เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.) ชื่อของ "อลิซาเบธ โฮล์มส์" ได้กลับมาอยู่บนพื้นที่สื่ออีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เธอถูกศาลตัดสินในข้อหาฉ้อโกงถึง 4 ข้อหาจากทั้งหมด 11 ข้อหา และมีโทษจำคุกสูงถึง 20 ปีในแต่ละคดีจากการก่อตั้งบริษัทเธราโนส สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่อ้างว่ามีนวัตกรรมการตรวจเลือดที่จะปฏิวัติวงการแพทย์ จนมีผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนมหาศาล แต่เรื่องทั้งหมดกลับไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย
หลายคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนอาจจะสงสัยว่าเธอเป็นใคร เหตุใดสื่อชื่อดังแทบทุกสำนักต่างพากันตีข่าวใหญ่ วันนี้ In Focus จึงขอย้อนรอยตำนานสตาร์ทอัพที่บรรดานักลงทุนต่างวาดฝันว่าจะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก โดยมีสาวน้อยวัยเพียง 19 ปี ผู้เคยได้รับการขนานนามว่า "สตีฟ จ็อบส์ คนต่อไป" เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ? ทว่า ไม่ใช่เบื้องหลังความสำเร็จ แต่เป็นอุบายลวงโลกที่สามารถหลอกคนได้ทั้งซิลิคอน วัลเลย์!
*เปิดประวัติจอมลวงโลก อลิซาเบธ โฮล์มส์ คือใคร?
ย้อนกลับไปในปี 2547 อลิซาเบธ โฮล์มส์ สาวน้อยวัย 19 ปี ได้จัดตั้งบริษัทเธราโนส (Theranos) ขึ้นมา โดยเธอประกาศกับผู้คนว่า เธอจะสร้างเทคโนโลยีเครื่องตรวจเลือดปฏิวัติวงการแพทย์ภายใต้ชื่อเอดิสัน (Edison) ซึ่งสามารถตรวจหาโรคสารพัดได้อย่างแม่นยำจากการวิเคราะห์ผลเลือดเพียงไม่กี่หยด ทั้งมะเร็ง เบาหวาน โรคติดต่อต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างกายมนุษย์ แทนที่จะต้องเจาะเลือดเป็นหลอด ๆ ตามโรงพยาบาลที่ทั้งเจ็บและน่ากลัว ซึ่งโฮล์มส์อ้างว่าเป็นไอเดียที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคนที่มีปัญหากลัวเข็มแบบเธอ โดยเครื่องดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับเตาไมโครเวฟสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ จึงติดตั้งได้สะดวกในทุกที่ ทำให้บริการตรวจเลือดสามารถเข้าถึงประชาชนได้ในราคาถูก แม้ในร้านขายยาเล็ก ๆ ก็ตาม
ไอเดียสุดบรรเจิดนี้เตะตานักลงทุนเข้าอย่างจัง และด้วยโปรไฟล์ที่เป็นนักศึกษาวิศวกรรมเคมีจากสถาบันดังอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งยอมออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อล่าฝัน ประกอบกับความมั่นใจและวาทศิลป์ที่ติดตัวมา ทำให้เด็กสาวผู้นี้สามารถระดมทุนได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ในเวลาเพียงไม่นาน และไม่ใช่จากนักลงทุนรายย่อย แต่ในขณะนั้นยังมีนักการเมืองและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงร่วมลงขันด้วย โดยหลังจากที่ก่อตั้งบริษัทไปได้เกือบ 10 ปี ในปี 2556 เครือร้านขายยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่างวอลกรีนส์ (Walgreens) ก็ได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรระยะยาวกับเธราโนส และได้เปิดให้บริการ Theranos Wellness Center ซึ่งบรรดาลูกค้าจะได้มีโอกาสสัมผัสระบบตรวจเลือดมหัศจรรย์ที่ว่านี้
ความสำเร็จของหญิงสาวในขณะนั้นเรียกได้ว่าฉุดไม่อยู่ เพราะเพียง 1 ปีให้หลัง นิตยสารฟอร์บส์ก็ยกให้โฮล์มส์เป็นมหาเศรษฐีหญิงอายุน้อยที่สุดในโลกด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ขณะที่เธอมีอายุ 30 ปี และอีกไม่กี่เดือนต่อมาเธราโนสก็สามารถระดมทุนได้อีกกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในรอบดังกล่าวมีแลร์รี เอลลิสัน นักธุรกิจชื่อดังผู้ก่อตั้งบริษัทออราเคิล คอร์ปอเรชัน รวมอยู่ด้วย
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตลอดระยะเวลาอันรุ่งโรจน์ของธุรกิจ เธราโนสสามารถระดมทุนได้กว่า 945 ล้านดอลลาร์ โดยมีบุคคลมีชื่อเสียงหลงเชื่อและร่วมลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็น รูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าพ่อสื่อตะวันตก, เบ็ตซี เดวอส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ และครอบครัววอลล์ตัน มหาเศรษฐีเจ้าของห้างวอลล์มาร์ท ซึ่งเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้กับเธราโนสมากขึ้นไปอีก ในช่วงจุดสูงสุด มูลค่าของบริษัทเคยพุ่งทะยานถึง 9 พันล้านดอลลาร์ เธอได้ขึ้นปกหนังสือมากมายในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวโลก ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นผู้หญิงเก่ง ขยันขันแข็ง และมีปณิธานที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "สตีฟ จ็อบส์" คนต่อไป
*สื่อแฉแหลก ปมนวัตกรรมแหกตาชาวโลก
แต่แล้วในปี 2558 นางฟ้าก็ถึงคราวตกสวรรค์ เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ได้ออกมาแฉว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการแสดงปาหี่แหกตาคนทั้งโลก ผ่านบทความที่มีชื่อแสบสันว่า Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup (เลือดชั่ว: ความลับและคำโกหกของสตาร์ทอัพจากซิลิคอน วัลเลย์) ซึ่งเป็นการเปิดโปงจากบรรดาอดีตพนักงานที่ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของบริษัทที่หลอกลวงประชาชน ทั้งกดดันให้พนักงานออกจากบริษัทเมื่อมีการตั้งคำถามถึงนวัตกรรมการตรวจเลือดที่ไม่ชอบมาพากล หรือสั่งให้พนักงานทำลายผลตรวจที่คลาดเคลื่อนและทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะผลตรวจเลือดที่ได้มานั้นไม่ตรงกับผลการตรวจตามมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการทั่วไป
รายงานระบุว่า แท้ที่จริงแล้วเธราโนสไม่เคยพัฒนาเครื่องเอดิสันได้สำเร็จอย่างที่คุยโว แต่ใช้วิธีเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาตรวจที่ห้องแล็บทางการแพทย์ตามปกติ ก่อนที่จะส่งผลตรวจคืนให้กับผู้เข้ารับบริการ แต่ที่ผลออกมาคลาดเคลื่อนนั้นเป็นเพราะตัวอย่างเลือดที่เก็บมามีปริมาณน้อยมาก ซึ่งเป็นเพราะบริษัทอ้างว่าตัวอย่างเลือดที่เก็บมาจะนำไปตรวจกับเครื่องเอดิสันนั่นเอง
หลังจากมหกรรมโป๊ะแตกสะเทือนวงการแพทย์ และการฟ้องร้องที่ตามมาเป็นพัลวัน ท้ายที่สุดในปี 2561 โฮล์มส์ และราเมช ซันนี บัลวานี อดีตแฟนหนุ่มหุ้นส่วนธุรกิจของเธอได้ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงครั้งใหญ่ ด้วยการหลอกลวงนักลงทุนเป็นเงินกว่า 700 ล้านดอลลาร์ผ่านการ "การฉ้อโกงอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นเวลานานหลายปี โดยที่อ้างข้อมูลเกินจริงหรือกล่าวเท็จเกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และผลการดำเนินงานของบริษัท" ซึ่งทั้งสองคนต่างไม่ยอมรับสารภาพผิด ในช่วงเวลาดังกล่าว โฮล์มส์ได้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริษัท ก่อนท้ายที่สุดเธราโนสจะประกาศเลิกธุรกิจและไม่มีผู้ที่สนใจซื้อกิจการต่ออีกด้วย
... ส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากว่า 9 พันล้านดอลลาร์ ร่วงลงเหลือศูนย์ภายในพริบตาเดียว
*คำตัดสิน
จากเรื่องราวอันแสนวุ่นวายทั้งหมดที่นำไปสู่การฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2561 ในที่สุดเมื่อวันจันทร์ (3 ม.ค.) โฮล์มส์วัย 37 ปีก็ถูกพิพากษาให้มีความผิดในคดีฉ้อโกงทั้งสิ้น 4 ข้อหาจากทั้งหมด 11 ข้อหา
คณะลูกขุนที่ประกอบด้วยชาย 8 คนและหญิง 4 คนได้พิจารณาคดีนี้มากว่า 3 เดือนผ่านการไต่สวนพยาน 32 คน โดยคณะลูกขุนแห่งแคลิฟอร์เนียตัดสินว่า เธอมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับผู้อื่นในการก่อคดีฉ้อโกงนักลงทุนผ่านสายอิเล็กทรอนิกส์ (Wire Fraud) 1 กระทง และการฉ้อโกงนักลงทุนเฉพาะรายอีก 3 กระทง ซึ่งแต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ส่วนอดีตแฟนหนุ่มของเธอจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งคาดว่าไม่น่ารอดพ้นความผิดไปได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างการต่อสู้คดี โฮล์มส์อ้างว่า เธอรู้สึกเสียใจที่ดำเนินธุรกิจผิดพลาด และเธอไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ใคร ๆ เข้าใจผิด เธอเพียงแค่เชื่อมั่นในทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะได้ผลจริง นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวโทษอดีตแฟนหนุ่มว่าได้ทำร้ายร่างกายและจิตใจเธอในช่วงเวลาดังกล่าวนับ 10 ปี จนส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้เธอไม่สามารถทำการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างถูกต้อง
*บทเรียนราคาแพงของนักลงทุน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีระบุว่า นักลงทุนต่างกระโจนเข้ามาลงทุนในเธราโนสเพื่อหวังทำกำไรขณะที่บริษัทกำลังรุ่งเรือง โดยไม่ได้คำนึงถึงความรอบคอบในประเด็นที่ว่า ข้อมูลของเธราโนสไม่เคยได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างจริงจัง อีกทั้งยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐและจากภาคประชาชน เนื่องจากบริษัทอ้างเหตุผลด้านความลับทางการค้ามาโดยตลอด
วินนี ซัน ผู้อำนวยการบริหารของ Sun Group Wealth Partners ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบริหารความมั่งคั่งของสหรัฐเปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า หากนักลงทุนไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ควรเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลของบริษัทด้วยตนเองในกูเกิล และอ่านรีวิวจากลูกค้าตัวจริงอย่างละเอียด เช็คทวิตเตอร์ว่าผู้ใช้งานจริงมีความคิดเห็นเช่นไรก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเสมอ ไม่ใช่ฟังเพียงแค่คำขายฝันของบริษัทนั้น ๆ หากคุณใช้บริการโบรกเกอร์หรือที่ปรึกษาทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญก็จะช่วยสร้างความปลอดภัยได้อีกในระดับหนึ่ง
"หากคุณตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง คุณต้องตรวจสอบสถานะบริษัทอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะหากคุณสนใจไอเดียของบริษัทนั้นเพียงเพราะฟังคำพูดของเพื่อนหรือจากชาวเน็ต" หรือหากไม่ชัวร์ ให้ลงทุนในกองทุน ETF หรือกองทุนรวม จะปลอดภัยกว่าการเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละตัว
ที่สำคัญที่สุดคือกลยุทธ์กระจายการลงทุน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่าเป็นวิธีกระจายความเสี่ยงที่ดีที่สุด และช่วยยกระดับพอร์ตในระยะยาว
ด้านจีนา ชอย อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ประจำซานฟรานซิสโกเคยกล่าวไว้ในช่วงที่เกิดการฟ้องร้องว่า "เรื่องราวของเธราโนสถือเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับซิลิคอน วัลเลย์ เพราะนักนวัตกรรมที่หวังจะปฏิวัติและพลิกโฉมอุตสาหกรรมควรต้องบอกความจริงแก่นักลงทุนว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีของคุณทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ขายฝันว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะสามารถให้อะไรได้บ้าง"
ถึงเช่นนั้น เธราโนสคงมิใช่บริษัทสุดท้ายที่จะก่อเรื่องฉาวโฉ่เช่นนี้ แต่อาจจะเป็นต้นแบบให้กับนักต้มตุ๋นรายต่อไปที่จะสร้างมหากาพย์บทใหม่ในอนาคต เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรณีของเธราโนสกับมหากาพย์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสอนใจให้นักลงทุนจดจำไว้ว่า จงอย่าหลงเชื่อสัญญาลมปาก แต่ให้เชื่อมั่นในความจริงเท่านั้น