วันนี้ตรงกับวันที่ 2.2.22 ซึ่งนอกจากจะเป็นวันจัดโปรโมชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ประจำเดือนก.พ.ของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ โดยเป็นวันที่ 2 เดือน 2 ของปี 2022 แล้ว วันนี้ยังเป็นวันที่ 2 ของปีใหม่จีน ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีเสือทอง ทางผู้จัดทำ In Focus จึงขอกล่าวคำว่า "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น ประสบความเจริญรุ่งเรืองในปีนี้
*ปีนี้เสือนำโชค หรือเสือลำบาก
เชื่อว่านักลงทุนคงอยากจะรู้ทิศทางของตลาดหุ้นในปีขาลนี้ว่าจะเป็นเสือนำโชค หรือจะเป็นเสือลำบาก In Focus จึงขอนำเสนอการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นไทย เพื่อให้นักลงทุนสามารถเตรียมรับมือและกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้น
*หุ้นเล่นยาก ขาดตัวช่วย หลังเฟดรับบทผู้ร้าย จากที่เคยเป็นนักบุญ
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเปิดตัวในปีนี้ไม่ค่อยสวยงามนัก โดยดัชนีทั้ง 3 ทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนม.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและรัสเซียในประเด็นยูเครน ทำให้บางวันดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,000 จุดในการซื้อขายระหว่างวัน ส่งผลให้เดือนที่แล้ว ดาวโจนส์ร่วงลง 3.3% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 5.3% ทำสถิติเดือนม.ค.ที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 และร่วงลงมากที่สุดเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ส่วนดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลง 8.9% โดยปรับตัวลงมากที่สุดเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 เช่นกัน
การดิ่งลงของตลาดหุ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการที่เฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย และหั่นวงเงิน QE จากเดิมที่เคยพิมพ์เงินไม่อั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องไม่ให้ตลาดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 จนขนาดงบดุลของเฟดบวมเกือบแตะ 9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้เฟดต้องหันกลับมาใช้ยาแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดขาดตัวช่วยสำคัญ
*"พาวเวล" ช็อกตลาด พูดชัดเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเยอะ
หลังสิ้นสุดการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 26 ม.ค. ดาวโจนส์พุ่งขึ้นหลายร้อยจุดในช่วงแรก ขานรับแถลงการณ์ของเฟดที่ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ทันทีที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวในการประชุมออนไลน์กับผู้สื่อข่าวหลังจากนั้นเพียงครึ่งชั่วโมง ดาวโจนส์ก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนายพาวเวลพูดชัดเจนว่า "เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย ?ได้อีกมาก? โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน (Powell said he believes there's "quite a bit of room" to hike rates without hurting the labor market) ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทช็อกกันถ้วนหน้า และพากันเทขายหุ้น เนื่องจากมองว่าครั้งนี้เฟดจะเอาจริง โดยขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อในสหรัฐที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี
*"แบงก์ ออฟ อเมริกา" ฟันธงเฟดขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้งปีนี้!
ก่อนการประชุมเฟดในเดือนม.ค. FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่หลังการประชุม นักลงทุนคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 5 ครั้ง
ล่าสุด แบงก์ ออฟ อเมริกาออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เฟดมีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงิน 8 ครั้งในปีนี้ โดยจัดขึ้นในเดือนมกราคม มีนาคม พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม กันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%
นอกจากนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกายังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 จนแตะระดับ 2.75-3.00% ก่อนที่จะมีการทบทวนนโยบายการเงิน
*IMF เตือนแบงก์ชาติทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยเสี่ยงทุบตลาดหุ้นทรุดหนัก
นายโทเบียส เอเดรียน ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดเงินและตลาดทุนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ หันมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อาจส่งผลให้ราคาหุ้นทรุดตัวลงอย่างหนัก แม้ว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายให้คำมั่นสัญญาว่า การเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินจะเป็นไปอย่างราบรื่นก็ตาม
"เราอาจเห็นการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายความว่า บรรดาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น จะถูกเทขายออกมามากขึ้น" นายเอเดรียนกล่าว
*ตลาดหุ้นยังรอระเบิดเวลารัสเซียถล่มยูเครน,โควิดแผลงฤทธิ์
นอกจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแล้ว นักลงทุนยังต้องจับตาอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาด ได้แก่ แนวโน้มสงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน, การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อื่นๆที่จะตามมา, ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งในเรื่องสงครามการค้า และการเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย.ที่อาจเปลี่ยนดุลอำนาจของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรส ซึ่งจะมีผลต่อการผ่านกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ส่วนปัจจัยที่นักลงทุนของไทยต้องจับตามองก็คือแผนการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ Financial Transaction Tax ในอัตรา 0.10% ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียด รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องจับตาปัจจัยทางการเมือง โดยรัฐบาลอาจเกิดอุบัติเหตุจนต้องยุบสภา และประกาศการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง และความเชื่อมั่นของนักลงทุน
*กูรูคาดวอลล์สตรีทขึ้นต่อปีนี้ ผลประกอบการหนุนตลาด
อย่างไรก็ดี แม้มีหลายปัจจัยท้าทายตลาดหุ้น นายคีธ เลอร์เนอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของทรัสต์ แอดไวเซอรี่ เซอร์วิสเซส คาดว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะยังคงดีดตัวขึ้นในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
นอกจากนี้ สถิติบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2493 ตลาดหุ้นสหรัฐมักปรับตัวขึ้น หากดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นอย่างน้อย 25% ในปีที่ผ่านมา หากปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก็น่าจะดีดตัวขึ้นในปี 2565 เนื่องจากดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้น 26.9% ในปี 2564 ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 18.7% ส่วนดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้น 21.4%
ทางด้านเว็บไซต์ Longforecast.com คาดการณ์ว่า ดัชนีดาวโจนส์จะยังคงดีดตัวขึ้นต่อไป โดยแตะระดับ 40,711 ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 36,338 ในช่วงสิ้นปี 2564
*ทรีนีตี้ มอง SET ผันผวนตามข้อมูลศก.สหรัฐ ปรับลดจุดสูงสุดทั้งปีเหลือ 1,770
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน ก.พ.65 ว่า ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อการลงทุน คือ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากออกมาแตกต่างจากเดือนก่อนหรือคาดการณ์ของตลาดมาก จะส่งผลกระทบต่อความคิดของของนักลงทุนในตลาดต่อแนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงถัดไปได้ แนะจับตาตัวเลขสำคัญที่จะออกมาในเดือนนี้ ได้แก่ การรายงานตัวเลขการจ้างงานในวันที่ 4 ก.พ. และการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในวันที่ 10 ก.พ.
ทั้งนี้ จากการที่ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนเร่ง Price in ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น และส่งผลให้ความชัน Yield curve ของสหรัฐฯแบนราบลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับฝั่งของไทยที่แนวโน้มการเข้มงวดนโยบายการเงินยังคงห่างไกล จึงทำให้ความชัน Yield curve ของไทยเราทรงตัวได้อยู่ในระดับสูง ภาพของ Bond yield ที่มีลักษณะเช่นนี้ ย่อมทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่มีลักษณะเป็น Value stock เช่นกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์
"ตอนนี้เราจะเห็นความต่างของการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐฯ ที่กำลังขึ้นดอกเบี้ย มองไปข้างหน้าคือการเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลาย เช่น จีนลดดอกเบี้ย ส่วนประเทศไทยเองก็เชื่อว่าปีนี้ทั้งปีจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว"นายณัฐชาต กล่าว
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในส่วนของคาดการณ์ดัชนี SET ปีนี้ปรับลดลงมาเล็กน้อยจากเดิมที่มองว่าจุดสูงสุดของดัชนีจะอยู่ที่ 1,800 จุดก็ลงมาเหลือ 1,770 จุด (อิงประมาณการ EPS ปี 66) เพราะนับจากต้นปีประเด็นการเข้มงวดนโยบายการเงินของเฟดเร็วเกินคาดได้ผลักดันให้ Bond yield ของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ จนส่งผลกระทบต่อ Valuation ของ SET Index ผ่านมาตรวัด Earning yield gap
ในทางกลับกัน หากใช้มาตรวัดดังกล่าวกับประมาณการ EPS ปี 65 จะได้ระดับแนวรับสำคัญของ SET ที่ระดับ 1,560 จุด นั่นหมายความว่าที่ระดับดัชนีปัจจุบันแถว 1,660 จุด ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสมดุลในเชิง Valuation ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ จึงแนะนำเพียง Selective การถือครองไปยังกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะปรับตัว Outperform ตลาดเท่านั้น
กลุ่มแรกที่แนะนำต่อเนื่องได้แก่ธีมหุ้นปันผลสูง ที่ล่าสุดให้ผลตอบแทนชนะตลาดอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเลือกตัวที่ Laggard มาในเดือนนี้อย่างเช่น ADVANC, INTUCH, MAJOR, TOG ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ หุ้นเติบโตที่ราคาหุ้นปรับฐานลงมาแรง แต่ประมาณการ EPS ไม่ได้ถูกปรับลดแต่อย่างใด ส่งผลให้ Valuation ปรับเข้าสู่ระดับที่น่าสนใจมากขึ้น อาทิ HANA, KCE, JMT
นายณัฐชาต กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงถัดไป ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มไม่เป็นไปตามคาดหวังและเผชิญอุปสรรคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านน้อยลง สะท้อนผ่านดัชนี Mobility ที่ปรับตัวลดลงในหลายจังหวัด หากราคาสินค้าในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ อาจทำให้กลุ่มหุ้นที่อิงกับภาคการบริโภคภายในประเทศมี Downside risk ที่มากขึ้นได้
*ทิสโก้ เตือนเกาะติดเงินเฟ้อสหรัฐ-นโยบายเฟด แนะโยกเข้าหุ้นปันผล-งบ Q4 ดี
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อปลายเดือน ม.ค.65 ส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นชัดเจน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน มี.ค.65 พร้อมกับการยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) หลังจากเฟดชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (QE Tapering) โดย บล.ทิสโก้และตลาดประเมินสอดคล้องกันว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นในปัจจุบันได้รับรู้ประเด็นดังกล่าวไปมากแล้ว
สำหรับแนวโน้มการลดขนาดงบดุล (QT) บล.ทิสโก้คาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ โดยหากอิงจากการประเมินของ Jefferies ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ บล.ทิสโก้ที่คาดว่าการลดขนาดงบดุลของเฟดจะอยู่ที่เดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดโดยเฉลี่ยที่เดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้งบดุลลดลงมากกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีแรกของการปรับลด จากระดับสูงสุดที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน
นอกจากประเด็นด้านการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นของเฟดแล้ว บล.ทิสโก้ แนะนำให้นักลงทุนติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่ภาวะราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นอีก จากการศึกษาดัชนีราคาช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นแรง (Commodities Supercycle) ในปี 54 พบว่าราคาน้ำมัน (WTI) จะใช้เวลาส่งผ่านราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังดัชนีราคาผู้ผลิตด้านสินค้าโภคภัณฑ์ (PPI: All commodities) และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ราว 2 และ 4 เดือน ตามลำดับ ดังนั้นราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นชี้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้นต่อถึงเดือน พ.ค.เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่แผ่วลง อาจจะทำให้เฟดต้องส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เช่น การขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ หรือมีการปรับขึ้นถึงครั้งละ 0.50% จากปกติที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อตลาดการเงิน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/64 คาดการณ์ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) จำนวน 234 หลักทรัพย์ (คิดเป็น 88% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด) คาดจะมีกำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 2.20 แสนล้านบาทในไตรมาส 4/64 เพิ่มขึ้น +24% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และ +22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ)
โดยกลุ่มที่คาดจะมีกำไรเติบโตโดดเด่นทั้ง YoY และ QoQ คือ ENERG (+81% YoY, +37% QoQ), CONMAT (+30% YoY, +37% QoQ), FOOD (+81% YoY, พลิกจากที่ขาดทุน QoQ) และ ETRON (+45% YoY, +33% QoQ)
ดังนั้น บล. ทิสโก้ ยังคงมุมมองการลงทุนปีนี้เป็นปีที่ท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของเฟดที่จะเริ่มเข้มงวดขึ้น ซึ่งมองหุ้นที่คาดงบ Q4 จะออกมาดีและหุ้นปันผลสูงที่กำไรปีนี้ยังเติบโตได้เป็นตัวเลือกการลงทุนที่เด่นที่สุดในเดือนนี้ อิงจากสถิติย้อนหลัง 7 ปีในเดือน ก.พ.ต่อเนื่องจนถึงเดือน มี.ค. ผลตอบแทนรวมของ SETHD Index ซึ่งตัวแทนของหุ้นที่เงินปันผลดีสม่ำเสมอ จะดีกว่าผลตอบแทนรวมของ SET Index เฉลี่ย +2.1% และ +0.4% ตามลำดับ โดยหุ้นเด่นในเดือน ก.พ.ที่ บล.ทิสโก้แนะนำ คือ BANPU, COM7, CPALL, CPF, EGCO, KKP และ SCB
ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,610-1,620 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,660-1,680 จุด ตามลำดับ
*FETCO คาด SET ปี 65 แตะ 1,800 จุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 65 ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น เป็นไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 4% ขณะที่ได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 10-15 ล้านคน ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะช่วยสร้าง Momentum ให้เศรษฐกิจได้พอสมควร
ขณะที่เชื่อว่าทางการไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือโอมิครอน จากการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเข็มที่ 1 และ 2 ทำให้ปัจจุบันมีอัตราการฉีดวัคซีนแล้วถึง 70% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 65 จะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของประชากรทั้งหมด
ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1-2% ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยอีกแรง
ด้านแนวโน้มอัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) บล.ทิสโก้ คาดว่า ในปี 65 จะเติบโตได้ราว 12% โดยหุ้นที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว บริการและการบริโภค, กลุ่มเปิดเมือง (Reopening) ที่ได้รับอานิสงค์จากท่องเที่ยวฟื้น, กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจะส่งผลให้หนี้เสียในระบบลดลง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น, กลุ่ม Healthcare และ หุ้นปลอดภัย (Defensive) เป็นต้น
พร้อมกันนี้ คาดว่าจะมีกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยเกิน 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมองว่าตลาดหุ้นไทยยัง Outperform ตลาดหุ้นอื่นใน Emerging Markets จากเศรษฐกิจเติบโตตามการท่องเที่ยวฟื้นตัว, กำไร บจ.เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก, P/E ตลาดที่ยังไม่สูงมาก, การจัดการโควิด-19 มีประสิทธิภาพ และไม่มีการล็อกดาวน์อีกรอบ
เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะหนุนให้ดัชนีฯ ปี 65 ปรับตัวขึ้นไปแตะ 1,800 จุดได้ไม่ยาก ซึ่งใกล้เคียงกับคาดการณ์ของกลุ่มนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ที่ระดับ 1,750-1,800 จุด
*บลจ.วรรณ มอง SET ปี 65 ผันผวนแต่ downside จำกัด ให้เป้า 1,770 คาด EPS โต 11%
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยมีมาตรการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 65% โดยยังไม่นับรวมประชากรที่รับเข็ม Booster เข็มที่ 3 นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ประชาชนสามารถกลับมาใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาของต่างประเทศบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสหากติดเชื้อฯ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ทำให้มองว่าโอกาสที่รัฐบาลจะกลับไป Lock down อีกครั้ง มีน้อย ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ประมาณ 3%-5% ในปี 65 และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงาน มีสัดส่วนสูงในดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยทิศทางราคาน้ำมันยังคงเกี่ยวข้องกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน และส่งผลต่อการพิจารณาปรับกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในระยะถัดจากนี้
นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 65 จะยังคงอยู่ในภาวะผันผวน แต่มี downside risk ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ upside ยังขึ้นอยู่กับความยั่งยืนในการเปิดเมือง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่ Valuation ของหุ้นไทยที่ค่อนข้างตึงตัวจากคาดการณ์ Forward PE ในปี 65 อยู่ที่ประมาณ 17 เท่า ค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ประมาณ 14.38 เท่า แต่อัตราการจ่ายเงินปันผลยังอยู่ในระดับที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.72% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค 2.60%
ดังนั้น ในภาพรวมบลจ.วรรณ มองเป้าหมายดัชนี SET Index ในปี 65 อยู่ที่ 1,770 จุด (คาด EPS เพิ่มขึ้นประมาณ 10.7% จากปี 2564) ภายใต้สมมติฐานจากปัจจัยต่างประเทศ คาดเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องประมาณ 4-5% ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงธนาคารกลางสำคัญปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ถึงสิ้นปี 65 นี้ ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงเป็นการระบาดในวงจำกัดและไม่รุนแรง โดยประชากรมากกว่า 50% ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่ลดประสิทธิผลของวัคซีน
*หวังการเตรียมพร้อมที่ดีช่วยนักลงทุนไม่ติดดอย-ไม่ถูกเสือขย้ำ
คาดว่า In Focus สัปดาห์นี้จะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นในการซื้อขายหุ้นในปีเสือทอง โดยไม่ติดดอยและไม่ถูกเสือขย้ำ ซึ่งการเตรียมพร้อมที่ดีจะทำให้นักลงทุนเอาชนะตลาด และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น
สุดท้ายนี้ ขอมอบคาถาให้นักลงทุนท่องจำให้ขึ้นใจ เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยในตลาด
***การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน***