เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เปิดเผยแผนการที่จะปรับปรุงและปฏิรูปกลไกในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ loan prime rate (LPR) ซึ่งเป็นความพยายามล่าสุดที่จะปรับลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับเศรษฐกิจที่แท้จริง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เข้ามาพลิกแนวทางที่ธนาคารพาณิชย์ของจีนใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ให้กับประชาชนในประเทศ โดยคาดว่าการประกาศใช้อัตราดอกเบี้ย LPR นี้จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงจนทำให้ปริมาณการกู้ยืมมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวลง
แล้วความพยายามนี้จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาทุกท่านทำความรู้จักกับเบื้องหลังของกลไกที่แบงก์ชาติจีนได้นำมาปัดฝุ่นใหม่
*ไม่เหมือนประเทศอื่น
ธนาคารกลางจีน ใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายในการควบคุมปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย ไม่เหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ที่มักจะใช้กลไกอัตราดอกเบี้ยอย่างที่เราต้องลุ้นทุกครั้งที่แบงก์ชาติเหล่านี้มีการประชุมนโยบายการเงิน
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐแล้ว นักลงทุนต่างจับตาการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ในขณะที่ธนาคารกลางจีนมีเครื่องมือหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการทางตลาด (OMO) สัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) โควตาการได้รับเงินกู้ re-lending และ rediscount โครงการเงินกู้ระยะสั้น (SLF) โครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ไปจนถึงโครงการจัดสรรเงินกู้เพิ่มเติม (PSL) ทั้งยังมีการเพิ่มและยกเลิกเครื่องมือต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ทำให้จับทางได้ยากว่าแบงก์ชาติจีนมีท่าทีอย่างไร และนโยบายแต่ละนโยบายจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินอย่างไรบ้าง
*เบื้องหลังอัตราดอกเบี้ย LPR
แต่เดิมนั้น ธนาคารกลางจีนเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ของจีนให้กับลูกค้าของธนาคารอีกที อัตราดอกเบี้ยที่ว่านี้คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปี หรืออัตราดอกเบี้ย benchmark ทว่าอัตราดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติจีนกำหนดขึ้นนี้ไม่ค่อยสะท้อนความเคลื่อนไหวที่แท้จริงในตลาดเท่าที่ควร จนเป็นเหตุให้ต้องหาเครื่องมือใหม่เพื่อเปิดทางให้ตลาดการเงินเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
หนึ่งในเครื่องมือที่แบงก์ชาติจีนใช้คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ loan prime rate (LPR) ซึ่งแบงก์ชาติจีนได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556 พร้อมประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR แห่งชาติ (national LPR) โดยหวังให้ธนาคารพาณิชย์ใช้อัตราดอกเบี้ย national LPR นี้ในการคำนวณดอกเบี้ยกับลูกค้าของตน และหวังให้ national LPR เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเคลื่อนไหวในตลาด แทนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark
national LPR คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีที่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 10 แห่งของจีนคิดกับลูกค้าชั้นดี ขณะที่ธนาคาร 10 แห่งเหล่านี้ คิดอัตราดอกเบี้ย LPR โดยอิงกับอัตราดอกเบี้ย benchmark ของแบงก์ชาติจีน
อย่างไรก็ดี แม้ตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใด แต่อัตราดอกเบี้ย national LPR นั้นคงที่อยู่ที่ระดับ 4.3%-4.31% มานับตั้งแต่วันที่เปิดตัว ซึ่งไม่ค่อยห่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark ของแบงก์ชาติซึ่งอยู่ที่ 4.35% เมื่อเทียบกับในทางทฤษฎีที่ควรต้องทิ้งช่วงห่างกัน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะธนาคารพาณิชย์หลายแห่งไม่ต้องการลดดอกเบี้ยจนทำกำไรจากเงินกู้ได้น้อยลง ถึงขั้นแอบตรึงอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำกันเอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark ของแบงก์ชาติ ก็อยู่ในระดับเดิมนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 แล้ว เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ย LPR แบบเก่าสะท้อนความเคลื่อนไหวในตลาดได้ไม่ดีเท่าที่ควร และธนาคารหลายแห่งก็ไม่ใช้อัตราดอกเบี้ย national LPR ในการคำนวณดอกเบี้ยอย่างที่แบงก์ชาติหวังไว้ตั้งแต่แรก แต่ยังยึดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark เหมือนเดิม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้านั้นคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กถูกคิดดอกเบี้ยสูงถึง 6-7%
*การเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้น
ด้วยความพยายามในการลดดอกเบี้ย และทำให้อัตราดอกเบี้ย national LPR สะท้อนความเคลื่อนไหวในตลาดได้มากขึ้น แบงก์ชาติจีนจึงได้ประกาศแผนปฏิรูปใหม่ ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ของจีนต้องใช้อัตราดอกเบี้ย LPR แบบใหม่ในการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ล็อตใหม่ ซึ่งศูนย์ระดมทุนระหว่างธนาคารแห่งชาติ จะเป็นผู้คำนวณและเปิดเผยระดับอัตราดอกเบี้ย LPR ใหม่ในเวลา 09.30 น. ทุกวันที่ 20 ของเดือน และหากวันที่ 20 ตรงกับวันหยุด ก็จะเลื่อนเป็นวันทำการถัดไป
อัตราดอกเบี้ย LPR แบบใหม่ รวบรวมตัวเลขมาจากอัตราการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร 18 แห่ง รวมถึงธนาคารแห่งชาติ ธนาคารพาณิชย์ในเขตเมืองและในชนบท ธนาคารต่างประเทศและธนาคารเอกชน เพื่อให้สะท้อนภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น เพราะธนาคาร 10 แห่งที่แต่เดิมเป็นผู้กำหนด LPR แบบเก่านั้น ล้วนเป็นธนาคารรายใหญ่ ๆ ของประเทศ และมีกลุ่มลูกค้าชั้นดีอยู่แค่กลุ่มองค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจ
อัตราดอกเบี้ย LPR แบบใหม่ ไม่ได้คำนวณโดยอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark ที่แบงก์ชาติกำหนดแล้ว แต่อิงกับอัตราดอกเบี้ยอีกประเภทหนึ่งแทน นั่นคืออัตราดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับเพียง 3.3% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย benchmark ซึ่งอยู่ที่ 4.35%
MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้กับแบงก์ชาติ ซึ่งคำนวณจากการเสนอราคาผ่านการดำเนินการทางตลาดเงิน (Open Market Operations หรือ OMO) โดยแบงก์ชาติเชื่อว่า การหันไปอิงอัตราดอกเบี้ย MLF จะสะท้อนความเป็นไปในตลาดได้ดีกว่า เพราะแบงก์ชาติมีอำนาจโดยตรง ไม่เหมือนอัตราดอกเบี้ย benchmark ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติเท่านั้น
*ภาคธนาคารยังให้ความร่วมมือไม่มาก จับตาท่าทีแบงก์ชาติต่อไป
ในทางทฤษฎีแล้ว การหันไปอิงอัตราดอกเบี้ย MLF ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย benchmark พอสมควรนั้น น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ย LPR ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทว่าเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นวันแรกของการประกาศดอกเบี้ยเงินกู้ LPR แบบใหม่ กลับลดลงไม่มากนักอย่างที่หวังไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ loan prime rate (LPR) ประเภท 1 ปีแบบใหม่ อยู่ที่ระดับ 4.25% ซึ่งลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย LPR แบบเก่าที่ 4.31% และอัตราดอกเบี้ย benchmark ของแบงก์ชาติที่ 4.35%
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์จีนยังคงไม่อยากลดดอกเบี้ยลง เพราะกังวลว่าจะทำกำไรได้น้อยเหมือนเดิม ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า แบงก์ชาติจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF ลงอีก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ยอมลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แบงก์ชาติจีนอาจออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF จากเดิม 3.3% เหลือ 3.10% หรือไม่ก็ 3.15% ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ จะมีเงินกู้ตามโครงการ MLF ครบกำหนด 3 งวดด้วยกัน ได้แก่วันที่ 24 ส.ค. ต่อด้วย 7 ก.ย. และ 17 ก.ย. ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่แบงก์ชาติจีนจะออกมาปรับลดดอกเบี้ย โดยมีความเป็นไปได้มากที่สุดในเดือนก.ย. เพราะแบงก์ชาติจีนอาจรอให้ธนาคารกลางสหรัฐประชุมนโยบายในวันที่ 18 ก.ย. ก่อน และหากแบงก์ชาติสหรัฐตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว แบงก์ชาติจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF ตาม และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย LPR แบบใหม่ปรับตัวลดลงในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า แบงก์ชาติจีนจะพิจารณาตัวเลือกในการปรับลดดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง เพราะแม้ว่าแบงก์ชาติจีนต้องการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลงอย่างหนัก แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องระวังไม่ให้ระดับหนี้สินพุ่งสูงเกินไปด้วย
นอกจากนี้ สื่อสายตะวันตกยังมองว่า แบงก์ชาติจีนอาจไม่ต้องการทำให้นโยบายของประเทศเป็นเรื่องที่ถูกจับตามากเกินไป เพราะอาจทำให้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและสงครามการค้าที่จีนเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งประเทศ นโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง