สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ในประเทศจีนกำลังดีวันดีคืน โดยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. จีนได้ปิดโรงพยาบาลชั่วคราวครบหมดทุกแห่งในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนเมืองอู่ฮั่นเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจตราการปฏิบัติงานและสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ด้านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า ณ วันอังคารที่ 17 มี.ค. ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศจีนอยู่ที่ 80,894 ราย ยอดรวมผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลหลังจากมีอาการดีขึ้นแล้วอยู่ที่ 69,601 ราย และยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,237 ราย ซึ่งหมายความว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่มีจำนวนลดลงจนต่ำกว่า 10,000 รายแล้ว
ในขณะที่จีนกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ระดับโลกด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว หลังจากที่มีการลุกลามไปยังหลายประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ และ "ยุโรป" กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในจีนในช่วงที่การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากที่สุด
"อิตาลี" สมรภูมิรบใหม่
อิตาลีกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากที่สุดรองจากจีน หลังจากทางการอิตาลีได้ยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 21 ก.พ. จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งวันที่ 9 มี.ค. นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต ได้ตัดสินใจประกาศปิดเมืองทั่วประเทศและกักกันประชาชนราว 60 ล้านคนไม่ให้ออกนอกบ้านยกเว้นมีเหตุฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังสั่งปิดร้านค้า ร้านอาหาร โรงเรียน โรงภาพยนตร์ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ สถานบันเทิง และศาสนสถานทั่วประเทศ ยกเว้นร้านขายยา ร้านขายของชำ ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน และระบบขนส่งสาธารณะที่ยังคงเปิดให้บริการ โดยการประกาศปิดเมืองมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 3 เม.ย.
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอิตาลีจะยังไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ โดยยอดรวมผู้ติดเชื้อพุ่งแตะ 31,506 ราย และเสียชีวิต 2,503 ราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในอิตาลีก็สูงกว่าประเทศอื่น ๆ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะอิตาลีเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยอายุเกิน 65 ปีมากที่สุดในยุโรป โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 23% ของประชากรในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรีอิตาลียังเตือนว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่ถึงจุดสูงสุด และอิตาลีกำลังจะเผชิญกับช่วงเวลาที่เสี่ยงที่สุดนานหลายสัปดาห์
"สเปน-ฝรั่งเศส-เยอรมนี" อ่วมไม่แพ้กัน
นอกจากอิตาลีแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. รัฐบาลสเปนได้สั่งห้ามประชาชนออกจากบ้านเรือน ยกเว้นมีเหตุฉุกเฉิน ออกไปซื้ออาหาร หรือไปทำงาน พร้อมสั่งปิดร้านค้าที่ไม่ใช่ร้านขายของชำ บาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ รวมถึงคุมเข้มเรื่องการเดินทาง โดยรถไฟและรถโดยสารลดการให้บริการลง 50% ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลบังคับใช้ 15 วัน และในวันเดียวกันนั้นเอง สำนักนายกรัฐมนตรีสเปนได้ยืนยันว่า นางเบโกนา โกเมซ ภริยาของนายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดในวันที่ 17 มี.ค. ทางการสเปนได้ประกาศปิดพรมแดนภาคพื้นดินไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ ยกเว้นการขนส่งสินค้าและแรงงานที่จำเป็น เพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองทั่วประเทศ ในขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อในสเปนอยู่ที่ 11,826 ราย และเสียชีวิต 533 ราย
ส่วนในฝรั่งเศสนั้น เมื่อวันที่ 9 มี.ค. รัฐบาลได้ประกาศห้ามจัดกิจกรรมที่มีประชาชนมารวมตัวกันมากกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ ยกเว้นกิจกรรมที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการยกเลิกกิจกรรมครั้งใหญ่ของหลายภาคส่วน เช่น สมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส (LFP) ออกแถลงการณ์ระงับการแข่งขันฟุตบอลลีกเอิงโดยไม่มีกำหนด เป็นต้น ถึงกระนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 15 มี.ค. รัฐบาลได้ประกาศสั่งปิดร้านอาหาร คาเฟ่ โรงภาพยนตร์ และร้านค้าต่าง ๆ ยกเว้นร้านขายยา ร้านขายของชำ ปั๊มน้ำมัน และระบบขนส่งสาธารณะ และล่าสุด ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้ประกาศปิดพรมแดนประเทศตั้งแต่เที่ยงวันอังคารที่ 17 มี.ค. เป็นต้นไป พร้อมกับบังคับใช้มาตรการกักกันประชาชนให้อยู่แต่ในบ้านและห้ามเดินทางโดยไม่จำเป็นเป็นเวลา 15 วัน เว้นแต่ออกไปซื้ออาหาร ไปทำงาน ไปโรงพยาบาล หรือมีเหตุฉุกเฉิน ในขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อในฝรั่งเศสอยู่ที่ 7,730 ราย และเสียชีวิต 175 ราย
สถานการณ์ในเยอรมนีก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนชาวเยอรมันกว่า 70% อาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มียารักษา การชะลอการแพร่ระบาดคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก พร้อมกับสั่งปิดโรงเรียน ร้านค้าที่ไม่ใช่ร้านขายของชำ สถานบันเทิง ฯลฯ นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนีได้สั่งปิดพรมแดนที่ติดกับฝรั่งเศส ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเดนมาร์ก ยกเว้นการขนส่งสินค้าและแรงงานที่จำเป็น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. ในขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อในเยอรมนีอยู่ที่ 9,367 ราย และเสียชีวิต 26 ราย
เศรษฐกิจส่อแววถดถอย
ไอเอชเอส มาร์กิต บริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย แต่ยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักกว่า โดยเศรษฐกิจเยอรมนีและอิตาลีเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส จึงอาจฉุดรั้งประเทศที่เหลือในยูโรโซนให้เข้าสู่ภาวะถดถอยตามไปด้วย
ตลาดต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้มาตรการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ ECB กลับตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% อย่างไรก็ดี ECB ได้ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ พร้อมกับระบุว่าจะให้สินเชื่อใหม่แก่ภาคธนาคาร โดยเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19
นอกจากประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักอย่างอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนีแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกักบริเวณ หรือประกาศปิดประเทศ เช่น เดนมาร์ก โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และลิทัวเนีย ล่าสุดในวันนี้ รัฐบาลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มีมติปิดพื้นที่ชายแดนทั้งหมดเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนจากประเทศอื่น ๆ เดินทางเข้า EU เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของยุโรปในการทำทุกวิถีทางเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด อย่างที่นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวไว้ว่า "ท้ายที่สุดแล้ว เราจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไปทำงาน ไปเยี่ยมเพื่อนและคนที่เรารัก จนกว่าจะถึงเวลานั้น เราต้องไม่เสียกำลังกายและกำลังใจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในตอนนี้ และเราต้องไม่หลงทาง"