การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ได้ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ชนะจะเป็นใครระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กับนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาล่าช้าและคะแนนที่พลิกผันไปมานั้น เกิดจากการที่ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันมาก และยังเกิดจากการที่ในปีนี้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ (mail-in ballots) จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้การนับคะแนนล่าช้าออกไป พร้อมทั้งเป็นการเปิดช่องให้ปธน.ทรัมป์กล่าวโจมตีการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย In Focus สัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในวันเลือกตั้งที่ผ่านมา และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หากผลการนับคะแนนยังคงไม่มีความชัดเจน
*เลือกตั้งทางไปรษณีย์ เหตุผลที่ทำให้การนับคะแนนล่าช้า
ตามปกติแล้ว ประชาชนสหรัฐสามารถขอรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ได้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ด้วยตนเองในวันเลือกตั้ง หรือไม่สามารถออกไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้ แต่ในปีนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงอยู่ ทำให้จำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์สูงเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลจาก U.S. Election Project ระบุว่า นับจนถึงคืนวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันมากกว่า 93 ล้านคนใช้สิทธิ์ลงคะแนนล่วงหน้า และมีบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์กว่า 59 ล้านใบ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดเกือบ 240 ล้านคน
นอกจากนี้ ข้อมูลการเลือกตั้งล่วงหน้ายังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มที่เลือกพรรคเดโมแครตนั้นใช้การเลือกตั้งทางไปรษณีย์มากกว่ากลุ่มที่เลือกพรรครีพับลิกัน
การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์นั้นจะต่างกันไปในแต่ละรัฐ โดยบางรัฐ เช่น มิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ไม่ได้รับอนุญาตให้นับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ขณะที่รัฐนอร์ธแคโรไลน่าระบุว่า จะรอนับคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่มาถึงล่าช้าและจะประกาศผลคะแนนเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ขณะที่บางรัฐ เช่น ฟลอริดา มีการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์หลายสัปดาห์ก่อนถึงวันเลือกตั้งจริง
*ไบเดนแสดงความมั่นใจ-ทรัมป์ประกาศชัยชนะล่วงหน้า
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายไบเดนได้ออกมาแสดงความมั่นใจในวันเลือกตั้งว่า เขาจะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ และขอให้ผู้สนับสนุนทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันอดใจรอจนกว่าผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนจะออกมา หลังจากที่เขามีคะแนนขึ้นนำในการนับคะแนน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน ปธน.ทรัมป์ก็ได้จัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวขอบคุณครอบครัวของตนเอง และขอบคุณชาวอเมริกันที่สนับสนุนเขา ซึ่งทำให้เขาได้รับชัยชนะในหลายรัฐอย่างคาดไม่ถึง ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังอ้างด้วยว่า ตนเองถูกโกงคะแนนเสียง และพร้อมไปที่ศาลสูงเพื่อทำให้การโหวตทั้งหมดยุติลง
*เบอร์นี แซนเดอร์ส ทำนายแม่นพฤติกรรมทรัมป์หลังวันเลือกตั้ง
นายเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ซึ่งไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดได้เคยกล่าวไว้ในรายการ The Tonight Show Starring Jimmy Fallon เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า "ผมเชื่อว่าในรัฐอย่างเพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน หรือรัฐอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์จำนวนมาก จะไม่สามารถนับคะแนนได้จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งหรือจนถึงตอนปิดคูหาเลือกตั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงจะมีเสียงที่ยังไม่ได้นับอีกหลายล้านเสียง ซึ่งจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า คนที่เลือกพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มจะใช้การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ขณะที่คนที่เลือกพรรครีพับลิกันจะใช้การเดินเข้าคูหาเลือกตั้งเองในวันเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ในช่วงแรกนั้นคะแนนที่นับได้จะเป็นของกลุ่มที่เลือกพรรครีพับลิกัน"
นายแซนเดอร์สยังได้กล่าวด้วยว่า "เป็นไปได้ว่าเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 3 พ.ย.ตามเวลาสหรัฐ ปธน.ทรัมป์จะมีคะแนนนำในรัฐมิชิแกน เพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน และจะประกาศออกโทรทัศน์ว่า "ขอบคุณชาวอเมริกันที่เลือกผมเข้ามาอีกครั้ง ทุกอย่างจบแล้ว ขอให้โชคดี? จากนั้นต่อมา เมื่อเริ่มการนับคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ และนายไบเดนพลิกขึ้นมามีคะแนนนำ ปธน.ทรัมป์ก็จะบอกว่า "เห็นไหม ผมบอกพวกคุณแล้วว่า มันเป็นเรื่องโกหกทั้งหมด ผลคะแนนทางไปรษณีย์นั้นถูกล็อกไว้หมดแล้ว"
ข้อความดังกล่าวของนายแซนเดอร์สคาดเคลื่อนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะปธน.ทรัมป์ได้ออกมาประกาศชัยชนะในเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 4 พ.ย.ตามเวลาสหรัฐ
*จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หากมีการโต้แย้งผลการเลือกตั้ง หรือผลการเลือกตั้งไม่ชัดเจน
สถานการณ์ในตอนนี้ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ ก็จะต้องมีการโต้แย้งผลการเลือกตั้งอย่างแน่นอน หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีคะแนนออกมาใกล้เคียงกันอย่างมาก รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ปธน.ทรัมป์กล่าวโจมตีมาโดยตลอด ซึ่งผลที่ตามมาอาจแบ่งได้ดังนี้
- การยื่นขอนับคะแนนใหม่: ผู้สมัครสามารถยื่นขอให้มีการนับคะแนนใหม่ภายใต้กฎหมายของแต่ละรัฐ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ต้องรอจนกว่าการนับคะแนนจะสิ้นสุดลง
- การใช้กระบวนการ Electoral College (คณะผู้เลือกตั้ง) เลือกผู้สมัครจากพรรคตนเอง: โดยปกติแล้วหากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในรัฐไหนเลือกใครเป็นประธานาธิบดี คณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นก็จะต้องเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีคนนั้นยกคณะ ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ได้คะแนน electoral vote ถึง 270 คะแนน จะถือเป็นผู้ชนะในทันที อย่างไรก็ตาม อาจเกิดเหตุการณ์ที่คณะผู้เลือกตั้งไม่เลือกผู้มัครที่ได้รับเสียงส่วนใหญ่ในรัฐของตนเอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก และบางรัฐมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้
- การยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา: เป็นการยื่นฟ้องเรื่องการลงคะแนนและขั้นตอนการนับคะแนน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2543 ในการเลือกตั้งที่ฟลอริดาระหว่างนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช กับนายอัล กอร์ ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนั้นออกมาสูสีจนต้องให้ศาลสูงสุดของสหรัฐเป็นผู้ตัดสิน
- คะแนน electoral vote จบที่ 269 - 269 ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมาก (Contingent Election): หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกประธานาธิบดี และวุฒิสภาจะเป็นผู้เลือกรองประธานาธิบดี โดยแต่ละรัฐจะโหวตได้เพียงครั้งเดียว และปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากใน 26 จาก 50 รัฐ ขณะที่เดโมแครตครองอยู่ 22 รัฐ
- ไม่มีข้อสรุปจนเลยกำหนดวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 ม.ค. 2564: ภายใต้รัฐบัญญัติการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐระบุไว้ว่า หากไม่สามารถประกาศผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้ภายในวันที่ 20 ม.ค. 2564 ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะรับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ซึ่งประธานสภาผู้แทนฯ คนปัจจุบันได้แก่ นางแนนซี เพโลซี จากพรรคเดโมแครต
*ทีมทรัมป์ยื่นฟ้องการนับคะแนนในหลายรัฐ ทีมไบเดนยันพร้อมสู้ทางกฎหมาย
ทีมหาเสียงของปธน.ทรัมป์เปิดเผยว่าได้ยื่นฟ้องศาลในรัฐเพนซิลเวเนีย มิชิแกน และจอร์เจีย เกี่ยวกับผลการนับคะแนนที่ออกมา พร้อมเรียกร้องขอให้มีการนับคะแนนใหม่ในรัฐวิสคอนซิน
ทีมหาเสียงของปธน.ทรัมป์ระบุว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ระงับการนับคะแนนในรัฐมิชิแกนและเพนซิลเวเนีย พร้อมเรียกร้องให้ทีมสังเกตการณ์นับคะแนนของพรรครีพับลิกันสามารถเข้าถึงการนับคะแนนได้ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เลือกตั้งของพรรคเดโมแครตซ่อนเร้นการนับคะแนนจากพรรครีพับลิกันได้
พร้อมกันนี้ คณะหาเสียงของทรัมป์ยังยื่นฟ้องศาลฎีกาด้วยว่า ในรัฐเพนซิลเวเนียนั้นสามารถนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่มาถึงหลังวันเลือกตั้ง 3 วันได้หรือไม่
นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ของพรรครีพับลิกันยังรายงานด้วยว่า พบเห็นการเพิ่มบัตรเลือกตั้งที่มาถึงล่าช้าเข้าในกลุ่มบัตรเลือกตั้งที่มาทันเวลาในรัฐจอร์เจีย และต้องการให้แยกบัตรทั้งสองส่วนออกจากกันเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการนับบัตรเลือกตั้งที่มาล่าช้า
ด้านทีมหาเสียงของไบเดนระบุว่า การกระทำของทีมหาเสียงทรัมป์นั้นน่าละอายและไม่เกิดประโยชน์ แต่ทีมไบเดนก็พร้อมจะต่อสู้ทางกฎหมายอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ จุดที่น่าจับตามองก็คือการที่ปธน.ทรัมป์เสนอชื่อเอมี โคนี บาร์เรตต์ เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐ แทนที่ รูท เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ที่เสียชีวิตลง เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยบาร์เรตต์เป็นผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากในศาลสูงสุดด้วยสัดส่วนถึง 6 ต่อ 3 เสียง ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินผลการเลือกตั้งเมื่อคดีเข้าสู่ศาลฎีกา
คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เราจะไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐในเร็ววันนี้ และอาจถึงขั้นต้องไปตัดสินกันในศาลอีกครั้งเหมือนเมื่อปี 2543 แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขอให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งยอมรับผลที่เกิดขึ้นและเดินหน้ากันต่อไป เพราะอย่างไรเสีย การเลือกตั้งสหรัฐก็จะมีขึ้นอีกใน 4 ปีข้างหน้า หากครั้งนี้ไม่ชนะ ก็รอโอกาสในครั้งหน้าต่อไป...