เล่นเอาปั่นปวนกันไปทั้งบาง เมื่อเปิดทำการวันแรกของสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเผชิญกับวันที่สาหัสที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 โดยเฉพาะตลาดวอลล์สตรีทที่เจอเข้ากับ "แบล็กมันเดย์" เมื่อดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลงไปถึง 2,013.76 จุด หรือ -7.79% ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ต่างก็ปิดร่วงลงไปกว่า 7% เช่นกัน ส่วนตลาดหุ้นยุโรปและเอเชียก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน
นอกจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่แทบจะกลายเป็นปัจจัยลบขาประจำในตลาดการเงินทั่วโลกนับตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้ ยังมีอีกหนึ่งชนวนเหตุสำคัญที่ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาวกันถ้วนหน้าในวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 มี.ค.) นั่นก็คือ ราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจาก "สงครามราคาน้ำมัน" ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลก ตามลำดับ
โดยหลังจากที่ซาอุดีอาระเบียประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (Official Selling Price หรือ OSP) สำหรับน้ำมันดิบทุกเกรดที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าทุกประเทศ ราคาน้ำมันดิบ WTI ก็ดิ่งลงไปถึง 30% แตะที่ระดับต่ำ 27.71 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ก็ร่วงสู่ระดับ 31.02 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันร่วงลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียว นับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปีพ.ศ.2533
สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปนั้น ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงถือเป็นเรื่องดี เพราะหมายถึงราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันที่จะถูกลง แต่ในภาพใหญ่กว่านั้น การห้ำหั่นกันระหว่างซาอุฯ และรัสเซียย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกที่ร่อแร่ปางตายอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ การประกาศลดราคาขาย OSP ดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นของการทำสงครามราคาน้ำมัน หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมันในการประชุมที่กรุงเวียนนา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 มี.ค.) ได้
เพราะเหตุใด สองประเทศผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่จับมือเป็นพันธมิตรกันมาตลอดสามปี ภายใต้กลุ่ม OPEC Alliance หรือ OPEC+ ต้องมาถึงจุดแตกหัก In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปติดตามสาเหตุเบื้องหลังกันได้ ณ บัดนี้
เหตุใดซาอุดีอาระเบียจึงเปิดศึกราคาน้ำมัน ?
กลุ่ม OPEC+ ประกอบด้วยประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปก ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ บวกกับประเทศผู้ผลิตน้ำรายใหญ่ที่อยู่นอกโอเปก (non-OPEC) ซึ่งยกให้รัสเซียเป็นหัวหอก โดยสาเหตุที่ทำให้คู่แข่งหันหน้ามาจับมือเป็นพันธมิตรกันนั้น เป็นเพราะต้องการดันราคาน้ำมันโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางสภาวะอุปทานล้นตลาดจนฉุดน้ำมันให้ร่วงลง โดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เป็นสมาชิกโอเปกและไม่ใช่สมาชิกโอเปกได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะลดการผลิตน้ำมันดิบให้น้อยลง ผ่านการตกลงร่วมกันว่าแต่ละประเทศจะผลิตน้ำมันไม่เกินเท่าไหร่ หรือการกำหนดโควตา ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องปรับลดการผลิตร่วมกันมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.ผ่านมา โอเปกได้เสนอให้ปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ท่ามกลางอุปสงค์ที่ซบเซาอันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง
แต่คราวนี้ รัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกรายสำคัญที่สุดในกลุ่ม non-OPEC แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยยืนยันจุดยืนเดิมที่ต้องการให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิตตามโควตาเดิมต่อไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาสสอง
นั่นทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจ และออกมาตอบโต้รัสเซียทันควัน ด้วยการประกาศปรับลดราคาน้ำมัน และประกาศความพร้อมที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมัน โดยมีเป้าหมายที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดจากรัสเซีย
เชื่อว่า หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมซาอุฯ จึงใช้วิธีลดราคาน้ำมัน ในเมื่อตลอดเวลาที่ผ่านมา จุดประสงค์ของเหล่าประเทศผู้ผลิตคือ ต้องการหนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า น่าจะเป็นกลยุทธ์ระยะสั้นของซาอุฯ เพื่อบีบให้รัสเซียกลับมาเจรจาและร่วมมือกับกลุ่ม OPEC+ อีกครั้ง เนื่องจากการลดราคาดังกล่าวจะทำให้รัสเซียได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมากจะน้อย หรือจะช้าจะเร็วเท่านั้น
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองด้วยว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเป็นความพยายามของซาอุฯ ที่จะแสดงให้รัสเซียเห็นว่าใครที่เป็นผู้คุมเกมในตลาดน้ำมันโลก อีกทั้งยังต้องการที่จะตอกย้ำสถานะผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย
เหตุใดรัสเซียจึงไม่ยอมลดการผลิต ?
เหล่าผู้สันทัดกรณีในตลาดน้ำมันเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้รัสเซียปฏิเสธข้อเสนอลดกำลังการผลิตของโอเปกในครั้งนี้ ก็คือ ต้องการขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมัน Shale Oil ของสหรัฐ ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อผูกมัดให้ต้องจำกัดปริมาณการผลิต แถมยังได้อานิสงส์ กลายเป็นตาอยู่หยิบชิ้นปลามัน จากการที่กลุ่มพันธมิตร OPEC+ ลดการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันอีกด้วย
รัสเซียมองว่า การลดการผลิตเพื่อทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่าในปัจจุบันนั้น ไม่เป็นผลดีกับตนเอง แต่กลับจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐได้ประโยชน์และเติบโตขึ้นอีก โดยอุตสาหกรรม Shale Oil มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สหรัฐก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่า อุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่อุตสาหกรรม Shale Oil ของสหรัฐ ก็ยังคงประสบปัญหาในเรื่องการทำกำไร เนื่องจากการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานนั้นมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการขุดเจาะน้ำมันแบบทั่วไป ซึ่งรัสเซียมองเห็นช่องโหว่ดังกล่าว และสบโอกาสที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งจากอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ
อิกอร์ เซชิน ผู้บริหารบริษัทน้ำมัน Rosneft ของรัฐบาลรัสเซีย และเป็นสหายคนสนิทของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน คือหัวหอกคนสำคัญที่คัดค้านการที่รัสเซียร่วมมือลดการผลิตกับกลุ่มโอเปก รวมถึงคัดค้านการใช้กลยุทธ์ปรับลดการผลิต เขาเชื่อว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกลับกลายเป็นผลดีกับบรรดาคู่แข่ง โดยเฉพาะสหรัฐ
"ข้อตกลงลดการผลิตลงไม่มีประโยชน์อันใดกับผลประโยชน์ของรัสเซีย" Mikhail Leontiev โฆษกของ Rosneft กล่าวกับสื่อของรัสเซีย พร้อมทั้งระบุด้วยว่า การลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+ เป็นการ "เคลียร์พื้นที่" ให้กับน้ำมัน Shale Oil ของสหรัฐ
"ปริมาณน้ำมันที่หายไปของเราถูกแทนที่ด้วยปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของคู่แข่ง" เขากล่าว "นี่มันเป็นการทรมานตัวเองชัด ๆ"
อย่างไรก็ตาม Mikhail Krutikhin นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากบริษัทที่ปรึกษา RusEnergy ในมอสโก กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการปฏิเสธข้อเสนอลดการผลิตของรัสเซียมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับการแก้แค้นทางการเมือง แต่น่าจะเกี่ยวกับการที่รัสเซียประสบความยากลำบากด้านการขนส่งพลังงานมากกว่า
ใครจะยอมลงให้อีกฝ่ายก่อนกันในเกมนี้ ?
ซาอุฯ คงหวังใจว่าการเดินเกมลดราคาน้ำมัน อาจบีบให้รัสเซียกลับสู่โต๊ะเจรจาได้ แต่ดูแล้วน่าจะไม่สำเร็จ
"ยุทธวิธีนี้ของซาอุฯ มีแต่จะทำให้รัสเซียแข็งกร้าวขึ้น" Amrita Sen หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันจาก Energy Aspects กล่าว ซึ่งดูแล้วท่าจะจริง เห็นได้จากการที่รัฐบาลรัสเซียออกโรงจวกบรรดาสมาชิกโอเปกว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันดิ่งหนัก
โดยในแถลงการณ์ภายหลังการประชุมระหว่างนายมิคาอิล มิชูสติน นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น รัฐบาลรัสเซียได้ชี้ชัดไปที่ซาอุดีอาระเบียว่าเป็นตัวการที่ทำให้การเจรจาล้มไม่เป็นท่า
ขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ โนวัก รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย เปิดเผยว่า ซาอุฯ ซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยสมาชิกโอเปกหลายประเทศ ปฏิเสธที่จะฟังข้อเสนอจากรัสเซีย และประเทศ non-OPEC รายอื่น ๆ ที่ต้องการให้ลดการผลิตเท่าเดิมที่ 2.3 ล้านบาร์เรล/วันไปจนกระทั่งสิ้นไตรมาสสองของปีนี้ เพื่อติดตามและประเมินผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศผู้ใข้พลังงานรายใหญ่
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวที่มีความใกล้ชิดกับนโยบายน้ำมันของซาอุฯ เผยว่า "โอเปกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดการผลิตลง แต่รัสเซียปฏิเสธ โดยบอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ไม่ว่าใครก็สามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณที่ต้องการ ดังนั้น ซาอุฯ จึงขอใช้สิทธิของตนด้วยเช่นกัน"
แต่ล่าสุด รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียได้ออกมาโต้ว่า "พวกเขา [โอเปก] ตัดสินใจกันเองโดยไม่ปรึกษาเรา"
ในขณะเดียวกัน นายโนวักกล่าวด้วยว่า รัสเซียยังไม่ได้ปิดประตูการเจรจากับโอเปกเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน นอกจากนี้ นายโนวักยังได้เสนอที่จะจัดการประชุมกับกลุ่มบริษัทน้ำมันของรัสเซียในวันพุธนี้ (11 มี.ค.) เพื่อหารือว่ารัสเซียจะยังคงเป็นพันธมิตรกับโอเปกต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ดี ซาอุดีอาระเบียเมินท่าทีประนีประนอมดังกล่าวของรัสเซียที่ได้ส่งสัญญาณอาจกลับมาเจรจากับกลุ่มโอเปกอีกครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาด
"ผมไม่เห็นประโยชน์ของการจัดการประชุมในเดือนพ.ค.-มิ.ย. ซึ่งจะยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของเราในสิ่งที่ควรทำ และการใช้มาตรการที่จำเป็นในวิกฤตการณ์ครั้งนี้" เจ้าชายอับดูลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น ซาอุดีอาระเบียยังได้ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการทำสงครามราคากับรัสเซียอีกด้วย
โดยนายอามิน นาสเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซาอุดี อารามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ทางบริษัทจะเพิ่มการผลิตน้ำมันสู่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเม.ย.สำหรับลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า เหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้ซาอุฯ สามารถเล่นเกมลดราคาน้ำมันได้นั้น เป็นเพราะซาอุฯ มีความได้เปรียบเหนือผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย กล่าวคือ ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียยังมีกำลังการผลิตสำรอง (Spare Capacity) มากกว่าทุกประเทศ ดังนั้นซาอุฯ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตได้เร็ว และอาจเพิ่มมากกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังสามารถนำน้ำมันที่เก็บไว้เพื่อมาส่งออกเพิ่มได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ยังต่ำที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
สำหรับความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตของรัสเซียนั้น หลายฝ่ายอาจมองว่าจำกัดกว่าซาอุฯ แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทรัสเซียไป โดยนายโนวักกล่าวว่า รัสเซียมีศักยภาพที่จะเพิ่มการผลิตระหว่าง 200,000-300,000 บาร์เรล/วันในระยะสั้น และประเมินว่าจะเพิ่มได้ถึง 500,000 ในระยะยาว
ด้าน Ryan Lemand ผู้บริหารของบริษัท ADS Investment Solutions กล่าวว่า คณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่มหาศาล ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางมีความได้เปรียบ เมื่อต้องทนต่อราคาน้ำมันที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน
"ผมเชื่อว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางจะสามารถใช้กลวิธีลดราคาน้ำมันได้หนึ่งหรือสองปี แต่ประเทศอื่นๆ ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ผมจึงคิดว่า ในที่สุดรัสเซียก็น่าจะต้องกลับมารวมกลุ่ม OPEC+ อีกครั้งเหมือนกับที่เคยเป็นมาในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้" นาย Lemand กล่าว
"ดังนั้น เกมนี้ไม่น่าจะยืดเยื้อสำหรับบรรดาคู่แข่งของ GCC ผมไม่ห่วง GCC แต่รู้สึกเป็นกังวลแทนผู้ผลิตรายอื่น ๆ มากกว่า"
มาถึงตอนนี้ หลายฝ่ายยังคงเชื่อว่า สงครามราคาน้ำมันน่าจะจบลงได้ในเวลาไม่ช้าไม่นาน แต่อย่าเพิ่งวางใจไป เพราะรัสเซียอาจกระหายเล่นเกมต่อไปยาว ๆ ก็เป็นได้