In Focusย้อนรอยการเมืองโลกตลอดปี 2564

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 29, 2021 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว In Focus ประจำสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ขอพาทุกท่านย้อนรอยไปกับสถานการณ์เมืองจากหลากหลายทวีปทั่วโลกตลอดทั้งปี 2564 เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาและเป็นไปที่เกิดขึ้น

*สหรัฐ : เหตุจลาจลรัฐสภา ปิดฉากอำลาทรัมป์

เปิดฉากเวทีการเมืองโลกปี 64 ด้วยความวุ่นวายและอลหม่านอย่างสุดขีด เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อเหตุจลาจลที่เหนือความคาดหมาย ด้วยการบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐ ก่อเหตุทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ตลอดจนยิงวัตถุเคมี ขว้างปาก้อนอิฐ ขวด ในช่วงที่สภาคองเกรสกำลังจัดประชุมร่วมระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง ก่อนจะประกาศรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดน ผู้นำฝ่ายเดโมแครต ซึ่งเหตุประท้วงในครั้งนี้ได้บานปลายไปถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต

หลายฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการจลาจลครั้งนี้กลายเป็นจุดด่างพร้อยในการเมืองสหรัฐ ซึ่งบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยของดินแดนแห่งเสรีภาพ เพราะโดยปกติ ผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมักจะยอมรับความพ่ายแพ้หลังการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากอดีตปธน.ทรัมป์ ยังคงมีความพยายามที่จะขัดขวางการประกาศให้นายโจ ไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใดก็ตาม

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ชาวอเมริกันและพรรคเดโมแครตออกมาเรียกร้องให้มีการปลดปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งโดยทันที ฐานยุยงปลุกปั่น รวมถึงทวิตเตอร์เองสั่งปิดบัญชีทวิตเตอร์ @realDonaldTrump เป็นการถาวร ฐานเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทอเมริกันอีกหลายแห่ง เช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล และไมโครซอฟท์ ประกาศยุติการสนับสนุนเหล่านักการเมืองที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของสภาคองเกรสในการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดยุคของทรัมป์อย่างสมบูรณ์

*เมียนมา: ปฏิวัตินองเลือด การหวนคืนสู่อำนาจของเผด็จการทหาร

แทบไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในเมียนมา แต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ก่อรัฐประหารและบุกควบคุมตัวแกนนำของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พร้อมกับประกาศยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลพรรค NLD โดยอ้างเหตุผลของการก่อรัฐประหารว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งส่งผลให้พรรค NLD ของนางซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย กระบวนการประชาธิปไตยในพม่าจึงถูกท้าทายอีกครั้ง และย้ำเตือนว่าอำนาจของกองทัพไม่เคยหายไปจากการเมืองพม่า

แน่นอนว่าการก่อรัฐประหารครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเมียนมาจำนวนมาก ชาวเมียนมาแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านในทันที แต่รัฐบาลทหารเริ่มใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการครอบครองอำนาจของกองทัพ แม้ถูกสหรัฐคว่ำบาตรและได้รับคำเตือนจากสมาคมโลกก็ตาม

สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรัฐประหารในเมียนมาแล้วกว่า 1,100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ถูกกองทัพเมียนมาสังหารระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีประชาชนอีกหลายพันคนถูกจับกุม

*จีน : การเมืองเรื่องซินเจียง ข้อพิพาทใหม่กับชาติตะวันตก

ข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน กลายเป็นชนวนความขัดแย้งใหม่ระหว่างชาติตะวันตกและจีน รัฐบาลตะวันตกซึ่งนำโดยพี่ใหญ่อย่างสหรัฐ ต้องการบีบบังคับให้จีนแสดงความรับผิดชอบต่อการบังคับใช้แรงงานและกักกันชาวอุยกูร์ ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองยืนกรานปฏิเสธเรื่อยมา โดยอธิบายว่าค่ายเหล่านั้นเป็นศูนย์ฝึกฝนวิชาชีพที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรง

เมื่อช่วงต้นเดือนก.ค. รัฐบาลสหรัฐประกาศยกระดับคำเตือนสำหรับบริษัทที่มีห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนในมณฑลซินเจียง โดยอ้างถึงความเสี่ยงจากข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงและการบังคับใช้แรงงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.ค. วุฒิสภาสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า กฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act) ห้ามนำเข้าสินค้าจากมณฑลซินเจียงของจีน นอกจากคำสั่งแบนสินค้าแล้ว ทางสหรัฐก็ออกมาคว่ำบาตรในรูปแบบการเมืองต่อจีนเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. สหรัฐได้ตัดสินใจคว่ำบาตรทางการทูตต่อการแข่งขันโอลิมปิกปักกิ่งฤดูหนาวปี 2565 ก่อนที่ในเวลาต่อมา ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ประกาศร่วมขบวนด้วย

แม้จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงมาโดยตลอด บรรดานักวิจัยขององค์การสหประชาชาติ (UN) และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่า มีชาวมุสลิมอุยกูร์ถูกกักกันอยู่ในค่ายอย่างน้อย 1 ล้านคนในมณฑลซินเจียง ข้อพิพาทนี้ดูเหมือนจะยืดเยื้อตราบนานเท่านาน หากจีนยังคงยืนกรานปฏิเสธอย่างที่เคยเป็นมา

*อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : ความขัดแย้งที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ภาพการปะทะกันระหว่างจรวดปาเลสไตน์ที่พุ่งถล่มอิสราเอล และระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศไอออนโดม (Iron Dome) ของอิสราเอลเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. สร้างความวิตกให้กับสมาคมโลกอยู่ไม่น้อย ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจ เนื่องจากย่านชีค จาร์ราห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม ถูกศาลอิสราเอลตัดสินให้พื้นที่นี้เป็นของชาวยิว ชาวปาเลสไตน์ออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อทางการอิสราเอลใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดแสงสลายการชุมนุมในมัสยิดอัล-อักซอ จนมีผู้บาดเจ็บกว่า 300 ราย

การสลายการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุสร้างความโกรธแค้นให้แก่กลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองติดอาวุธที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์ และหวังจะทวงคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์บนพื้นที่ทับซ้อนกับอิสราเอลคืนมา โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. กลุ่มฮามาสได้เปิดฉากถล่มยิงจรวดใส่อิสราเอล แต่โชคดีที่ระบบไอออนโดมของอิสราเอลสามารถสกัดการโจมตีไปได้เป็นจำนวนมาก

การต่อสู้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงจนถึงวันที่ 20 พ.ค. คณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการหยุดยิงร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีอียิปต์เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งกลุ่มฮามาสก็ออกมายืนยันยอมรับข้อตกลง โดยเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตถึง 232 ราย ซึ่งเป็นเด็ก 65 ราย และมีชาวอิสราเอลเสียชีวิต 12 ราย เป็นเด็ก 2 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน

*อัฟกานิสถาน : การฟื้นคืนชีพของกลุ่มตาลีบัน สิ้นสุดสงคราม 20 ปี

หนึ่งในเหตุการณ์ทางการเมืองที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากที่สุดในปีนี้คงหนีไม่พ้น การขึ้นสู่อำนาจเด็ดขาดของกลุ่มตาลีบัน หลังจากสหรัฐและกองกำลังจากชาติพันธมิตรเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในช่วงเดือนพ.ค. ตามที่ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เคยให้คำมั่นไว้เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย. ทางกลุ่มตาลีบันก็ได้เริ่มเปิดฉากสู้รบกับรัฐบาลอัฟกานิสถานเพื่อช่วงชิงประเทศอัฟกานิสถานในทันทีก่อนที่จะสำเร็จในวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน และถือว่าเป็นการยุติสงครามที่ยาวนานถึง 20 ปีในอัฟกานิสถาน

หลังจากที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลและทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานได้เรียบร้อย นานาประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มทยอยสั่งปิดสถานทูตและอพยพบุคลากรของสถานทูตในทันที ก่อนที่จะมีการสั่งอพยพประชาชนของตนเองในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันประชาชนชาวอัฟกานิสถานนับไม่ถ้วนต่างกุลีกุจอเข้าไปในสนามบินกรุงคาบูลเพื่อหวังจะหนีออกจากอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

ท่ามกลางความวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันก็ได้แสดงท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยหวังกู้ภาพลักษณ์จากการเป็นมุสลิมหัวรุนแรงที่เคร่งศาสนา มาเป็นการยอมรับต่อสิทธิสตรีมากขึ้น และให้สัญญาในการจัดตั้งรัฐบาลที่เปิดกว้างให้กลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงอดีตปธน.ฮามิด คาไซ และส่งสัญญาณพร้อมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ แทนที่จะปิดกั้นตัวเองเหมือนในอดีต เช่น จีน ในการเข้าร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากอัฟกานิสถานอุดมไปด้วยทรัพยากรที่เป็นแร่หายาก

*เยอรมนี : ปิดฉาก 16 ปี "แมร์เคิล" สู่เยอรมนียุคใหม่

การเลือกตั้งของเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของยุโรป เนื่องจากนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กประกาศยุติบทบาททางการเมือง และปิดฉากการบริหารประเทศที่ดำเนินมานานถึง 16 ปี แมร์เคิลเองได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำทางพฤตินัยของยุโรปที่สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับภูมิภาค และนำพายุโรปผ่านวิกฤตน้อยใหญ่มานับครั้งไม่ถ้วน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นที่จับตามองของทุกฝ่าย

ทว่าผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นอย่างที่คาด เมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) เฉือนเอาชนะขั้วอำนาจเดิมอย่างพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU)/พรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล ด้วยที่นั่งในสภาสหพันธ์ (Bundestag) จำนวน 207 ต่อ 196 ที่นั่ง และด้วยคะแนนเสียง 25.7% ต่อ 24.1% ผลการเลือกตั้งไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนความตกต่ำของพรรค CDU/CSU ที่เคยกุมบังเหียนการเมืองของเยอรมนี แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณจากชาวเยอรมันที่อยากเห็นประเทศเดินไปในทิศทางใหม่ หลังหมดยุคสมัยของนางแมร์เคิลด้วย

*ข้อตกลง AUKUS : ผนึก 3 มหาอำนาจ หวังถ่วงดุลอำนาจจีน

ปิดฉากการเมืองท้ายปีสุดร้อนแรงกับการประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงไตรภาคีที่ชื่อว่า ?AUKUS? (ออคัส) ระหว่างออสเตรเลีย สหรัฐ และอังกฤษ ซึ่งมีขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายอำนาจของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แน่นอนว่าข้อตกลงนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติ แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์

ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงฉบับแรกในความร่วมมือระหว่าง 3 ชาติที่ประกาศเมื่อเดือนก.ย. โดย 3 ประเทศจะร่วมมือกันในด้านปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีไซเบอร์ และเทคโนโลยีควอนตัม รวมถึงอนุญาตให้ออสเตรเลียสามารถสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของตัวเองได้เป็นครั้งแรก โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐและอังกฤษ และแบ่งปันข้อมูลลับด้านเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับออสเตรเลียเป็นครั้งแรก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดปี 2564 นั้นวุ่นวายและปั่นป่วนเพียงใด หรือหลายเหตุการณ์ยังไม่สิ้นสุดลง ก็คงต้องติดตามกันไปจนถึงปีหน้าว่า จะลงเอยในรูปแบบใด แต่เราก็ภาวนาว่า ในปีหน้า ทุกวิกฤตจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ