In Focusเปิดปมขัดแย้ง "อิสราเอล-ปาเลสไตน์" ศึกแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และสันติภาพที่ไม่มีอยู่จริง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 19, 2021 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพที่กลายเป็นกระแสไวรัลบนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คงจะหนีไม่พ้นภาพการปะทะกันของจรวดปาเลสไตน์ที่กำลังพุ่งเข้าถล่มอิสราเอล และระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศไอออนโดม (Iron Dome) ที่ถูกปล่อยออกมาสกัดการโจมตีเหนือสองฟากฝั่งขอบฟ้า แม้ชาวเน็ตหลายคนจะลงความเห็นว่า ภาพดังกล่าวดูราวกับหนังมหาสงครามที่เคยเห็นบนจอภาพยนตร์ แต่ความทุกข์ทรมานของประชาชนในพื้นที่คือเรื่องจริง ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าเจ็บปวด ประชาชนคมโลกต่างวิตกกังวลว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะทวีความรุนแรงจนนำไปสู่การทำสงครามที่ไม่จบสิ้นหรือไม่

วันนี้ In Focus จึงขอพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงปมความขัดแย้งของทั้ง 2 ดินแดนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมทั้งสองฝ่ายจึงต้องสู้รบกัน รวมถึงท่าทีของนานาชาติที่มีต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

  • ปมความขัดแย้ง

อิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมากว่าร้อยปี และปะทะกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองดินแดนที่ตกเป็นข้อพิพาท รวมถึงความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน

สำหรับตัวละครหลักในความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ คือ "กลุ่มฮามาส" ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองติดอาวุธที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์ และหวังจะทวงคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์บนพื้นที่ทับซ้อนกับอิสราเอลคืนมา และฝ่ายของอิสราเอลที่ยืนกรานว่าดินแดนดังกล่าวต้องเป็นพื้นที่ของตน ซึ่งขณะนี้มีผู้นำคือ "นายเบนจามิน เนทันยาฮู" นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นจากกรณีที่ชาวปาเลสไตน์เกิดความไม่พอใจ เนื่องจากย่านชีค จาร์ราห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม ถูกศาลอิสราเอลตัดสินให้พื้นที่นี้เป็นของชาวยิว ด้วยความคับแค้นใจที่ถูกบีบบังคับบวกกับการถูกไล่ที่ จึงเกิดเป็นชนวนให้ชาวปาเลสไตน์ออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง ส่วนอิสราเอลก็ไม่ยอมแพ้ ประกาศสลายการชุมนุมเรื่อยมา

แต่เหตุการณ์ที่เป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟ คือการที่ทางการอิสราเอลใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดแสงสลายการชุมนุมในมัสยิดอัล-อักซอ สถานที่อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวอิสลาม จนมีผู้บาดเจ็บกว่า 300 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้นำชาติมุสลิมออกมาประณามการกระทำที่สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวมุสลิมและหยามเกียรติสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จนท้ายที่สุด กลุ่มฮามาสไม่อาจทนกับสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่อไป จึงประกาศยื่นคำขาดแก่ชาวยิวว่าต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากเขตชีค จาร์ราห์ ก่อนที่จะกระหน่ำยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลแบบไม่ยั้ง แต่เคราะห์ดีที่ระบบไอออนโดมของอิสราเอลสามารถสกัดการโจมตีไปได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าวถือว่าเป็นการกระตุกหนวดเสืออย่างนายเนทันยาฮู โดยกองทัพอิสราเอลประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า "ฮามาสจะต้องชดใช้อย่างสาสม เราจะตอบโต้อย่างรุนแรง และกินเวลาหลายวัน" หลังจากที่ถูกกลุ่มฮามาสโจมตี คณะรัฐมนตรีอิสราเอลก็ได้อนุมัติให้มีการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ในฉนวนกาซ่า จรวดหลายลูกกระหน่ำยิงลงจากฟากฟ้า ลำแสงสีทองสุกสว่างได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ตามที่นายเนทันยาฮูได้ลั่นวาจาไว้ว่า "เรากำลังอยู่ในระหว่างปฏิบัติการครั้งใหญ่ เราได้ตัดสินใจแล้วว่า กลุ่มฮามาสและกลุ่มจีฮัดจะต้องชดใช้ในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำลงไป เลือดจะต้องล้างด้วยเลือด และปฏิบัติการครั้งนี้ยังไม่จบ"

  • ปฏิบัติการนองเลือด

การห่ำหั่นกันระหว่าง 2 ชาติเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. โดยกลุ่มฮามาสได้เปิดฉากยิงจรวดใส่อิสราเอล ขณะที่อิสราเอลได้โต้ตอบทันควันด้วยการโจมตีทางอากาศทำลายอาคารในฉนวนกาซา ซึ่งเชื่อว่าเป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มฮามาส ขณะที่วันต่อมา กลุ่มฮามาสได้ตอบโต้ด้วยการถล่มยิงจรวดใส่เมืองเทลอาวีฟ ซึ่งทำให้พลเมืองชาวอิสราเอลต้องวิ่งหนีตายเข้าไปในหลุมหลบระเบิด นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุความไม่สงบในเมืองต่าง ๆ ของอิสราเอล เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์

การต่อสู้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ค. อิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีทางอากาศที่อาคารในค่ายผู้ลี้ภัยในฉนวนกาซา รวมถึงอาคารของสำนักข่าวอัลจาซีราและสำนักข่าวเอพี ซึ่งกองทัพอิสราเอลอ้างว่าถูกใช้เป็นหน่วยข่าวกรองของกลุ่มฮามาส

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสซึ่งอยู่ใกล้กับแนวชายแดนอิสราเอล อันเป็นสถานที่ที่กองกำลังใช้หลบซ่อนจากการโจมตีทางอากาศกินระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร รวมถึงบ้านของนายยะห์ยา ซินวาร์ หัวหน้ากลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ส่วนเป้าหมายต่อมาคือสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับมิสไซล์ ไม่ว่าจะเป็นฐานยิงจรวด ศูนย์ผลิต และโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มฮามาส

และเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า คนงานไทย 2 ราย ซึ่งได้ทำงานในโรงงานบรรจุภัณฑ์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอิสราเอล ได้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยจรวดที่มีการยิงมาจากฉนวนกาซา

สำหรับข้อมูลล่าสุดนั้น ทางการอิสราเอลกล่าวว่า ตลอดช่วงปฏิบัติการที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. อิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ไปราว 820 เป้าหมาย ขณะที่กลุ่มฮามาสและกลุ่มจีฮัดระบุว่า กองกำลังของพวกเขาได้ยิงจรวดไปกว่า 3,300 ลูก แต่เนื่องจากอิสราเอลมีเทคโนโลยีการป้องกันทางอากาศที่ดีกว่า จึงเกิดความสูญเสียไม่มากเมื่อเทียบกับฝั่งของปาเลสไตน์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนกว่า 215 ราย ซึ่งเป็นเด็กและผู้หญิงจำนวนกว่าครึ่ง และมีผู้บาดเจ็บอีกนับพันราย ส่วนในฝั่งของอิสราเอลจำนวนผู้สูญเสียนั้นอยู่ที่เพียง 12 ราย

  • ปฏิกิริยาของประชาคมโลก

การปะทะกันอย่างรุนแรงทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างออกมาแสดงความวิตกกังวล และเรียกร้องให้ยุติการสู้รบในครั้งนี้ แต่ทั้งสองชาติก็ไม่มีท่าทีที่จะลดราวาศอก

ด้านนายมูฮัมหมัด ชาเตย์เยห์ นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์เพื่อยับยั้งความแข็งกร้าวที่อิสราเอลได้กระทำต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์

ส่วนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา UNSC ได้จัดการประชุมขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสองชาติ โดยนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างกองกำลังอิสราเอลและปาเลสไตน์บริเวณฉนวนกาซ่านั้น เป็น "ความน่าสะพรึงกลัวที่สุด" พร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงโดยทันที "เหตุการณ์รุนแรงมีแต่จะทำให้มีผู้เสียชีวิต การทำลายล้าง และความสิ้นหวังไม่จบสิ้น ขณะที่ความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันตินั้นกลับยิ่งไกลออกไป"

อย่างไรก็ตาม แม้ชาติสมาชิก 14 ใน 15 ประเทศเห็นพ้องให้ทั้งสองฝ่ายประกาศหยุดยิง เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น แต่ในวันนั้นมีเพียงชาติเดียวที่คัดค้านมติของที่ประชุม นั่นคือสหรัฐ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าว "ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น"

  • ไบเดนโดดร่วมวง

สหรัฐขึ้นชื่อว่าเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของอิสราเอล โดยในสมัยของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐได้มีการรับรองให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งเขตในฉนวนกาซ่า เขตเวสต์แบงก์ และเยรูซาเล็มตะวันออก

สำหรับในยุคของปธน.โจ ไบเดน ท่าทีของสหรัฐก็ยังคงเป็นการหนุนหลังอิสราเอลเช่นเดิม โดยนายไบเดนกล่าวว่า "ความคาดหวังและความหวังของผมคือการสู้รบจะยุติลงในไม่ช้าก็เร็ว" แต่ "อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเอง เมื่อมีจรวดหลายพันลูกข้ามเข้ามาในดินแดนของคุณ"

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ปธน.ไบเดนกลับออกมาสนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังได้โทรศัพท์คุยกับนายเนทันยาฮู โดยแถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุว่า แม้ว่าปธน.ไบเดนจะสนับสนุนอิสราเอลในการปกป้องตนเองจากการโจมตีจากกลุ่มฮามาส แต่ผู้นำสหรัฐก็ต้องการส่งเสริมให้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงเช่นกัน โดยได้หารือกับอียิปต์และชาติพันธมิตรรายอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายนี้

เรื่องราวดูเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งตีข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐกลับเปิดไฟเขียวให้กับข้อตกลงขายอาวุธมูลค่ากว่า 735 ล้านดอลลาร์ให้กับอิสราเอล โดยแหล่งข่าวระบุว่ามีแนวโน้มที่สภาคองเกรสจะเห็นชอบกับดีลนี้ แม้เหตุการณ์นองเลือดระหว่างสองชาติยังไม่มีทีท่าสิ้นสุด โดยสภาคองเกรสได้รับเรื่องว่าจะมีการซื้อขายอาวุธตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. และมีเวลา 15 วันในการคัดค้านการซื้อขาย ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป

  • ความพยายามในการสร้างสันติภาพ

แม้จะมีการต่อสู้อยู่หลายทศวรรษ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวทั้ง 2 ชาติก็มีความพยายามที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น โดยในอดีต นายชิมอน เปเรส รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ได้แนะนำให้นายยิตชัค ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น ให้เปิดการเจรจากับนายยัตเซอร์ อาราฟัต ผู้นำขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) เพื่อนำสันติภาพมาสู่ดินแดนแห่งนี้

ความพยายามของนายเปเรสส่งผลให้มีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพออสโลในปี 2536 และ 2538 และทำให้ทั้ง 3 คนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน อีกทั้งยังส่งผลให้ฉนวนกาซ่าและเขตเวสต์แบงก์เป็นพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์สามารถปกครองตนเองได้บางส่วน แต่ถึงแม้สถานะดังกล่าวจะยังไม่ได้ให้สิทธิปาเลสไตน์เป็นรัฐอย่างสมบูรณ์ แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอิสราเอลบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มหัวรุนแรง และท้ายที่สุดนายยิตชัค ราบิน ก็ถูกลอบสังหารโดยน้ำมือของชาวยิวที่ต่อต้านนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลของนายเนทันยาฮูดูเหมือนจะมีท่าทีที่แข็งกร้าวกว่ายุคที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มฮามาสก็ชัดเจนว่าเป็นสายฮาร์ดคอร์ ซึ่งทำให้ความหวังที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมสมานฉันท์จึงแสนจะริบหรี่ ... ท่ามกลางดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือดในขณะนี้ จึงต้องลุ้นกันต่อไปว่า "สันติภาพ" จะเกิดขึ้นได้จริงบนดินแดนแห่งนี้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ