In Focusเดโมแครตเปิดศึกถอดถอนหวังเขย่าเก้าอี้ "ทรัมป์" เซ่นปมร้อนฮัลโหลยูเครน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 20, 2019 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทั่วโลกกำลังติดตามการไต่สวนคดีที่ถูกจับตามากที่สุดของสหรัฐในเวลานี้ นั่นก็คือ การไต่สวนคดีเพื่อถอดถอนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีลำดับที่ 45 ของสหรัฐออกจากตำแหน่ง ทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐที่ถูกยื่นไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) ซึ่งจะเป็นกระบวนการถอดถอนครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่นายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตได้ถูกไต่สวน เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2541

In Focus สัปดาห์นี้ เราจะพาผู้อ่านไปติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ตั้งแต่ไทม์ไลน์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้, สาเหตุที่ทำให้ปธน.ทรัมป์ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง, ขั้นตอนของกระบวนการถอดถอน และแนวโน้มชะตากรรมทางการเมืองของปธน.ทรัมป์ในท้ายที่สุดว่าจะลงเอยในทิศทางใด

*ไล่เรียงเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องในกระบวนการถอดถอน"ทรัมป์"

25 ก.ค. 2562 – ปธน.ทรัมป์สนทนาทางโทรศัพท์กับปธน.โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ซึ่งส่วนหนึ่งของการสนทนา ทรัมป์ได้กดดันให้ผู้นำยูเครนเปิดการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งปีหน้า รวมถึงนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายในคดีทุจริตที่เกิดขึ้นในยูเครน

12 ส.ค. 2562 – ผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower) ได้ส่งคำร้องเรียนไปยังประธานคณะกรรมการข่าวกรองของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยระบุว่าทรัมป์ใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อกดดันให้ผู้นำยูเครนเปิดการสอบสวนคดีทุจริตของสองพ่อลูกตระกูลไบเดน โดยหวังผลทางการเมืองเพื่อทำลายคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคเดโมแครตในการลงชิงชัยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. 2563

18 ก.ย. 2562 – หนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับการร้องเรียนของผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างปธน.ทรัมป์และปธน.ยูเครน

24 ก.ย. 2562– นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐประกาศเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังพบหลักฐานว่าทรัมป์ใช้อำนาจข่มขู่ หรือเสนอผลประโยชน์ให้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนเพื่อสอบสวนกรณีทุจริตที่เกี่ยวโยงกับนายโจ ไบเดน คู่แข่งตัวเต็งของทรัมป์ในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปีหน้า ซึ่งการกระทำของทรัมป์ถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐและอาจเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำปฏิญาณตนและหลักคุณธรรมจริยธรรมของประธานาธิบดี

25 ก.ย. 2562 – ทำเนียบขาวได้เผยแพร่บทสนทนาโดยสรุประหว่างปธน.ทรัมป์ กับปธน.เซเลนสกีแห่งยูเครนเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันได้ว่า ทรัมป์เอ่ยปากขอให้ผู้นำยูเครนทำการสอบสวนสองพ่อลูกตระกูลไบเดนจริง

26 ก.ย. 2562 – คณะกรรมการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เผยแพร่คำร้องเรียน และการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ

31 ต.ค. 2562 – สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากลงมติด้วยคะแนน 232 ต่อ 196 เสียง อนุมัติให้มีการเปิดไต่สวนอย่างเป็นทางการเพื่อนำไปสู่ญัตติการถอดถอนปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง

13 พ.ย. 2562 – คณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐเริ่มเปิดการไต่สวนสาธารณะเพื่อพิจารณาถอดถอนปธน.ทรัมป์ ซึ่งมีการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก โดยในการไต่สวนวันแรกนั้นเป็นการเข้าให้ปากคำของพยาน 2 คนได้แก่ นายวิลเลียม เทย์เลอร์ รักษาการเอกราชทูตสหรัฐประจำยูเครน และนายจอร์จ เคนท์ เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงในกิจการยุโรปและยูเรเชีย โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการข่าวกรองได้ทำการสอบสวนพยานอย่างลับๆ เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ ซึ่งพยานเป็นเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายทั้งจากทำเนียบขาว และกระทรวงต่างประเทศ

15 พ.ย. 2562 -- นางมารี โยวาโนวิทช์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครนเข้าให้การเป็นพยานคนที่ 3 ในคดีถอดถอนปธน.ทรัมป์ ซึ่งหลังจากนางโยวาโนวิทช์เข้าให้ปากคำเพียงไม่นาน ปธน.ทรัมป์ก็ทวีตโจมตีเธอ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคเดโมแครตที่ระบุว่า การโจมตีของทรัมป์เท่ากับเป็นความพยายามที่จะข่มขู่พยานในคดีนี้

18 พ.ย. 2562 – ปธน.ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ตนเองอาจจะตอบรับข้อเสนอของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่แนะนำให้เขาเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการสอบสวนถอดถอนของรัฐสภาสหรัฐ โดยทรัมป์ระบุว่า จะพิจารณาเข้าให้การต่อสภาคองเกรสอย่างเปิดเผย หรืออาจจะส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับรัฐสภา

*ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว

กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนปธน.ทรัมป์ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเบิกพยานเพื่อให้ปากคำในการไต่สวนสาธารณะ หลังจากคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐได้เริ่มเปิดการไต่สวนสาธารณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพิจารณาถอดถอนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐออกจากตำแหน่ง จากข้อกล่าวหาที่ว่า ทรัมป์ใช้อำนาจโดยมิชอบบีบนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนให้เปิดการสอบสวนกรณีการทุจริตของ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐสมัยบารัค โอบามา ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปี 2563 พร้อมด้วยนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชาย ผู้บริหารบริษัทบูริสมาซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งในยูเครน

ทรัมป์ขู่ว่า จะระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหาร วงเงิน 391 ล้านดอลลาร์ หากผู้นำยูเครนไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนนายไบเดน ซึ่งเท่ากับว่าทรัมป์ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

เป้าหมายของทรัมป์ที่จ้องจะทำลายนายไบเดน คู่แข่งในศึกเลือกตั้งปีหน้า ได้ย้อนกลับมาเล่นงานเขา และเป็นต้นตอที่ทำให้ทรัมป์ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเสียเอง โดยชะตากรรมทางการเมืองของทรัมป์อาจจะจบลงด้วยการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีก็เป็นได้

*ถอดถอน "ทรัมป์" เท่ากับ เข็นครกขึ้นภูเขาหรือไม่

กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ ณ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยการไต่สวนอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกเพิ่งเริ่มต้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปในสัปดาห์นี้ในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่ ขณะที่ปธน.ทรัมป์ซึ่งอยู่ฝ่ายพรรครีพับลิกันก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้กระทำสิ่งใดผิด

หากการไต่สวนพบว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดทรัมป์ คณะกรรมาธิการก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป ซึ่งจะนำไปสู่การลงมติถอดถอนทรัมป์ในสภาผู้แทนราษฎรแบบเต็มคณะ อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่า ถึงแม้สภาล่างอาจโหวตรับรองให้ยื่นญัตติถอดถอนทรัมป์ แต่การถอดถอนก็ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภาซึ่งมีส.ว.พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ในอดีตที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐคนใดที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้สำเร็จมาก่อน

กระบวนการถอดถอนทรัมป์จะต้องใช้เวลา ในขั้นตอนแรกนั้นจะเริ่มจากคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ 6 คณะทำการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาเริ่มต้นกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนนี้) หากการไต่สวนพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีแล้วไม่พบหลักฐานเพียงพอว่าปธน.ทรัมป์กระทำความผิด ปธน.ทรัมป์ก็จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐต่อไป แต่หากพบหลักฐานเพียงพอว่าทรัมป์กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐก็จะลงมติกระบวนการยื่นถอดถอน

ในการลงมติสำหรับกระบวนการยื่นถอดถอนนั้น หากเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐไม่ถึง 51% ทรัมป์ก็จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐต่อไป แต่หากเสียงสนับสนุนการถอดถอนเกินกึ่งหนึ่ง (51%) ทรัมป์ก็จะถูกยื่นถอดถอน และวุฒิสภาจะเริ่มทำการไต่สวนต่อไป

เมื่อวุฒิสภาไต่สวนแล้วลงมติด้วยเสียงน้อยกว่า 2 ใน 3 ว่า ทรัมป์มีความผิดตามข้อกล่าวหา ทรัมป์ก็จะรอดจากการถูกถอดถอนและยังคงทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐต่อไป แต่หากวุฒิสมาชิก 2 ใน 3 (67%) ลงมติว่าทรัมป์มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา ทรัมป์ก็จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีก็จะเข้ารับหน้าที่แทนในช่วงวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ของทรัมป์

นักวิชาการด้านกฎหมายระบุว่า ในเมื่อไม่สามารถดำเนินคดีกับประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่ดำรงตำแหน่งได้นั้น หนทางเดียวที่จะปลดปธน.ทรัมป์ได้ก็คือการใช้กระบวนการถอดถอน (impeachment) ผ่านทางรัฐสภา

ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอญัตติยื่นถอดถอนประธานาธิบดีได้ หากสงสัยว่า ประธานาธิบดีกระทำความผิดฐานก่อกบฏ ติดสินบน ก่ออาชญากรรมรุนแรง หรือละเมิดกฎหมาย

ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐ แม้ว่ามีประธานาธิบดี 3 คนถูกยื่นถอดถอนมาแล้ว ซึ่งได้แก่ นายบิล คลินตัน, นายแอนดรูว์ จอห์นสัน และนายริชาร์ด นิกสัน แต่ก็ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนที่ถูกปลดจากตำแหน่งมาก่อน โดยนายคลินตันและนายจอห์นสันรอดพ้นการลงมติถอดถอนในวุฒิสภา ขณะที่นายนิกสันชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่กระบวนการไต่สวนจะเริ่มต้นขึ้น

คณะกรรมาธิการสอบสวนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป ซึ่งจะนำไปสู่การลงมติถอดถอนทรัมป์ในสภาผู้แทนราษฎรแบบเต็มคณะ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ถึงแม้สภาล่างอาจโหวตรับรองให้ถอดถอนทรัมป์ แต่การถอดถอนไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภาซึ่งมีส.ว.พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก

วุฒิสภาสหรัฐชุดปัจจุบันซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายคณะลูกขุนในคดีนี้นั้นประกอบด้วยวุฒิสมาชิก 53 เสียงจากรีพับลิกัน, 45 เสียงจากแดโมเครต และอีก 2 เสียงจากส.ว.อิสระ นั่นหมายความว่า วุฒิสภาซึ่งมีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก จะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 67 เสียงเพื่อถอดถอนทรัมป์ ซึ่งนั่นหมายถึงจะต้องมีส.ว.กบฏจากฝั่งรีพับลิกันและส.ว.อิสระรวมกันอย่างน้อย 20 เสียงมาร่วมโหวตถอดถอนทรัมป์ ซึ่งหากถึงขั้นตอนนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะมีส.ว.รีพับลิกันหักหลังทรัมป์ด้วยการโหวตสวนทางมติพรรคหรือไม่ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะตอนนี้ก็มีส.ว.รีพับลิกันหลายคนไม่ชอบทรัมป์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

*มองไปข้างหน้ากับคำตอบสุดท้ายของกระบวนการถอดถอนทรัมป์

สำหรับตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ว่าทรัมป์จะหลุดจากเก้าอี้ผู้นำสหรัฐหรือไม่ แต่ดูทรงแล้วน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะการลงมติถอดถอนทรัมป์อาจจะสะดุดในวุฒิสภาตามเหตุผลข้างต้น

ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เกมนี้แท้จริงคือการงัดข้อของสองพรรคใหญ่ ทรัมป์พยายามเล่นเกมสกัดคู่แข่งสำหรับศึกเลือกตั้งในปลายปีหน้าด้วยการหาวิธีขุดคุ้ยข้อมูลเพื่อโจมตีและดิสเครดิตนายโจ ไบเดน ซึ่งเขามองว่าเป็นคู่ชกตัวจริงในการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การยื่นถอดถอนทรัมป์เป็นแค่สีสันทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งปีหน้า เพราะการจะโค่นล้มทรัมป์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากถึง 2 ใน 3 ของวุฒิสภา ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเดโมแครตจะต้องได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกแปรพักต์จากพรรครีพับลิกันถึง 20 เสียง จึงจะผ่านมติถอดถอนทรัมป์ได้

เดโมแครตรู้ดีว่า หากจะเล่นงานทรัมป์ ก็ต้องใช้เกมแรง และจะไม่ยอมให้ทรัมป์เดินหมากอยู่ฝ่ายเดียวแน่นอน ดังนั้นการเดินหน้ากระบวนการถอดถอน แม้เดโมแครตจะรู้อยู่แก่ใจว่า ยังไงเสีย ก็ไม่อาจถอดถอนทรัมป์ได้สำเร็จ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้ศัตรูการเมืองกระทำการรุกรานอยู่เพียงฝ่ายเดียว เพราะอย่างน้อยการจับทรัมป์ขึ้นเขียงในกระบวนการถอนถอด ก็เท่ากับเป็นการเขย่าเก้าอี้ทรัมป์ให้สะเทือนได้บ้างไม่มากก็น้อย ในขณะที่สื่อสหรัฐหลายสำนักชี้ตรงกันว่าคะแนนนิยมในตัวปธน.ทรัมป์กำลังลดลง

เป้าหมายหลักของเดโมแครตอาจแค่ทำให้อำนาจของทรัมป์อ่อนแอลงและไร้เสถียรภาพ ทรัมป์ก็จะทำอะไรได้ไม่ค่อยถนัดนัก โดยเฉพาะกับการหาเสียงก่อนถึงวันเลือกตั้งปีหน้า

ด้านโพลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันครั้งแรกหลังคองเกรสไต่สวนแบบเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อกล่าวโทษและปลดโดนัลด์ ทรัมป์พ้นตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น พบว่า ชาวอเมริกันเกินครึ่งเห็นด้วยกับการกล่าวโทษเพื่อถอดถอนทรัมป์ โดยผลสำรวจของ ABC News/Ipsos ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ระบุว่า 51% ของชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ทรัมป์ควรถูกสอบสวนและตัดสินในวุฒิสภา ส่วนอีก 6% เห็นด้วยกับการอิมพีชหรือกล่าวโทษเพื่อถอดถอนทรัมป์

ตัวเลขที่ออกมาล่าสุดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากตัวเลขก่อนหน้าที่คณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะเริ่มการไต่สวนอย่างเปิดเผยเมื่อวันพุธที่แล้ว โดยค่าเฉลี่ยของโพลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ FiveThirtyEight ก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า มีชาวอเมริกันราว 48% สนับสนุนการถอดถอนทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าระยะเวลาของกระบวนการอิมพีชเมนต์ทั้งหมดจะสิ้นสุดที่จุดใด ทั่วโลกก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ทรัมป์จะหลุดจากเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐหรือไม่ เพราะหากทรัมป์เกิดถูกถอดถอนขึ้นมาจริงๆ ก็คงจะสร้างความปั่นป่วนไม่น้อยให้กับตลาดหุ้น, ตลาดการเงิน วงการเศรษฐกิจและการเมืองโลกเป็นแน่แท้ เพราะแค่พรรคเดโมแครตประกาศเปิดการอิมพีชเมนต์ทรัมป์ ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ดิ่งลงอย่างหนักรับข่าวดังกล่าว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองสหรัฐมีส่วนกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างมาก

การถูกยื่นถอดถอนนับเป็นวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของทรัมป์นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งมากว่า 3 ปีแล้ว แต่ไม่ว่าทรัมป์จะรอดหรือไม่รอดจากการถูกถอดถอน ก็จะคงมีผลกระทบกับทั่วโลกแน่ๆ เพราะหากรอด ก็เชื่อกันว่า ทรัมป์คงจะฮึกเหิมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ภายในประเทศ แต่อาจจะลามไปถึงการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทรัมป์คงจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับจีนง่ายๆ ในการทำสงครามการค้า และอาจจะเพิ่มแรงกดดันกับอิหร่านและเกาหลีเหนือมากขึ้นด้วยก็เป็นได้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามดูกันต่อไป โดยบทสรุปของการถอดถอนทรัมป์จะเป็นเช่นไร ก็คงไม่นานเกินรอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ