In Focusส่องความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนยุคไบเดน ตึงเครียดขึ้นหรือผ่อนคลายลง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 10, 2021 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่นายโจ ไบเดนทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ จากเดิมที่ใช้นโยบาย "America First" ในสมัยของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ไปเป็นนโยบายที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองก็คือ ท่าทีของสหรัฐภายใต้การนำของปธน.ไบเดนที่มีต่อจีน ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นเนื่องจากเวลาที่ไบเดนเข้ามาบริหารประเทศยังไม่มาก และมีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องเร่งแก้ไข อย่างเช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น แต่ก็ยังพบว่ามีการส่งสัญญาณให้เห็นบางส่วนแล้วว่า ท่าทีของสหรัฐที่มีต่อจีนจะเป็นไปในทิศทางใด

*ภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวก แม้สหรัฐส่งสัญญาณไม่ยุติสงครามภาษี

แม้ปัจจุบันสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะลดความรุนแรงลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในสมัยของอดีตปธน.ทรัมป์ที่มีข่าวให้เห็นกันอยู่แทบจะทุกวัน แต่คณะทำงานภายใต้ปธน.ไบเดนก็ยังไม่มีการผ่อนคลายมาตรการเรียกเก็บภาษีต่างๆ (ยกเว้นในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19) หรือแสดงท่าทีว่าต้องการจะเจรจาครั้งใหม่กับจีนแต่อย่างใด

ในปี 2563 จีนยังไม่ได้ซื้อสินค้าจากสหรัฐครบตามที่ตกลงไว้ในข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำขึ้นในสมัยของคณะทำงานของอดีตปธน.ทรัมป์ ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การซื้อสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน แต่ทางสหรัฐก็ยังยืนกรานว่า จีนจะต้องซื้อสินค้าให้ครบตามสัญญา

สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (PIIE) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนม.ค. 2564 ว่า จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพียง 9.8 พันล้านดอลลาร์ จากที่สัญญาไว้ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 68% เท่านั้นของสัญญาที่ทำไว้

ทางฝั่งจีนนั้น เมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนได้เรียกร้องให้สหรัฐแสดงความเป็นมิตรเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศด้วยการยกเลิกการเรียกเก็บภาษีนำเข้า, การคว่ำบาตร และการขัดขวางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนอย่างไร้เหตุผล อย่างไรก็ตาม นายหวัง อี้ ไม่ได้กล่าวถึงข้อตกลงการค้าโดยตรง

ในส่วนของภาคเอกชนนั้น หอการค้าอเมริกันในจีน (AmCham China) เปิดเผยผลสำรวจบรรยากาศทางธุรกิจประจำปี 2564 เมื่อวันอังคารที่ 9 มี.ค.นี้บ่งชี้ว่า 45% ของบริษัทข้ามชาติจำนวน 345 แห่งที่ตอบแบบสำรวจคาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนจะพัฒนาขึ้นในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากในแบบสำรวจครั้งก่อนหน้าที่มีบริษัทเพียง 30% ที่คาดเช่นนั้น

ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 21 ต.ค. ถึง 23 พ.ย. 2563 ซึ่งมุมมองของผู้ตอบแบบสำรวจก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.นั้นแตกต่างกัน โดย 34% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจก่อนวันเลือกตั้งคาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนจะย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทที่ตอบแบบสำรวจหลังวันเลือกตั้งนั้น มีเพียง 11% เท่านั้นที่คิดแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทถึง 50% ที่กังวลว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะส่งผลเสียต่อธุรกิจของตนเอง และมีบริษัทถึง 71% ที่หวังว่าการเจรจาการค้าในอนาคตระหว่างสหรัฐกับจีนจะให้ความสำคัญกับการทำให้บริษัทต่างชาติสามารถทำธุรกิจในจีนได้ง่ายขึ้น

แม้ผลสำรวจของ AmCham จะจัดทำขึ้นก่อนปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีมุมมองที่เป็นบวกมากกว่าในสมัยของอดีตปธน.ทรัมป์

*สหรัฐขวางจีนอ้างสิทธิ์ทะเลจีนใต้ เจอสวนกลับอเมริกาเจ้าปัญหา

คณะทำงานของปธน.ไบเดนได้ออกมากล่าวโจมตีจีนตรงๆ หลายครั้ง รวมถึงนายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่ออกมาปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนเกือบทั้งหมด

ในเวลาเพียง 6 สัปดาห์แรกหลังปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง สหรัฐได้ปฏิบัติการด้านเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ 2 ครั้ง โดยส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเข้าในทะเลจีนใต้เพื่อรับรองเสรีภาพในการเดินทะเล และได้ส่งเรือรบ 2 ลำเข้าไปบริเวณช่องแคบไต้หวันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่สหรัฐมีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

อย่างไรก็ตาม นายหวัง อี้ได้กล่าวตอบโต้ประเด็นทะเลจีนใต้ว่า "ประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกคงเห็นแล้วว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความไม่มีเสถียรภาพและความเสี่ยงต่างๆ ในทะเลจีนใต้มาจากนอกภูมิภาคเป็นหลัก จีนและชาติอาเซียนมีความเข้าใจร่วมกันในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ แต่สหรัฐและชาติตะวันตกบางประเทศไม่ต้องการให้เกิดเสถียรภาพ และอาศัยข้ออ้างเรื่องเสรีภาพในการเดินทะเลเพื่อสร้างสถานการณ์"

ทั้งนี้ สหรัฐและพันธมิตรอย่างออสเตรเลียและอังกฤษได้อ้างเสรีภาพในการเดินทะเลโดยการส่งเรือเข้ามาในบริเวณพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นเขตแดนของตนเองและมีการสร้างฐานทัพบนเกาะเทียมด้วย แต่ประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างดังกล่าวของจีน และได้ยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างนั้น

*สหรัฐกล่าวหาจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน จีนโต้เป็นข้อกล่าวหาเท็จ

นายบลินเคนได้กล่าวโจมตีการปราบปรามกลุ่มชาวมุสลิมอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในเขตซินเจียงของจีนว่าเป็นการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" รวมทั้งปธน.ไบเดนเองก็ได้ออกมาเตือนว่า จีนอาจจะต้องเผชิญกับผลลัพธ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกในเรื่องการจัดการกับชาวมุสลิมอุยกูร์ในค่ายกักกันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีอื่นๆ นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังกล่าวว่า สหรัฐจะเน้นย้ำบทบาทในระดับโลกของตนเองอีกครั้งในเรื่องการพูดถึงสิทธิมนุษยชน และสหรัฐจะทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อผลักดันให้จีนปกป้องคนกลุ่มน้อยเหล่านั้น

แต่ทางฝั่งจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยนายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีนกล่าวกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียงนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และในซินเจียงมีความมั่นคงทางสังคมและการพัฒนาที่ยอดเยี่ยมหลังจากไม่มีเหตุก่อการร้ายมา 4 ปีแล้ว และในซินเจียงยังมีมัสยิดอยู่ถึง 24,000 แห่งสำหรับกลุ่มบุคคลจากทุกชาติพันธุ์

"ข้อเท็จจริงพื้นฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การบังคับใช้แรงงาน หรือการกดขี่ทางศาสนาในซินเจียง ข้อกล่าวหาเหล่านั้นมาจากความไม่รู้และอคติ มีเจตนามุ่งร้าย และหวังผลทางการเมือง" นายหวัง อี้กล่าว พร้อมระบุเสริมว่า "ประตูสู่ซินเจียงยังคงเปิดกว้าง ผู้คนจากหลายประเทศได้มาเยือนซินเจียงและได้พบกับความจริง เรายินดีต้อนรับเสมอ"

*จีนเปิดกว้างพร้อมเจรจา แต่หวังสหรัฐหยุดแทรกแซงกิจการภายใน

อย่างไรก็ตาม นายหวัง อี้ได้ย้ำว่าจีนต้องการทำงานร่วมกับสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกและภาวะโลกร้อน แต่ได้เรียกร้องให้สหรัฐหยุดก้าวก่ายในกิจการภายในของจีนโดยอ้างเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

"รัฐบาลจีนยินดีที่จะติดต่อกับสหรัฐบนพื้นฐานของความเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และหวังว่าสหรัฐจะเลิกปิดกั้นความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จีนและสหรัฐควรจัดการกับความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างระมัดระวัง และควรหาทางร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว" นายหวัง อี้กล่าว

จากข้อมูลข้างต้นก็พอจะบ่งบอกได้ว่าสหรัฐยังคงรักษาท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทะเลจีนใต้ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่เรื่องของการค้าที่ดูเหมือนว่าสหรัฐจะมีท่าทีผ่อนคลายลงกับจีนนั้น อาจจะเป็นเพราะ ไม่ได้มีการออกข่าวความขัดแย้งรายวันเหมือนกับในสมัยของปธน.ทรัมป์ และอาจเป็นเพราะ สหรัฐยังไม่ได้แต่งตั้งผู้แทนการค้า (USTR) คนใหม่อย่างเป็นทางการก็เป็นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ