ปีนี้ ประเทศไทยเผชิญเหตุการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน จากอิทธิพลพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย เมื่อช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจ.อุบลราชธานี ที่ประสบอุทกภัยหนักสุดในรอบเกือบ 20 ปี หลังจากนั้น ห่างกันอีกเพียงไม่นานในเดือนพ.ย. ประเทศไทยได้เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกครั้งกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งหนักในประเทศไทย หากเทียบกับอีกหลายประเทศ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะแม้จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวจะอยู่ในประเทศลาว แต่สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดของไทย ทั้งที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุอย่างจ. น่าน และจังหวัดที่อยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ เล่นเอาชาวเมืองที่อยู่บนตึกสูงอกสั่นขวัญแขวนกันเป็นแถว
เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในไทยนับว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ อย่างในสหรัฐอเมริกาที่เผชิญพายุรุนแรงหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นไซโคลน เฮอริเคน ทอร์นาโด รวมไปถึงน้ำท่วม ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่หลายประเทศทั่วเอเชียและแอฟริกาก็ประสบกับการสูญเสียชีวิตประชาชนจำนวนมากจากไต้ฝุ่น คลื่นความร้อน และน้ำท่วม
จากข้อมูลทางสถิติโดยศูนย์วิจัยระบาดวิทยาด้านภัยพิบัติ (Centre for Research on the Epidemiology of Disasters: CRED) ในประเทศเบลเยียม พบว่า เหตุภัยพิบัติที่รุนแรงและเลวร้ายที่สุดในปีนี้นั้น คือ พายุ และ คลื่นความร้อน โดยมีประชาชนหลายร้อยคนเสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุ หรือเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด In Focus เดือนส่งท้ายปี ขอประมวลเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับในปี 2562
อันดับ 5 - ไต้ฝุ่น "เลกีมา" คร่าชีวิตประชนชน 72 คนในจีน
เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา จีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่นเลกีมา (Lekima) ที่พัดผ่านหลายมณฑลของจีน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ถนนและสะพานพังเสียหาย ประชาชนจำนวนมากสูญหาย และเขื่อนธรรมชาติพังทลาย ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกประกาศเตือน "สีแดง" ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดในระบบการเตือนภัยสภาพอากาศของจีนที่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ สีแดงคือระดับที่รุนแรงที่สุด รองลงมาคือสีส้ม สีเหลือง และสีฟ้า นอกจากนี้ เลกีมายังเป็นพายุไต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของจีน ตามหลังไต้ฝุ่นฟิโทว์ (Fitow) เมื่อปี 2556 โดยนอกจากจะคร่าชีวิตประชาชนในประเทศจีนไปถึง 72 คน พายุเลกีมายังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.537 หมื่นล้านหยวน (9.26 พันล้านดอลลาร์) อีกด้วย
อันดับ 4 - ไต้ฝุ่น "ฮากีบิส" คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 86 คนในญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศเตือนภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งรวมถึงกรุงโตเกียว เมื่อฮากีบิส (Hagibis) พัดขึ้นฝั่งในเดือนต.ค. ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากีบิสมีความรุนแรงเทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด และมีขนาดใหญ่เกือบเท่าไทยทั้งประเทศ ส่งผลให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนตามคำสั่งของทางการ ขณะที่อีกหลายล้านคนได้รับคำเตือนหรือคำแนะนำให้อพยพไปหลบภัยในสถานที่ที่ปลอดภัย และสืบเนื่องจากผลพวงของพายุที่มีอานุภาพรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษลูกนี้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนการจัดริ้วขบวนฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะออกไปเป็นเดือนพ.ย. จากกำหนดการเดิมในเดือนต.ค.ด้วย เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากพายุ รวมทั้งเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว
อันดับ 3 - คลื่นความร้อนคร่าชีวิตประชาชน 90 คนในอินเดีย
ฤดูร้อนปีนี้ นับว่าอินเดียเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยกินเวลายาวนานกว่าหนึ่งเดือน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ค.จนถึงเดือนมิ.ย. อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้เมื่อเดือนมิ.ย. ในรัฐราชสถาน ทางภาคตะวันตกของประเทศ อยู่ที่ 50.8 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2559 ที่ 51 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่ร้อนจัดและการเตรียมพร้อมรับมือที่ไม่ดีพอส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ คลื่นความร้อนระลอกนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ แห้งเหือด ทำให้ประชาชนนับล้านไม่สามารถเข้าถึงน้ำได้ วิกฤตการณ์น้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก นำไปสู่การประท้วงและการต่อสู้แย่งชิงน้ำ ลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกแทงและถูกทุบตี
อันดับ 2 - คลื่นความร้อนคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 160 คนจากในญี่ปุ่น
อีกหนึ่งเหตุการณ์คลื่นความร้อนรุนแรงในเอเชียปีนี้เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนก.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 162 คน นอกจากนี้ ประชาชนนับหมื่นคนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการลมแดด โดยกว่าครึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ อันเนื่องมาจากอุณหภูมิร้อนจัดที่พุ่งทะลุ 41 องศาเซลเซียส ในเมืองคุมะกายะ จังหวัดไซตามะ ส่วนกรุงโตเกียวก็มีอุณหภูมิเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นยังได้ขยายเวลาการปิดภาคเรียนฤดูร้อนของเด็กนักเรียนออกไป เพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากคลื่นความร้อน เนื่องจากในบรรดาโรงเรียนรัฐทั่วประเทศนั้น มีไม่ถึงครึ่งที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยญี่ปุ่นได้ประกาศให้วิกฤติคลื่นความร้อนครั้งนี้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ
อันดับ 1 - พายุ "อิดาอี" คร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 900 คนในแอฟริกา
พายุหมุนเขตร้อนอิดาอี (Idai) ได้พัดถล่มดินแดนแห่งกาฬทวีปเมื่อเดือนมี.ค. โดยอิดาอีถือเป็นพายุที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในซีกโลกใต้ ฐานข้อมูลภัยพิบัตินานาชาติของศูนย์ CRED ระบุว่า อิดาอีได้คร่าชีวิตประชาชน 602 คนในโมซัมบิก และ 299 คนในซิมบับเว อีกทั้งยังทำให้ท่าเรือ Beira ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโมซัมบิกเสียหายจนแทบไม่เหลือซาก นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นวาตภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแอฟริกา และถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอันตรายของภาวะโลกร้อน ซึ่งกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ไม่มีปีไหนที่โลกเราหนีพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ อาจรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละปี สำหรับปีหน้าฟ้าใหม่ ขอให้ธรรมชาติเห็นใจ ส่งดินฟ้าอากาศที่เป็นใจ ให้คนและธรรมชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ส่วนมนุษย์เองก็พึงตระหนักว่า พิบัติภัยหลายเหตุการณ์เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ไม่โดยตรง ก็โดยอ้อม ทุกคนจึงควรตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ขณะที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เคยประสบเหตุภัยพิบัติรุนแรงมาแล้ว ขอจงถอดบทเรียน เพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอย