก" และเต็มไปด้วยถ้อยคำเชิดชูคนผิวขาว เหยียดเชื้อชาติ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพและชาวลาติน รวมถึงต่อต้านการแต่งงานกันข้ามเชื้อชาติ ตลอดจนเรียกร้องให้กลุ่มผู้อพยพย้ายกลับไปยังประเทศตัวเอง

ทั้งนี้ เมืองเอลพาโซมีพลเมืองเป็นชาวฮิสปานิกถึง 83% และห้างที่เกิดเหตุก็ตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับเม็กซิโกที่สุด โดยมักจะมีประชาชนชาวเม็กซิกันข้ามพรมแดนมา เพื่อซื้อห้าสินค้าในช่วงสุดสัปดาห์อยู่เป็นประจำ

ขณะที่นายคอนเนอร์ เบรตต์ ซึ่งก่อเหตุกราดยิงในเดย์ตัน เป็นผู้หลงใหลความรุนแรงและเหตุกราดยิง รวมถึงเคยแสดงความต้องการที่จะก่อเหตุกราดยิงมาแล้ว นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ที่เชื่อกันว่าเป็นของนายเบรตต์ ได้มีการรีทวีตโพสต์ของฝ่ายซ้าย กลุ่มต่อต้านตำรวจ สนับสนุนกลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรง และผู้ประท้วง

ด้านอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของนายเบรตต์กล่าวว่า เบรตต์มี "รายชื่อของคนที่อยากฆ่าหรือข่มขืน" ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องถูกพักการเรียนไปทั้งปีก่อนจะกลับมาเข้าเรียนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถสรุปมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุของนายเบรตต์ได้

ขึ้นอันดับหนึ่งในเหตุการณ์กราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด แต่จะหมดเพียงแค่นี้หรือไม่

เมื่อเราลองย้อนดูคดีที่เกิดขึ้นในสหรัฐแล้ว เราจะพบว่าใน 10 อันดับเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐ เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสถึง 4 ครั้งด้วยกัน ดังนี้

1. เหตุกราดยิงในงานคอนเสิร์ต Route 91 Harvest ใกล้กับโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ ที่เมืองลาสเวกัส วันที่ 2 ตุลาคม 2560 มีผู้เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บ 527 ราย

2. เหตุกราดยิงใน "พัลส์ คลับ" ซึ่งเป็นไนท์คลับของกลุ่มรักร่วมเพศในออร์แลนโด ฟลอริด้า วันที่ 12 มิถุนายน 2559 มีผู้เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 53 ราย

3. เหตุกราดในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ในเมืองแบล็คส์เบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย วันที่ 16 เมษายน 2550 มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 17 ราย

4. เหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ ฮุค เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเน็คติคัต วันที่ 14 ธันวาคม 2555 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 2 ราย

5. เหตุกราดยิงโบสถ์ First Baptist Church ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวิลสัน เมืองซัตเธอร์แลนด์ สปริงส์ รัฐเท็กซัส วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 20 ราย

6. เหตุกราดยิงในร้านอาหารลูบี ในเมืองคิลลีน รัฐเท็กซัส วันที่ 16 ตุลาคม 2534 มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 27 ราย

7. เหตุกราดยิงในห้างวอลมาร์ทในเมืองเอลพาโซ รัฐเท็กซัส วันที่ 3 สิงหาคม 2562 มีผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 24 ราย

8. เหตุกราดยิงในร้านแมคโดนัลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย วันที่ 18 กรกฎาคม 2527 มีผู้เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

9. เหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาจอริตี้ สโตนแมน ดั๊กลาส ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปาร์คแลนด์ ทางตอนเหนือของเมืองไมอามี รัฐฟลอริดาของสหรัฐ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 17 ราย

10. เหตุกราดยิงในมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน รัฐเท็กซัส วันที่ 1 สิงหาคม 2509 มีผู้เสียชีวิต 16 ราย

ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้หลายฝ่ายหันกลับมามองกฎหมายว่าด้วยการครอบครองอาวุธปืนอีกครั้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสและโอไฮโอนั้น จะพบว่ากฎหมายควบคุมอาวุธปืนในรัฐเท็กซัสและโอไฮโอไม่เข้มงวด โดยทั้ง 2 รัฐอนุญาตให้พกพาอาวุธได้โดยต้องปกปิดไว้ไม่ให้เห็นด้วยตาเปล่า

นอกจากนี้ ทั้งสองรัฐนั้นมีกฎ "ต้องอนุมัติ" (shall-issue) ซึ่งหมายถึงว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ไม่สามารถปฏิเสธการออกใบอนุญาตได้ถ้าหากผู้ขอผ่านคุณสมบัติที่ทางรัฐระบุไว้ รวมทั้งในเท็กซัสและโอไฮโอนั้นยังไม่มีการตรวจสอบประวัติหรือต้องลงทะเบียนอาวุธปืนเมื่อซื้อปืนพกจากบุคคลอื่น

ทั้ง 2 รัฐดังกล่าว ไม่ได้จำกัดจำนวนกระสุนปืนพกที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งสามารถครอบครองได้ และไม่มีกำหนดระยะเวลารอ ก่อนที่จะซื้อปืนพก จากเหตุการณ์ล่าสุด ผู้ก่อเหตุในรัฐเท็กซัสนั้นใช้ปืนไรเฟิลที่คล้ายคลึงกับปืน AK-47 ในการก่อเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า จากการตรวจสอบแล้วพบว่าอาวุธดังกล่าวได้รับอนุญาตในรัฐเท็กซัส

ขณะที่ผู้ก่อเหตุในโอไฮโอนั้น ใช้ไรเฟิลขนาดลำกล้อง .223 พร้อมชุดกระสุนปืน โดยมีรายงานว่าผู้ก่อเหตุได้ดัดแปลงอาวุธเล็กน้อยเพื่อให้ไม่ผิดกฎหมาย

แถลงการณ์ที่คลาดเคลื่อนจากผู้ก่อเหตุ

จากการที่รัฐเท็กซัสเป็นรัฐที่ติดกับเม็กซิโก และการก่อเหตุในครั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังเชื้อชาติหรือผู้อพยพ ซึ่งเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์แล้วก็ไม่ค่อยจะสวยหรูสักเท่าใด เนื่องจากแต่เดิมนั้น นักสำรวจชาวสเปนเป็นผู้ค้นพบเท็กซัส ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนอเมริกันพื้นเมืองอยู่ ก่อนที่จะกลายเป็นของเม็กซิโกภายหลังจากที่เม็กซิโกประกาศเอกราชจากสเปน ก่อนที่รัฐบาลเม็กซิโกจะชวนผู้อพยพชาวสหรัฐจะเข้าไปอยู่โดยแลกกับการเปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวเม็กซิกัน

ต่อมาเมื่อผู้อพยพชาวสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดความต้องการที่จะแยกตัวไปรวมกับเม็กซิโก ก่อนจะเกิดสงครามระหว่างเท็กซัสกับรัฐบาลเม็กซิโก ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเท็กซัส

จากประวัติศาสตร์ดังกล่าว อาจสามารถกล่าวได้ว่า ไม่เคยเกิดการ "รุกรานจากกลุ่มเชื้อสายฮิสปานิก" ตามที่นายครูเชียสกล่าวอ้างไว้ ขณะเดียวกัน 8chan ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดที่นายครูเชียสโพสต์แถลงการณ์ของตัวเองนั้น ถูกปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แม้จะยังสามารถเข้าได้ผ่านช่องทางผิดกฎหมายก็ตาม) เนื่องจากทางเจ้าของเซิร์ฟเวอร์นั้นมองว่าเป็นแหล่งรวมกลุ่มหัวรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งชูนโยบาย "America First" ได้กล่าวคำพูดและข้อความเหยียดเพศ เชื้อชาติ สีผิว หลายต่อหลายครั้ง

นอกจากนี้ อิทธิพลที่สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐ (NRA) มีต่อการเมืองสหรัฐ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ยากต่อการแก้กฎหมายครอบครองอาวุธปืนของสหรัฐอีกด้วย

In Focus คงได้แต่หวังว่าเหตุกราดยิงที่รุนแรงเช่นนี้จะเกิดขึ้นน้อยลงในอนาคต เพราะอย่างที่ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวไว้ว่า "สิ่งที่เหนี่ยวไกคือความผิดปกติทางจิตและความเกลียดชังที่เหนี่ยวไก ไม่ใช่ปืน"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ