"ผมหายใจไม่ออก" คือประโยคที่ "จอร์จ ฟลอยด์" ชายหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 46 ปี พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว หลังจากที่พนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สงสัยว่าเขาพยายามซื้อของในร้านด้วยธนบัตรปลอม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายมาถึงที่เกิดเหตุก็ได้จับฟลอยด์ใส่กุญแจมือและผลักให้นอนคว่ำลงกับพื้น จากนั้นตำรวจนายหนึ่งใช้เข่ากดลงบนคอและทิ้งน้ำหนักตัวลงไป ฟลอยด์พร่ำบอกตำรวจว่า "ผมหายใจไม่ออก" ด้วยเสียงแหบพร่า เป็นเวลานานกว่า 8 นาที จนหมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่เขาหมดลมหายใจระหว่างทาง
- เกิดเหตุซ้ำซาก
ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนถ่ายคลิปวิดีโอนาทีชีวิตของฟลอยด์เอาไว้เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งกระจายไปทั่วโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว สร้างความสลดหดหู่ใจและโกรธแค้นให้กับผู้คนทั่วอเมริกา เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนผิวสีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติ "เกินกว่าเหตุ" โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา "อาห์มูด อาร์เบอรี" ชายผิวสีวัย 25 ปีในรัฐจอร์เจีย ถูกอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจและลูกชายยิงเสียชีวิตขณะกำลังวิ่งออกกำลังกาย เพียงเพราะมีผู้โทรแจ้ง 911 ว่ามีบ้านละแวกนั้นถูกบุกรุกและผู้ต้องสงสัยกำลังวิ่งอยู่ ต่อมาในวันที่ 13 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังสืบสวนคดียาเสพติดได้บุกอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี โดยไม่แจ้งอะไรทั้งสิ้น และ "บรีออนนา เทย์เลอร์" หญิงผิวสีวัย 26 ปี ถูกยิง 8 นัด เสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์ของตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ประโยค "ผมหายใจไม่ออก" ยังทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อปี 2557 "เอริค การ์เนอร์" ชายผิวสีวัย 44 ปี ถูกแจ้งความข้อหาขายบุหรี่ผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปจับกุมด้วยการล็อกคอ เขาพยายามบอกว่า "ผมหายใจไม่ออก" ถึง 11 ครั้ง จนกระทั่งหมดลมหายใจ
เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ ทำให้คณะกรรมาธิการตุลาการประจำสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการสอบสวนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเป็นระบบ โดยนายเจอร์โรลด์ แนดเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการตุลาการประจำสภาผู้แทนราษฎร และบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต ได้ยื่นจดหมายถึงนายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ โดยมีใจความว่า เหตุการณ์สังหารชาวแอฟริกัน-อเมริกันหลายครั้งที่ผ่านมาก่อให้เกิดคำถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรมของสหรัฐถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง
- ลุกฮือทั่วประเทศ ลุกลามทั่วโลก
ประชาชนทั่วอเมริกันต่างออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ โดยมีเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เป็นศูนย์กลางการประท้วง และลุกลามไปหลายสิบเมืองทั่วประเทศ รวมถึงลอสแองเจลิส เมมฟิส นิวยอร์ก เดนเวอร์ ฮิวสตัน แอตแลนตา ดีทรอยต์ ลุยส์วิลล์ ฯลฯ การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เผารถยนต์ และทุบกระจกร้านค้า หลายคนฉวยโอกาสขโมยของตามห้างร้านต่าง ๆ จนหลายเมืองต้องประกาศเคอร์ฟิวและสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล
นายเกร็ก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ประกาศให้รัฐเท็กซัสตกอยู่ในภาวะภัยพิบัติ หลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในหลายเมืองทั่วทั้งรัฐ ขณะเดียวกัน นายเจย์ อินสลีย์ ผู้ว่าการรัฐวอชิงตัน ได้ประกาศเคอร์ฟิวในรัฐวอชิงตัน หลังจากการประท้วงได้ทวีความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันมีรายงานว่า หน่วยอารักขาต้องนำตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปยังหลุมหลบภัยภายในทำเนียบขาวเมื่อคืนวันศุกร์ หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้รวมตัวกันที่บริเวณด้านนอก โดยผู้ประท้วงบางคนได้ขว้างปาก้อนหินและพยายามทำลายแผงกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ล่าสุดในวันนี้ นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และนายบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กซิตี้ ได้ประกาศเคอร์ฟิวในนิวยอร์กซิตี้ และกรมตำรวจนิวยอร์กซิตี้จะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เป็นสองเท่าใน 5 เขตของเมือง เพื่อป้องกันสถานการณ์รุนแรงและความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างการประท้วง
ด้านประธานาธิบดีโดนัดล์ ทรัมป์ ได้จัดแถลงข่าวฉุกเฉินต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย โดยกล่าวว่า "ขณะนี้ผมกำลังส่งกองกำลังทหารติดอาวุธจำนวนหลายพันนาย บุคลากรทางทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เข้าประจำการเพื่อยุติการจลาจล การปล้มสะดม และการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ รวมทั้งยุติการโจมตีและความมุ่งร้ายต่อทรัพย์สินของชาติ"
กระแสเรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในอเมริกาเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปทั่วโลก โดยประชาชนชาวอังกฤษหลายพันคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงลอนดอน พร้อมโห่ร้องว่า "ไร้ความยุติธรรม ก็ไร้ความสงบ" ขณะที่บางส่วนชูป้ายที่เขียนข้อความว่า "ชีวิตคนดำก็มีความหมาย" ส่วนในเยอรมนี ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนได้มารวมตัวกันแสดงพลังที่หน้าสถานทูตสหรัฐในกรุงเบอร์ลิน นอกจากนี้ ประชาชนหลายพันคนยังเดินขบวนต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา ขณะที่ประชาชนชาวเม็กซิโกได้วางดอกไม้ที่รั้วใกล้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงเม็กซิโกซิตี้ เพื่อไว้อาลัยแด่จอร์จ ฟลอยด์
- คนดังแสดงพลัง
นอกจากประชาชนคนทั่วไปแล้ว คนดังมากมายก็ร่วมแสดงพลังเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ เช่นกัน โดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ ไม่อาจเป็นเรื่องปกติในสังคมอเมริกันอีกต่อไป ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง "ความปกติใหม่" ในการปฏิบัติกับคนทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม ขณะที่อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ
ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แอปเปิล อิงค์ ได้ส่งบันทึกข้อความถึงพนักงานของบริษัท โดยข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า "เราควรจดจำเหตุการณ์สังหารโหดจอร์จ ฟลอยด์ ในครั้งนี้ รวมทั้งการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเรา เราจะต้องทบทวนมุมมองและการกระทำของเรา ท่ามกลางความเจ็บปวดที่กำลังบาดลึกเข้าไปในความรู้สึกของเรา ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ควรถูกเพิกเฉยอีกต่อไป"
ด้านพิธีกรผิวสีชื่อดังอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ ได้แชร์ข้อความในทวิตเตอร์ โดยมีความตอนหนึ่งว่า "ฉันไม่สามารถลบภาพหัวเข่าที่อยู่บนลำคอของเขาออกไปจากความคิดได้เลย" ส่วนนักร้องสาว ริฮานนา โพสต์ภาพของฟลอยด์ผ่านอินสตาแกรม พร้อมแชร์ข้อความส่วนหนึ่งว่า "การเห็นคนผิวสีถูกฆาตกรรมและถูกประชาทัณฑ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้หัวใจของฉันหนักอึ้ง"
ขณะที่ IG Story ของนักร้องสาวคนดังอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้แชร์ภาพของจอร์จ ฟลอยด์ พร้อมคำพูด "ได้โปรด ผมหายใจไม่ออก ผมปวดท้อง" ส่วนอินสตาแกรมของนักร้องหนุ่ม แฮร์รี สไตลส์ โพสต์ภาพคำว่า "BLACK LIVES MATTER" (ชีวิตคนดำก็มีความหมาย) ด้านเซเลบดังอย่าง คิม คาร์เดเชียน เวสต์ ทวีตข้อความตอนหนึ่งว่า "ฉันรู้สึกใจสลายที่เห็นคนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง และลูก ต้องทุกข์ทรมานเพราะคนที่พวกเขารักถูกฆาตกรรมหรือติดคุกโดยไม่ได้รับความยุติธรรมเพียงเพราะเป็นคนดำ" ขณะเดียวกัน จัสติน บีเบอร์ และ มาดอนน่า ก็โพสต์อินสตาแกรมว่า "เรื่องแบบนี้ต้องหยุดได้แล้ว"
ตำรวจทั้ง 4 นายที่อยู่ในเหตุการณ์สังหารจอร์จ ฟลอยด์ ถูกไล่ออกหลังเกิดเหตุ โดยตำรวจผู้กดเข่าลงบนคอของฟลอยด์ถูกอัยการตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และข้อหาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท ซึ่งแค่นี้คงไม่พอสำหรับประชาชนทั่วอเมริกาและทั่วโลกที่เหลืออดกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ และต้องการการปฏิรูปอย่างแท้จริง อย่างที่นักร้องสาว อาเรียนา กรานเด โพสต์ใน IG Story ว่า "ความยุติธรรมไม่ใช่แค่การจับกุมตำรวจผู้ก่อเหตุเท่านั้น แต่ต้องขุดรากถอนโคนระบบที่เปิดโอกาสให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ด้วย"