การประท้วงฮ่องกงเริ่มเป็นที่จับตาและกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องพักยกไปช่วงใหญ่ ๆ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับชนวนเหตุที่ทำให้ชาวฮ่องกงลุกฮือประท้วงระลอกใหม่นั้น มาจากการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงแผนการที่จะบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ หรือ National Security Law กับฮ่องกง โดยนายจาง เย่ซุ่ย โฆษกประจำการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ครั้งที่ 3 กล่าวในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นก่อนการประชุมประจำปีของสภาฯ ว่า "กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเป็นรากฐานที่ค้ำจุนเสถียรภาพของประเทศ การปกป้องความมั่นคงของชาติถือเป็นผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนชาวจีนทุกคน ซึ่งรวมถึงชาวฮ่องกง เพื่อนร่วมชาติของเรา"
การประกาศว่าจะใช้กฎหมายดังกล่าวได้จุดความหวาดกลัวและความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในฮ่องกง โดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่เชื่อว่า กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ระบุว่า รัฐบาลจีนไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้เมื่อครั้งรับมอบเกาะฮ่องกงคืนจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2540 โดยในตอนนั้น ฮ่องกงได้รับการยืนยันว่าจะมีอิสระในการปกครองตนเองในระดับสูง และมีระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระจากรัฐบาลปักกิ่ง เป็นระยะเวลา 50 ปี ภายใต้หลักการที่เรียกว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ"
"นี่คือจุดจบของฮ่องกง นี่คือจุดจบของหนึ่งประเทศ สองระบบ" เดนนิส กัว สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยของฮ่องกง กล่าวกับนิตยสารไทม์
กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติคืออะไร เหตุใดชาวฮ่องกงจึงกลัวกฎหมายฉบับนี้ In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาผู้อ่านไปหาคำตอบกัน ณ บัดนี้
- กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับอะไร
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลจีนได้เสนอญัตติร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติต่อที่ประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติสูงสุดของจีน เพื่อให้สภาฯ ลงมติในสัปดาห์นี้ ซึ่งก็น่าจะผ่านไปได้แบบไม่มีการพลิกโผ
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว ยังจำเป็นต้องมีการตกลงกันในรายละเอียด แต่เท่าที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานนั้น ทำให้ทราบได้คร่าว ๆ ว่า กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้ถือเป็นอาชญากรรม ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างอำนาจการปกครองของรัฐบาลกลาง การก่อการร้าย และการแทรกแซงกิจการในฮ่องกงโดยกองกำลังต่างชาติ นอกจากนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายที่ทำให้ชาวฮ่องกงกังวลก็คือ ส่วนที่ระบุว่า จีนอาจจัดตั้งสถาบันต่าง ๆ ขึ้นในฮ่องกง เพื่อมาทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ด้วยตนเอง
หากย้อนกลับไป จีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2536 ซึ่งมุ่งไปที่ประเด็นเกี่ยวกับการจารกรรม ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะถูกแทนที่ด้วยกฎหมายต่อต้านการจารกรรม (Counterespionage Law) ในปี 2557 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สายลับชาวต่างชาติ รวมถึงบุคคลและองค์กรของจีนที่ร่วมมือกับสายลับต่างชาติเหล่านั้น
ต่อมาในปี 2558 จีนได้ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งขยายขอบเขตกว้างกว่ากฎหมายฉบับเดิมมาก โดยครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น กลาโหม การเมือง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ไซเบอร์สเปซ วัฒนธรรม อุดมการณ์ และศาสนา กฎหมายฉบับใหม่นี้ผลักดันโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ต้องการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยหนึ่งปีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ปธน.สีได้ตั้งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมนั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง
- เหตุใดจีนจึงต้องการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในตอนนี้
สหราชอาณาจักรส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 2540 ภายใต้สัญญาของรัฐบาลจีนว่าจะปกครองฮ่องกงโดยใช้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" และ "กฎหมายพื้นฐาน" (Basic Law) ซึ่งเปรียบเสมือน "อนุรัฐธรรมนูญ" (mini-constitution) ของฮ่องกง โดยเป็นที่เข้าใจกันว่า กฎหมายและหลักการดังกล่าวจะปกป้องเสรีภาพบางประการสำหรับฮ่องกง ได้แก่ เสรีภาพในการการพูด เสรีภาพในการชุมนุม ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ และสิทธิประชาธิปไตย ซึ่งดินแดนอื่น ๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้รับสิทธินั้น
ขณะเดียวกัน ภายใต้สัญญาฉบับเดียวกันนี้ ฮ่องกงต้องออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของตนเอง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 ของกฎหมายพื้นฐาน โดยรัฐบาลฮ่องกงต้องบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการกระทำต่าง ๆ เช่น การก่อกบฏ การแบ่งแยกดินแดน การปลุกระดมมวลชนให้ขัดขืนอำนาจการปกครอง การโค่นล้มการปกครองของรัฐบาลจีน และการขโมยความลับของชาติ
อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงไม่เคยทำได้สำเร็จ โดยรัฐบาลฮ่องกงเคยพยายามแล้ว แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2546 ประชาชนประมาณ 500,000 คนได้ออกมาชุมนุมประท้วงร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในฮ่องกงนับตั้งแต่ที่สหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน จนกระทั่งในที่สุด ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถูกล้มพับไป เพราะรัฐบาลฮ่องกงต้านกระแสความไม่พอใจของประชาชนไม่ไหว
จนมาในปี 2562 มีเหตุให้ชาวฮ่องกงลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยหากยังพอจะจำเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วกันได้ ชาวฮ่องกงได้เริ่มเปิดฉากการชุมนุมประท้วงในเดือนมิ.ย. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แม้สุดท้ายแล้ว นางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จะยอมอ่อนข้อประกาศยกเลิกการพิจารณากฎหมายดังกล่าวเป็นการถาวร แต่ดูเหมือนว่า ชาวฮ่องจะไม่พอใจอยู่แค่นั้นอีกต่อไป จากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จึงลุกลามกลายเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านจีนและเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับฮ่องกง ... ซึ่งจีนไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า การที่รัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถออกกฎหมายความมั่นคงผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ทำให้รัฐบาลปักกิ่งใช้เป็นข้ออ้างในการยื่นมือเข้ามาจัดการด้วยตนเอง
"ผมคิดว่า รัฐบาลจีนหมดความอดทนที่จะรอให้สภานิติบัญญัติของฮ่องกงผ่านกฎหมายความมั่นคงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 23" วิลลี ลัม ศาสตราจารย์วุฒิคุณจากศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าว "นี่เป็นวิธีที่จีนจะบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกับฮ่องกงได้โดยตรง"
สอดคล้องกับบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ของทางการจีน ซึ่งระบุว่า กฎหมายฉบับนี้จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในฮ่องกงขึ้นอีกในอนาคต
"การออกกฎหมายจะเป็นรากฐานสำหรับการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงในฮ่องกง"
- เหตุใดชาวฮ่องกงจึงกลัวกฎหมายฉบับนี้
สิ่งที่ชาวฮ่องกงกลัวที่สุดคือ กลัวว่า สิทธิเสรีภาพของตนจะถูกลิดรอน
ชาวฮ่องกงเชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการพูดและสิทธิในการประท้วง โดยปัจจุบัน หากสิ่งนี้เกิดขึ้นในจีน จะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง
นายวิลลี ลัม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน แสดงความกังวลว่า กฎหมายฉบับนี้อาจเปิดทางให้ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์จีนถูกลงโทษ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่
ขณะเดียวกัน ชาวฮ่องกงอีกเป็นจำนวนมากยังกลัวด้วยว่า ระบบตุลาการของฮ่องกงจะกลายเป็นแบบเดียวกับของจีน
"การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติเกือบทั้งหมด เป็นการดำเนินการอย่างลับ ๆ ไม่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ และไม่เคยมีความชัดเจนว่า ข้อกล่าวหาและหลักฐานคืออะไรกันแน่ นอกจากนี้ คำว่าความมั่นคงของชาติก็คลุมเครือ จนอาจทำให้ครอบคลุมไปเกือบทุกเรื่อง" ศาสตราจารย์ โจฮันส์ ชาน นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง กล่าว
บรรดานักวิจารณ์ระบุด้วยว่า การออกกฎหมายความมั่นคงถือเป็นอวสานของ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"
"ดิฉันคิดว่า วันนี้เป็นวันที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง" แทนย่า ชาน สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยของฮ่องกง กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา "ไม่มีอีกแล้ว หนึ่งประเทศ สองระบบ ต่อไปนี้จะมีแต่ หนึ่งประเทศ หนึ่งระบบ"
ด้านคลอเดีย ม่อ สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า การออกกฎหมายโดยไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติของฮ่องกงนั้น ถือเป็นการ "ตอกตะปูปิดฝาโลง" สำหรับความมีอิสระในการปกครองตนเองของฮ่องกง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวด้วยว่า การออกกฎหมายความมั่นคงของจีนจะเป็นการรุกล้ำเสรีภาพของฮ่องกง ซึ่งที่ผ่านมาก็ลดน้อยถอยลงอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา จีนได้ใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของตนเองในการควบคุมและปราบปรามนักเคลื่อนไหว นักข่าว นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของนายหลิว เสี่ยวปอ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวจีน ที่วิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จนถูกจำคุกในปี 2552 จากความผิดฐาน "บ่อนทำลายอำนาจรัฐ"
เอ็ดดี้ ชู นักการเมืองฮ่องกง กล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจะบีบบังคับฮ่องกงให้ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายและระบบกฎหมายของจีน กฎหมายฉบับนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน
"กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไป และลงโทษพวกที่กล้าแสดงความคิดเห็น" นายชูกล่าว "สิ่งที่เรากลัวทั้งหมดที่กำลังเกิดกับสิทธิมนุษยชนในจีน กำลังจะเกิดขึ้นในฮ่องกง"
อีกประเด็นที่ชาวฮ่องกงวิตกกังวลก็คือ ภัยคุกคามต่อเสรีภาพของฮ่องกงอาจส่งผลกระทบต่อความน่าดึงดูดของฮ่องกง ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตลอดจนศูนย์กลางการเงินและธุรกิจของภูมิภาค
โดยกระทรวงสถิติและการสำรวจสำมะโนประชากรของรัฐบาลฮ่องกงเปิดเผยว่า เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัว 1.2% ในปี 2562 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบหนึ่งทศวรรษ จากผลกระทบของความไม่สงบและความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลฮ่องกง
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกงร่วงลง 2.9% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561 หลังจากที่ GDP ดิ่งลง 2.8% ในไตรมาส 3
โฆษกรัฐบาลฮ่องกงเปิดเผยว่า ความไม่สงบทางการเมืองในไตรมาส 4 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
- จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จีนจะบังคับใช้กฎหมายในฮ่องกงได้หรือไม่
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่า ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนจะลงมติรับร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมประจำปีของ NPC ชุดที่ 13 ครั้งที่ 3
แม้กฎหมายพื้นฐาน หรือ Basic Law ระบุว่า กฎหมายต่าง ๆ ของจีนไม่สามารถนำมาใช้ในฮ่องกงได้ แต่ทว่า ภาคผนวกที่ 3 (Annex III) ในกฎหมายพื้นฐานกลับเปิดช่องให้ฮ่องกงต้องเคารพกฎหมายของจีน โดยกฎหมายเหล่านี้อาจออกมาในรูปของพระราชกำหนด ซึ่งหมายถึงการที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภาของฮ่องกง อีกทั้งนางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ก็ได้ออกมาบอกแล้วว่า เธอจะให้ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ การประท้วงจะขยายวงกว้างไปเป็นการประท้วงใหญ่เหมือนเมื่อปีที่แล้วหรือไม่ โดยขณะนี้ เริ่มมีการประท้วงกลุ่มเล็ก ๆ กระจายกันไปตามสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในฮ่องกงดีขึ้น
"อาจเป็นเรื่องยากสำหรับนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่จะปลุกชาวฮ่องกงทั่วไปให้ออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนน ผมคิดว่า ประชาชนส่วนหนึ่งยอมจำนนในสิ่งที่พวกเขาคิดว่า ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" นายวิลลี ลัม กล่าว
ขณะเดียวกัน แรงกดดันจากสหรัฐก็เป็นความเคลื่อนไหวที่ทั่วโลกจับตาเช่นกัน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตือนว่า สหรัฐจะตอบโต้อย่างแข็งกร้าว หากจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า แรงกดดันจากนานาชาติไม่อาจเปลี่ยนใจรัฐบาลจีนได้ "มันจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อนโยบายฮ่องกงของจีน ผมคิดว่า จีนได้ตัดสินใจลงไปแล้ว" ฌอง-ปิแอร์ คาเบสแทน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบ๊บติสต์ กล่าว