In Focusส่องวิกฤตสงครามการเมืองระลอกใหม่ เคิร์ด-ตุรกี พาโลกผวาหวั่นปลุกกลุ่ม IS ฟื้นคืนชีพ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 16, 2019 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ประกาศถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากพื้นที่ใกล้ชายแดนซีเรีย ตุรกีก็ได้เปิดฉากสังหารโหดกองกำลังชาวเคิร์ด ประชาชนต้องอพยพหนีตายนับแสน บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตอีกจำนวนมาก สหรัฐได้ถูกตราหน้าว่ากลับกลอก ขณะที่ชาวเคิร์ดได้หันไปขอความช่วยเหลือจากกองกำลังทหารของรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดแห่งซีเรียอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจนำทางไปสู่การฟื้นคืนชีพอีกครั้งของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ที่ทำให้ทั่วโลกหวาดผวา In Focus สัปดาห์นี้ จะขอพาผู้อ่านมาย้อนรอยความขัดแย้งที่ร้อนระอุ พร้อมกับจับตาทุกความเคลื่อนไหวล่าสุดอย่างไม่ให้คลาดสายตา

ตุรกีถล่มเคิร์ด : สร้างเขตปลอดภัย ฤาเขตมรณะ?

"หากต้องเลือกระหว่างการประนีประนอมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราคงต้องเลือกรักษาชีวิตประชาชนของเรา" นี่คือถ้อยแถลงของ มัสลุม อับดี ผู้บัญชาการของกลุ่มกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย หรือ Syrian Democratic Forces (SDF) ที่เผยให้เห็นชะตากรรมอันริบหรี่ของชาวเคิร์ด หลังจากกองกำลังตุรกีบุกเข้าโจมตีอย่างหนักหน่วงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่คละคลุ้งกลิ่นคาวเลือดระหว่างตุรกีและเคิร์ดเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากพื้นที่ใกล้ชายแดนระหว่างซีเรียกับตุรกี ซึ่งเป็นที่ตั้งของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด พร้อมประกาศลั่นว่ากองทัพของสหรัฐจะไม่ขัดขวาง หากกองทัพตุรกีเคลื่อนทัพเข้าสู่ซีเรีย

หลังจากสหรัฐส่งสัญญาณเปิดไฟเขียว ในเช้าวันที่ 9 ต.ค. กองทัพตุรกีและพันธมิตรกบกฎซีเรียได้เปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกองกำลังชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในการต่อสู้กับกลุ่ม IS ณ เมืองราส อัล บิน บริเวณชายแดน ส่งผลให้มีพลเมืองเสียชีวิต 8 ราย และนักรบกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) เสียชีวิตจำนวน 7 ราย

ทางด้านรัฐบาลตุรกี ภายใต้การนำของประธานาธิบดีประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน อธิบายถึงสาเหตุของการกระทำที่อุกอาจนี้ว่า ตุรกีต้องการจัดตั้งเขตปลอดภัย (safe zone) ซึ่งอยู่ลึกเข้าไป 32 กม.ในดินแดนซีเรีย สำหรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ในตุรกีกว่า 2 ล้านคน รวมถึงกวาดล้างภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) และกลุ่มนักรบชาวเคิร์ด (YPG) ที่ตุรกีมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และยังไม่ทันข้ามวัน กองทัพตุรกีก็เดินหน้ารุกโจมตีภาคพื้นดิน ส่งยานหุ้มเกราะ รถถัง และกองกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย หวังยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดหรือ People's Protection Units (YPG) ให้สำเร็จ แม้ว่าจะเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ไปทั่วสารทิศ ตุรกียังเดินหน้าบดขยี้กองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียต่อเป็นเวลาหลายวัน พร้อมระบุว่า จะผลักดันกองกำลังชาวเคิร์ดออกจากบริเวณชายแดนให้สำเร็จ จนมีผู้อพยพหนีตายนับแสนคน และมีผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งร้อย โดยตุรกีสามารถยึดเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่แนวชายแดนได้ถึง 2 เมือง

หลังจากเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักหน่วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองกำลังชาวเคิร์ดบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลซีเรีย โดยรัฐบาลซีเรียจะส่งกองกำลังของรัฐบาลกลับเข้าไปยังพื้นที่ทางเหนือเพื่อเพื่อสกัดความเคลื่อนไหวของกองทัพตุรกี และได้สร้างความกังวลต่อสังคมนานาชาติว่าจะเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างตุรกีและซีเรีย

เคิร์ดผนึกกำลังซีเรีย : ข้อตกลงที่มีความเจ็บปวด

การที่สหรัฐตัดสินใจทิ้งกองกำลังชาวเคิร์ดให้เผชิญชะตากรรมจากกองทัพตุรกีอยู่เพียงลำพังเลยกลับผลักดันให้เคิร์ดเข้าสู่เงื้อมมือความช่วยเหลือของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอีกครั้ง นับเป็นหมุดหมายที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองตะวันออกกลาง

นายมัสลุม อับดี ผู้บัญชาการของกลุ่ม SDF เปิดเผยว่า แม้การทำข้อตกลงกับรัฐบาลอัสซาดและรัสเซียเป็น "การประนีประนอมที่เจ็บปวด" แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาระบุว่า "รัสเซียและซีเรียมอบข้อเสนอที่จะช่วยชีวิตประชากรหลายล้านคนของพวกเขา" การตัดสินใจดังกล่าวทำให้กองกำลังของรัฐบาลซีเรียกลับสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

ก่อนหน้านี้ ในช่วงสงครามซีเรียปี 2554 กองกำลังเคิร์ดก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาดแห่งซีเรีย และคว้าชัยเหนือนักรบจีฮัดของกลุ่ม IS ชาวเคิร์ดจึงก่อตั้งเขตปกครองตนเองโดยพฤตินัยขึ้นบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรีย โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มชาวเคิร์ดพยายามดิ้นรนเพื่อให้รัฐบาลซีเรียมเห็นชอบในการจัดตั้งเขตปกครองตนเอง ทว่ารัฐบาลซีเรียปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว

เพราะเหตุนี้ การทำข้อตกลงระหว่างเคิร์ดกับรัฐบาลซีเรียแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ นายจอห์นดัน ฟอร์ด นักวิชาการด้านซีเรียจากสถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม แสดงความเห็นถึงสถาณการณ์ดังกล่าวว่า "ความเป็นผู้นำทางการทูตของเคิร์ดตกอยู่ในจุดที่ลำบาก พวกเขาไม่มีอำนาจใดในการปกครอง และอำนาจเดียวที่เคยมีคือสหรัฐ" แม้ว่าเคิร์ดอาจจะไม่เต็มใจ 100% แต่การขอความช่วยเหลือจากซีเรียเป็นเรื่องที่ปฎิเสธไม่ได้

สหรัฐปล่อยเดี่ยวเคิร์ด : เพื่อนทรยศ?

ทันทีที่ทรัมป์ประกาศถอนทหารออกจากซีเรีย เสียงวิพากษ์วิจารณ์โหมกระพือทั่วหัวระแหง ภาพลักษณ์ในฐานะพันธมิตรกลับถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่สมาชิกจากพรรคการเมืองเดียวกันก็ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย ทว่าทรัมป์ออกมาย้ำว่า การตัดสินใจถอนกองทัพเป็นเรื่องถูกต้องและสมควรแล้ว

ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจที่สุดคงหนีไม่พ้นกองกำลังชาวเคิร์ด หลังเคียงบ่าเคียงไหล่กับพญาอินทรีย์ในการกวาดล้างกลุ่ม IS ในซีเรีย พวกเขาประณามการที่สหรัฐถอนตัวออกจากตอนเหนือของซีเรีย เหมือนกับ"การแทงข้างหลัง"ต่อชาวเคิร์ด และความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในอนาคตอีกด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวของสภาครองเกรสนั้น วุฒิสภาสหรัฐได้เดินหน้าร่างกฎหมายเพื่อคว่ำบาตรตุรกี นำโดยนายลินซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันที่กล่าวว่า การถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากซีเรียเปิดทางให้ตุรกีเข้าโจมตีฐานที่มั่นของชาวเคิร์ดซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในการต่อสู้กับกลุ่ม IS ขณะที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต ชี้ว่า มาตรการคว่ำบาตรตุรกีครั้งนี้ยังไม่อาจลบล้างหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ปธน.ทรัมป์ไม่เพียงแต่ถูกจวกจากสมาชิกพรรคตรงข้ามเท่านั้น แต่ก็ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มสมาชิกพรรคริพับลิกันเช่นกัน ส.ส.ลิซ เชนีย์ จากรัฐไวโอมิง ระบุว่า "การถอนกองกำลังสหรัฐออกจากซีเรียตอนเหนือเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ ที่จะอาจส่งผลต่อภัยคุกคามความมั่นคงแก่สหรัฐ เช่นเดียวกับมุมมองของนางซูซาน คอลลินส์ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพรรบบคลิกัน ที่มองว่า การละทิ้งกลุ่มเคิร์ดพันธมิตรหลักของสหรัฐ เป็นสิ่งที่โง่เขลาอย่างมาก รวมทั้งนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาย้ำเตือนว่า สถานการณ์อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมที่เราเคยพยายามทำลาย มิหนำซ้ำอาจก่อให้เกิดการฟื้นคืนชีพของกลุ่ม IS อีกด้วย

กระแสความไม่พอใจและความผิดหวังต่อการถอนกำลังทหารสหรัฐสร้างความอึมครึมไปทั่วกรุงวอชิงตัน จนส่งผลต่อท่าทีของผู้นำสหรัฐที่เคยหนักแน่น ก็กลับเกิดความลังเล ปธน.ทรัมป์แสดงความหวังที่จะเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและชาวเคิร์ด ทว่าภาพลักษณ์ของสหรัฐในฐานะพันธมิตรกลับถูกตั้งคำถาม นายแบรด โบว์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์อำนาจทางทหารและการเมืองที่มูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตย ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐทำลายความศรัทธาของเคิร์ด โดยระบุว่า "กลุ่ม SDF ทำทุกสิ่งตามที่สหรัฐต้องการ การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อทหารทุกคน รวมถึงความพยายามจะสร้างความไว้วางใจจากพันธมิตร"

จนถึงขณะนี้ หลังจากเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศ ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งคว่ำบาตรตุรกี เพื่อตอบโต้ต่อการที่ตุรกีใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรียแล้ว โดยสหรัฐจะยุติการเจรจาข้อตกลงการค้ามูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐกับตุรกีทันที และปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าจากตุรกีเป็น 50% อีกด้วย

ท่าทีจากนานาชาติ : มาตรการลงโทษตุรกี

การบุกของตุรกีและการถอนกำลังของสหรัฐแน่นอนว่าได้สร้างความไม่พอใจให้นานาประเทศ วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมได้กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง พลเมืองผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารหลายสิบคน ประชาชนนับแสนต้องอพยพหนีตาย เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับตุรกีทั้งเชิงภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ทางการค้า ออกมาเรียกร้องให้ตุรกีใช้ความอดทนอดกลั้น และยุติการใช้ปฏิบัติการทางทหารทางตอนเหนือของซีเรีย ด้วยความกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายในซีเรียขึ้นอีกครั้ง

กลุ่มประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกกลางมีความเห็นที่ตรงกันว่า การปฎิบัติการทางทหารของตุรกีสร้างภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค นายเชคโมฮัมหมัด อัล-ซาบาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศคูเวต เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้ตัวเลือกทางการทหาร ซึ่งสอดรับกับถ้อยแถลงของนายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการทางทหารและเรียกร้องให้เคารพบูรณภาพทางดินแดนและอำนาจอธิปไตยแห่งชาติของซีเรีย

ขณะที่สหภายุโรป (EU) นำโดยนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เรียกร้องให้ตุรกีเพิ่มความอดกลั้น และยุติการใช้ปฏิบัติการทางทหารทางตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่เปิดเผยว่าปฎิบัติการทางทหารไม่ใช่ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาซีเรีย

นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศแถบยุโรปลงมติ จะไม่ใช้มาตรการปิดล้อมด้านอาวุธอย่างเต็มรูปแบบ (arms embargo) แต่จะพิจารณาจำกัดการขายอาวุธให้กับตุรกีแทน เริ่มตั้งแต่ฝรั่งเศสที่ประกาศระงับการส่งออกอาวุธไปยังตุรกี สอดคล้องกับการตัดสินใจของเยอรมัน และอิตาลี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของตุรกีเมื่อปีที่ผ่านมา ที่สั่งระงับการขายอาวุธเพื่อเป็นการตอบโต้ตุรกีเช่นกัน

สิ่งที่ทั่วโลกกังวล : คลื่นระลอกใหม่จากกลุ่มรัฐอิสลาม?

ตุรกีไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายด้านมนุษยธรรม แต่ยังโหมไฟแห่งความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นต่อซีเรีย ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลอย่างมากคือ การกลับมาของกลุ่ม IS การปฏิบัติการทางทหารของที่สาหัสากรรจน์ของตุรกีได้สั่นคลอนเสถียรภาพในซีเรีย ตลอดจนอาจเอื้อให้กลุ่ม IS กลับมาก่อความวุ่นวายครั้งใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม

แม้ว่าทางการตุรกีจะประกาศว่าพร้อมจัดการกับกลุ่ม IS ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในซีเรีย และสามารถป้องกันไม่ให้กลุ่มดังกล่าวหวนกลับเข้ามาอีกครั้ง ทว่านักวิชาการหลายฝ่ายกลับแสดงความกังขาถึงประสบการณ์ของตุรกี และหวั่นว่า ตุรกีจะไม่สามารถรับมือกับกลุ่ม IS ได้ดีเท่ากับกลุ่ม SDF โดยนายฮัสสัน ฮัสสัน ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์นโยบายระดับโลก แสดงทรรศนะว่า "SDF มีข้อมูลข่าวกรองที่สดใหม่เกี่ยวกับคนที่เข้าร่วม IS แต่ตรุกีไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่เหล่านี้ได้"

ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของนายโจชัว เอ. เกลต์เซอร์ อดีตผู้อำนวยการอาวุโสด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่แสดงความเห็นว่า "มันยากที่จะจินตนาการว่าตุรกีจะมีขีดความสามารถในการจัดการกับกลุ่ม IS ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม"

เมื่อกลับมามองถึงความเป็นไปได้ในการกลับมาของกลุ่ม IS นายฮัสสัน อาบู ทาเลบ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาของศูนย์การศึกษาสำหรับการเมืองและยุทธศาสตร์อัล-อาห์รัม (ACPSS) แสดงความเห็น "การโจมตีครั้งนี้จะนำไปสู่การหลบหนีของกลุ่ม IS จำนวนมากที่จะรวมกลุ่มกันอีกครั้งในซีเรียหรืออิรัก ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นคลื่นแห่งความหวาดกลัวที่รุนแรงในภูมิภาคอีกครั้ง"

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครทราบถึงบทสรุปตอนจบของการปะทะกันครั้งนี้ว่า ซีเรียและเคิร์ดจะขาดเสถียรภาพจนทำให้กลุ่ม IS กลับมาได้หรือไม่ เราคงจะต้องจับตารอดูกันต่อไปไม่ให้คลาดสายตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ