In Focusเปิดปมกระแสความเกลียดชังชาวเอเชียในสหรัฐ ความขัดแย้งร้าวลึกที่รอการแก้ไข

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 12, 2021 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระแสความเกลียดชังชาวเอเชียลุกลามไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน ชาวเอเชียตกเป็นแพะรับบาป และถูกตีตราว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ในสหรัฐ โดยอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชังชาวเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ภาพข่าวคนชราและสตรีถูกทำร้ายจนเสียชีวิตสร้างความหดหู่และความโกรธแค้นในโลกสังคมออนไลน์ และลุกลามจนเกิดแฮชแท็ก #StopAsianHate เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย

In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านสืบเสาะหาสาเหตุ ผลกระทบ รวมถึงความพยายามยุติความขัดแย้งที่ร้าวลึกภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ

*อาชญากรรมจากความเกลียดชังที่ลุกลามทั่วประเทศ

"ความเกลียดชังต้องไม่มีพื้นที่หลบภัยอีกต่อไปในสหรัฐ มันต้องหมดสิ้นไป พวกเราทุกคนต้องร่วมกันทำให้มันหมดไป" นี่คือถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ที่กล่าวประณามอาชญากรรมความเกลียดชังที่มุ่งโจมตีชาวเอเชีย หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงหญิงเอเชียในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความหวาดผวาและความคับแค้นใจให้แก่ประชาคมโลก แต่ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สังคมหันกลับมาตั้งคำถามอย่างจริงจังและให้ความสนใจกับกระแสความเกลียดชังชาวเอเชียที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี อาชญากรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก องค์กรยุติความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก (AAPI) เปิดเผยว่า ทางองค์กรได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชังประมาณ 3,800 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563 จนถึง 28 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยทางองค์กรได้รับแจ้งเหตุเหยียดเชื้อชาติที่มุ่งเป้าไปที่ชาวเอเชียรวม 3,795 ครั้ง ตั้งแต่การคุกคามด้วยวาจา แสดงความรังเกียจ ทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางออนไลน์ ตลอดจนการละเมิดสิทธิพลเมือง

ขณะเดียวกัน รายงานจากศูนย์ศึกษาอาชญากรรมที่มีสาเหตุจากความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่ง มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานเบอร์นาร์ดิโน (CSUSB) เปิดเผยว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียที่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใน 16 เมืองใหญ่และเทศมณฑลของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 164% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

รัฐนิวยอร์กซึ่งมีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่มากที่สุด พบอาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชีย 42 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้น 223% ในไตรมาส 1/2564 ขณะที่เมืองอื่นๆ ที่มีชาวเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมากต่างรายงานการพบเหตุอาชญากรรมในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้นแตะระดับเลขสองและสามหลัก โดยซานฟรานซิสโกพบคดีที่เชื่อมโยงกับการทำร้ายชาวเอเชีย 12 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้น 140% ขณะที่ลอสแองเจลิส เกิดอาชญากรรมต่อต้านชาวเอเชีย 9 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้น 80% ส่วนในบอสตัน พบ 8 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าจำนวนเหตุการณ์ที่ได้รับแจ้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริง โดยรัสเซล จึง ศาสตราจารย์ประจำสาขาเอเชียอเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยรัฐในซานฟรานซิสโกแสดงความเห็นว่า "มันยากที่จะบอกได้ว่าพบอาชกรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียมากขึ้น หรือเป็นเพราะประชาชนกล้าออกมาแจ้งความกันมากขึ้น เนื่องจากประชาชนทั่วไปและสื่อหันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้น"

*ชนวนความเกลียดชัง : มรดกจากโควิดและทรัมป์

อาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียหลายคนได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและถูกคุกคามด้วยการเหยียดเชื้อชาติมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ปฎิเสธไม่ได้ว่าบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเติมเชื้อเพลิงแห่งความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคือ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำฝีปากกล้าในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง ทรัมป์แสดงถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ความขัดแย้งกับชาวอเมริกันเชื้อสายละตินอเมริกาในประเด็นการสร้างกำแพงกั้นดินแดนที่ติดกับเม็กซิโก จนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เขาเรียกว่า "ไวรัสจีน" "ไวรัสอู่ฮั่น" หรือ "กังฟลู" (kung flu) หรือหวัดจากจีน พร้อมตอกย้ำว่าจีนเป็นประเทศที่สร้างความหายนะแก่สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมากในสหรัฐมองภาพคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเปลี่ยนไป พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากความเกลียดชังอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

คาร์ธิค รามกฤษนัน ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์แสดงความเห็นว่า แม้ว่าเราจะไม่สามารถกล่าวโทษทรัมป์ได้ทั้งหมดว่าเป็นสาเหตุของความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้น แต่วิวาทะทางการเมืองของเขา รวมถึงการขานนามไวรัสโควิด-19 ว่าเป็นไวรัสจีน มีส่วนส่งเสริมและกระตุ้นความเกลียดชัง ตลอดจนสร้างเรื่องเล่าใหม่ๆ ให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

คำพูดของทรัมป์ไม่เพียงแต่สร้างความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย แต่ยังสร้างภาพความเป็นคนอื่นให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยมองว่าพวกเขาเป็น "คนต่างชาติ" ไม่ใช่พลเมืองชาวอเมริกัน ตามที่ดอริส ชาง นักจิตวิทยาคลินิกและรองศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุว่า "ในช่วงเวลาของการขาดเสถียรภาพทางสังคม, การเมือง และเศรษฐกิจเช่นนี้ ชาวเอเชียถูกมองว่าเป็นคนชายขอบและชาวต่างชาติ รวมทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ"

ขณะเดียวกัน รัคเกอร์ จอห์นสัน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์มองว่า ภาพความเป็นคนอื่นและแนวคิดที่มองชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นคนต่างชาติมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิดว่าชาวเอเชียไม่ใช่พวกเรา และนำไปสู่ความรุนแรงทั้งทางกายและวาจา โดยเขากล่าวว่า "เมื่อผู้คนมองว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียว่าเป็น ?คนต่างชาติ? มากขึ้น พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะแสดงความเป็นปรปักษ์ และใช้ความรุนแรง รวมถึงการเลือกปฏิบัติ"

*มาตรการรับมือจากภาครัฐ : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อกระแสการเหยียดเชื้อชาติที่ทวีความรุนแรงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปธน.ไบเดนในฐานะผู้นำคนใหม่ของสหรัฐได้สร้างความเชื่อมั่นแก่ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ผ่านการลงนามในคำสั่งที่มีชื่อว่าบันทึกการประณามและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ, การเกลียดกลัวคนต่างชาติ และการไม่ยอมรับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกในสหรัฐ นับตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี อีกทั้ง นายไบเดนยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เป็นระยะๆ เพื่อสื่อสารว่า รัฐบาลสหรัฐนั้นให้ความสำคัญกับพวกเขา และพยายามหาทางออกเพื่อปกป้องพวกเขา

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่หญิงชาวเอเชียอันน่าสลดใจไม่กี่สัปดาห์ ปธน.ไบเดนประกาศดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้ความรุนแรงจากการเลือกปฏิบัติที่เพิ่มสูงขึ้นต่อคนเชื้อสายเอเชีย โดยเขาได้จัดสรรเงินจำนวน 49.5 ล้านดอลลาร์ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ American Rescue Plan มาช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากอาชกรรมความเกลียดชัง

นอกจากมาตรการเยียวยาทางการเงินนั้น เมื่อวันที่ 23 เม.ย. วุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการก่ออาชญากรรมจากการเหยียดเชื้อชาติในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียด้วยคะแนนท่วมท้น 91 ต่อ 1 เสียง ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ ออกแนวทางเพื่อสร้างความตระหนักถึงอาชญากรรมจากความเกลียดชังในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด ตลอดจนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจัดทำช่องทางออนไลน์สำหรับการรายงานเหตุอาชญากรรม

นางเมซี ไฮโรโน วุฒิสมาชิกจากรัฐฮาวายสังกัดพรรคเดโมแครตและเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกล่าวว่า "การผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้เป็นการส่งสารที่ชัดเจนและตรงประเด็น ไปยังหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวเอเชียบนหมู่เกาะแปซิฟิก"

แม้จะมีความสนใจเพิ่มขึ้นต่อกระแสเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงการออกมาตรการทางการเมืองเพื่อระงับเหตุความเกลียดชัง กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า เหตุความรุนแรงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียยังคงจะดำเนินต่อไป โดยนายไบรอัน เลอวิน ศาสตราจารย์ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในซานเบอร์นาดิโนแสดงความเห็นว่า "โทนเสียงของไบเดนที่แตกต่างจากคณะบริหารชุดเก่า ?อาจจะ? ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่วาทศิลป์ทางการเมืองของเขานั้นยังไม่หนักแน่นพอที่จะยุติคลื่นแห่งความเกลียดชังนี้ ยังคงจะมีกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับอคติทางเชื้อชาติที่ตื้นเขินและอคติที่ฝังรากลึก"

ด้านวาน ทราน รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาประจำศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งนิวยอร์กมองว่า การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลาและความพยายามอย่างมาก หากไม่มีความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระดับโครงสร้าง รวมถึงส่งเสริมการปลูกฝังและการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ การแก้ไขเรื่องนี้ก็คงจะไม่สำเร็จ เขาแสดงความเห็นว่า "เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในระดับใหญ่ที่สุดนั่นคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก่อน ดังนั้น ความรุนแรงอาจจะไม่สามารถลดลงได้ในเร็ว ๆ นี้"

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ ปธน.ไบเดนและวุฒิสภาสหรัฐจะพยายามออกกฎหมายเพื่อเยียวยาและป้องกันเหตุการณ์รุนแรงจากความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในอนาคต แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ดูท่าจะยังไม่ยุติลงได้โดยง่าย และคงจะเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายตลอด 4 ปีที่ไบเดนจะต้องขุดคุ้ยและงัดสารพัดวิธีมาใช้ เพื่อปรับความคิดและเปลี่ยนความเกลียดชังให้เป็นความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติเพื่อให้สหรัฐสามารถก้าวข้ามยุคมืดแห่งความเกลียดชังนี้ไปให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ