" Deal! " ...คำเดียวสั้นๆ ที่ปรากฏบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 21 ก.ค. ถือเป็นวินาทีที่สิ้นสุดการรอคอยของนักลงทุนทั่วโลกที่เฝ้าจับตาการประชุมมาราธอนกว่า 4 วันของผู้นำ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยผู้นำเหล่านี้ได้เดินทางไปรวมตัวกันที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.ค. เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 8.55 แสนล้านดอลลาร์ โดยการประชุมผู้นำ EU ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผู้นำทุกคนต้อง "สวมหน้ากาก (อนามัย) เข้าหากัน" ตามกฎระเบียบการไม่แพร่กระจายเชื้อไวรัสในยุค New Normal
ทันทีที่ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ได้ออกแถลงการณ์เพื่อประกาศความสำเร็จของดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็เด้งขึ้นขานรับในทันที ไม่เว้นแม้แต่ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยที่พุ่งขึ้นเกือบ 1.4% เมื่อวานนี้ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ดีดตัวขึ้นกันถ้วนหน้า นอกจากนี้ สื่อแทบทุกสำนักยังโพสต์ภาพบรรยากาศอันเต็มไปด้วยความยินดีปรีดาของเหล่าผู้นำ EU โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส สองหัวหอกที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว รวมทั้งภาพความน่ารักของชาร์ลส์ มิเชล และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ที่โผเข้าใช้ข้อศอกแตะกันหลังจบการแถลงข่าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนคำพูดที่ว่า "สำเร็จแล้ว"
บางคนอาจตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด กองทุนฟื้นฟูครั้งนี้จึงมีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของตลาดการเงินทั่วโลก นั่นเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ฉุดเศรษฐกิจทั่วยุโรปทรุดตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 หรือ Great Depression จึงทำให้เหล่าผู้นำ EU ไม่อาจรอคอยให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงที่รุนแรงไปกว่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ซาเวียร์ เบทเทล นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก เตือนว่า หาก EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูได้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อ EU เอง และตลาดการเงิน เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อความน่าเชื่อถือของ EU ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งต่อไป
... กว่าที่ผู้นำ EU จะเดินทางมาถึงจุดที่ยอมประนีประนอมและทำข้อตกลงกันได้ การเจรจาก็ใช้เวลานานกว่ากำหนด จากเดิมตั้งใจว่าจะประชุมกันเพียง 2 วันคือวันที่ 17-18 ก.ค. ก็ลากยาวมาจนถึงช่วงเช้าของวันอังคารที่ 21 ก.ค. ซึ่งการประชุมที่ยืดเยื้อออกไปจนน่ากังวลนั้น มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ... In Focus สัปดาห์นี้จึงขอนำผู้อ่านมาร่วมย้อนไทม์ไลน์เพื่อดูว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งก่อนและในช่วง 4 วันอันตึงเครียดในการประชุมโต๊ะกลมของเหล่าผู้นำ EU
** เปิดไทม์ไลน์ที่มาของกองทุนฟื้นฟู จนถึงวันบรรลุดีลครั้งประวัติศาสตร์
-- 20 พ.ค. ฝรั่งเศสและเยอรมนีเห็นพ้องกันในการเสนอตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นเสนอที่วงเงิน 5 แสนล้านยูโร เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกันในการเสนอให้มีการอนุญาตให้ EC ทำการกู้ยืมเงินในตลาดการเงินในนามของ EU
การที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเห็นพ้องต่อมาตรการดังกล่าว ถือเป็นการยุติความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ฝรั่งเศสต้องการผลักดันการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ในขณะที่เยอรมนีมีท่าทีไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าจะขัดต่อการรักษาวินัยทางการคลัง
-- 27 พ.ค. EC เปิดเผยรายละเอียดของกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร โดยกองทุนฟื้นฟูดังกล่าวประกอบด้วยเงินให้เปล่าจำนวน 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโรสำหรับชาติสมาชิก EU
-- 17 ก.ค. ผู้นำประเทศสมาชิก EU เดินทางมารวมตัวกันที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมการประชุมวันแรก และเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร
-- 18 ก.ค. การประชุมวันที่ 2 เป็นไปอย่างตึงเครียด และยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ เนื่องจากสมาชิก EU ยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน โดยเงินส่วนหนึ่งของกองทุนดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดโดยไม่ต้องชำระคืน และที่เหลือเป็นเงินกู้ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่น อิตาลี และ สเปน จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแผนฟื้นฟูดังกล่าว
แต่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรีย หรือ Frugal Four (สี่ตระหนี่) คัดค้านการให้เงินแบบให้เปล่า และขอให้ประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องทำการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการได้รับเงินกู้
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการอนุมัติกองทุนดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยืนยันว่า การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องได้รับฉันทามติจากสมาชิกทั้ง 27 ชาติของ EU ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของ EU ที่ต้องการคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิก 27 ชาติเท่านั้น
--19 ก.ค. การประชุมย่างเข้าสู่วันที่ 3 และยังไม่มีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ ขณะที่อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้แสดงความกังวลว่า ผู้นำ EU อาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลง เนื่องจากชาติสมาชิกยังมีความขัดแย้งกันอย่างมากเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว
"ดิฉันไม่สามารถบอกได้ว่าที่ประชุมจะพบทางออก มีความตั้งใจดีมากมาย แต่ก็มีความแตกต่างด้วยเช่นกัน ฉันจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงกันในวันนี้" นายกฯ เยอรมนีกล่าวกับนักข่าวก่อนที่การประชุมวันที่ 3 จะเริ่มต้นขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า แมร์เคิลจะร่วมกับประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป และเจ้าภาพจัดการประชุม ในการจัดเตรียมข้อเสนอใหม่เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี มาร์ก รุตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ และชาติพันธมิตร ขัดขวางการทำข้อตกลง
-- 20 ก.ค. หลายฝ่ายเริ่มใจคอไม่ดีเมื่อการประชุมย่างเข้าสู่วันที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เดวิด แซสโซลี ประธานรัฐสภายุโรป กล่าวว่า รัฐสภายุโรปจะไม่ให้การรับรองข้อตกลงของ EU ในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่รัฐสภาระบุไว้
ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปต้องการให้การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจมีการรวมถึงมาตรการในการปกป้องการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะระงับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย นอกจากนี้ รัฐสภายุโรปยังต้องการให้มีการเรียกเก็บภาษีครั้งใหม่ต่อ EU เพื่อนำมาเป็นรายได้รองรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว
... แต่ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีแทรกอยู่ด้วย เนื่องจาก EU ส่งสัญญาณว่าอาจบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในวันที่ 20 ก.ค. โดยคาดว่าที่ประชุมจะอนุมัติการให้ความช่วยเหลือในรูปเงินให้เปล่าที่ระดับ 3.9 แสนล้านยูโร ซึ่งเป็นการประนีประนอมกันระหว่างจำนวน 3.5 แสนล้านยูโรที่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรียเสนอ ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเรียกร้องที่ระดับ 4 แสนล้านยูโร
-- 21 ก.ค. เวลาประมาณ 09.15 น.ตามเวลาไทย สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ที่ประชุมผู้นำ 27 ชาติของ EU ใกล้จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ในวันเดียวกันนี้ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธาน EC ได้ทวีตข้อความเป็นเชิงส่งสัญญาณว่า "หลังจากที่การเจรจาอันเข้มข้นผ่านพ้นไปหลายวัน ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการประนีประนอมกันอย่างสร้างสรรค์ พลเมืองยุโรปกำลังรอคอยแผนฟื้นฟูฉบับนี้ และทั่วโลกกำลังจับตาดูเราอยู่"
...จากนั้นก็ถึงช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เมื่อเวลาประมาณ 10.45 น.ของวันที่ 21 ก.ค.ตามเวลาไทย ที่ประชุม EU ก็ได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
** เปิดรายละเอียดกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU กับการพ่วงเงื่อนไขที่ชาติใดก็ไม่อาจปฏิเสธ
หลังจากประกาศความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว ที่ประชุม EU ได้เปิดเผยรายละเอียดของกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสนล้านดอลลาร์) ดังนี้
1. EC จะกู้ยืมเงินจากตลาดจำนวนมาก และจากนั้นจะนำไปจัดสรรให้กับบรรดาประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด โดย EC จะดำเนินการกู้ยืมเงิน 7.5 แสนล้านยูโรผ่านการออกตราสารหนี้ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ซึ่งในเงินจำนวนนี้ จะถูกแบ่งออกมา 3.90 แสนล้านยูโรเพื่อเป็นเงินให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนอีก 3.60 แสนล้านยูโรจะนำไปปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ
2. EU จะชำระคืนเงินกู้ได้ภายในปี 2601 ซึ่งเงินที่จะชำระเงินคืนเงินกู้นั้น มาจากรายได้จากการเก็บภาษี โดยผู้นำ EU ได้ตกลงกันดังนี้ว่า:
2.1 เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ จะต้องสูญเสียเงินคืนภาษีจากการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับ EU ในปัจจุบัน
2.2 ประเทศสมาชิก EU จะต้องจ่ายภาษีพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และจะต้องนำส่งภาษีนั้นให้กับกองคลัง EU
2.3 นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป บรรดาประเทศสมาชิกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่ามาตรฐานของ EU จะต้องนำส่งภาษีสินค้าให้กับกองคลังของ EU
2.3 ภาษีการทำธุรกรรมด้านการเงินถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และ EU จะได้รับรายได้จากการขยายขอบข่ายระบบควบคุมการปล่อยมลภาวะให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเดินเรือทะเล และอุตสาหกรรมการบิน
3. การอนุมัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูจะนำไปสู่การเบิกจ่ายเงินให้กับประเทศต่างๆ ที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงาน รวมถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จะต้องเป็นแผนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น อีกทั้งต้องสอดคล้องกับคำแนะนำรายปีของคณะกรรมาธิการยุโรป
การเบิกจ่ายเงินให้กับประเทศสมาชิกนั้น จะร้องได้รับการอนุมัติด้านคุณสมบัติจากรัฐบาลของกลุ่ม EU และจะต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายและข้อตกลงที่ทำขึ้นในที่ประชุม หากรัฐบาลของ EU เชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลที่น่าพอใจ ก็สามารถเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำ EU เปิดการอภิปรายภายในระยะเวลา 3 เดือน 4. บรรดาประเทศหลักๆ ที่จัดสรรเงินให้กับงบประมาณของ EU เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และเยอรมนีนั้น จะได้รับเงินคืนในจำนวนที่มากกว่าแต่ก่อน โดยคำนวณจากวงเงินที่ประเทศเหล่านี้จ่ายเงินสนับสนุนให้กับ EU ในแต่ละปีตามขนาดของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ
** ย้อนรอยกองทุนเยียวยาเศรษฐกิจของ EU
ในช่วงปี 2553 ที่ยุโรปเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะนั้น EU ได้จับมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเปิดตัวกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้สาธารณะลุกลามไปทั่วยุโรป โดยในครั้งนั้น หลายประเทศต่างก็คาดหวังว่ากองทุน EFSF จะช่วยชุบชีวิตใหม่ให้กับเศรษฐกิจที่ดำดิ่งจากปัญหาหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรีซ ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นรากแก้วแห่งอารยธรรมกรีกโบราณอันรุ่งเรือง แต่ได้กลายสภาพเป็นศูนย์กลางแห่งวิกฤตหนี้ยุโรป
อย่างไรก็ดี กองทุน EFSF ได้ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา และได้มีการจัดตั้งกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ขึ้นมาทดแทน โดยกองทุนนี้มีวงเงิน 5 แสนล้านยูโรเพื่อเป็นกองทุนฉุกเฉินในการให้ความช่วยเหลือประเทศยุโรป แต่มีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่ากองทุน EFSF มาก เนื่องจากประเทศที่จะขอรับความช่วยเหลือนั้น จะต้องดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและด้านการคลังอย่างเข้มงวด เพื่อ ให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
... นักลงทุนตั้งความหวังไว้มากกับกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรของ EU โดยเชื่อว่า กองทุนฟื้นฟูนี้จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจยุโรปให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง หลังจากที่ถูกกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ ยูโก แลนซิโอนี นักวิเคราะห์จากบริษัท Neuberger Berman แสดงความเชื่อมั่นว่า ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะช่วยขจัดความเสี่ยงเกือบทั้งหมดที่ประเทศยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้