In Focusส่องสถานการณ์โควิดอินเดีย วิกฤตร้ายแรงที่ทั่วโลกเฝ้าระวัง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 5, 2021 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังคงน่าเป็นห่วง โดย Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมทั่วโลกอยู่ที่กว่า 154,900,000 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่กว่า 3,240,000 ราย โดยประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นอินเดีย ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักแสนต่อวัน

*ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด

ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2564 ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอินเดีย เพิ่มขึ้นหลัก 1 หมื่นรายต่อวัน และยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลัก 10 ล้านราย จนกระทั่งกลางเดือนมี.ค. ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสู่หลัก 3 หมื่นรายต่อวัน จากนั้นไต่ระดับเป็น 5 หมื่นรายต่อวันในช่วงสิ้นเดือนมี.ค. และพุ่งทะลุระดับ 1 แสนรายต่อวันในช่วงต้นเดือนเม.ย.

วันที่ 12 เม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียพุ่งขึ้นแซงหน้าบราซิล ขึ้นเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ ต่อมาในวันที่ 15 เม.ย. ยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียพุ่งทะลุ 2 แสนรายต่อวัน และในวันที่ 22 เม.ย. ยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียพุ่งทะลุ 3 แสนรายต่อวัน จนกระทั่งวันที่ 1 พ.ค. ยอดผู้ติดเชื้อก็พุ่งทะลุ 4 แสนรายต่อวัน และล่าสุด ณ วันที่ 5 พ.ค. ยอดรวมผู้ติดเชื้อในอินเดียมีมากกว่า 20,600,000 ราย และยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 226,000 ราย

*การรับมือโรคระบาด

เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอันหนักหน่วง กระทรวงการคลังอินเดียประกาศงดการจัดเก็บภาษีนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 และสารที่ใช้ในการผลิตยาดังกล่าว เพื่อให้มีการผลิตยาเรมเดซิเวียร์เพิ่มขึ้น ขณะที่ลดต้นทุนในการผลิต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว โดยคำสั่งงดการจัดเก็บภาษีนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์จะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ต.ค.

นอกจากนี้ อินเดียยังเร่งสร้างโรงผลิตออกซิเจนทางการแพทย์กว่า 500 แห่ง ในขณะที่โรงพยาบาลทั่วประเทศประสบปัญหาขาดแคลนออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยโรงผลิตออกซิเจนเหล่านี้จะตั้งขึ้นตามโรงพยาบาลของรัฐบาลในรัฐต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบสาธารณสุข

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (3 พ.ค.) อินเดียได้อนุมัติใช้ยาแก้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยยาเม็ดบาริซิทินิบ (Baricitinib) ของบริษัท แนทโค ฟาร์มา (Natco Pharma) ในอินเดีย ได้รับอนุมัติจากองค์กรควบคุมมาตรฐานยาส่วนกลาง (CDSCO) ให้ใช้งานในกรณีฉุกเฉินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยใช้ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์

*ความหวังวัคซีน

จนถึงขณะนี้ มีวัคซีนต้านโควิด-19 รวม 3 ตัวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในอินเดีย ได้แก่ วัคซีน Covishield ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีน COVAXIN ของบริษัทภารัต ไบโอเทค และวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย โดยวัคซีน Sputnik V ล็อตแรก จำนวน 150,000 โดส เดินทางจากรัสเซียมาถึงอินเดียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 พ.ค.)

ขณะเดียวกัน อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอบริษัทบิออนเทค ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย ด้านนายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฟเซอร์ เปิดเผยว่า บริษัทกำลังหารือกับรัฐบาลอินเดียเพื่อเร่งให้วัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค สามารถใช้งานในอินเดียได้ หลังจากที่วัคซีนตัวนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติในอินเดีย ทั้งที่บริษัทได้ยื่นเอกสารไปเมื่อหลายเดือนก่อน นอกจากนี้ บริษัทยังพร้อมบริจาคยารักษาโรคโควิด-19 รวมมูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์ให้อินเดียด้วย

ณ วันจันทร์ (3 พ.ค.) มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศอินเดียไปแล้วกว่า 157 ล้านราย นับตั้งแต่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 16 ม.ค.

*ความช่วยเหลือจากนานาชาติ

หลายประเทศในยุโรปได้ระดมให้ความช่วยเหลืออินเดีย โดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประกาศให้การสนับสนุนออกซิเจนแก่อินเดีย ด้านอังกฤษได้ส่งชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้อินเดีย ทั้งถังออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ต้องใส่ท่อช่วย และอุปกรณ์ช่วยหายใจด้วยมือ นอกจากนี้ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็ได้ส่งความช่วยเหลือให้กับอินเดียเช่นกัน

ด้านคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ประกาศว่า สหรัฐได้ส่งวัตถุดิบที่จำเป็นแก่อินเดียในการผลิตวัคซีน Covishield ตลอดจนยารักษาโรค ชุดตรวจวินิจฉัยโรคชนิดเร็ว เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ป้องกัน นอกจากนี้ สหรัฐจะส่งทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ไปยังอินเดียด้วย

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เพื่อเสนอให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินแก่อินเดีย โดยรัสเซียได้จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์น้ำหนักมากกว่า 22 ตันแก่อินเดีย ซึ่งรวมถึงเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ และเวชภัณฑ์

ด้านนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้หารือกับนายโมดีทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศส่งเครื่องช่วยหายใจ 300 เครื่อง และเครื่องผลิตออกซิเจน 300 เครื่องให้กับอินเดีย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะพิจารณามอบความช่วยเหลือแก่อินเดียเพิ่มเติม โดยประเมินจากสถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบาดในประเทศ

*ระบาดออกนอกประเทศ

เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) อาจมีความสามารถในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ต่อมาในช่วงปลายเดือนเม.ย. WHO เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียได้แพร่ระบาดไปแล้วในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย บาห์เรน นิวซีแลนด์ เยอรมนี อิสราเอล ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ โปรตุเกส เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียก็พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียแล้ว

ความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์อินเดียก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก หลายประเทศจึงป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เชื้อหลุดรอดเข้าประเทศได้ เช่น อังกฤษประกาศขึ้นบัญชีอินเดียในกลุ่มประเทศสีแดง ทำให้ผู้ที่เดินทางจากอินเดียไม่สามารถเข้าสู่ประเทศอังกฤษได้ ส่วนนิวซีแลนด์กำหนดให้อินเดียเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 สูงอย่างมาก โดยผู้เดินทางจากอินเดียจะถูกจำกัดให้สามารถเข้าประเทศได้เฉพาะผู้ที่เป็นพลเมืองของนิวซีแลนด์ คู่สมรสและบุตร ตลอดจนผู้ปกครองของบุตรซึ่งเป็นพลเมืองนิวซีแลนด์

ด้านเยอรมนีกำหนดให้อินเดียเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ในระดับสูง และได้มีคำสั่งจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเว้นชาวเยอรมันที่เดินทางมาจากอินเดียจะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศได้ แต่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนขึ้นเครื่องบิน และกักตัวเป็นเวลา 14 วันทันทีที่เดินทางมาถึงเยอรมนี ส่วนสหรัฐประกาศห้ามผู้เดินทางจากอินเดียที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐเข้าประเทศ

ออสเตรเลียประกาศห้ามเที่ยวบินตรงจากอินเดียเดินทางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว นอกจากนั้นยังห้ามพลเมืองออสเตรเลียกลับจากอินเดียเข้าประเทศ โดยผู้อยู่อาศัยและพลเมืองชาวออสเตรเลียซึ่งอยู่ในประเทศอินเดียภายใน 14 วันก่อนเดินทางกลับประเทศนั้น จะถูกสั่งห้ามเดินทางเข้าออสเตรเลีย โดยคำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ (3 พ.ค.) และผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกปรับและลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี

กัมพูชามีคำสั่งห้ามชาวอินเดีย นักเดินทางต่างชาติทุกคนที่อาศัยในอินเดีย หรือผู้มีประวัติเดินทางผ่านอินเดีย เข้าสู่กัมพูชาระยะหนึ่งจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม นอกจากนี้ นักเดินทางต่างชาติที่มีประวัติเยือนอินเดียภายใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะถูกห้ามเข้ากัมพูชาด้วย ด้านมาเลเซียประกาศระงับเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกจากอินเดียชั่วคราว ขณะที่เรือและพลเรือนสัญชาติอินเดียที่มีใบอนุญาตทำงานในมาเลเซียไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ส่วนของไทยเรานั้น ผู้ที่มาจากอินเดียและจะเข้าไทยได้ มีเพียงผู้ที่ถือสัญชาติไทยเท่านั้น

*ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

แบงก์ ออฟ อเมริกา เคยคาดการณ์ว่า อินเดียจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐและจีนภายในปี 2571 แต่เมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค. แบงก์ ออฟ อเมริกา คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้เส้นทางที่อินเดียจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 แซงหน้าญี่ปุ่นนั้น ต้องช้าออกไปอีกนานถึง 3 ปี หรือในปี 2574 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าเป้าหมายดังกล่าวอาจต้องเลื่อนออกไปอีก

เมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย. เอสแอนด์พี โกลบอล ระบุว่า การแพร่ระบาดระลอก 2 ของโรคโควิด-19 ในอินเดียอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง และอาจทำให้ภาคธุรกิจสะดุดลงด้วย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการค้าปลีกสินค้าผู้บริโภคและธุรกิจการบินจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่ของอินเดีย ขณะที่ภาคธนาคารของอินเดียอาจจะยังคงเผชิญความเสี่ยงเชิงระบบในระดับที่สูงมาก

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในอินเดียยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลกลางยังไม่ตัดสินใจที่จะใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเด็ดขาด และมีการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดระลอก 2 ในอินเดียจะถึงจุดรุนแรงที่สุดในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ โดยนอกจากรัฐมหาราษฏระ รัฐคุชราต และกรุงนิวเดลีแล้ว ยังมีรัฐอุตตรประเทศที่จ่อขึ้นเป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงแห่งใหม่ หากการแพร่ระบาดถึงจุดสูงสุดแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อโควิดของอินเดียจะพุ่งสูงแตะ 500,000 รายต่อวัน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงในช่วงเดือนมิ.ย.และก.ค. ... พวกเราก็คงได้แต่เอาใจช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในอินเดียลดลงจริงๆ เมื่อถึงเวลานั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ