In Focusตลาดหุ้น : รุ่งหรือร่วง? ก่อนดอกเบี้ยขาขึ้นปี 66!

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 23, 2021 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกต่างดิ่งลงอย่างหนักในการซื้อขายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ถึง 1 ปี และเฟดยังคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีดังกล่าว

นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยังเปิดเผยว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันแล้วเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งก็เป็นการดำเนินการที่เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้เช่นกัน

เชื่อว่านักลงทุนคงอยากจะรู้ทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รวมทั้งในปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566

In Focus จึงขอนำเสนอการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งปัจจัยที่จะมีผลต่อการปรับตัวของตลาด เพื่อให้นักลงทุนสามารถเตรียมรับมือและกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้น โดยขออิงการวิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตลาดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทย

*ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ลงดาบสอง คาดเฟดขึ้นดบ.ปีหน้า!

หลังจากที่ตลาดหุ้นดิ่งลงจากข่าวที่ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ในเวลาต่อมา นักลงทุนก็มีความตื่นตระหนกมากขึ้น หลังจากที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า

นายบูลลาร์ดเป็นกรรมการเฟด 1 ใน 7 รายที่คาดว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่จะดำเนินไปอย่างยาวนาน

"ผมคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่จะพุ่งแตะ 3% ในปีนี้ และจะอยู่ที่ 2.5% จนถึงปี 2565 โดยสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟด" นายบูลลาร์ดกล่าว

นายบูลลาร์ดระบุว่า การที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ถือเป็นการรับมือตามปกติต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ขณะที่สหรัฐทำการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากประกาศล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน การปรับตัวของสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้ายังบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า โดยจะปรับขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง และรวมกันอย่างน้อย 4 ครั้งก่อนสิ้นปี 2566

*"พาวเวล" ให้คำมั่นไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ในการกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐวานนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป

"ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าเฟดจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเรามองว่าการดีดตัวของเงินเฟ้อเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากการเปิดเศรษฐกิจของสหรัฐ เราจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรเพียงเพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเพียงปัจจัยเดียว แต่เราจะรอให้มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อหรือภาวะไร้สมดุลในด้านอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย" นายพาวเวลกล่าว

*แบงก์ชาติทั่วโลกพร้อมขยับดอกเบี้ย รับกระแสดอกเบี้ยขาขึ้น

ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้เริ่มเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และบางแห่งก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าขณะนี้โลกการเงินใกล้จะหมดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ธนาคารกลางรัสเซียนับเป็นธนาคารกลางรายล่าสุดที่ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเบิล

ธนาคารกลางนอร์เวย์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด ธนาคารกลางนอร์เวย์ก็จะเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในกลุ่มประเทศ G10 ที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 นับตั้งแต่ปีที่แล้ว

ส่วนธนาคารกลางแคนาดานับเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในกลุ่มประเทศ G7 ที่ได้ประกาศถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณในเดือนเม.ย.ว่าธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ทางด้านธนาคารกลางนิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ได้ส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินเช่นกัน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น

แม้แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษมานานหลายทศวรรษ ก็ได้เปิดช่องสำหรับการเริ่มถอนตัวจากการใช้นโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางบราซิล, กานา และอาร์เมเนีย ก็ได้เริ่มวงจรคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับแรงกดดันของเงินเฟ้อในประเทศ

หากเฟดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินด้วยการปรับลดวงเงิน QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ และกระทบอย่างหนักต่อตลาดเกิดใหม่ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2541 และ 2556

ธนาคารกลางอินโดนีเซียแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากอินโดนีเซียต้องพึ่งพากระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก

"เราต้องเตรียมรับมือความเป็นไปได้ที่เฟดจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปีหน้า โดยเฟดอาจลดการอัดฉีดเงินในตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอินโดนีเซีย" ธนาคารกลางอินโดนีเซียระบุ

*ประธานเฟดซานฟรานฯคาดเฟดลด QE ปีนี้

นางแมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดอาจปรับลดวงเงิน QE ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

"ดิฉันมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฟดอาจบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 2% ในเวลาอีกไม่นาน ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถลดวงเงิน QE จากระดับ 120,000 ล้านดอลลาร์ โดยเราอาจบรรลุเป้าในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า" นางดาลีกล่าว

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กรรมการเฟดจะหารือกันในเดือนหน้าเกี่ยวกับกำหนดเวลาและวงเงิน QE ที่จะมีการปรับลดลง

ความเห็นของนางดาลีสอดคล้องกับนายพาวเวลและกรรมการเฟดรายอื่นที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังใกล้เข้าสู่ภาวะที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเฟด

*จับตาประชุมแจ็กสัน โฮล คาดเฟดหงายไพ่ลดวงเงิน QE

ถึงแม้เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. แต่เฟดก็ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์กันว่า เฟดจะเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.

การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ จะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากัน หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว เฟดต้องจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่ผ่านมา การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆทั่วโลก เดินทางเข้าร่วมการประชุม ขณะที่ไฮไลท์จะอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟดในขณะนั้นเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อปีที่แล้ว โดยได้ประกาศการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ ซึ่งเฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ คาดว่านายพาวเวลจะเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินเตรียมพร้อมรับการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟดก่อนหน้านี้

*ส่องไทม์ไลน์เฟด คาดเริ่มลด QE 01/65 ก่อนขึ้นดอกเบี้ย H2/66

ขณะนี้ เฟดซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE วงเงิน 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์/เดือน

นักวิเคราะห์คาดว่าในครั้งนี้ เฟดจะเริ่มปรับลด QE ในเดือนม.ค.2565 โดยจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เฟดใช้เวลา 6 เดือนในการปรับลด QE จนเหลือ 0 หมายความว่าเฟดจะยุติการทำ QE ในช่วงกลางปี 2565 และเฟดจะพักการดำเนินการเป็นเวลา 1 ปีเพื่อให้ตลาดปรับตัว ก่อนที่จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

*คาดเฟดลด QE ครั้งนี้ ไม่ทำให้ตลาดแตกตื่นเหมือนครั้งก่อน

นายพาวเวลกล่าวในถ้อยแถลงหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ว่า ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปในเดือนก.ค. เฟดจะทำการประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายของเฟดเกี่ยวกับการจ้างงานเต็มศักยภาพ และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% หรือไม่ ก่อนที่เฟดจะพิจารณาปรับลดวงเงิน QE โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างโปร่งใส

ถ้อยแถลงของนายพาวเวลบ่งชี้ว่าการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งนี้ของเฟดจะแตกต่างจากในปี 2556 ซึ่งในครั้งนั้น เฟดได้ดำเนินการแบบหักดิบ โดยไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้าต่อตลาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นดิ่งลง เนื่องจากนักลงทุนไม่ได้เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว ทำให้มีการเทขายหุ้นจำนวนมาก ท่ามกลางความตื่นตระหนก

*กูรูแนะหุ้นตกช่วงนี้เป็นจังหวะช้อนซื้อ คาดราคาไปต่อ

นายจิม เครเมอร์ พิธีกรรายการ Mad Money ของสถานีโทรทัศน์ CNBC กล่าวว่า นักลงทุนไม่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การซื้อขายครั้งใหญ่แต่อย่างใด หลังการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากนายพาวเวล

"คุณไม่จำเป็นต้องทำอะไร" นายเครเมอร์กล่าว และเสริมว่า การดิ่งลงของตลาดหุ้นในช่วงนี้ หลังเฟดเปิดเผยสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยครั้งใหม่ จะช่วยสร้างโอกาสสำหรับนักลงทุน

"ผมคิดว่าคุณแค่รักษาแนวทางของคุณ และใช้โอกาสนี้เข้าซื้อหุ้นคุณภาพดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม" เขากล่าว

นอกจากนี้ นายเครเมอร์ยังได้ขานรับนายพาวเวลที่ได้เปิดเผยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ทางด้านนายเอ็ด คีโอน หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัท QMA กล่าวว่า เขาจะยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ถึงแม้ตลาดแกว่งตัวหลังการประชุมเฟด

"กำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 40% ในปีนี้ ขณะที่นายพาวเวลพูดชัดเจนว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2566 ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำในเวลานี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ และถ้าหากเข้าสู่ปี 2566 เฟดพบว่าเศรษฐกิจมีการชะลอตัว ก็อาจทำให้เฟดเปลี่ยนใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ได้ เนื่องจากจะเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจถดถอย" นายคีโอนกล่าว

ส่วนสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลางปีนี้กลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจะดีดตัวเหนือระดับศักยภาพภายในต้นปี 2568 ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2567

ทางด้านเว็บไซต์ Longforecast.com คาดการณ์ว่า ดัชนีดาวโจนส์จะยังคงดีดตัวขึ้นต่อไป โดยจะแตะระดับ 37,310 ณ สิ้นปี 2564 และระดับ 39,912 ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 33,945 เมื่อวานนี้

*"มูดี้ส์" เตือนตลาดปรับฐานครั้งใหญ่ หากเฟดคุมเข้มนโยบายการเงิน

นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เตือนให้นักลงทุนเตรียมพร้อมรับการปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาด หากเฟดดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

นายแซนดีกล่าวว่า การที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน จะทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานมากถึง 10-20% และอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 1 ปีกว่าที่จะกลับสู่จุดคุ้มทุน

"เฟดต้องเปลี่ยนเกียร์แล้ว เพราะเศรษฐกิจแข็งแกร่งมาก" เขากล่าว

อย่างไรก็ดี นายแซนดีเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย เนื่องจากการปรับตัวลงของเศรษฐกิจมีสาเหตุจากราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป มากกว่าที่จะเกิดจากปัญหารุนแรงของปัจจัยพื้นฐาน

*นักวิเคราะห์แจงปัจจัยบวก-ลบต่อตลาดหุ้น

นักวิเคราะห์เปิดเผยว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยบวกและลบ ดังนี้:-

--ปัจจัยบวกต่อตลาด

-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติมาตรการสร้างงานและช่วยเหลือครัวเรือนในสหรัฐวงเงินรวมกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลสหรัฐออกร่างกฎหมาย American Jobs Plan วงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และร่างกฎหมาย American Families Plan วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาครัวเรือนสหรัฐจากผลกระทบของโควิด-19

-การเปิดเศรษฐกิจ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า GDP สหรัฐจะขยายตัว 7% ในปีนี้ และ 5% ในปีหน้า

-นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐยังได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค, อุปสงค์สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์, การเดินทาง และภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

-หุ้นกลุ่มธนาคารจะดีดตัวขึ้น เนื่องจากจะมีกำไรเพิ่มมากขึ้นจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง หากเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

--ปัจจัยลบต่อตลาด

-การที่สหรัฐและกลุ่มประเทศ G7 มีมติสนับสนุนการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น แอปเปิล เฟซบุ๊ก แอมะซอน และกูเกิล ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีด้วยการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำ

-รัฐบาลจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ หรือยุโรปอาจออกมาตรการคุมเข้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐ รวมทั้งอาจสั่งปรับบริษัทในข้อหาผูกขาดตลาด

-การแข็งค่าของดอลลาร์, การขาดดุลการค้าของสหรัฐ และหนี้สินของภาคเอกชน จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

-การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และอาจเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่

--ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ต้องจับตาที่อาจส่งผลต่อทิศทางตลาด ได้แก่:-

-การประชุมนโยบายการเงินของเฟด, ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมทั้งนายพาวเวล ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

-อัตราเงินเฟ้อในตลาด ซึ่งถ้ามีการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน อาจทำให้เฟดต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงิน QE เร็วกว่าที่คาดไว้ล่าสุด

-การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด อาจส่งผลให้เฟดเร่งพิจารณาถอนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

-การที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองอายุ 30 ปีพุ่งแตะระดับ 3.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ

-การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแผนที่จะปรับเพิ่มภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุน (capital gains tax) สูงถึง 43.4% และเก็บภาษีในอัตรา 39.6% สำหรับชาวอเมริกันร่ำรวยที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี รวมทั้งปรับเพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% จากเดิมที่ระดับ 21% อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรสอาจทำการเจรจาต่อรองกันเกี่ยวกับการขึ้นภาษีดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้มีการปรับลดตัวเลขอัตราภาษีไม่สูงเท่ากับข้อเสนอของปธน.ไบเดน

*หวังการเตรียมพร้อมที่ดีจะช่วยนักลงทุนไม่ติดดอย

คาดว่า In Focus สัปดาห์นี้จะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะมาถึงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และการที่เฟดลดการทำ QE ซึ่งมักไม่เอื้อต่อการซื้อขายหุ้นในตลาด เนื่องจากจะทำให้สภาพคล่องในตลาดหดตัวลง แตกต่างจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเฟดอัดฉีดเม็ดเงินไม่อั้นเข้าสู่ตลาด แต่หวังว่าด้วยการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้นักลงทุนสามารถฝ่าฟันทุกสถานการณ์ในตลาดได้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ