In Focusหุ้นปีฉลู : วัวป่วยหรือกระทิงเปลี่ยว?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 27, 2021 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุน เนื่องจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีการแกว่งตัวอย่างรุนแรง โดยดัชนี S&P 500 ทำสถิติปรับตัวผันผวนที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ ขณะที่ได้พุ่งขึ้นหรือดิ่งลงมากกว่า 2% ในการซื้อขายมากถึง 40 วันทำการ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกจนถึงปัจจุบัน

เชื่อว่านักลงทุนคงอยากจะรู้ทิศทางของตลาดหุ้นในปีฉลูนี้ว่าจะคึกคักเหมือนกระทิง หรือจะเซื่องซึมเหมือนวัวป่วย In Focus จึงขอนำเสนอการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเตรียมรับมือและกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้น โดยขออิงการวิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตลาดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทย

*เหลียวหลังตลาดหุ้นปีชวด-ต้นร้าย ปลายดี

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวอย่างผันผวนในปี 2563 และถือเป็นปีที่สิ้นสุดภาวะกระทิงที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจจากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก และฉุดผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นได้ดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสามารถทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 19 ก.พ.2563 แต่หลังจากนั้น ตลาดก็เผชิญกับช่วงขาลงเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ขณะที่สหรัฐพบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรก ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุนเกี่ยวกับความเสียหายที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

ดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลง 9.5% ในวันที่ 12 มี.ค.2563 ทำสถิติดิ่งลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ในปี 2530 ส่งผลให้ดัชนีร่วงลง 26.7% จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนก.พ.2563 และทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเข้าสู่ "ภาวะหมี" ซึ่งหมายความว่าดัชนีได้ร่วงลงมากกว่า 20% จากระดับสูงสุด

อย่างไรก็ดี ช่วงขาลงของดัชนี S&P 500 ดำเนินไปจนถึงวันที่ 23 มี.ค.2563 ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีแตะจุดต่ำสุด ก่อนที่จะทะยานขึ้นในเวลาต่อมา และเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ก็สามารถพุ่งขึ้นเหนือระดับสูงสุดเดิมที่ทำไว้ในเดือนก.พ.ปีเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกลับเข้าสู่ภาวะกระทิงครั้งใหม่ สิ้นสุดภาวะหมีที่ถือว่าสั้นที่สุดเป็นประวัติการณ์

การฟื้นตัวของตลาดในเดือนมี.ค.2563 ได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการทางการคลังทุ่มงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ใช้มาตรการทางการเงินอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้หุ้นมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุน

ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวขึ้น และการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มีความคืบหน้ามากขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวขึ้นจากภาวะถดถอย ส่งผลให้ในช่วงสิ้นปี 2563 ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัว 7.3% ขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 16.3% ส่วนดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 43.6% ทำสถิติพุ่งขึ้นมากที่สุดภายในปีเดียวนับตั้งแต่ปี 2552

*ตลาดหุ้นปีฉลู-เริ่มต้นปีสวย ขานรับ "ไบเดน"

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ ต้อนรับการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโจ ไบเดน โดยคาดหวังว่าเขาจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาชาวสหรัฐและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ในทางการเมือง พรรคเดโมแครตสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเอื้อต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังจากที่ถูกขัดขวางก่อนหน้านี้จากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังได้ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ โดยระดมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลกลางและบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหลายพันคนเพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกัน

*วอลล์สตรีทเริ่มเป๋-นักลงทุนกลัวติดดอย, Valuation ตึงตัว

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเริ่มดิ่งลงในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลว่าหุ้นเริ่มมีราคาแพง หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์พุ่งทะลุระดับ 31,000 จุด ทำสถิติสูงสุดตลอดกาล ส่งผลให้ค่า Forward P/E Ratio ของดัชนี S&P 500 อยู่ใกล้ระดับสูงสุดในช่วงเกิดฟองสบู่ดอทคอมในปี 2543

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกว่าสหรัฐจะเผชิญความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ปธน.ไบเดนอาจถูกกดดันให้ลดวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส หลังจากที่สมาชิกสภาคองเกรสหลายรายทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งข้อสงสัยถึงความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ตลาดเกิดความไม่มั่นใจว่าปธน.ไบเดนจะสามารถทำการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวอเมริกันจำนวน 100 ล้านโดสภายใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตามที่เขาสัญญาได้หรือไม่ หลังจากที่บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และแอสตร้าเซนเนก้า ประสบปัญหาในการผลิตวัคซีนโควิด-19 จนได้ประกาศลดการส่งมอบให้กับหลายประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังเผชิญปัจจัยลบจากนโยบายภาษีของปธน.ไบเดน โดยคาดว่าเขาอาจจะต้องปรับขึ้นภาษีเพื่อหาเงินมาชดเชยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% สู่ระดับ 28% รวมทั้งเพิ่มอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากคนรวย หรือผู้ที่มีเงินได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี และอาจมีการเพิ่มอัตราภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น

*"โกลด์แมน แซคส์" เตือนวอลล์สตรีทปรับฐานรุนแรง

นายแจน แฮตซิอุซ หัวหน้านักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวเตือนว่า ตลาดหุ้นและพันธบัตรของสหรัฐอาจปรับฐานอย่างรุนแรงในไม่ช้า อันเนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการที่เฟดจะเริ่มชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุ 1% หลังจากที่พรรคเดโมแครตสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในรัฐจอร์เจีย ทำให้ทางพรรคสามารถครองอำนาจทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถือเป็นพันธบัตรอ้างอิงสำหรับตราสารหนี้ทั่วโลก การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวขึ้นเช่นกัน ทำให้บริษัทต่างๆต้องใช้เงินในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อสถานะทางการเงิน ผลประกอบการ และราคาหุ้นของบริษัท

นอกจากนี้ การที่เฟดจะเริ่มชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จะทำให้เฟดลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรงดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556

โกลด์แมน แซคส์ยังเตือนว่าตลาดยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกัน ส่วนการที่รัฐบาลสหรัฐทุ่มงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการที่เฟดอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลด้วยการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ก็อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อพุ่งขึ้น

ส่วนนายเดวิด ไทซ์ ผู้จัดการกองทุนชื่อดัง เตือนนักลงทุนว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะดิ่งลงอย่างน้อย 30% ในช่วงขาลงที่จะกินเวลา 2 ปี จากมาตรการที่ไม่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจของปธน.ไบเดน

นายไทซ์กล่าวว่า ขณะนี้ปธน.ไบเดนได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว และเตรียมเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระทบผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ เขายังเตือนว่าราคาหุ้นได้พุ่งขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานแล้ว ขณะที่วัคซีนโควิด-19 จะไม่สามารถช่วยสกัดการแพร่ระบาดได้มากนัก เนื่องจากไวรัสจะทำการกลายพันธุ์ไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการพัฒนาวัคซีนอย่างตลอดเวลา

*โพลล์ชี้นักวิเคราะห์ฟันธงวอลล์สตรีทดีดตัวปีนี้ ไม่หวั่นโควิด

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะยังคงดีดตัวขึ้นในปีนี้ โดยให้ผลตอบแทนราว 10% ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยในระยะยาว และดัชนีดาวโจนส์จะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 33,000 จุดในช่วงปลายปี โดยได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐเปิดเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะดีดตัวขึ้นอย่างมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทแบล็คร็อค ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นแตะ 2.5-3.0% ในปีนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อช่วงขาขึ้นของตลาดหุ้น เนื่องจากเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ ตามนโยบายใหม่ของเฟดที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งจะทำให้เฟดมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%

ทางด้านโกลด์แมน แซคส์คาดว่า ดัชนี S&P 500 จะมี upside 17% และปิดตลาดที่ราว 4,300 จุดในช่วงปลายปีนี้ โดยได้ปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่สดใส และอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ

มอร์แกน สแตนลีย์ และเวลส์ ฟาร์โก คาดว่า ดัชนี S&P 500 จะมี upside 6% และปิดตลาดช่วงสิ้นปีที่ 3,900 จุด ขณะที่คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีผลประกอบการพุ่งขึ้น 30%

นักวิเคราะห์จากแอลพีแอล ไฟแนนเชียล ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะยังคงดีดตัวขึ้นในปีนี้ โดยเมื่อย้อนดูการปรับตัวของตลาดหุ้นในอดีตพบว่า ในปีที่ 2 หลังเกิดภาวะกระทิง ตลาดหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนที่สูง

ส่วนแวนการ์ด ซึ่งเป็นกองทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลก คาดว่า ตลาดหุ้นสหรัฐจะให้ผลตอบแทนในช่วง 3.5-6.0% ต่อปีในช่วงทศวรรษต่อไป

*กูรูเตือนฟังหูไว้หูสำหรับคำพูดนักวิเคราะห์

ถึงแม้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีแนวโน้มสดใสในปีนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า บ่อยครั้งที่คำแนะนำจากนักวิเคราะห์ก็อาจผิดพลาดได้ โดยข้อมูลจาก FactSet ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากสถิติในอดีต พบว่า หลายครั้งที่ตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ระดับของดัชนี S&P 500 ของช่วงสิ้นปีถัดไป สูงกว่าความเป็นจริงถึง 12 ครั้ง และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลขกำไรเฉลี่ยต่อหุ้น (EPS) ของปีถัดไป สูงกว่าความเป็นจริงถึง 7%

เราคงต้องยอมรับว่าการคาดการณ์ล่วงหน้าสำหรับภาวะตลาดหุ้นในปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนมากมาย เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19, สภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งก็ยังไม่ได้แจ้งตัวเลขประมาณการผลประกอบการในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในขณะนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กยกตัวอย่างความผิดพลาดของนักวิเคราะห์ในการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในปีที่แล้วดังนี้

ในเดือนธ.ค.2562 นักวิเคราะห์ในย่านวอลล์สตรีทคาดว่าดัชนี S&P 500 จะปรับตัวขึ้นเพียง 2.7% ในปี 2563 แต่ในความเป็นจริงดัชนีได้พุ่งขึ้นถึง 16.3% ซึ่งถือเป็นมาร์จิ้นความผิดพลาดมากกว่า 13%

นอกจากนี้ ไม่มีนักวิเคราะห์แม้แต่รายเดียวที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2563 หรือคาดว่าเฟดจะทำการหั่นอัตราดอกเบี้ยและใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าตลาด

เมื่อพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ความผิดพลาดดังกล่าวก็น่าให้อภัยเนื่องจากไม่มีใครรู้มาก่อนว่าโลกจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ก็ยังคงทำผิดซ้ำซาก โดยหลังจากที่ตลาดหุ้นทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนก.พ.และมี.ค.2563 บลูมเบิร์กก็ได้ทำการสำรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์ฟันธงว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นในปี 2563 โดยจะดิ่งลงถึง 11% ทั้งที่ในความเป็นจริง ตลาดสามารถดีดตัวขึ้นในวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่เฟดออกมาตรการอัดฉีดเงินครั้งใหญ่เพื่อสกัดความตื่นตระหนกของนักลงทุน แต่นักวิเคราะห์ก็ไม่ได้นำการปรับตัวขึ้นดังกล่าวมาพิจารณารวมในการคาดการณ์ภาวะตลาดหลังจากนั้น ซึ่งถ้านักลงทุนรายใดทำการซื้อขายหุ้นโดยอิงจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในขณะนั้นก็จะตกขบวนการเข้าตลาดที่อยู่ในภาวะกระทิงครั้งใหญ่

นอกจากนี้ เมื่อมีการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ในเดือนธ.ค.ของทุกปี นับตั้งแต่ปี 2543 ไม่เคยมีนักวิเคราะห์แม้แต่รายเดียวที่คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะตกในปีถัดไป ทั้งที่ในความเป็นจริง ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทได้ร่วงลงถึง 6 ปีในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ในปี 2561 ได้ดิ่งลง 6.9% แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้น 7.5% ส่วนในปี 2545 ตลาดหุ้นทรุดตัวลง 23.3% แต่นักวิเคราะห์คาดว่าดีดตัวขึ้น 12.5%

ความผิดพลาดดังกล่าวทำให้มีการพูดเสียดสีนักวิเคราะห์ว่ามีความแม่นยำเหมือนกับที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าวันนี้จะมีท้องฟ้าสดใส แต่เมื่อทันทีที่ก้าวพ้นประตูบ้านก็พบกับพายุฝนกระหน่ำ

*สุดท้าย ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

ขอจบด้วยคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งที่พูดไว้อย่างน่าคิดว่า "คำทำนายของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นในปีนี้ ก็เหมือนกับคำทำนายที่ให้ไว้สำหรับตลาดหุ้นในปีที่แล้ว คือ หุ้นจะขึ้นค่อนข้างแน่นอน แต่ก็อาจจะตกก็ได้"

และสุดท้ายนี้ ขอมอบคาถาให้นักลงทุนท่องจำให้ขึ้นใจ เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยในตลาด

***การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน***


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ