In Focusเปิดโปรไฟล์ "ไมเคิล บลูมเบิร์ก" ความหวังใหม่ของพรรคเดโมแครต ผู้ประกาศโค่นทรัมป์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 27, 2019 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 1 ปี สหรัฐก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งในขณะนี้ บุคคลที่คนทั่วโลกต่างจับตามองมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น "ไมเคิล บลูมเบิร์ก" ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 คนล่าสุด ซึ่งเขาประกาศลั่นว่า "จะไม่ยอมให้ทรัมป์ป่วนอเมริกาอีกต่อไป"

In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับนายไมเคิล บลูมเบิร์ก ทั้งประวัติชีวิตส่วนตัว กลยุทธ์ในศึกเลือกตั้ง 2020 และความท้าทายที่เขาต้องเผชิญเมื่อเลือกเดินบนเส้นทางนี้

  • จากนักธุรกิจสู่นักการเมือง

นายไมเคิล บลูมเบิร์ก วัย 77 ปี เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ และนักเขียนที่ประสบความสำเร็จของสหรัฐ โดยข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 ระบุว่า นายบลูมเบิร์กมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เขาเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมากที่สุดอันดับ 9 ของโลก โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขามาจากการจัดตั้งบริษัทบลูมเบิร์ก แอลพี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข่าวและซอฟต์แวร์ทางการเงินรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ไม่ว่าสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนไหน ๆ ต่างก็ต้องซื้อข้อมูลจากบริการของเขาทั้งสิ้น โดยนายบลูมเบิร์กถือหุ้นอยู่ในบริษัทของตัวเอง 88% ซึ่งธุรกิจสื่อก็สร้างผลตอบแทนให้กับเขาถึงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ นายบลูมเบิร์กก็ได้เลือกเดินบนเส้นทางสายการเมือง โดยเขาได้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนิวยอร์กในปี 2544 แม้นายบลูมเบิร์กจะเป็นนักการเมืองสังกัดรีพับลิกัน แต่ชาวนิวยอร์กซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของเดโมแครตกลับเทคะแนนให้เขาอย่างล้นหลาม และยกให้เขาเป็นนายกเทศมนตรีถึง 3 สมัย โดยในช่วงสมัยที่ 2 เขาได้ออกจากพรรครีพับลิกันมาสังกัดพรรคอิสระ ก่อนที่จะมาอยู่กับพรรคเดโมแครตในปี 2561

  • เส้นทางการเมือง

นายบลูมเบิร์กได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า เขาพร้อมจะเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 เนื่องจากมองว่า ในบรรดาผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตทั้ง 16 คน ไม่มีคนใดเลยที่จะโค่นประธานาธิบดีทรัมป์ได้ ขณะที่เขามีความพร้อมทั้งในแง่ประวัติทางการเมืองและประสบการณ์ทำธุรกิจไม่ต่างจากผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน

ทั้งนี้ นายบลูมเบิร์กกล่าวในแถลงการณ์ว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอย่างแท้จริง ผมเข้ามาเป็นผู้สมัครเพราะต้องการเอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ และฟื้นฟูอเมริกาขึ้นใหม่ เราไม่สามารถอดทนต่อความสะเพร่าและการกระทำที่ไร้ศีลธรรมของเขาได้อีกต่อไป หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เราก็จะไม่สามารถฟื้นฟูสหรัฐจากซากความเสียหายได้"

นายบลูมเบิร์กได้ยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังจากที่ได้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับไพรมารีและคอคัสแล้วหลายรัฐ ซึ่งเป็นเวลาเพียง 3 เดือนก่อนการลงคะแนนเสียงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านี้ นายบลูมเบิร์กไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะลงสมัครเลือกตั้งปธน.สหรัฐมาก่อน แต่เขาก็ได้เปลี่ยนใจ เนื่องจากมองว่าไม่มีผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตคนใดที่จะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้

ในวิดีโอเปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นายบลูมเบิร์กได้วางตัวเองในฐานะนักธุรกิจและผู้นำทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จ โดยเขาได้สร้างงานภายในบริษัทของตัวเอง พร้อมฟื้นฟูมหานครนิวยอร์กอีกครั้งหลังจากที่เกิดการก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 อีกทั้งยังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความท้าทายที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน หรือกฎหมายควบคุมปืน โดยนายบลูมเบิร์กได้ก่อตั้งมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงด้วยปืนอย่าง Everytown for Gun Safety รวมถึงโครงการต้านภัยโลกร้อนอย่าง Beyond Carbon โดยเขาได้มอบเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับโครงการการกุศลในประเทศที่ทำธุรกิจอยู่กว่า 129 ประเทศ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนของนายบลูมเบิร์กที่แตกต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก หนำซ้ำยังพาสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอีกด้วย

ในฐานะเจ้าพ่อสื่อของสหรัฐ นายบลูมเบิร์กได้ประกาศว่า เขาจะใช้งบประมาณอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยจะใช้เงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในการหาเสียงทางอินเทอร์เน็ตเพื่อโจมตีทรัมป์ และอีก 15-20 ล้านดอลลาร์ในการหาเสียงในรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของเดโมแครต ซึ่งสื่อสหรัฐรายงานแล้วว่า นายบลูมเบิร์กได้ทุ่มเงินกว่า 37 ล้านดอลลาร์ในการทำโฆษณาหาเสียงทางโทรทัศน์ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

แม้นายบลูมเบิร์กจะไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างเจาะจงว่า จะใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะครอบคลุมแผนในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ แต่นายโฮเวิร์ด วอล์ฟสัน ที่ปรึกษาอาวุโสกล่าวว่า นายบลูมเบิร์กพร้อมทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อเอาชนะทรัมป์ให้จงได้

นอกจากนี้ นายวอล์ฟสันยังกล่าวอีกด้วยว่า นายบลูมเบิร์กไม่คิดรับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนพรรค และจะ "ไม่รับเงินเดือน" หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

  • ความท้าทายที่รออยู่

นายบลูมเบิร์กอาจสามารถโน้มน้าวใจชาวอเมริกันให้เทคะแนนเสียงให้กับตนเอง เนื่องจากเขาได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสนับสนุนสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรี รวมถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน และการลดการใช้อาวุธปืนที่ก่อให้เกิดเหตุอุกอาจรุนแรงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งเป็นนโยบายที่หลายคนมองว่าอาจซื้อใจชาวอเมริกันได้

นอกจากนี้ นายบลูมเบิร์กยังทุ่มเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยให้พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐ และล่าสุดก็ทุ่มเงินเพื่อหวังเอาชนะการเลือกตั้งในรัฐสำคัญอย่างเวอร์จิเนีย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายบลูมเบิร์กอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ ซึ่งรวมถึงการฟาดฟันกับแคนดิเดตตัวเก๋าหลายคน ซึ่งรวมถึง เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ และ เอลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเส็ตส์ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตที่ได้ออกมาตั้งป้อมโจมตีนายบลูมเบิร์กว่า "มหาเศรษฐีไม่ควรซื้อการเลือกตั้ง"

"การเลือกตั้งไม่ควรมีการซื้อขาย ไม่ใช่กับมหาเศรษฐี ไม่ใช่กับผู้บริหารใหญ่ เราต้องสร้างความเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า" นางวอร์เรนกล่าว "ดิฉันเข้าใจดีว่าพวกคนรวยจะมีโอกาสมากกว่าเรา พวกเขาอาจจะมีรองเท้ามากกว่าเรา มีรถมากกว่าเรา มีบ้านมากกว่าเรา แต่เขาจะไม่ได้รับคะแนนเสียงบนเวทีประชาธิปไตยไปมากกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งขั้นต้นของเดโมแครต"

ด้านนายแซนเดอร์ส กล่าวว่า "เรามีประเทศที่เอื้อประโยชน์ต่อมหาเศรษฐี เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับชาวสหรัฐที่เหลือ และหากเดโมแครตได้ตัวแทนเป็นมหาเศรษฐีและผู้บริหารระดับชั้นนำ เราก็จะมีประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนระดับบนเท่านั้น"

"เราไม่เชื่อว่ามหาเศรษฐีจะมีสิทธิซื้อการเลือกตั้ง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนายบลูมเบิร์กคงไปไม่ได้ไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้" นายแซนเดอร์สกล่าวปิดท้าย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่นายบลูมเบิร์กถูกโจมตีในเรื่องที่ว่าเขาเป็นนักการเมืองที่ชอบย้ายสังกัดพรรค โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น นายบลูกเบิร์กได้เข้าร่วมพรรครีพับลิกันเป็นพรรคแรก โดยได้สังกัดพรรคดังกล่าวถึง 7 ปีเต็ม ก่อนที่จะย้ายไปเป็นนักการเมืองอิสระ และท้ายที่สุดก็ขอมาซบอกพรรคเดโมแครต ทำให้ประชาชนมองว่า เขาเป็นคนที่ไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน และพร้อมย้ายไปหาฝ่ายที่ให้ประโยชน์กับตัวเองเสมอ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้นายบลูมเบิร์กไม่ได้รับความนิยมมากนัก และอาจทำให้เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคมากพอที่เขาจะได้มีโอกาสขึ้นเวทีดีเบตในเดือนธันวาคมนี้ โดยเดโมแครตตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่จะมีสิทธิเข้าร่วมการอภิปรายจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 4% ในการเลือกตั้ง 4 ครั้งของกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงพรรคเดโมแครต หรือ 6% ในการเลือกตั้งขั้นต้น 2 ครั้ง และต้องมีรายนามผู้บริจาคอย่างต่ำ 200,000 คน โดยมีผู้บริจาคขั้นต่ำ 800 คนจาก 20 รัฐ ซึ่งนายบลูมเบิร์กจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้งหมดให้ได้ภายในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เพื่อที่จะขึ้นเวทีดีเบตในวันที่ 19 ธันวาคม ณ ลอสแองเจลิส ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดมาก

นอกจากนี้ นายบลูมเบิร์กยังมีชนักติดหลังอยู่อีกประการหนึ่ง เนื่องจากในอดีตเขาเคยแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบาย "stop and frisk" ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวประชาชนเพื่อค้นตัวได้ อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่กักขังผู้ต้องสงสัยแม้ว่าสาเหตุการกระทำผิดจะยังคลุมเครืออยู่ก็ตาม แม้นโยบายดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ต่อการตรวจค้นอาวุธปืน แต่ก็ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนผิวสีและชาวฮิสแปนิก ส่งผลให้เกิดอคติทางเชื้อชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งนายบลูมเบิร์กถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวอย่างหนัก ก่อนที่จะยอมออกมากล่าวคำขอโทษเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตนเองในอดีต อย่างไรก็ตาม มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คำขอโทษของเขาหลุดจากปากเพราะหวังผลทางการเมือง

ทีนี้เราคงต้องมาลุ้นกันว่า นายบลูมเบิร์ก จะสามารถฟาดฟันกับตัวแทนพรรคที่เหลือ เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้สมัครเพียงหนึ่งเดียวจากพรรคเดโมแครตเพื่อที่จะโค่นล้มทรัมป์ได้หรือไม่ ...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ