โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้แพร่ระบาดมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ต่างเร่งพัฒนาวัคซีนกันอย่างรวดเร็ว เพื่อคิดค้นวัคซีนให้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปี จากที่แต่เดิมการพัฒนาวัคซีนบางประเภทอาจใช้เวลานับทศวรรษ
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ว่า ขณะนี้มีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลกแล้วถึง 70 รายการ โดยในจำนวนนี้มีการทดลองในมนุษย์แล้ว 3 รายการ
ด้านบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็ประกาศตั้งเป้าที่จะผลิตวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 จำนวน 600-900 ล้านโดสภายในสิ้นไตรมาสแรกของปีหน้า หากการทดลองในมนุษย์สามารถเริ่มต้นได้ในเดือนก.ย.ตามแผนที่วางไว้
อย่างไรก็ดี ขณะนี้เริ่มมีกระแสหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคระบาดนี้จะกลายพันธุ์เป็นไวรัสที่ร้ายแรงและจัดการได้ยากมากขึ้น ส่งผลให้ความหวังที่จะพัฒนาวัคซีนให้ทันใช้ภายในไม่กี่ปีนี้ต้องดับลง เพราะเมื่อไวรัสกลายพันธุ์แล้วก็ต้องเริ่มคิดค้นใหม่ทั้งหมด
*พบการกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญที่อินเดีย
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักวิจัยจากออสเตรเลียและไต้หวันพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่งในอินเดีย ซึ่งปรากฏให้เห็นการกลายพันธุ์ที่อาจจะทำให้การพัฒนาวัคซีนทั่วโลกต้องพับโครงการลง
อย่างไรก็ดี การค้นพบดังกล่าวค่อนข้างล่าช้า เพราะอินเดียได้พบไวรัสที่กลายพันธุ์ดังกล่าวแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่รัฐเกรละ ทว่าเพิ่งมีการเผยแพร่ลำดับพันธุกรรมทั้งหมดแก่ประชาคมโลกเมื่อเดือนที่แล้ว
นักวิจัยจากออสเตรเลียและไต้หวัน ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่พบในอินเดียนั้นเป็นการกลายพันธุ์ครั้งสำคัญครั้งแรก ที่อาจเป็นภัยคุกคามการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 และทำให้การพัฒนาวัคซีนที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นเปล่าประโยชน์เลยทีเดียว
ผู้ป่วยที่ปรากฏให้เห็นถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสรายนี้เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด แต่สายพันธุ์ที่พบในผู้ป่วยรายนี้ดูไม่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่พบในเมืองอู่ฮั่น อีกทั้งยังดูผิดปกติไปจากที่พบในประเทศอื่น ๆ ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักวิจัยพบการกลายพันธุ์ในส่วนที่เรียกว่า receptor-binding domain (RBD) ในโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งปกติแล้วเป็นตัวที่ทำให้ไวรัสผูกกับเซลล์มนุษย์ และเมื่อใช้คอมพิวเตอร์จำลองแล้วพบว่า การกลายพันธุ์ของ RBD ดังกล่าวอาจลบพันธะไฮโดรเจนออกจากโปรตีนหนาม และเมื่อไม่มีพันธะไฮโดรเจนแล้ว ไวรัสดังกล่าวอาจมีแนวโน้มที่จะผูกกับ ACE2 ลดลง ทั้งนี้ ACE2 เป็นเอนไซม์ในปอดที่เคยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS เมื่อปี 2546
ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักวิจัยจึงพากันคิดค้นแอนติบอดีที่พุ่งเป้าไปในส่วนนี้เพื่อขัดขวางการทำงานตามปกติของไวรัส ทว่าการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานของไวรัสเปลี่ยนแปลงไป และก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าการวิจัยทั้งหมดที่ทำมาจะไร้ประโยชน์
*อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ควรรอดูข้อมูลมากกว่านี้
แม้การกลายพันธุ์จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่นักวิจัยจากจีนรายหนึ่งมองว่าผลการวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงผลเบื้องต้น ยังไม่ได้รับการทบทวนจากผู้รู้เสมอกัน และยังต้องมีการพิสูจน์ความถูกต้องเพิ่มเติม โดยอาจเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคระหว่างการจัดลำดับทางพันธุกรรม
นอกจากนี้ นักวิชาการจากอังกฤษรายหนึ่งมองว่า การวิจัยดังกล่าวแม้จะมีความสำคัญอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกอะไรมาก โดยการวิจัยนี้ยังไม่ได้รับการทบทวนจากผู้รู้ และยังมีตัวอย่างน้อยมาก และตัวนักวิทยาศาสตร์ในการวิจัยดังกล่าวยังพูดเองว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคระบาดนี้ มีอัตรากลายพันธุ์น้อยมาก
นักวิชาการรายนี้เปิดเผยว่า ไวรัสทุกตัวล้วนมีระยะปรับตัวเมื่อเข้าสู่โฮสต์คนใหม่ และจะมีการกลายพันธุ์เล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นไวรัสใดก็ตาม โดยการกลายพันธุ์ที่พบในผู้ป่วยชาวอินเดียนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะเป็นการกลายพันธุ์ที่ลดโอกาสในการผูกกับเอนไซม์ ACE2 ซึ่งหมายความว่าอาจมีโอกาสทำให้ผู้อื่นติดเชื้อลดลงด้วย และแม้เกิดการกลายพันธุ์อย่างที่พบในการวิจัยนี้ แต่องค์ประกอบสำคัญของไวรัสที่จำเป็นต่อการคิดค้นวัคซีนก็ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
*การกลายพันธุ์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว บางครั้งก็เป็นเรื่องดี
ทุกวันนี้ผู้คนต่างวิตกกังวลว่าการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 จะทำให้การติดเชื้อร้ายแรงและรักษายากขึ้น แต่การกลายพันธุ์แม้ชื่อจะฟังดูน่ากลัวนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป เพราะไวรัสทุกตัวล้วนกลายพันธุ์ตามวงจรชีวิต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และแทบไม่ส่งผลต่ออัตราการแพร่เชื้อและอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้ในบางกรณี การกลายพันธุ์อาจทำให้ไวรัสอ่อนแรงลงด้วย
สำหรับไวรัส SARS-CoV-2 เองก็กำลังกลายพันธุ์ แต่เป็นการกลายพันธุ์ช้า ๆ โดยไวรัส SARS-CoV-2 เป็นไวรัส RNA ซึ่งเมื่อสัมผัสกับโฮสต์แล้ว ไวรัสก็จะผลิตตัวเองซ้ำและไปทำให้เซลล์ตัวอื่น ๆ ติดตามตามมา
ไวรัส RNA เช่นที่พบในไข้หวัดใหญ่และโรคหัด มีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์มากกว่าเมื่อเทียบกับไวรัส DNA เช่นที่พบในโรคเริมและฝีดาษ โดยนักวิชาการจากสหรัฐเปิดเผยว่า การกลายพันธุ์ของไวรัส RNA เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งไวรัส SARS-CoV-2 ก็กลายพันธุ์เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ไวรัส SARS-CoV-2 นั้นกลายพันธุ์ค่อนข้างช้า และเมื่อกลายพันธุ์แล้วก็ไม่ได้ห่างจากไวรัสดั้งเดิมมากนัก
นักวิชาการเปิดเผยว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าวที่พบในอิตาลีและนิวยอร์กนั้น ไม่ได้ดูว่าจะแพร่เชื้อง่ายหรือทำให้ถึงแก่ชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อู่ฮั่น นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ยากมากที่ไวรัสจะกลายพันธุ์เป็นไวรัสที่รุนแรงกว่าเดิม เพราะส่วนใหญ่แล้วการกลายพันธุ์ของไวรัส RNA มักจะทำให้ไวรัสตัวนั้นอ่อนแอลง
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐ เปิดเผยว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเกือบทั้งหมดจะทำให้บางส่วนของไวรัสอ่อนแอลงกว่าสายพันธุ์เดิม
*นักวิชาการเชื่อการกลายพันธุ์ไม่ทำให้การคิดค้นวัคซีนเปล่าประโยชน์
นักวิชาการที่ไม่ได้มีส่วนในการวิจัยการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยอินเดียเชื่อว่า การกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่น่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 เมื่อมีการผลิตและจัดจำหน่ายแล้ว เนื่องจากไวรัส SARS-CoV-2 ที่กลายพันธุ์ใหม่นี้ยังคงมีลักษณะคล้ายกับของเดิม ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การกลายพันธุ์อย่างช้า ๆ ของไวรัส SARS-CoV-2 ยังเป็นเรื่องดีในการคิดค้นวัคซีนด้วย เนื่องจากวัคซีนส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมก่อนที่จะกลายพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ หรือ H1N1 ที่ฉีดกันเป็นประจำทุกปี ยังคงใช้ไวรัสสายพันธุ์ที่พบเมื่อช่วงเริ่มแพร่ระบาดเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ตั้งต้นของสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ได้กลายพันธุ์ในภายหลัง
ในกรณีของ H1N1 ทั้งแบบไวรัสดั้งเดิมและไวรัสที่กลายพันธุ์ตามมาในภายหลังนั้น มีความแตกต่างอย่างชัดเจนหลังจากที่ระยะเวลาผ่านไปหลายปี เพราะวัคซีนที่พุ่งเป้าไปยังไวรัสดั้งเดิมเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงให้ผลลัพธ์ที่ดีแม้ว่าจะนำมาใช้กับไวรัส H1N1 ที่กลายพันธุ์แล้ว
ทั้งนี้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์เร็วและในแต่ละปีมีความไม่แน่นอนมากกว่า ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคของคนเราจำไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ไม่มาก เราจึงจำเป็นต้องคอยฉีดวัคซีนต่อเนื่องทุกปีเพื่อรักษาภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ดี ในกรณีของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 นั้นกลายพันธุ์ช้ากว่ามาก โดยนักวิทยาศาสตร์มองว่าไวรัสดังกล่าวคล้ายกับไวรัสต้นเหตุของโรคคางทูมซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสกลุ่ม RNA ด้วยเช่นกัน โดยไวรัสโรคคางทูมมีการกลายพันธุ์ไม่มากพอที่จะหลุดรอดฤทธิ์วัคซีนไปได้ และคาดว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ก็จะกลายพันธุ์ไม่มากพอด้วยเช่นกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมื่อมีวัคซีนต้านโควิด-19 ได้จริง ๆ แล้ว ก็จะครอบคลุมไวรัส SARS-CoV-2 ได้หลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์มาแล้วหรือที่จะกลายพันธุ์ในอนาคต
*ภูมิคุ้มกันช่วยเราได้มากเพียงใด
สำหรับโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อหายจากโรคแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเป็นเวลานานเท่าใด ตามหลักแล้ว เมื่อร่างกายเราหายจากโรคก็จะทิ้งร่องรอยไว้ในระบบภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่าแอนติบอดี ซึ่งจะคอยหาและต้านไวรัสเมื่อร่างกายเราสัมผัสกับไวรัสนั้นอีกในอนาคต
เมื่อย้อนดูสมัยที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS เมื่อปี 2546 แล้ว พบว่าผู้ป่วยที่หายจากโรคดังกล่าวจะมีแอนติบอดีต้าน SARS จำนวนมากเป็นเวลาประมาณ 2 ปี และจะหายไปเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปี เมื่อแอนติบอดีหายไปแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะติดไวรัสดังกล่าวอีก ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันในกรอบระยะเวลาคล้ายกันนี้
นักวิทยาศาสตร์หวังว่าในอีกไม่กี่ปีนี้ ทั่วโลกจะมี "herd immunity" หรือการที่ให้ประชากรส่วนมากมีภูมิคุ้มกันจากโรคเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะมาจากการฉีดวัคซีนสร้างภูมิหรือจะเป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เพื่อขจัดโรคโควิด-19 ให้หายไปจากโลกและไม่กลับมาทำให้ผู้คนติดเชื้ออีก แต่หากไวรัส SARS-CoV-2 กลับมาอีกในช่วงเวลาที่ภูมิคุ้มกันร่อยหรอลงแล้ว ก็หวังว่าเซลล์ในร่างกายของเราจะจำไวรัสได้และสู้กลับ
หากให้สรุปสั้น ๆ แล้ว ไวรัส SARS-CoV-2 ได้กลายพันธุ์ในผู้ป่วยบางราย แต่ไม่ต้องวิตกกังวลมากนัก เพราะไวรัสที่กลายพันธุ์นั้นไม่ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่จีนมาก และดูไม่ได้กลายเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้นด้วย จึงเป็นเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีในอนาคตอันใกล้นี้จะครอบคลุมได้หลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะที่ไวรัสกลายพันธุ์มาแล้วหรือที่จะกลายพันธุ์ในอนาคต