ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พุ่งพรวดขึ้นอย่างน่าตกใจ อิตาลี ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 แห่งยุโรป มียอดผู้เสียชีวิตแซงหน้าจีนถึง 2 เท่า ภาพของกองทัพอิตาลีที่กำลังขนย้ายและลำเลียงร่างของผู้เสียชีวิตจำนวนมากสร้างความเศร้าสลดและหดหู่แก่ผู้พบเห็น ขณะเดียวกัน ฝั่งสหรัฐก็ได้รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกโรงเตือนว่า สหรัฐอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านมาหาสาเหตุ ตลอดจนจับตาทุกความเคลื่อนไหวและมาตรการล่าสุด พร้อมประเมินผลกระทบที่ตามมา
อิตาลี : อู่ฮั่นแห่งยุโรป
"นี่คือช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของประเทศ" นี่คือถ้อยแถลงของนายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่เผยให้เห็นวิกฤตด้านสาธาณสุขครั้งใหญ่จากการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ หรือโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนจากดินแดนรูปรองเท้าบู๊ตแห่งยุโรปใต้ไปแล้วกว่า 6,800 ราย เบียดจีนขึ้นเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก หากนับเฉพาะ 5 วันที่ผ่านมา ไวรัสมรณะปลิดชีวิตชาวอิตาลีไปแล้วกว่า 2,000 ราย ไม่นานนักหลังจากที่รัฐบาลอิตาลียืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อวันที่ 21 ก.พ. จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แคว้นลอมบาร์เดียและเวเนโตได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของยุโรปอย่างเป็นทางการ จนในที่สุด นายกรัฐมนตรีอิตาลีสั่งประกาศปิดเมืองทั่วประเทศและกักประชาชนราว 60 ล้านคนไม่ให้ออกนอกบ้านในทันทียกเว้นมีเหตุฉุกเฉิน
แม้ทางการอิตาลีจะสั่งกักตัวประชาชน มาตรการก็ดูท่าจะไม่เป็นผล หลังจากยอดรวมผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์ต่างชาติต่างวิพากษ์วิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า ประชาชนชาวอิตาลีไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐ ชาวอิตาลีไม่ยอมกักตัวอยู่บ้านหรือปฎิบัติตามกฎ การปฏิบัติตัวดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยอิตาลีที่ระบุว่า ตำรวจสามารถจับกุมผู้ที่ละเมิดมาตรการกักตัวหลายหมื่นรายทั่วประเทศ
ในที่สุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค. รัฐบาลอิตาลีออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น พร้อมสารภาพอย่างตรงไปตรงมากับประชาชนว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตที่สาหัสที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสั่งระงับการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ไม่มีความจำเป็นทั้งหมด ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ธนาคาร และภาคการขนส่งที่สำคัญตลอดจนยกเลิกการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด เพื่อลดภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ หลังจากที่มีปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลยังสั่งการให้กองทัพอิตาลีเข้าควบคุมสถานการณ์ของแคว้นทางตอนเหนือของประเทศ
แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้าย สำนักงานป้องกันพลเรือนของอิตาลี เปิดเผยข้อมูล ณ วันอังคารที่ 24 มี.ค.ว่า อิตาลีพบผู้ติดเชื้อน้อยลงจาก 5 วันก่อนหน้า นายจูลิโอ กัลเลรา หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขของแคว้นลอมบาร์เดียกล่าวว่า "วันนี้อาจเป็นสัญญาณที่ดีในรอบเดือนที่แสนสาหัสของเรา ยังไม่ถึงเวลาที่จะขับร้องบทเพลงแห่งชัยชนะ แต่เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว"
สหรัฐ : ศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ ?
สหรัฐกลายเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิรบที่กำลังฟาดฟันกับศัตรูที่ร้ายกาจ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนว่าสหรัฐอาจกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธฺ์ใหม่ (โควิด-19) แห่งใหม่ หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของนายแพทย์เจอโรม อดัมส์ เจ้ากรมการแพทย์ทหารสหรัฐ ที่แสดงความเห็นว่า "ผมต้องการให้อเมริกาเข้าใจว่า สถานการณ์ในสัปดาห์นี้จะเลวร้ายลง" นับตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. สหรัฐรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไม่เคยต่ำกว่า100 รายในแต่ละวัน โดยมีนครนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาด ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในสหรัฐ ตามมาด้วยแคลิฟอร์เนีย นิวเจอร์ซีย์ และวอชิงตัน
ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามออกมาตรการต่าง ๆ นานามากมายเพื่อสะกัดการแพร่ระบาด เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ยกเลิกกิจกรรมกีฬา ดนตรี และการชุมนุมกันของคนหมู่มาก ตลอดจนสั่งห้ามชาวอเมริกันเดินทางออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับหลายรัฐที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เริ่มที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศปิดรัฐและมีคำสั่งให้ธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นแจ้งให้พนักงานทั้งหมดอยู่แต่ภายในบ้าน หรือหากอยู่ในที่สาธารณะ ชาวนิวยอร์กจะต้องรักษาระยะห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 6 ฟุต ส่วนภาคธุรกิจที่มีความจำเป็น เช่น ร้านขายของชำ ร้านขายยา และธนาคาร จะต้องให้พนักงานและลูกค้าอยู่ห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุต
ส่วนรัฐแคลิฟอร์เนีย นายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย คาดการณ์ว่า ประชาชนประมาณ 25.5 ล้านคน หรือ 56% มีโอกาสติดไวรัสโควิด-19 ในอีก 8 สัปดาห์ข้างหน้า จึงออกประกาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ให้ประชาชนอยู่ภายในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาด และห้ามออกจากเคหะสถานหากไม่จำเป็น ผ่านไปเพียง 3 วัน ปธน.ทรัมป์ได้อนุมัติการประกาศภาวะภัยพิบัติในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากไวรัสแพร่ระบาดอย่างหนัก
ด้านรัฐอื่น ๆ ที่ยังไม่พบการระบาดอย่างหนักก็ออกมาตรการเช่นกัน นายรอน เดซานติซ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ออกคำสั่งให้ผู้ที่เดินทางมาจากนิวยอร์ก หรือนิวเจอร์ซีย์กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการของ จีนา ไรมอนโด ผู้ว่าการรัฐโรดไอส์แลนด์
แม้ฝั่งรัฐจะมีมาตรการที่เด็ดขาด แต่ชาวอเมริกันจำนวนมาก โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุให้ประชาชนอยู่กับบ้าน และรักษาระยะห่างในสังคม ดังนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมป์จึงส่งทหารจากกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ เข้าควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และวอชิงตัน
วิกฤตสาธารณสุข: ยาขมที่ขาดแคลน
นอกจากมาตรการรับมือของรัฐที่เด็ดขาดและทันเวลา สาธารณสุขและการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยปราบไวรัสโควิด-19 ข้อมูลจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของอิตาลี ระบุว่า จำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยในอิตาลีอยู่ในสัดส่วน 3.2 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน แพทย์ 4.1 คนสำหรับประชากร 1,000 คน และมีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤตราว 5,200 เตียงทั่วประเทศ ส่วนแคว้นลอมบาร์เดียและเวเนโตมีเพียง 1,800 เตียง ขณะที่อาการของผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่ 80% ต้องการการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ทว่าเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก อิตาลีจึงประสบปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอ
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. รัฐบาลอิตาลีได้ประกาศเรียกแพทย์ที่เกษียณอายุแล้วจำนวน 20,000 รายเข้ามาเสริมทัพในแผนกระบบทางเดินหายใจและโรคติดต่อในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน การเลือกรักษาผู้ป่วยที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดหรือมีโอกาสฟื้นตัวมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่มีอายุน้อย กลายเป็นแนวทางการรักษาของแพทย์ในอิตาลี นายแพทย์มัซซิโม กัลลี หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อประจำโรงพยาบาลซักโก กรุงมิลาน เปิดเผยว่า "เมื่อสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ บรรดาแพทย์และพยาบาลจะตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงและมีประวัติมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น"
นอกจากผู้ป่วยแล้ว บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลในแคว้นลอมบาร์เดียกำลังเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน และตกอยู่ในความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน อิตาลีมีแพทย์และพยายาบาลติดเชื้อไวรัสแล้วกว่า 3,700 ราย ขณะปฎิบัติหน้าที่ และเสียชีวิตจำนวน 14 ราย นายอัตติลิโอ ฟอนตานา ผู้นำแคว้นลอมบาร์เดีย รีบลงนามสัญญานำเข้าหน้ากากจากจอร์แดนจำนวนกว่า 4 ล้านชิ้น
สาเหตุที่อิตาลีมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมาก เนื่องจากอิตาลีเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 22.8% ศาสตราจารย์วอลเตอร์ ริจจาร์ดี ที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขอิตาลี อธิบายว่า "สาเหตุที่อิตาลีมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาจากปัจจัยด้านประชากร อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลของเราค่อนข้างสูง ประมาณ 67 ปี ขณะที่จีนเฉลี่ยที่ 47 ปี" ดังนั้น เมื่อเทียบกับอัตราส่วนการเสียชีวิตตามจำนวนประชากร สถิติของอิตาลีมีแนวโน้มรุนแรงกว่าจีน 85% ของผู้เสียชีวิตมีอายุเกิน 70 ปี และ 48% เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัว
เมื่อหันกลับมาดูอีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติก สาธารณสุขเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐให้ความสนใจอย่างมากเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 มี.ค. รัฐบาลกลางสหรัฐเตรียมอัดฉีดเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาด โดยจะเพิ่มการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาล และแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพระดับโลกฮาร์วาร์ด ระบุว่า ผู้ป่วยในสหรัฐประมาณจำนวน 1 ใน 5 ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ขณะที่สหรัฐมีอัตราเตียงผู้ป่วยจำนวน 2.8 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน พร้อมยกตัวอย่างว่า ผู้ป่วยจากรัฐแมสซาชูเซตส์อาจต้องการเตียงจำนวน 225,000 ราย ขณะที่มีผู้ป่วย 45,000 ราย หรือ 1 ใน 5 อาจต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต แต่ในความเป็นจริง รัฐมีเตียงทั่วไปเพียง 3,600 เตียง และเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤต 400 เตียง
เมื่อดูข้อมูลของผู้ป่วยในสหรัฐ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่าครึ่งหนึ่งมาจาก 3 รัฐใหญ่ ได้แก่ นิวยอร์ก วอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ตลอดจนมาตรการเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับนิวยอร์ก นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แสดงความกังวลว่า เตียงในโรงพยาบาลและเครื่องช่วยหายใจอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากรัฐมีเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพียงพอสำหรับการใช้งานได้เพียง 2-3 สัปดาห์ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลกลางให้ส่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 50 ล้านชิ้น ชุดสวมใส่ป้องกันร่างกายของบุคลากรในโรงพยาบาล 25 ล้านชุด และอุปกรณ์ช่วยหายใจ 15,000 เครื่อง
ด้วยความกังวลว่าประชากรกว่า 80% จาก 19.4 ล้านคนในรัฐนิวยอร์กจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการนิวยอร์กออกคำสั่งฉุกเฉินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอีก 50% ให้กับโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุ 20,000 ราย ตลอดจนเตรียมสร้างโรงพยาบาลชั่วคราว 4 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
ส่วนด้านแคลิฟอร์เนียที่มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงไม่แพ้กัน นายกาวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า แคลิฟอร์เนียต้องการเตียงเพิ่มอีก 50,000 เตียง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโควิด-19 โดยรัฐแคลิฟอร์เนียจะจัดเปลี่ยนสถานที่สำคัญ ๆ ภายในรัฐเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว เช่น โรงแรม ศูนย์แสดงนิทรรศการ ศูนย์จัดประชุม เนื่องจากระบบโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียง 30,000 เตียงเท่านั้น
นอกจากนี้ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เร่งดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคลล (PPE) เพิ่มขึ้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะเดียวกันบริษัทจำนวนมากทั่วสหรัฐต่างให้ความร่วมมือในการมอบความช่วยเหลือเรื่องการจัดหาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์จำเป็น เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาล
เศรษฐกิจถดถอย : พิษร้ายจากไวรัสมฤตยู
พิษร้ายจากไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่พรากชีวิตผู้คนเป้นจำนวนมาก แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างสาหัสสากรรจ์จนเกิดเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจทั่วโลก เศรษฐกิจอิตาลีเริ่มชะลอตัวลงอย่างมากตั้งแต่ปลายปี 2562 หลังเผชิญวิกฤตการค้าโลก ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซาของเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของอิตาลี ซ้ำยังต้องเผชิญปัญหาล็อกดาวน์ล่าสุด ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าอิตาลีมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แจ็ก แอลเลน-เรย์โนลด์ส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแคปิตัล อิโคโนมิกส์ แสดงความเห็นว่า "เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี หากมาตรการปิดประเทศยังยืดเยื้อไปจนถึงเดือนมิ.ย. ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มว่า จะปรับลดลงราว 2%"
ขณะเดียวกัน โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะปรับตัวลง 1.5% ในช่วงไตรมาส 1-2 แต่จะดีดตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การแสดงศิลปะและบันเทิง ค้าปลีก รวมทั้งโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 23% ของ GDP ของประเทศ
สำหรับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 6% ของ GDP สเตฟาโน แมนซอกชี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี แสดงความเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง กรุงเวนิส และกรุงโรมถูกปิดตาย รวมถึงจตุรัสเซนต์ ปีเตอร์ และมหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ เช่นกัน
ในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด รัฐบาลอิตาลีได้ประกาศตั้งงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านยูโร และดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบ อาทิ การขยายเวลาการชำระหนี้ การให้เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานชั่วคราว ทว่า นิโกลา บอร์รี นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลูยส์แห่งโรม กลับวิพากษ์ว่าเม็ดเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยระบุว่า "หากมองจากมุมรัฐบาล เงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านยูโรอาจจะเยอะ แต่หากจะเยียวยาและแก้ไขเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา ถือว่าเม็ดเงินดังกล่าวนั้น น้อยมาก"
ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐก็เผชิญศึกหนักเช่นกัน แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ทั้ง การซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงินไม่จำกัด แต่ตลาดและนักลงทุนยังกังวลต่อผลกระทบครั้งนี้ จนตลาดหุ้นนิวยอร์ต้องใช้ระบบ circuit breaker อยู่หลายครั้ง ขณะเดียวกัน ผู้นำฝีปากกล้าอย่างทรัมป์สารภาพว่าสหรัฐอาจต้องรับมือกับวิกฤตโรคระบาดไปจนถึงเดือนก.ค. หรือส.ค. อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอาจมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอย
ด้านโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจฉุดตัวเลข GDP ของสหรัฐลง 24% ในไตรมาส 2 หลังจากที่ร่วงลง 6% ในไตรมาสแรก ทว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะดีดตัวขึ้น 12% ในไตรมาส 3 และ 10% ในไตรมาส 4 จนถึงขณะนี้ โกลด์แมน แซคส์ ยังคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 3.8% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 2562
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ แสดงความเห็นที่คล้ายกันว่า วิกฤตโรคระบาดจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง โดยคาดว่า GDP อาจร่วงลงได้ถึง 30.1% ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ GDP ในไตรมาสแรกปีนี้ของสหรัฐจะหดตัวลง 2.4% ส่วน GDP ในไตรมาส 4 คาดว่า จะหดตัวลง 2.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ตลอดทั้งปีลดลงเหลือเพียง 0.3%
ด้านนายไมเคิล เฟโรลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐของเจพี มอร์แกน เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะหดตัวลง 14% ในไตรมาสที่ 2 ของปี ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับสหรัฐจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
เราคงต้องจับตาดูว่า อิตาลีและสหรัฐจะควบคุมไวรัสมรณะอย่างโควิด-19 ที่กำลังก่อความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ได้หรือไม่ นอกจากชีวิตของพลเมืองที่รัฐต้องให้ความสนใจเป็นอันดับแรกแล้ว เศรษฐกิจที่เป็นดั่งเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนต้องถูกพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบเช่นกัน ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่า ทุกฝ่ายจะหาวิธีกำราบไวรัสได้อยู่หมัด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เพราะผลกระทบไม่เพียงแต่จะซัดเข้าหาสหรัฐหรืออิตาลีเท่านั้น แต่ยังโถมเข้าหานานาประเทศทั่วโลกเช่นกัน