In Focusเลือกตั้งสหรัฐ 2020: "โควิด"ถล่ม"ทรัมป์"อ่วม แต่หุ้นตกแน่ หาก"ไบเดน"คว้าชัย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 8, 2020 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขอต้อนรับนักลงทุนก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์เพิ่งทะยานขึ้นถึง 17.78% ในไตรมาส 2 ทำสถิติพุ่งขึ้นรายไตรมาสมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2530 หรือกว่า 30 ปีเลยทีเดียว ซึ่งแม้ว่าโลกจะสะบักสะบอมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่การที่ธนาคารกลางหลายแห่ง และรัฐบาลชาติต่างๆพากันอัดฉีดเงิน และออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ก็ได้ช่วยสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของโควิด-19 แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตลาดให้ความสนใจในช่วงครึ่งปีหลังคือการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐเพื่อหาคนมากุมบังเหียนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างผู้ครองตำแหน่งในปัจจุบันคือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 72 ปีจากค่ายรีพับลิกัน และผู้ท้าชิงคือนายโจ ไบเดน วัย 77 ปีจากค่ายเดโมแครต

In Focus สัปดาห์นี้ เราจะมาโฟกัสกันที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.นี้ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายและการตัดสินใจของผู้ที่จะมาเป็นผู้นำสหรัฐจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการปรับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเห็นได้จากอิทธิพลของทวิตเตอร์ของทรัมป์ ซึ่งที่ผ่านมาแทบจะสามารถชี้นำการขึ้นลงของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท

*3 พ.ย. วันที่สหรัฐมีการเลือกตั้งมากกว่าตำแหน่งประธานาธิบดี

ในวันที่ 3 พ.ย. นอกจากชาวสหรัฐที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีตามที่คนส่วนใหญ่ทราบกันแล้ว พวกเขายังจะทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาจำนวน 435 คน และเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือจำนวน 33 คน จากทั้งหมด 100 คน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นทุก 4 ปี และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีขึ้นทุก 2 ปี

ขณะเดียวกัน ชาวสหรัฐยังออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหลายพันคนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ว่าการรัฐ และผู้พิพากษา ส่งผลให้การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญต่อทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน เนื่องจากจะมีผลต่อผู้สมัครของพรรคในการเข้าไปนั่งเก้าอี้ในทำเนียบขาว และการครองอำนาจในสภาคองเกรส

นอกจากนี้ บางรัฐอาจพ่วงการทำประชามติในประเด็นต่างๆที่กำลังเป็นที่สนใจภายในรัฐให้ประชาชนลงคะแนนเสียงในวันที่ 3 พ.ย.เช่นเดียวกัน เช่น การควบคุมอาวุธปืน หรือสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ

*ส่องกล้อง"ทรัมป์" VS "ไบเดน" มวยถูกคู่บนเวทีการเมือง

คู่ชิงศึกประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้ คือทรัมป์และไบเดน ซึ่งถือเป็นมวยถูกคู่จากทั้ง 2 ค่าย โดยทั้งสองมีบุคลิกแตกต่างกันแบบสุดขั้ว โดยทรัมป์เป็นคนพูดจาโผงผาง ก้าวร้าว พร้อมที่จะสร้างศัตรูกับคนรอบข้าง แตกต่างจากไบเดนที่มีบุคลิกสุภาพ พูดจาเรียบร้อย ดูยิ้มแย้มมีความเป็นมิตรกับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ชื่นชอบทรัมป์กลับมองว่า ทรัมป์มีเสน่ห์ในการกล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวปราศรัยในการรณรงค์หาเสียง โดยสามารถพูดได้อย่างเร้าใจ มีสีสัน แตกต่างจากไบเดนที่พูดจาได้อย่างจืดชืด ไม่น่าสนใจ

ไบเดนได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2515 โดยนับเป็นวุฒิสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐเป็นลำดับที่ 6 ขณะเดียวกัน เขายังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ในช่วงปี 2552-2560 ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ไบเดนเคยสมัครเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ก็ประสบความล้มเหลวทั้ง 2 ครั้งในปี 2531 และ 2551

*"เศรษฐกิจ"-"โควิด" ชี้ขาดใครเข้าวินศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ชาวอเมริกันมักตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีจากผลงานในช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง โดยขณะนี้มีอยู่ 2 ประเด็นที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าชาวอเมริกันจะเทคะแนนให้ใคร ซึ่งก็คือ เศรษฐกิจ และโควิด-19

ที่ผ่านมา ทรัมป์รู้ตัวว่ากำลังเพลี่ยงพล้ำในทั้ง 2 ประเด็น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้รัฐต่างๆออกมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจพากันปิดกิจการ และปลดพนักงานจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซา และอัตราการว่างงานพุ่งขึ้น ทรัมป์จึงพยายามกดดันให้ผู้ว่าการรัฐต่างๆกลับมาเปิดเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาหวังว่าจะช่วยให้คะแนนเสียงของเขาดีขึ้น

ขณะนี้ ทรัมป์คงภาวนาขอให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่เหลือนี้เพื่อให้ทันการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. โดยหวังว่าเขาจะกลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันต่างก็ไม่พอใจต่อความล้มเหลวของทรัมป์ในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้สหรัฐมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในโลก ขณะที่ทรัมป์คงไม่สามารถเอาชนะไวรัสโควิด-19 ภายใน 6 เดือนนี้ เนื่องจากการผลิตวัคซีนและยาต้านไวรัสจำเป็นต้องใช้เวลา 12-18 เดือนในการทดสอบและพัฒนา ซึ่งกว่าที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) จะให้การรับรองวัคซีนและยาเหล่านี้ ก็คงจะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะไม่ทันวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.นี้ ดังนั้นโอกาสที่ทรัมป์จะประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 ก็ยังคงริบหรี่

*โพลล์ฟันธง"ไบเดน"คว่ำ"ทรัมป์" คว้าชัยศึกปธน.สหรัฐ

ผลการสำรวจของทุกสำนักต่างฟันธงว่า ไบเดนจะมีชัยชนะเหนือทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.นี้

ผลสำรวจระบุว่า ไบเดนมีความเหมาะสมกว่าทรัมป์ในการนำพาสหรัฐผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ขณะที่ทรัมป์ได้ดำเนินการหลายสิ่งที่สร้างความไม่พอใจต่อชาวอเมริกัน โดยทรัมป์ได้เหยียดเชื้อชาติ และไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่มีต่อคนผิวสี นอกจากนี้ ในเรื่องโควิด-19 ทรัมป์มักปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากอนามัย และยังให้คำแนะนำผิดๆแก่ชาวอเมริกัน เช่น ให้มีการทดลองฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายเพื่อดูว่าน้ำยาดังกล่าวสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ หรือการที่เขากล่าวว่า chloroquine และ hydroxychloroquine ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย จะเป็น"ตัวพลิกเกม" ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 และเขาได้กินยาดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ต่อมา FDA ได้ประกาศยุติการอนุมัติให้มีการใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เนื่องจากพบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา

*ข่าวร้ายคือ หุ้นตกแน่ หาก"ไบเดน"ชนะเลือกตั้ง

สำหรับผู้ที่ไม่เอาทรัมป์ และเฝ้ารอวันที่เขาจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากรับไม่ได้กับหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาทำในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ความพ่ายแพ้ของทรัมป์ในวันที่ 3 พ.ย.น่าจะเป็นข่าวดีที่สุด แต่สำหรับนักลงทุนและนักเล่นหุ้นทั่วโลก การได้รับชัยชนะของไบเดนจะถือเป็นฝันร้าย เนื่องจากนักวิเคราะห์เตือนว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะทรุดตัวลง หากไบเดนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ จากการที่เขามีนโยบายเพิ่มภาษีคนรวยเพื่อช่วยคนจน โดยเขาจะยกเลิกมาตรการปรับลดอัตราภาษีของทรัมป์ ด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% จากเดิมที่ทรัมป์ปรับลดจาก 35% สู่ระดับ 21% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ไบเดนจะปรับเพิ่มภาษีของครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในเวลา 10 ปี ขณะที่ไบเดนเปิดเผยว่าเขาจะเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับชนชั้นกลาง และให้เงินอุดหนุนภาษีสำหรับการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น

*จับตาผลเลือกตั้งจริง อาจพลิกล็อกช็อกโลก หักปากกาเซียน

อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ก็ได้ให้บทเรียนแก่เราว่าโพลล์ต่างๆไม่ได้รับประกันว่าผลจะออกมาตามที่มีการสำรวจไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากการทำโพลล์เมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ทุกสำนักระบุว่า ฮิลลารี คลินตันจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และจะเป็นสตรีคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่เธอก็ต้องน้ำตาตกเมื่อมีการประกาศว่าทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ ทั้งๆที่ทรัมป์ตกเป็นรองมาโดยตลอดในการสำรวจความนิยมของชาวอเมริกัน

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์ผลโหวต Brexit ในปี 2559 ซึ่งขณะนั้นแทบทุกสำนักต่างฟันธงว่า มีโอกาสถึง 85% ที่อังกฤษจะยังคงอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป แต่กลายเป็นว่าชาวอังกฤษส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะแยกตัวออกไป

ดังนั้น ถึงแม้ผลสำรวจขณะนี้บ่งชี้ว่า ทรัมป์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.นี้ แต่ความจริงคือ เรายังคงมีโอกาสที่จะได้ประธานาธิบดีสหรัฐที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อไปอีก 4 ปี เหมือนที่เขาเคยสร้างปาฏิหาริย์ไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

*ครั้งก่อน"ทรัมป์"ใช้วจีเด็ด "Make America Great Again" แล้วครั้งนี้คือ?

นักวิเคราะห์กล่าวว่า คะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อ 4 ปีก่อนที่สนับสนุนทรัมป์ มาจากการชูประโยคที่ว่า "Make America Great Again" หรือ "ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" ซึ่งสร้างความฮึกเหิม และได้ใจของผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวนมาก เนื่องจากไม่พอใจต่อนโยบายของพรรคเดโมแครตที่ปล่อยให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานในสหรัฐ จนทำให้ชาวอเมริกันตกงานจำนวนมาก

คาดว่าขณะนี้ ทรัมป์และทีมงานหาเสียงของเขาคงกำลังระดมสมองเพื่อคิดสโลแกนใหม่ๆที่จะใช้ในศึกเลือกตั้งปีนี้ และหวังที่จะปลุกเร้าให้ชาวอเมริกันพากันลงคะแนนเลือกเขาอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากการใช้คำขวัญที่ได้ใจผู้ลงคะแนนเสียงเมื่อ 4 ปีก่อนแล้ว ทรัมป์ยังประกาศในขณะนั้นว่า จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อดึงบริษัทสหรัฐที่ลงทุนในต่างประเทศให้กลับเข้ามาในสหรัฐ ซึ่งก็ได้ทำให้ชนชั้นแรงงานหันมาเทคะแนนให้ทรัมป์ เนื่องจากคาดว่าการลงทุน และการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น

ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น ทรัมป์ระบุว่าจะฉีกข้อตกลงการค้าที่สหรัฐทำไว้กับประเทศต่างๆ ที่ทำให้สหรัฐมีความเสียเปรียบ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิลงคะแนนที่มองว่าสหรัฐควรมีการทำข้อตกลงการค้าที่มีความเป็นธรรม

ส่วนการที่ทรัมป์ประกาศว่าจะทบทวนสนธิสัญญาด้านการทหารกับต่างประเทศ เช่น กับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพื่อให้ประเทศอื่นๆ จ่ายเงินมากขึ้นในการรักษาความมั่นคงของตนเอง แทนที่จะให้สหรัฐเสียงบประมาณจำนวนมากในต่างประเทศ ก็ช่วยเรียกคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันเช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ทรัมป์ระบุว่าจะกวาดล้างกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) และปิดรับผู้อพยพจากหลายประเทศ ก็ได้ช่วยสร้างความมั่นใจต่อชาวสหรัฐที่มีความวิตกต่อการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย

*หุ้นขึ้นรับ"ทรัมป์"คว้าชัยเลือกตั้งครั้งก่อน ส่วนในครั้งนี้?

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 450 จุดในช่วง 2 วันแรกที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 และดีดตัวขึ้นเกือบ 8% ไปจนถึงสิ้นปีดังกล่าว ขานรับแผนการปรับลดอัตราภาษี และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทรัมป์ และเราคงต้องจับตาการปรับตัวของตลาดในครั้งนี้ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งอีกครั้ง

*อีกไม่ถึง 6 เดือน รู้คำตอบชื่อผู้นำสหรัฐคนใหม่

ในเวลาอีกไม่ถึง 6 เดือน เราก็คงได้คำตอบว่าใครจะมาเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ และขณะนี้เราก็ยังนึกภาพไม่ออกว่า โลกในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หากผู้นำสหรัฐยังคงชื่อทรัมป์ แต่หากไบเดนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ยังไม่มีใครสามารถรับประกันว่าจะมีผลงานดีกว่าทรัมป์ โดยทั้งหลายทั้งปวง เราคงต้องเคารพผลการตัดสินใจของชาวอเมริกัน ซึ่งต้องยึดถือผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นหลัก ในขณะที่รัฐบาลไทยคงต้องเตรียมออกมาตรการรับมือ หากนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่ส่งผลกระทบต่อประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ