นิตยสารไทม์มีธรรมเนียมปฏิบัติในการประกาศ "บุคคลแห่งปี" ในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี โดยจะนำเสนอบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่ถือว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดต่อโลกในปีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในบางปี "บุคคลแห่งปี" ของไทม์ก็อาจจะไม่ใช่คน เช่น "คอมพิวเตอร์" ได้รับเลือกเป็น "บุคคลแห่งปี" ในปี 2525 ส่วนในปี 2531 "บุคคลแห่งปี" ก็คือ "โลก"
ธรรมเนียมการคัดเลือก "บุคคลแห่งปี" ของไทม์ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2470 ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่ได้รับความชื่นชมจากสาธารณชน แต่ในหลายปี ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนชั่วร้ายในสายตาของคนเป็นจำนวนมาก เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในปี 2481 โจเซฟ สตาลินในปี 2482 และ 2485 และอยาตอลเลาะห์ โคไมนีในปี 2522 นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็เรียกเสียงยี้ได้ไม่น้อย เมื่อเขาได้รับเลือกเป็น "บุคคลแห่งปี" ในปี 2559 โดยนิตยสารไทม์ให้เหตุผลว่า การคัดเลือก "บุคคลแห่งปี" ไม่ได้ตัดสินจาก "ความเป็นคนดี" ของบุคคลดังกล่าว แต่พิจารณาจากบทบาทของการเป็นบุคคลที่ถือว่าทรงอิทธิพลต่อโลกในขณะนั้น
สำหรับในปีนี้ มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสารไทม์หลายคน เช่น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ แต่ผู้ที่ถูกจับตามองมากที่สุด และถือเป็นตัวเก็งก็คือ เกรต้า ธุนเบิร์ก สาวน้อยวัย 16 ปี ผู้สร้างกระแสโด่งดังไปทั่วโลกด้วยการรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ตำแหน่ง "บุคคลแห่งปี" ของไทม์มักเป็นผู้ชาย โดยที่ผ่านมา สตรีที่ได้รับเลือกเป็น "บุคคลแห่งปี" ได้แก่ มาดามเจียงไคเช็คในปี 2480, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ในปี 2495, คอราซอน อากีโนในปี 2529, เมลินดา เกทส์ในปี 2548 และอังเกลา แมร์เคิลในปี 2558
In Focus สัปดาห์นี้จะเปิดเผยรายชื่อผู้ที่อาจได้รับการคัดเลือกเป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสารไทม์ประจำปี 2562 และประวัติโดยสังเขป
*เกรต้า ธุนเบิร์ก
เกรต้า ธุนเบิร์ก เป็นเด็กหญิงชาวสวีเดนวัย 16 ปี โดยธุนเบิร์กเริ่มได้ยินปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นครั้งแรกในวัย 8 ขวบ และไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่มีใครรู้สึกเดือดร้อนในเรื่องนี้ เธอจึงพยายามแก้ไขด้วยตัวเองในสิ่งที่ทำได้ เช่น ปลูกผักไว้กินเองที่บ้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการสิ้นเปลืองของพลังงาน และประกาศว่าจะไม่ขึ้นเครื่องบิน เพราะไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมลภาวะทางอากาศให้กับโลก
การที่เห็นผู้ใหญ่ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับปัญหาโลกร้อน ทำให้ธุนเบิร์กรู้สึกเครียด และเมื่อเธอเห็นการประท้วงของเยาวชนสหรัฐในรัฐฟลอริด้าที่ไม่ยอมเข้าชั้นเรียน เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐมีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืน ธุนเบิร์กจึงชวนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ทำการประท้วงด้วยการไม่ยอมเรียนหนังสือ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ธุนเบิร์กตัดสินใจไม่เข้าชั้นเรียน และไปนั่งอยู่ด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมกับชูป้ายแผ่นไม้ที่เขียนด้วยลายมือตนเองว่า "ไม่เรียนหนังสือเพื่อประท้วงโลกร้อน" นอกจากนั้น เธอยังทำใบปลิว อธิบายความรุนแรงของภาวะโลกร้อนให้คนที่ผ่านไปมาได้อ่าน
ในช่วงแรกไม่มีใครสนใจเธอมากนัก แต่เมื่อสื่อเริ่มรายงานเรื่องราวของธุนเบิร์ก เธอจึงกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเมื่อธุนเบิร์กหยุดเรียนหนังสือติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งของสวีเดน ที่หน้ารัฐสภาก็มีเด็กนักเรียนมาร่วมการประท้วงกับเธอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังสิ้นสุดการประท้วง ธุนเบิร์กตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือ แต่เธอก็ยังคงทำการประท้วงต่อไป โดยจะหยุดเรียนทุกวันศุกร์ พร้อมทั้งสร้างแฮชแท็ก #Fridaysforfuture ด้วย
นอกจากนี้ ธุนเบิร์กยังได้ตั้งเว็บไซต์ Fridays for Future เพื่อเป็นศูนย์กลางรายงานกิจกรรมการประท้วง และจับตาดูว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมีการผลักดันนโยบายลดโลกร้อนอย่างจริงจังหรือไม่
ธุนเบิร์กได้รับเชิญให้ไปพูดในงานสำคัญต่างๆทั่วโลก นับตั้งแต่ Ted Talk ที่สตอกโฮล์ม สวีเดน ตามด้วยเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ และงาน EESC ที่กรุงบรัสเซลล์ เบลเยียม และที่รัฐสภายุโรปในเมืองสตาร์บูร์กส์ ฝรั่งเศส ในเดือนกันยายนปีนี้ ธุนเบิร์กได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำโลกว่าด้วยสภาวะอากาศที่องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ซึ่งในเวทีดังกล่าว ธุนเบิร์กได้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยถ้อยคำที่ท้าทายว่า "ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลายลง เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดมีแต่เรื่องเงิน และเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด พวกคุณกล้าดียังไง!"
อย่างไรก็ดี ด้วยหน้าตาที่จริงจัง น้ำเสียงที่หนักแน่น และความคิดที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีที่ดูก้าวร้าวของธุนเบิร์ก ขณะที่บางคนอธิบายว่าพฤติกรรมที่เธอแสดงออกนั้นอาจเป็นผลพวงมาจาก Asperger Syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติ และจัดอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก มักจะย้ำคิดย้ำทำ จริงจังกับบางเรื่องจนเกินไป ขณะที่มีการยื่นข้อเรียกร้องที่สุดโต่งโดยไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าโลกของการเมืองและสังคมโลก มักมีผลประโยชน์และองค์ประกอบอื่นๆ ทับซ้อนและเกี่ยวโยงกันมากมาย นอกจากนี้ ธุนเบิร์กยังถูกโจมตีว่า เธอเป็นเด็กที่ต้องการชื่อเสียง ถูกล้างสมอง และกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
แม้มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของธุนเบิร์ก แต่ความตั้งใจจริงของเธอ ก็ทำให้สาวน้อยสวีเดนรายนี้ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น Ambassador of Conscience Award จากองค์การนิรโทษกรรมสากล รวมถึง Right Livelihood Award ที่รู้จักกันในฐานะรางวัลโนเบลทางเลือก (Alternative Nobel Prize) ประจำปีนี้
นอกจากนี้ ธุนเบิร์กยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ แต่นายกรัฐมนตรีอบิยา อาเหม็ด แห่งเอธิโอเปีย กลับเป็นผู้คว้ารางวัลดังกล่าว จากความพยายามในการยุติความขัดแย้งเป็นเวลา 2 ทศวรรษระหว่างเอธิโอเปียกับเอริเทรีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าหากธุนเบิร์กได้รับรางวัลนี้ เธอก็จะกลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัยเพียง 16 ปี
*ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยได้รับเลือกเป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสารไทม์ในปี 2559 ส่วนในปี 2562 เขามีบทบาทสำคัญในการทำสงครามการค้ากับจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ยังถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์จากการนำสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงปารีสในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
นอกจากนี้ สภาคองเกรสสหรัฐได้เริ่มกระบวนการถอดถอนปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง หลังถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ ด้วยการขู่ตัดงบความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐให้ต่อยูเครน หากนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2563
*ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนภายใต้โครงการ "One Belt, One Road" โดยโครงการดังกล่าวจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลก
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังเป็นคู่กรณีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
นอกจากนี้ ทั่วโลกยังจับตาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยนานกว่า 5 เดือน หากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงตัดสินใจปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเหมือนกับที่จีนปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เหตุการณ์ก็จะเลวร้ายลง และจีนจะถูกทั่วโลกรุมประณาม
*คิม จอง อึน
คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลกด้วยการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ พร้อมกับเสนอที่จะพบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อทำข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการเจรจากับปธน.ทรัมป์ที่กรุงฮานอย เกาหลีเหนือก็ได้กลับมาทดลองขีปนาวุธอีกครั้ง และล่าสุดได้ขีดเส้นตายให้สหรัฐส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีกับเกาหลีเหนือภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสอีกต่อไป
นอกจากนี้ คิม จอง อีนยังมีประวัติสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ โดยเขาพร้อมที่จะสังหารผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ถึงแม้เป็นคนใกล้ชิด และเป็นพี่น้องกับเขาก็ตาม ขณะที่มีข่าวว่าชาวเกาหลีเหนือกว่า 100,000 คนกำลังถูกทรมานในค่ายแรงงานในประเทศ