ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับตาและรอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน และโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต และแม้ในขณะนี้ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศจะยังไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่รายงานผลการเลือกตั้งของฟ็อกซ์ นิวส์ระบุว่า โจ ไบเดน กวาดคะแนนเสียงของประชาชน (Popular Vote) ไปครองกว่า 76.9 ล้านเสียง ขณะที่ทรัมป์ได้ไปประมาณ 71.9 ล้านเสียง ส่วนคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) นั้น ไบเดนนำทรัมป์ 290 ต่อ 214 คะแนน ส่งให้ไบเดนก้าวสู่ตำแหน่งว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ไปโดยปริยาย
แม้อายุจะไม่ใช่อุปสรรคต่อความมุ่งมั่นของไบเดน แต่หนทางอีกสี่ปีข้างหน้าในทำเนียบขาว ล้วนแต่มีงานใหญ่และโหดหินอ้าแขนรับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อยู่หลายด่าน ทั้งวาระเร่งด่วนเช่นการควบคุมโควิด-19 การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของสหรัฐในเวทีโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม สงครามการค้า รวมถึงการสะสางปัญหาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในอันดับต้นๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้สหรัฐดำรงความเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งมาหลายทศวรรษ ... In Focus สัปดาห์นี้ขอพาท่านผู้อ่านไปติดตามแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ต้องจับตาดูกันต่อไปหลังจากนี้
*การปฎิรูปกฎหมายมาตรา 230
เมื่อช่วงปลายเดือนพ.ค.ปีนี้ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อสั่งการให้คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (FCC) ดำเนินการทบทวนเนื้อหาในกฎหมายความเหมาะสมด้านการสื่อสาร (Communications Decency Act) มาตรา 230 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยให้แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับการยกเว้นจากข้อผูกพันทางกฎหมายในกรณีที่ผู้ใช้งานโพสต์ข้อความต่างๆ และสามารถปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่นเนื้อหาลามกอนาจาร การล่วงละเมิด และความรุนแรงได้ตามดุลยพินิจของบริษัท ซึ่งการทบทวนกฎหมายดังกล่าว อาจทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมาย
สาเหตุที่ทรัมป์สั่งให้มีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองโซเชียลมีเดียนั้น เนื่องจากเขาไม่พอใจกับการที่ทวิตเตอร์ได้ติดแถบข้อความเตือนเกี่ยวกับข่าวปลอมหรือ "เฟคนิวส์" ไว้ใต้ทวีตข้อความของเขาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ทางด้านไบเดนก็มีท่าทีต้องการให้ยกเลิกกฎหมายนี้เช่นเดียวกับทรัมป์ แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป ไบเดนให้เหตุผลว่า บรรดาสื่อโซเชียลทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้นทำงานไม่รัดกุมในการสกัดกั้นข้อมูลที่บิดเบือนและปล่อยให้มีการใช้วาทะที่สร้างความเกลียดชังเล็ดลอดออกไป เป็นการขยายวงของข่าวลวงและแนวคิดที่รุนแรงให้กระพือออกไป แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลของไบเดนจะเสนอให้มีการเพิกถอนมาตรา 230 หรือไม่ แต่ไบเดนได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ เมื่อต้นปีนี้ว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวสมควรเพิกถอนโดยทันที
*กฎหมายต่อต้านการผูกขาด
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ได้ยื่นฟ้องบริษัทกูเกิลต่อกระทรวงยุติธรรมในข้อหาผูกขาดบริการออนไลน์ จนเป็นที่น่าสงสัยว่า การที่ทรัมป์เลือกดำเนินการในกรอบระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพราะหวังผลทางการเมืองหรือไม่
จนถึงขณะนี้ การดำเนินคดีทางกฎหมายโดยรัฐบาลกลางสหรัฐยังคงเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในรอบกว่าสองทศวรรษหลังจากที่ไมโครซอฟท์เคยโดนฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้เมื่อปี 2541 โดยที่การต่อสู้ในชั้นศาลนั้นอาจกินเวลานานนับปี และหากรัฐบาลชนะคดีในทึ่สุด กูเกิลอาจถูกบังคับให้แบ่งธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อยๆ
แม้มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลไบเดนอาจไม่ดำเนินการฟ้องร้องกูเกิลด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อ แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะอะลุ้มอล่วยให้กูเกิล เนื่องจากมีสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสที่สนับสนุนการยื่นฟ้องกูเกิล หนึ่งในนั้นคือ เดวิด ซิซิลลีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐโรดไอแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนการผูกขาดธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
ขณะที่รัฐอื่นๆ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตปฏิเสธที่จะลงนามในคำสั่งฟ้องของกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากการสอบสวนกูเกิลที่พวกตนดำเนินการอยู่นั้น ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว
ในมุมมองของแบรดลีย์ ทัสก์ นักลงทุนชื่อดังและผู้ก่อตั้งบริษัททัสก์ เวนเจอร์ส คาดการณ์ว่า กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลไบเดนอาจแค่ถอนฟ้องคดีที่เคยยื่นโดยรัฐบาลกลางและเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ พร้อมกับกล่าวว่า "แม้ทรัมป์ และวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พยายามเร่งกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่คาดว่ารัฐบาลไบเดนจะแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ชอบด้วยเหตุผล และจะตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเองทั้งหมด"
ขณะที่ศาสตราจารย์มาร์ค เลมเลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาในแวดวงเทคโนโลยี แห่ง Stanford Law School แสดงความเห็นในมุมมองที่ต่างกันออกไป โดยระบุว่า หากรัฐบาลไบเดนทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลทรัมป์โดยสิ้นเชิง นั่นคงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากกว่า
"ผมไม่คิดว่าคดีนี้จะถูกปัดตกหรือถอนฟ้อง ในแง่ของการผูกขาดธุรกิจ ทั้งสองพรรคมีความเห็นไปในทางเดียวกันอยู่พอควร ผมว่าเราจะได้เห็นรัฐบาลของไบเดนรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้รอบด้านมากขึ้น เพราะหลักฐานที่มีอยู่ในตอนนี้ยังไม่มากพอ" เลมเลย์กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าไบเดนจะไม่กระโดดเข้าไปร่วมวงโดยตรง เพราะในทางปฏิบัตินั้น กระบวนการสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดนั้นจะต้องเป็นอิสระจากทำเนียบขาว จึงขึ้นอยู่กับว่าไบเดนจะเลือกใครมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประธานคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (FCC) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายให้กับวงการเทคโนโลยีนั่นเอง
*การออกวีซ่า H-1B ให้แรงงานต่างชาติ
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ออกมาตรการจำกัดแรงงานชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ รวมถึงระงับการออกวีซ่า H-1B ใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 และจะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชาวต่างชาติที่ทำงานในซิลิคอน วัลลีย์ ซึ่งมีอยู่กว่า 60% ของพนักงานทั้งหมด แน่นอนว่าบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งพากันคัดค้านนโยบายของทรัมป์ เฉพาะในอเมซอนและกูเกิลต่างก็มีผู้ถือวีซ่า H-1B บริษัทละประมาณ 9 พันคนแล้ว
เหตุผลในการระงับวีซ่าแรงงานต่างชาติก็เพื่อช่วยให้ชาวอเมริกันมีโอกาสได้งานทำก่อน ตามนโยบาย "American First" ของทรัมป์ เนื่องจากสหรัฐประสบปัญหาอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมองว่า การดำเนินนโยบายสุดโต่งเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้ชาวอเมริกันได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างที่ทรัมป์ต้องการ ในทางตรงกันข้าม มีแต่จะทำให้สหรัฐสูญเสียสถานะความเป็นผู้นำในการแข่งขัน ส่วนไบเดนนั้นได้ให้คำมั่นว่าจะยกเลิกมาตรการจำกัดการออกวีซ่า H-1B
อย่างไรก็ดี แผนการสังคายนาระบบวีซ่าสำหรับแรงงานต่างชาติทักษะสูงของไบเดนอาจจะยังไม่ชัดเจน และอาจเป็นไปได้ว่าไบเดนยังคงผลักดันให้บริษัทพิจารณาจ้างงานชาวอเมริกันก่อน แต่เป็นไปในลักษณะที่ผ่อนปรนมากกว่าทรัมป์ หากพิจารณาตามนโยบายบนเว็บไซต์หาเสียงเลือกตั้ง ไบเดนระบุว่า เขาจะสนับสนุนการออกวีซ่าให้กับแรงงานทักษะสูงเป็นจำนวนมาก และยกเลิกการออกวีซ่าพนักงานแบบจำกัดจำนวนคนตามประเทศ แต่ทั้งนี้วีซ่าสำหรับการจ้างแรงงานต่างชาติทักษะสูงแบบชั่วคราวนั้น ไม่ควรที่จะนำมาใช้เพื่อลดทอนโอกาสการจ้างแรงงานที่อาศัยในสหรัฐมาแต่เดิม โดยเฉพาะในตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาด
... หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าหลังสหรัฐเปิดศักราชการเมืองสู่ยุคใหม่โดยมีผู้นำที่ชื่อโจ ไบเดน ในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า เขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐไปในทิศทางใดในยุคที่มหาอำนาจใหม่อย่างจีนหายใจรดต้นคอเข้ามาทุกขณะ