การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาได้สร้างความกังวลให้แก่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์ส่อเค้าวิกฤตหลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งแตะ 5 หมื่นรายในสัปดาห์ก่อนหน้าการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กลับพลิกผันเมื่อยอดผู้ติดเชื้อปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านไปหาคำตอบว่า ทำไมยอดผู้ติดเชื้อในอังกฤษถึงลดลง แม้คลายล็อกดาวน์ลงแล้วก็ตาม
*ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด
"การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะดำเนินไปอย่างระมัดระวัง แต่ไม่อาจถอยหลังกลับได้" นี่คือถ้อยแถลงของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งแสดงถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า "วันแห่งเสรีภาพ" (Freedom Day) ด้วยการยกเลิกมาตรการคุมเข้มที่มีการบังคับใช้ก่อนหน้านี้ทั้งหมด รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน
การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญและคณะแพทย์ว่าเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณและเป็นอันตรายต่อทั้งประชาคมโลก ขณะที่ศาสตราจารย์นีล เฟอร์กูสัน นักระบาดวิทยาชั้นนำจากวิทยาลัยอิมพิเรียล ลอนดอนเตือนว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลอังกฤษอาจส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และอาจพุ่งขึ้นถึงหลัก 100,000 คน หรือทะลุ 200,000 คนต่อวัน
อย่างไรก็ดี หลังจากวันที่ 19 ก.ค. สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างน่าแปลกใจ สวนทางกับการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค.ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 21,691 ราย ขณะที่ในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ก.ค. อังกฤษพบผู้ติดเชื้อ 204,669 ราย ลดลง 37% จากสัปดาห์ก่อนหน้า
ยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์สร้างความสงสัยและประหลาดใจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญกันอย่างถ้วนหน้า โดยนายมาร์ค วอลพอร์ต นักวิทยาศาสตร์การแพทย์และอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษแสดงความเห็นว่า "เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลง แต่ก็น่าประหลาดใจที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงรวดเร็วเช่นนี้ ผมคิดว่าทุกคนกำลังสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้น" เช่นเดียวกับนายสเตฟาน กริฟฟิน รองศาสตราจารย์แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยลีดส์กล่าวว่า "น่าแปลกที่ยอดผู้ติดเชื้อในอังกฤษลดลง แม้ว่าเป็นข่าวดี แต่เราก็เพิ่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ไม่นาน"
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามเสนอทฤษฎีที่แตกต่างกันเพื่อประกอบคำอธิบายแนวโน้มการติดเชื้อที่ลดลงดังกล่าว ตั้งแต่เรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ เทศกาลฟุตบอลยูโร การปิดภาคเรียน รวมถึงการเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่ลดน้อยลง
*ภูมิคุ้มกันหมู่?
ผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่าสาเหตุของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงในสหราชอาณาจักรไม่ได้เกิดจากภูมิคุ้มกันหมู่แต่อย่างใด นายจอห์น เอ็ดมุนด์ นักระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอนระบุว่า สหราชอาณาจักรยังไม่ถึงจุดที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากรได้อย่างเพียงพอผ่านการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ
แม้ว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรประมาณ 70% จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสแล้วก็ตาม แต่ยังพบกลุ่มคนจำนวนมากที่ยังมีโอกาสได้รับเชื้อ กล่าวคือ สัดส่วนของการติดเชื้อสูงสุดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับวัคซีนครบโดส อีกทั้งอังกฤษยังพบผู้ติดเชื้อซ้ำ และผู้ที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) คาดการณ์ว่า ประมาณ 92% ของประชากรวัยผู้ใหญ่มีแอนติบอดีจากวัคซีนหรือการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าอังกฤษจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันไวรัส แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำลายการแพร่ระบาดด้วยตัวมันเอง การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังคงไม่มีความแน่นอน ตลอดจนขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้คนและไวรัสด้วย
ดังนั้น ภูมิคุ้มกันหมู่จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง โดยสาเหตุนั้นอาจจะมาจากหลากหลายปัจจัยรวมกัน
*สิ้นสุดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020
เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้แก่การสิ้นสุดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 โดยการแข่งขันฟุตบอลส่งผลให้อังกฤษมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศในช่วงกลางเดือนก.ค. โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายอายุระหว่าง 15-44 ปี โดยผู้คนมาพบปะกันเพื่อร่วมชมการแข่งขันในผับ บาร์ และในบ้านเรือนที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
มิหนำซ้ำ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศศึกฟุตบอลยูโร 2020 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ สนามเวมบลีย์ กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เอื้อให้ไวรัสแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนไว้ก่อนหน้านี้ โดยแฟนบอลชาวอังกฤษและอิตาเลียนกว่า 60,000 ชีวิตเข้าชมการแข่งขันภายในสนามโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้อังกฤษมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นมากกว่า 50,000 รายต่อวันในสัปดาห์ถัดไปหลังจากการแข่งขัน
โรว์แลนด์ เกา อาจารย์ด้านระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระแสดงความเห็นว่า การแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวมีส่วนเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อการแข่งขันกีฬาฟุตบอลยูโรจบลง โอกาสที่ผู้คนจะมารวมตัวกันเป็นหมู่มากเพื่อเฉลิมฉลองหรือร่วมเชียร์จึงมีน้อย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงปรับตัวลง
*การปิดเทอมภาคฤดูร้อน
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งนั้นคือการปิดเทอมภาคฤดูร้อน โรงเรียนหลายแห่งในอังกฤษปิดเทอมประมาณวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งถือว่าเร็วเกินไปที่จะนำมาอธิบายสาเหตุที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากนักเรียนบางคนเรียนจบภายในหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า หรืออาจเร็วกว่านั้น
ดร.ไมค์ ทิลเดสลีย์ อาจารย์ด้านโรคระบาดมหาวิทยาลัยวอร์วิกระบุว่า "ผมคิดว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงก็คือ การปิดเทอมภาคฤดูร้อน นักเรียนไม่ต้องเสี่ยงนำเชื้อไวรัสจากโรงเรียนกลับไปแพร่ที่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในช่วงฤดูร้อนลดลง อีกทั้ง เราไม่พบยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่มวัยหนุ่มสาวมากเท่าไรในช่วงที่ผ่านมา" สอดคล้องกับที่จอห์น เอ็ดมุนด์ นักระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าวว่า "ยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนปรับตัวลงอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา"
*คนตรวจเชื้อน้อยลง
ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตว่า ยอดติดเชื้อที่ลดลงอาจจะเป็นผลจากการที่ประชาชนเข้ารับการตรวจเชื้อน้อยลง นางคริสตินา พาเจล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลการดูแลสุขภาพของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า "เป็นไปได้ว่ายอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากการที่ผู้คนเดินทางไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดน้อยลง" พร้อมเสริมว่า "ผู้คนอาจไม่อยากเข้ารับการตรวจหาเชื้อ หากพวกเขามีอาการเพียงเล็กน้อย หรือบางทีอาจไม่สามารถทำกักตัวได้ หรือไม่อยากพลาดวันหยุดฤดูร้อน"
อเล็กซ์ ริชเตอร์ นักวิทยาภูมิคุ้มกันจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมแสดงความเห็นที่สอดคล้องกันว่า "ประชาชนอาจเข้ารับการตรวจหาเชื้อลดลง หลังจากสิ้นสุดภาคการศึกษา หรือเกิดอาการเหนื่อยล้าจากภาวะทางสังคมทั่วไป"
อย่างไรก็ดี นางพาเจลเตือนว่า อาจมีข้อบ่งชี้ว่ายอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเปิดเผยในอีกไม่กี่วันและกี่สัปดาห์ข้างหน้า เช่น ข้อมูลจากผลสำรวจการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (Coronavirus Infection Survey) ซึ่งครอบคลุมหลายพันครัวเรือนที่ยินยอมให้ตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นประจำ ซึ่งอาจจะให้ความกระจ่างมากขึ้นก็เป็นได้
แม้ว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถฟันธงได้อย่างแน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงในสหราชอาณาจักร แต่เราก็คงต้องจับตาดูแนวโน้มกันต่อไป เพราะอังกฤษเพิ่งผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง