หลายคนคงได้เคยเห็นคลิปวิดีโอปลอมของทอม ครู๊ซ, มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก, บารัค โอบามา และไม่เว้นแม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ โดยคลิปวิดีโอดังกล่าวทำจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า Deepfake
เรื่องของ Deepfake กลายเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้ หลังจากมีข่าวว่า สำนักข่าวเกาหลีใต้ได้สร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงมาอ่านข่าว ซึ่งเนียนจนกระทั่งเหมือนมนุษย์จริงๆ และทำให้เกิดความกังวลว่าบรรดานักเล่าข่าวอาจจะถึงคราวต้องตกงานเพราะ Deepfake หรือข่าวที่ว่ารัฐบาลทหารของเมียนมาใช้คลิปวิดีโอที่ทำมาจาก Deepfake เพื่อป้ายสีนางออน ซาน ซูจี ในข้อหาคอร์รัปชั่น สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเรื่องของ Deepfake กลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที
In Focus สัปดาห์นี้ เราจะมาเจาะลึกประเด็น Deepfake ทั้งความเป็นมา และผลดีผลเสียของเทคโนโลยีดังกล่าว
*ที่มาของคำว่า Deepfake
Deepfake มาจากคำว่า Deep Learning + Fake หมายถึงการให้คอมพิวเตอร์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning เรียนรู้อัตลักษณ์อย่างลึกซึ้งของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เช่น เสียง ใบหน้า สีผิว รูปร่าง ท่าทางการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก และร่างกายส่วนอื่น โดยให้มีการประมวลผลออกมาตามคำสั่งที่ถูกป้อนเข้าไป ทำให้ระบบสามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของบุคคลดังกล่าวอย่างสมจริง จนแทบไม่สามารถแยกได้ว่าภาพในคลิปวิดีโอเป็น AI หรือเป็นมนุษย์จริงๆ หรือพูดง่ายๆคือ Deepfake คือการสร้างคลิปวิดีโอปลอมผ่านการตัดต่อ โดยคนในคลิปไม่ได้พูดหรือทำจริงอย่างที่เห็นในคลิป
ในปี 2560 เกรียนคีย์บอร์ดตัวพ่อใน Reddit ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดเหมือนพันธุ์ทิพย์บ้านเรา และใช้สมญานามว่า Deepfake ได้ตั้งแชทรูมขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนคลิปวิดีโอของหญิงสาวโป๊เปลือยจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI โดยส่วนใหญ่เป็นภาพของดาราดังระดับโลก ได้แก่ สการ์เล็ตต์ โจฮันสัน, เอ็มมา วัตสัน หรือเทย์เลอร์ สวิฟต์ สลับหน้ากับนางแบบหนังผู้ใหญ่ด้วยการตัดต่ออย่างแนบเนียน ทำให้ทั่วโลกเริ่มระมัดระวังด้านมืดของเทคโนโลยีดังกล่าว
ความจริงเทคโนโลยี Deepfake เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว และน้อยคนที่จะรู้ว่า นักวิจัยไทยคนหนึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าว โดยในปี 2559 ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ ในวัยเพียง 27 ปี นักเรียนทุนโอลิมปิกสาขา Computer Science จากประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาในสหรัฐ และเป็นเจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในการพัฒนาการสร้างใบหน้าคนจากภาพนิ่งและวิดีโอให้กลายเป็นภาพ 3 มิติที่เคลื่อนไหวได้ด้วยโมเดลใบหน้าของคนอื่น ได้รับรางวัล Madrona Prize และรางวัลชนะเลิศในฐานะสุดยอดนวัตกรรมแห่งปีจาก GeekWire ซึ่งเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก เพราะสามารถเอาชนะผลงานชั้นนำของคู่แข่ง เช่น Amazon Flex ซึ่งเป็นระบบ Crowdsourced Delivery System, Ossia Cota เทคโนโลยีชาร์จไฟไร้สาย, Blue Origin New Shepard เทคโนโลยีปล่อยจรวดแบบนำมาใช้ซ้ำได้ และ Human Brain Atlas จาก Allen Institute for Brain Science ที่วิจัยความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสมองสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์และโรคอื่นๆ
นอกจากนี้ ดร.ศุภศรณ์และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันยังได้สร้างคลิปวิดีโอปลอมของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการทำคลิปวิดีโอแรกๆในขณะนั้นที่ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นต้นแบบ และส่งผลให้ดร.ศุภศรณ์ได้รับเชิญให้ไปกล่าวแสดงผลงานในการประชุม TED 2018 ที่นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรติให้ขึ้นเวทีระดับโลกดังกล่าว
ผู้สนใจสามารถรับชมคลิปวิดีโอการกล่าวบรรยายในงาน TED 2018 ของดร.ศุภศรณ์ (ตัวจริงเสียงจริง ไม่ใช่ทำจาก Deepfake) ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=o2DDU4g0PRo
หลังจากจบปริญญาเอกแล้ว ดร.ศุภศรณ์ได้ทำงานอยู่ในทีมวิจัยของบริษัทกูเกิล และทำงานร่วมกับ AI Foundation เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบภาพนิ่งและคลิปวิดีโอปลอม
*Deepfake เริ่มแพร่หลาย แอปมือถือเครื่องเดียวเอาอยู่
ขณะนี้ เทคโนโลยี Deepfake มีการพัฒนาไปอย่างมาก จนเราสามารถทำคลิปวิดีโอเปลี่ยนแปลงใบหน้าได้อย่างง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส โดยใช้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว จากเดิมที่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง หรือต้องทำในสตูดิโอในฮอลลีวู้ด โดยตอนนี้เราสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชั่นที่มีอยู่อย่างมากมาย เช่น DeepFace Lab, FaceApp, Face Swap, Reface, Avatarify, Wombo และ Zao
นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจยังสามารถเข้าไปยัง GitHub ซึ่งเป็นชุมชนโอเพ่นซอร์สเพื่อหาซอฟท์แวร์เกี่ยวกับ Deepfake
*Deepfake ช่วยปลุกสมาชิกครอบครัวผู้จากไปกลับมามีชีวิตใหม่
Deepfake ยังสามารถช่วยปลุกสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ เช่น พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ, นางฟลอเรนซ์ ไนติงเกล, ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ให้กลับมาเคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตอีกครั้ง ผ่านทางฟังก์ชัน DeepNostalgia ของเว็บไซต์ MyHeritage
ทั้งนี้ เทคโนโลยี Deepfake และ AI จะวิเคราะห์และประมวลผลรูปถ่ายที่มีการอัปโหลด ทำให้บุคคลในภาพสามารถกระพริบตา, ยิ้ม หรือขยับใบหน้าไปมาได้
*รัฐบาลเมียนมาใช้ Deepfake ป้ายสี "ซูจี"?
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพเมียนมาเผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 4.43 นาที โดยแสดงภาพนายอู เพียว มิน เตง มุขมนตรีนครย่างกุ้ง ออกมาให้การว่า เขาเคยให้สินบนแก่นางออน ซาน ซูจี เป็นเงินจำนวน 600,000 ดอลลาร์ หรือราว 18 ล้านบาท และทองคำหนัก 10 กิโลกรัม รวมทั้งผ้าไหมจำนวนหนึ่ง ระหว่างเดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนมีนาคม 2561 เพื่อแลกกับการที่นางซูจีจะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นายอู เพียว มิน เตง ในการทำงานในนครย่างกุ้ง
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เสียงพูดของนายอู เพียว มิน เตง ไม่ตรงกับการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก และเสียงในคลิปวิดีโอก็ไม่เหมือนเสียงของเขา ทำให้มีการพูดกันว่า คลิปวิดีโอนี้อาจเป็นคลิปปลอมที่ทำมาจากเทคโนโลยี Deepfake
แต่นายแซม เกรกอรี่ ผู้อำนวยการโครงการ WITNESS ซึ่งทำหน้าที่สอดส่องสื่อดิจิทัลด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เป็นการยากที่จะฟันธงว่าคลิปวิดีโอนี้ทำจาก Deepfake เนื่องจากไฟล์ของวิดีโอมีคุณภาพต่ำ ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และการที่นายอู เพียว มิน เตง มีท่าทางที่ดูไม่เป็น "ธรรมชาติ" ก็เพราะเขามีความเครียดจากการถูกบังคับให้กล่าวคำสารภาพ มากกว่าที่จะเกิดจากการใช้เทคโนโลยี Deepfake
*นักเล่าข่าว, ศิลปินนักร้องเตรียมตกงาน หลังเทรนด์ Deepfake มาแรง
แม้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า Deepfake จะเป็นเหมือนคลื่นยักษ์สึนามิที่จะดิสรัปวงการสื่อหรือวงการบันเทิง แต่ขณะนี้ก็มีสัญญาณบ่งบอกว่า เทคโนโลยีดังกล่าวได้เริ่มส่งผลกระทบต่อทั้งสองวงการแล้ว หลังมีข่าวว่า สำนักข่าว MBN News ของเกาหลีใต้ ได้สร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงจากเทคโนโลยี Deepfake โดยสามารถเลียนแบบน้ำเสียง, ใบหน้า และการแสดงอารมณ์ได้เหมือนกับคนจริงๆ
นอกจากนี้ ทางสำนักข่าวยังมีแผนที่จะใช้ผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงนี้ทำหน้าที่รายงานข่าวด่วน และข่าวต้นชั่วโมง ขณะที่ Moneybrain ซึ่งเป็นบริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีนี้ ก็มีแผนที่จะนำเสนอเทคโนโลยี Deepfake ให้แก่สำนักข่าวอื่นๆในจีนและสหรัฐ
จากการสอบถามความเห็นของผู้ชมทางบ้านต่อการใช้ผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงนี้ บางส่วนระบุว่ารู้สึกทึ่งที่เทคโนโลยี Deepfake สามารถสร้างผู้ประกาศข่าวที่เหมือนมนุษย์มาก แต่บางส่วนก็รู้สึกวิตกว่าผู้ประกาศข่าวตัวจริงอาจต้องตกงาน หลังการมาถึงของเทคโนโลยี Deepfake
ขณะเดียวกัน วงการเคป๊อปยังได้เปิดตัว Eternity ซึ่งเป็นเกิร์ลกรุ๊ปวงแรกที่เกิดจากเทคโนโลยี AI และมีการเปิดตัวมิวสิควีดีโอเพลงเดบิวต์ที่มีชื่อว่า "I'm Real"
สำหรับเมมเบอร์ของวง Eternity มีชื่อว่า Minji, Seoa, Sujin, Dain, Yeoreum, Yejin, Jaein, Jiwoo, Hyejin, Sarang และ Chorong
บริษัท Pulse9 ได้สร้างนักร้องสาวทั้ง 11 คนนี้จากเทคโนโลยี Deepfake ซึ่งก่อนที่จะมีการสร้างคาแรกเตอร์ของแต่ละคน ทางบริษัทก็ได้เปิดให้มีการโหวต และสร้างหน้าตาให้แต่ละคนมีความแตกต่าง และมีบุคลิกเฉพาะตัว
*ทั่วโลกตื่นตัวคุม Deepfake เหตุมีคุณอนันต์-โทษมหันต์
ถึงแม้เทคโนโลยี Deepfake มีประโยชน์อย่างมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีการใช้ในทางที่ผิด ก็จะสร้างความเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างการใช้ Deepfake ในด้านมืดที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ การทำคลิปวิดีโออนาจารโดยใช้ใบหน้าของดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง, การทำคลิปปลอมเพื่อหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ตำรวจสหรัฐได้จับกุมคุณแม่วัย 50 ปีคนหนึ่ง จากการที่เธอพยายามสกัดคู่แข่งในทีมเชียร์ลีดเดอร์ของลูกสาว ด้วยการส่งภาพและคลิปตัดต่อด้วย Deepfake เป็นภาพโป๊เปลือย ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ไปให้เหยื่อและโค้ชของทีมเชียร์ลีดเดอร์ เพื่อให้เหยื่ออับอายและถอนตัวออกจากทีมในที่สุด
Deepfake ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการสร้างข่าวปลอมหรือ Fake news เพราะผู้รับข้อมูลจะสามารถเห็นด้วยตาและได้ยินด้วยหูของตนเองโดยตรง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การส่งต่อหรือเล่าต่อแบบข่าวปลอมทั่วๆไป
ปัจจุบัน Deepfake ถูกจัดเป็นภัยคุกคามตัวใหม่ต่อความมั่นคงในหลายๆ ประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีความวิตกกันว่าตลาดหุ้นทั่วโลกคงร่วงระนาว หากมีมือดีปล่อยคลิปปลอมของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาประกาศว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 5% เพื่อสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ หรือมีคลิปวิดีโอปลอมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศกร้าวว่าสหรัฐและรัสเซียจะทำสงครามนิวเคลียร์ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
ขณะนี้ องค์กรต่างๆทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในทางที่ผิด ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง รวมทั้ง Facebook และ Youtube ก็ได้พัฒนาระบบในการตรวจสอบภาพและวิดีโอว่าเป็นของจริง หรือมีการตัดต่อด้วย Deepfake
ทางด้านหน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของจีนได้มีคำสั่งเรียกบริษัทเทคโนโลยีในประเทศจำนวน 11 แห่ง ซึ่งรวมถึง อาลีบาบา กรุ๊ป, เทนเซนต์ และไบต์แดนซ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี Deepfake บนแพลตฟอร์ม โดยให้ทางบริษัททำการประเมินความปลอดภัย และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว และให้ส่งรายงานไปยังรัฐบาลเมื่อมีการวางแผนที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่หรือบริการข้อมูลใหม่ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนสังคม
ผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนว่าเทคโนโลยี AI ก็เหมือนสัตว์ร้ายที่มนุษย์จะต้องคุมให้อยู่ มิฉะนั้นมนุษย์จะกลายเป็นเหยื่อเสียเอง เราจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างมีสติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจและสังคม