In Focusปลุกม็อบ-ป่วนรัฐสภา ทรัมป์ทิ้งทวนก่อนอำลาทำเนียบขาว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 13, 2021 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับตาเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในสหรัฐ หลังผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ในช่วงที่สภาคองเกรสกำลังจัดประชุมร่วมระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ก่อนจะประกาศรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดน ซึ่งเหตุประท้วงในครั้งนี้ได้ลุกลามบานปลายไปถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต และยังทำให้เกียรติภูมิในด้านประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาต้องด่างพร้อยไปตราบนานเท่านาน

In Focus สัปดาห์นี้ จะขอประมวลเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ทรัมป์จะอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 แห่งสหรัฐอเมริกาในอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์

*เจ้าหน้าที่ระดับสูง-คนใกล้ชิดทรัมป์ตบเท้าลาออก

หลังเกิดเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 7 ม.ค. นางซาราห์ แมทธิวส์ รองโฆษกทำเนียบขาว ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส่วนนางสเตฟานี กริสแฮม หัวหน้าคณะทำงานของนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน โดยนางกริสแฮมระบุในแถลงการณ์ว่า "ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำงานรับใช้ชาติในทำเนียบขาว และดิฉันภาคภูมิใจที่มีส่วนในพันธกิจของท่านสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กทั่วประเทศ และภูมิใจที่สามารถทำภารกิจเหล่านั้นจนสำเร็จลุล่วง"

ทั้งนี้ แม้ถ้อยแถลงของนางกริสแฮมไม่ได้กล่าวถึงเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในอาคารรัฐสภา แต่ทุกฝ่ายต่างก็เชื่อว่า การประกาศลาออกของเธอนั้นเป็นการแสดงปฏิกริยาที่มีต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของทำเนียบขาวที่ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ นายแมทท์ พอททิงเกอร์ ผู้ช่วยของนายโอไบรอัน นายคริส ลิดเดิล ผู้ช่วยประธานาธิบดีและรองหัวหน้าฝ่ายความร่วมมือด้านนโยบายของทำเนียบขาว รวมถึงนายชาด วูล์ฟ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ (DHS) ที่ได้ประกาศลาออกหลังจากเกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้สนับสนุนปธน.ทรัมป์บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐ

*เดโมแครตยื่นถอดถอนทรัมป์-เพนซ์หักลำไม่ร่วมปลดทรัมป์

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 223 ต่อ 205 เรียกร้องให้นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ และคณะรัฐมนตรี ใช้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 (25th Amendment) เพื่อปลดปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ โดยการลงมติดังกล่าวถือเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ก่อนที่จะมีการโหวตอีกครั้งในวันนี้ (13 ม.ค.) เพื่อถอดถอนปธน.ทรัมป์

ทั้งนี้ สภาผู้แทนฯได้โหวตผ่านญัตติดังกล่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง นายเพนซ์ได้แจ้งให้นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบว่า เขาจะไม่ถอดถอนปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ โดยจดหมายที่นายเพนซ์ส่งถึงนางเพโลซีระบุว่า "ผมไม่เชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา หรือสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของเรา"

ญัตติดังกล่าวระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวเท็จเกี่ยวกับการที่เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเพราะมีการโกงการเลือกตั้ง และได้ปลุกระดมมวลชนเพื่อบุกเข้าไปยังสภาคองเกรสในวันพุธที่แล้วเพื่อขัดขวางกระบวนการประกาศรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

สภาผู้แทนฯจะส่งญัตติดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาเป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ดี คาดว่าญัตติฉบับนี้อาจถูกคว่ำในวุฒิสภา เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ แม้สภาผู้แทนฯให้การรับรองญัตติดังกล่าว แต่ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้นายเพนซ์ปลดปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และที่ผ่านมา นายเพนซ์ก็มีท่าทีปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว

*ทวิตเตอร์แบนทรัมป์ชั่วนิรันดร์-กูเกิลระงับบัญชียูทูบ 7 วัน

บริษัททวิตเตอร์ อิงค์เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ม.ค ว่า ได้สั่งปิดบัญชีทวิตเตอร์ของปธน.ทรัมป์เป็นการถาวรแล้ว หลังมีการวิพาษ์วิจารณ์มากขึ้นว่า ปธน.ทรัมป์เป็นผู้ยุยงให้กลุ่มผู้สนับสนุนบุกเข้าไปก่อเหตุรุนแรงในอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันพุธที่แล้ว โดยทวิตเตอร์ระบุว่า "หลังจากทบทวนการทวีตที่ผ่านมาจากบัญชี @realDonaldTrump และบริบทแวดล้อมทวีตเหล่านั้น เราจึงสั่งปิดบัญชีดังกล่าวเป็นการถาวร เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก"

ก่อนหน้านี้ ทวิตเตอร์ได้ประกาศระงับการใช้งานบัญชีดังกล่าวของปธน.ทรัมป์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง เนื่องจากมีการส่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความอย่างต่อเนื่องว่า เขาถูกโกงการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. 2563 และเรียกผู้ที่บุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภาสหรัฐว่า "เป็นผู้ที่รักชาติ" และยังขอให้พวกเขา "จดจำวันนี้ไปตลอดกาล"

ถึงกระนั้น ปธน.ทรัมป์ยังคงไม่ยอมแพ้ และเผยว่า เขาจะหาทางสร้างแพลตฟอร์มสื่อสารของตัวเอง หลังจากที่ทวิตเตอร์สั่งปิดบัญชี @realDonaldTrump ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ได้หันไปทวีตข้อความในบัญชี @POTUS โดยระบุว่า "เขาจะไม่เงียบ" (he will "not be SILENCED")

ทางด้าน กูเกิลยังประกาศระงับบัญชียูทูบของปธน.ทรัมป์ ซึ่งใช้ชื่อว่า "Donald J. Trump" เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน โดยบัญชีดังกล่าวมีผู้ติดตาม 2.77 ล้านคน และส่วนใหญ่ปธน.ทรัมป์จะโพสต์วิดีโอลงบนยูทูบด้วยตัวเองวันละหลายโพสต์ โดยกูเกิลระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้อัปโหลดวิดีโอที่มีเนื้อหาละเมิดนโยบายของบริษัท อย่างไรก็ดี ทางบริษัทไม่ได้เปิดเผยในขณะนี้ว่า วิดีโอใดของปธน.ทรัมป์ที่ถือเป็นการละเมิดนโยบายของบริษัท

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กและยูทูบสั่งลบวิดีโอคลิปของปธน.ทรัมป์ออกจากแพลตฟอร์ม โดยอ้างว่าคลิปดังกล่าวยุยงให้เกิดความรุนแรง หลังจากกลุ่มผู้สนับสนุนปธน.ทรัมป์ได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประกาศรับรองชัยชนะของนายไบเดน

*ผลสำรวจชี้ชาวมะกันส่วนใหญ่เห็นควรถอดถอนทรัมป์

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวอเมริกันจำนวน 570 คน ซึ่งจัดทำโดย ABC News/Ipsos หลังเกิดเหตุการณ์ม็อบบุกรัฐสภา ระบุว่า ส่วนใหญ่ราว 56% เห็นว่า ปธน.ทรัมป์ควรถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ขณะที่ 43% มองว่าไม่ควรถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่ง

ขณะที่ผลสำรวจหลายสำนักเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พบว่า 50% ของชาวอเมริกันต้องการให้ใช้กระบวนการพิจารณาไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งตามญัตติที่ 25 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ หรือบีบให้ปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ขณะที่ 43% มองว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีดังกล่าวเพื่อให้เขาลาออก

สัดส่วนชาวอเมริกันที่ต้องการให้ทรัมป์พ้นจากตำแหน่งนั้นมีเปอร์เซ็นต์สูง หลังจากที่แกนนำสภาผู้แทนราษฎร พรรคเดโมแครตเตรียมที่จะลงมติเพื่อเรียกร้องให้รองปธน.เพนซ์ ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ใช้อำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 ซึ่งอนุญาตให้นายเพนซ์และคณะรัฐมนตรีสามารถถอดถอนปธน.ทรัมป์ หากเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ทั้งนี้ หากเทียบกับเมื่อครั้งที่พรรคเดโมแครตใช้กระบวนการถอดถอนทรัมป์เมื่อเดือนก.ย. ปี 2562 จากกรณีที่ทรัมป์สนทนาทางโทรศัพท์กับปธน.โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ซึ่งส่วนหนึ่งของการสนทนา ทรัมป์ได้กดดันให้ผู้นำยูเครนเปิดการสอบสวนนายไบเดน ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนั้น รวมถึงนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายในคดีทุจริตที่เกิดขึ้นในยูเครน มีชาวอเมริกันเพียง 40% ที่เห็นด้วยกับการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งเท่านั้น

หากมองย้อนดูในประวัติศาสตร์การถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งนั้น สัดส่วนประชาชนที่ต้องการให้ถอดถอนทรัมป์มีสูงกว่าในสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อปี 2541 ซึ่งในครั้งนั้น มีชาวอเมริกันไม่ถึง 40% ที่ต้องการให้ถอดถอนนายคลินตันออกจากตำแหน่ง ส่วนในสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันนั้น มีชาวอเมริกันประมาณ 40% ที่เห็นควรให้ถอดถอนหรือบีบให้นายนิกสันลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า หลังเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอน จะมีชาวอเมริกันต้องการให้ปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่งมากกว่าการถอดถอนที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 หรือไม่ ซึ่งในครั้งนั้นปธน.ทรัมป์รอดพ้นจากการถอดถอนออกจากตำแหน่งในชั้นวุฒิสภา

*บริษัทเอกชนงดบริจาคทางการเมือง

การก่อจลาจลครั้งนี้ยังสร้างกระเพื่อมเป็นไฟลามทุ่ง ส่งผลให้บริษัทอเมริกันหลายแห่ง อาทิ เฟซบุ๊ก, กูเกิล และไมโครซอฟท์ เรียงแถวออกมาประกาศหยุดการสนับสนุนทางการเมืองของคณะกรรมการปฏิบัติการทางการเมือง (PAC) ของบริษัท โดยนายแอนดี สโตน โฆษกเฟซบุ๊กระบุในแถลงการณ์ว่า หลังเหตุการณ์รุนแรงในกรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ตัดสินใจระงับการสนับสนุนกิจกรรมของ PAC ของบริษัททั้งหมด อย่างน้อยในไตรมาสนี้ ขณะเดียวกันจะทบทวนนโยบายด้านการเมืองของบริษัทด้วย

ด้านโฆษกของกูเกิลอออกมาระบุว่า จะหยุดการสนับสนุนของ PAC ของบริษัทเป็นการชั่วคราว "เราได้ระงับการสนับสนุนทางการเมืองของ NetPAC ทั้งหมดขณะที่เราทบทวนและประเมินนโยบายใหม่อีกครั้งหลังจากเกิดเหตุวุ่นวายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว"

ส่วนไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ระงับการใช้จ่ายทางการเมืองจนกว่าจะเสร็จสิ้นการประเมินผลกระทบของเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับระบุว่า "PAC ได้หยุดการบริจาคตามปกติในไตรมาสแรกให้กับสภาคองเกรสชุดใหม่ แต่จะเพิ่มขั้นตอนในปีนี้เพื่อพิจารณาเหตุการณ์ล่าสุดเหล่านี้และหารือกับพนักงานของบริษัท"

ทางด้านแอมะซอนได้ระงับการสนับสนุนแก่สมาชิกสภาคองเกรสที่โหวตคัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยนางโจดี สมิธ โฆษกของแอมะซอนระบุว่า "เราต้องการให้มีการหารือสิ่งที่เรากังวลโดยตรงกับสมาชิกสภาฯ ที่เราได้สนับสนุนก่อนหน้านี้ และจะประเมินคำตอบที่ได้อีกครั้ง เพื่อพิจารณาการสนับสนุนของ PAC ต่อไปในอนาคต"

ทางด้านซิสโก้ก็ออกมาประกาศจะไม่ให้การสนับสนุนแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกทั้ง 147 รายที่พยายามขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของสภาคองเกรสในการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอันชอบธรรมตามกฎหมาย ขณะที่ PAC ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) มีมติให้ระงับการบริจาคเงินให้กับสภาคองเกรส ซึ่งจะมีผลไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2566 ...และล่าสุด วอลมาร์ท และวอลท์ดิสนีย์ ประกาศระงับการให้เงินบริจาคแก่นักการเมืองที่โหวตคัดค้านการรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งของนายไบเดน

... แม้ว่าในขณะนี้ ปธน.ทรัมป์จะเหลือเวลาอยู่ในวาระอีกเพียงสัปดาห์เดียวก็ตาม แต่สิ่งที่เขาได้ฝากไว้นั้น จะจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐและการเมืองโลกในฐานะกรณีศึกษาและบทเรียนสำคัญไปอีกหลายชั่วอายุคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ