ชิป (Chip) เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านของเราตั้งแต่ทีวี, ไมโครเวฟไปจนถึงแล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากเราไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตของพวกเราจะยุ่งยากเพียงใด และตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤต "ชิป" ขาดตลาด
อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องใช้ชิปในการผลิตสินค้ากำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนชิป และเนื่องจากสินค้าที่ต้องอาศัยชิปนั้นเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างมาก ดังนั้น การขาดแคลนชิปจึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดโลก
In Focus สัปดาห์นี้ จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับทราบที่มาที่ไปของวิกฤตขาดแคลนชิปทั่วโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพวกเราในท้ายที่สุดในฐานะที่เป็นผู้ใช้สินค้าที่มีชิปเป็นส่วนประกอบ
*โควิด-19 ต้นตอหลักทำชิปขาดตลาด
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้โรงงานผลิตชิปทั่วโลกต้องปิดการผลิตชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณชิปลดน้อยลง สวนทางกับความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในช่วงที่โควิด-19 ระบาด การที่ต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น การทำงาน และการเรียนออนไลน์ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งการผลิตสินค้าเหล่านั้นล้วนมีชิปเป็นส่วนประกอบ
*สงครามการค้าสหรัฐ-จีน มีส่วนทำให้ชิปขาดแคลน
มาร์ก หลิว ประธานของไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (TSMC) เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนชิป
นายหลิวกล่าวว่า ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน และเร่งผลักดันให้บางบริษัทเพิ่มคำสั่งซื้อชิปเป็นสองเท่าเพื่อเพิ่มสต็อกสินค้าคงคลัง และการที่สหรัฐคว่ำบาตรบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ก็เร่งให้บริษัทอื่นๆ เพิ่มการผลิตสินค้าที่ต้องใช้ชิปเพื่อเสียบแทนส่วนแบ่งตลาดของหัวเว่ยด้วย
*ปัญหาชิปขาดตลาด ใครได้ ใครเสีย
ค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง เจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ของสหรัฐ ตลอดจนบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างแอปเปิล, ซัมซุง ไปจนถึงโซนี่ เจ้าของเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 5 ต่างเผชิญปัญหาในการผลิตสินค้าที่มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนชิป
อุตสาหกรรมรถยนต์ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ตัดสินใจที่จะป้อนชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนที่จะผลิตให้กับค่ายรถยนต์ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีมีการสั่งชิปจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และให้ผลกำไรมากกว่า นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียังมีแนวโน้มที่จะต้องการชิปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ยังได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตชิปด้วย ทำให้บริษัทรถยนต์จำต้องเข้าคิวรอซัพพลายจากผู้ผลิตชิป
ปัญหาขาดแคลนชิปนั้นทำให้ GM ของสหรัฐต้องสั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชั่วคราว 3 แห่ง พร้อมระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข ก็อาจทำให้ปีนี้บริษัทต้องสูญเสียรายได้มากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฟอร์ด มอเตอร์, โฟล์คสวาเกน และนิสสัน มอเตอร์ ต่างก็ต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปเช่นเดียวกัน
*สหรัฐเดือดร้อนหนัก ชิปขาดแคลนกระทบหลายอุตสาหกรรม
ปัญหาชิปขาดตลาดส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมจำนวนมากของสหรัฐตั้งแต่เวชภัณฑ์ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า โดยในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่รอช้ารีบลงนามคำสั่งบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลนให้ได้ภายใน 100 วัน หลังจากที่ปัญหาชิปขาดตลาดส่งผลให้หลายบริษัทในสหรัฐต้องลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้ออกมายอมรับว่า คำสั่งผู้บริหารของไบเดนอาจไม่สามารถแก้ปัญหาชิปขาดแคลนได้ในทันที แต่หวังว่าจะนำไปสู่แผนการระยะยาวเพื่อป้องกันการเกิดปัญหานี้ขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐยังกำลังมองหาหนทางอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสำหรับผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐด้วย
รัฐบาลสหรัฐได้ประสานงานกับอุตสาหกรรมยานยนต์เกี่ยวกับการจัดหาชิปซึ่งใช้ในระบบรถยนต์ และมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เพิ่มการผลิตชิปในประเทศมากขึ้นด้วย โดยในจดหมายที่ส่งถึงปธน.ไบเดนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมานั้น หลายอุตสาหกรรม รวมถึงสมาคมเทคโนโลยีการแพทย์และสมาคมผู้ผลิตอุปกรณ์ยานยนต์ระบุว่า สหรัฐควรเสนอแรงจูงใจให้มีการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ เพื่อที่สหรัฐจะได้ไม่ต้องพึ่งพาชิปจากจีนและไต้หวัน และจะได้แข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพกับประเทศอื่นๆ ที่ลงทุนด้านการผลิตชิปด้วย
TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวันก็เพิ่งเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ทางบริษัทวางแผนลงทุนมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับอุปสงค์ชิปที่เพิ่มขึ้น
แถลงการณ์ของ TSMC ระบุว่า "บริษัทคาดว่าจะลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวล้ำ โดย TSMC ได้ร่วมมือกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างต่อเนื่อง"
*วิกฤตชิปขาดตลาดจะยืดเยื้อถึงเมื่อใด
บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ในการแก้ไขปัญหาชิปขาดตลาดที่เข้าขั้นวิกฤตนี้ อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าที่โรงงานผู้ผลิตชิปจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการได้จนทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และในขณะนี้ผู้ผลิตชิปได้มีการปรับขึ้นราคาชิปไปแล้ว 2 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
นายหวัง เซียง (Wang Xiang) ประธานบริษัทเสียวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของจีนเปิดเผยว่า สถานการณ์ชิปขาดตลาด อาจทำให้บริษัทต้องขึ้นราคาสินค้าในอนาคต และผลกระทบอาจจะตกไปถึงผู้บริโภคได้ในบางกรณี แต่บริษัทจะพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้ดีที่สุด พร้อมทิ้งท้ายว่า "เรารู้สึกกดดัน แต่ยังโอเคอยู่"
จอร์แดน วู ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไฮแมกซ์ เทคโนโลยีส์ โคซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปของไต้หวันเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า "ผมไม่เคยเจอวิกฤตแบบนี้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ทุกแอปพลิเคชันขาดแคลนชิป"
"ผมไม่คาดว่าวิกฤตขาดแคลนชิป โดยเฉพาะในวงการรถยนต์จะสิ้นสุดลงในเร็วๆนี้ เรายังไปไม่ถึงจุดที่จะสามารถมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" นายวูกล่าวทิ้งท้าย
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า การขึ้นราคาชิปอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างพวกเราตามมาในที่สุด โดยเราอาจจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม เนื่องจากราคาโทรศัพท์มือถือ, ทีวี, เครื่องเล่นเกมคอนโซลไปจนถึงรถยนต์ จะแพงขึ้นตามราคาชิป หากยังผู้ผลิตทั่วโลกยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้