In Focusลอกคราบเศรษฐกิจโลกปีหมูไฟ ไม่มีใครชนะในสงครามการค้า รบร้อยครั้ง พังทุกฝ่าย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 11, 2019 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาวาเศรษฐกิจโลกโคจรเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2562 แต่ยังไม่มีสัญญาณบวกชัดเจนที่พอจะทำให้ไว้วางใจได้ว่า นาวาลำนี้จะรอดพ้นจากภูเขาน้ำแข็งและคลื่นลมโหมกระหน่ำในปี 2563 ตลอดปี 2562 สถาบันระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ต่างก็พร้อมใจกันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก พร้อมกับออกรายงานเตือนถึงผลกระทบอันร้ายแรงของสงครามการค้าที่ไม่ได้มีแค่เพียงมวยคู่เอกอย่างสหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสหรัฐกับบรรดาประเทศคู่ค้าซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป (EU) เม็กซิโก แคนาดา และล่าสุดกับบราซิล อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส

ไม่เพียงแค่สงครามการค้าเท่านั้นที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้อ่อนแอลงตั้งแต่เปิดศักราชปีหมู แต่วิกฤติการเมือง ปัญหาชัตดาวน์หน่วยงานราชการในสหรัฐ ข้อพิพาทด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของกรณีอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และปรากฎการณ์ดอกเบี้ยต่ำ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะเปราะบางและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

หากเหลียวหลังแลดูเศรษฐกิจตลอดปีหมู จะพบว่า โลกยังคงวนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งปัญหาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และมีแนวโน้มที่จะลากยาวไปจนถึงปีหน้า จนแทบนึกไม่ออกว่า จะมีอัศวินม้าขาวคนใดที่สามารถเข้ามาช่วยปลดชนวนสงครามในครั้งนี้ได้

  • IMF กอดคอเวิล์ดแบงก์ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 62 หวั่นผลกระทบสงครามการค้ายืดเยื้อถึงปี 2563

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบอันรุนแรงจากสงครามการค้าที่ก่อตัวขึ้นทั่วโลก ทำให้ IMF ตัดสินใจปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลงเหลือ 3.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551-2552 จากเดิมที่ระดับ 3.2% และยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ลงสู่ระดับ 3.4% จากเดิมที่ระดับ 3.5%

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของ IMF ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์, การชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ ประสิทธิภาพการผลิตที่ขยายตัวในระดับต่ำ รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการคนใหม่ของ IMF ประมาณการเอาไว้อย่างน่าตกใจว่า ผลกระทบของสงครามการค้า อาจทำให้มูลค่าของ GDP โลกได้รับความเสียหายสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 หรือประมาณขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากพิษภัยของสงครามการค้าทำให้กิจกรรมการผลิตและการลงทุนอ่อนแอลงอย่างมาก และยังเป็นปัจจัยขัดขวางศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ทางด้านเวิลด์แบงก์ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลงสู่ระดับ 2.6% จากเดิมที่ระดับ 2.9% และคาดว่าในปี 2563เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.7% โดยเวิลด์แบงก์มีมุมมองไม่ต่างไปจาก IMF ว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มถูกกระทบจากสงครามการค้า และภาวะตึงตัวด้านการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ไม่เพียงแค่นั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังออกรายงานเตือนว่า นโยบายการค้าที่ไม่มีความแน่นอนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และข้อพิพาทการค้ากับจีน อาจทำให้สหรัฐต้องสูญเสียมูลค่าการผลิตมากถึง 8.5 แสนล้านดอลลาร์ไปจนถึงต้นปี 2563

นักวิจัยของเฟดประเมินว่า ผลกระทบของสงครามการค้าทำให้ธุรกิจต่างๆต้องชะลอการลงทุนและการผลิตลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

  • จากสงครามการเมือง สู่สงครามการค้า ระเบิดเวลาลูกเก่าในสมรภูมิใหม่ที่ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ

อาจกล่าวได้ว่า สงครามการค้ามีจุดเริ่มต้นมาจากข้อพิพาททางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิด "อเมริกาต้องมาก่อน" หรือ "American First" ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีหัวร้อนของสหรัฐ การมีแนวคิดนี้เป็นตัวตั้ง ทำให้ทรัมป์มองทุกอย่างแบบ "Zero Sum Game" คืออเมริกาต้องชนะและอีกฝั่งหนึ่งต้องแพ้ สำหรับทรัมป์แล้ว อเมริกาไม่มีทั้งมิตรและศัตรู ดังนั้น ผู้นำสหรัฐจึงสามารถเล่นงานทั้งศัตรูที่เป็นหอกข้างแคร่ตลอดกาลอย่างจีน และพันธมิตรที่กอดคอร่วมรบกันมานานนับศตวรรษอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศคู่ค้ารายสำคัญอย่างเม็กซิโกและแคนาดา กระทั่งล่าสุด ทรัมป์หันปากกระบอกปืนเข้าใส่บราซิลและอาร์เจนตินา สองประเทศที่เคยอยู่ในการสนับสนุนของสหรัฐมาโดยตลอด

ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธวิธีที่ชาญฉลาดที่สุดในการเปิดศึกการค้า คือ การลากเอาประเด็นการเมืองและค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่สหรัฐทำกับจีน และญี่ปุ่นทำกับเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น สหรัฐพยายามแทรกแซงการเมืองของจีนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีว่าจีนพยายามขยายอิทธิพลด้านการทหารและจงใจปั่นค่าเงินเพื่อหวังข้อได้เปรียบในการส่งออกสินค้า กระทั่งล่าสุด เมื่อเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง สหรัฐใช้โอกาสนี้เข้าแทรกแซงการเมืองของจีนทางอ้อม ด้วยการผ่านร่างกฎหมาย "Hong Kong Human Rights and Democracy Act" เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐเลือกยืนเคียงข้างกลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกง จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ "Thank You USA" เมื่อผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ได้เคลื่อนขบวนไปชุมนุมกันที่หน้าสถานกงสุลของสหรัฐในวันขอบคุณพระเจ้า เพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลสหรัฐที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ สหรัฐยังใช้ "หัวเว่ย เทคโนโลยี่" บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนเป็นหมากสำคัญในการต่อรองการค้ากับจีน ด้วยการร้องขอให้รัฐบาลแคนาดาจับกุมตัวนางเมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย โดยตั้งข้อหาว่า หัวเว่ยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐบังคับใช้ต่ออิหร่าน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การที่สหรัฐดึงหัวเว่ยเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐนั้น เป็นเพราะหัวเว่ยมีธุรกิจหลักด้านเครือข่าย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยี 5G ที่หัวเว่ยถือเป็นผู้นำด้านนี้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยเองก็ก้าวขึ้นมาเทียบเคียงบริษัทคู่แข่งของชาติตะวันตกอย่างโนเกียและอิริคสัน ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า สาเหตุที่ทำให้หัวเว่ยตกเป็นเป้าในสมรภูมินี้ คือความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารของหัวเว่ยกับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยและเคยเป็นถึงวิศวกรในกองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเคยเป็นคู่แค้นในสมรภูมิรบ ได้กลายมาเป็นคู่ชกคู่ใหม่แห่งสังเวียนสงครามการค้า โดยจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อญี่ปุ่นประกาศควบคุมการส่งออกเคมีภัณฑ์ 3 ชนิดไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ fluorinated polyimides ซึ่งใช้ในการผลิตหน้าจอแสดงผล photosensitising agent resist ใช้ในชิปประมวลผล และ hydrogen fluoride ใช้ในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

ญี่ปุ่นอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ โดยระบุว่า สารเคมีทั้งหมดนี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาวุธได้ และหากไม่ควบคุมการส่งออกให้เข้มงวดมากขึ้น วัตถุดิบเหล่านี้ก็อาจถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารได้ ... แต่ทั้งโลกก็รู้ว่า การที่ญี่ปุ่นออกมาตรการดังกล่าวนั้น ก็เพื่อตอบโต้ศาลสูงของเกาหลีใต้ได้สั่งให้บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบริษัทบังคับใช้แรงงานหนักในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม เช่นเดียวกับบริษัท นิปปอน สตีล และบริษัท ซูมิโตโม เมทัล ที่ถูกตัดสินในคดีคล้ายกันก่อนหน้านั้นไม่นาน

ผลของการกระทบกระทั่งทางการเมืองจนนำไปสู่ชนวนสงครามการค้าเช่นนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้พร้อมใจกันบอยคอตสินค้าญี่ปุ่น และลดการเดินทางท่องเที่ยวไปญี่ปุ่น ส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่นด้วย

สำหรับศึกการค้าระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับบราซิลและอาร์เจนตินานั้น มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่ไม่ต่างกัน โดยมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐประกาศขึ้นภาษีเหล็กหลายประเทศ ยกเว้นอาร์เจนตินาและบราซิล เนื่องจากตอนแรกทรัมป์มองว่ารัฐบาลสองประเทศนี้ปกครองโดยฝ่ายขวาซึ่งเป็นผลดีต่ออเมริกา แต่ต่อมาเมื่อฝ่ายซ้ายขึ้นครองอำนาจในอาร์เจนตินา และบราซิลเริ่มมีปัญหาเนื่องจากวิกฤตการเมือง ประกอบกับในระยะหลัง วิกฤติการเมืองได้ฉุดเศรษฐกิจของทั้งบราซิลและอาร์เจตินาย่ำแย่ลง ซึ่งผลที่ตามมาคือค่าเงินอ่อนตัวลง แต่ข้อดีคือเมื่อค่าเงินอ่อนตัวลงทำให้สินค้าที่ทั้งสองประเทศส่งเข้าไปขายในอเมริกานั้น มีข้อได้เปรียบและตีตลาดสินค้าในสหรัฐ ดังนั้น ทรัมป์จึงตั้งข้อหาบราซิลและอาร์เจนตินาว่า ปั่นค่าเงิน และนำไปสู่การประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากทั้งสองประเทศ จนทำให้บราซิลและอาร์เจนตินาตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ยังไม่นับการที่สหรัฐประกาศเปิดแนวรบด้านการค้ากับฝรั่งเศส ด้วยการขู่ว่าจะรีดภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศสสูงถึง 100% ในวงเงินราว 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้ฝรั่งเศสที่วางแผนเก็บภาษีดิจิทัลจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐ อาทิ อเมซอน กูเกิล แอปเปิล และเฟซบุ๊ก

... อภิมหาสงครามการค้าที่ระเบิดขึ้นทั่วโลกกำลังสะท้อนให้เห็นถึงการแย่งชิงผลประโยชน์อย่างไม่รู้จบ และไม่ว่าฝ่ายใดที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ชนะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต่างเจ็บตัวทั่วกันทุกฝ่าย โดยข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ถึงผลกระทบดังกล่าวก็คือ ภาคการผลิตและภารส่งออกของบรรดาประเทศมหาอำนาจหดตัวลงถ้วนหน้า

ส่วนสถานการณ์ในเวลานี้ นักลงทุนทั่วโลกต่างก็รอความชัดเจนว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติม 15% วงเงิน 1.56 แสนล้านดอลลาร์ ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้หรือไม่ หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ตีข่าวว่า สหรัฐจะชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวันที่ 15 ธ.ค. แต่นายแลร์รี่ คุดโลว์ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ได้ออกมายืนยันว่า สหรัฐยังคงพร้อมที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจีนในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ตามกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ