In Focusส่องโอลิมปิกปักกิ่ง – มหกรรมกีฬาท่ามกลางอุปสรรคการเมือง-โควิด-โลกร้อน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 9, 2022 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันศุกร์ (4 ก.พ.) ที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะปิดฉากในวันที่ 20 ก.พ.นี้ In Focus สัปดาห์นี้จะพาไปดูกันว่า มหกรรมกีฬาระดับโลกนี้จะดำเนินไปอย่างไรท่ามกลางอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งการเมือง, การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้จีนต้องทุ่มสร้างหิมะเทียมสำหรับกีฬาฤดูหนาว...

*หลายชาติร่วมคว่ำบาตรทางการทูตโอลิมปิกปักกิ่ง

รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจประกาศคว่ำบาตรทางการทูตกับกีฬาโอลิมปิกของจีน โดยไม่ส่งนักการทูตหรือผู้แทนอย่างเป็นทางการเข้าร่วมงาน แม้ยังคงส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อประท้วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติของจีนที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ขณะที่พันธมิตรของสหรัฐอย่าง ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา และอินเดีย ก็ได้ประกาศร่วมคว่ำบาตรทางการทูตต่อมหกรรมกีฬาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สหรัฐและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาจีนซึ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปีนี้ว่า ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ ในซินเจียง โดยระบุว่า "จีนดำเนินความพยายามอย่างเป็นระบบเพื่อทำลายล้างชาวอุยกูร์"

จีนได้ออกโรงเตือนชาติตะวันตกที่ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตกับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในปีนี้ว่า ประเทศเหล่านั้นจะต้องชดใช้กับการกระทำดังกล่าว

ด้านคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แสดงความเห็นถึงการตัดสินใจคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกดังกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ แต่ก็ยอมรับว่าคำประกาศของสหรัฐยังคงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กีฬาโอลิมปิกและการมีส่วนร่วมของนักกีฬานั้นยังคงอยู่เหนือการเมือง เพราะยังคงยินยอมให้นักกีฬาของชาติตนเองเข้าร่วมการแข่งขัน

*รัสเซียจ้องบุกยูเครน ทำนักกีฬาสองชาติมึนตึง

สถานการณ์การเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความตึงเครียดมาตั้งแต่ก่อนที่โอลิกปิกปักกิ่งจะเปิดฉาก หลังจากที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปประชิดชายแดนยูเครน และสหรัฐได้ออกมาระบุว่ารัสเซียกำลังเตรียมพร้อมที่จะบุกยูเครนนั้น ไม่วายที่จะส่งผลกระทบกับความรู้สึกของนักกีฬาของยูเครน และพวกเขายังได้ถูกเตือนให้อยู่ห่าง ๆ จากนักกีฬาของรัสเซียด้วย

ลิเดีย กุนโก นักกีฬาเลื่อนหิมะ (Bobsledder) ของยูเครนให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า "เราไม่ได้เป็นเพื่อนกับนักกีฬารัสเซีย เราต้องฝึกซ้อมและแข่งขันกับพวกเขา แต่เพราะรัสเซียต้องการที่จะละเมิดบูรณภาพของเรา ดังนั้น มันจึงไม่ง่ายที่เราจะไปข้องเกี่ยวกับพวกเขา"

ไม่เว้นแม้กระทั่งท่าทีของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียที่ออกอาการเมินยูเครนอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการจับภาพของปธน.ปูตินแกล้งทำเป็นหลับ ขณะที่นักกีฬาของยูเครนกำลังเดินเข้าสู่สนามกีฬาแห่งชาติกรุงปักกิ่งหรือสนามรังนกในการถ่ายทอดสดพิธีเปิดโอลิมปิกด้วย

*นักกีฬาต้องรูดซิปปาก หากไม่อยากถูกตัดสิทธิ์การแข่งขัน

กฎบัตรโอลิมปิก (Olympic Charter) ห้ามนักกีฬาไม่ให้แสดงความเห็นด้านการเมืองอยู่แล้ว แต่จีนก็ยังแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าว โดยขู่ที่จะลงโทษแม้แต่นักกีฬาต่างชาติที่แสดงความเห็นหรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามจิตวิญญาณแห่งโอลิมปิก (The Spirit of Olympics)

เมื่อบรรดาสื่อตั้งคำถามว่า หากนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ชาติต่าง ๆ ซึ่งเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับรัฐบาลจีน พวกเขาจะโดนลงโทษหรือไม่

หยาง ฉู รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานนานาชาติ คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตอบว่า การแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับกฎบัตรโอลิมปิกย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่หากการแสดงความเห็นหรือพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามสปิริตแห่งโอลิมปิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขัดกับหลักกฎหมายของจีน ก็จะต้องถูกลงโทษ ซึ่งอาจถึงขั้นตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไปเลย

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ก่อนหน้านี้องค์กรฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) ยังได้ออกมาเตือนบรรดานักกีฬาว่า อย่าพยายามแสดงความคิดเห็นเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลจีนกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์หรือชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ

นอกจากจะถูกห้ามไม่ให้พูดวิพากษ์วิจารณ์เจ้าภาพแล้ว นักกีฬายังถูกสั่งไม่ให้ส่งเสียงเชียร์กีฬาด้วย โดยพวกเขาทำได้แค่เพียงปรบมือเท่านั้น ดังนั้นแล้ว บรรยากาศการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งก็ดูจะเป็นไปอย่างกร่อย ๆ เงียบ ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดของจีนด้วยนั่นเอง

*มาตรการคุมโควิดเข้มข้นในโอลิมปิกฤดูหนาว

จีนเปิดเผยว่าได้ดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022

เริ่มตั้งแต่เมื่อเดินทางมาถึงแผ่นดินจีน นักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวกก็จะถูกแยกตัวไปยังสถานที่กักกันโรคทันที และจีนจะอนุญาตให้นักกีฬาลงแข่งขันได้ ก็ต่อเมื่อผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ 2 ครั้งติดต่อกันภายในระยะการตรวจห่างกัน 24 ชั่วโมง

ผู้ที่มีอาการป่วยจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการก็จะต้องอยู่ภายในสถานกักกันตัว พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากสถานที่กักตัว แต่สามารถขออุปกรณ์สำหรับการฝึกซ้อมกีฬาภายในห้องของพวกเขาหากสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม นาตาเลีย มาลิสซิวสกา นักกีฬาสเกตของโปแลนด์แสดงความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการตรวจเชื้อโควิด-19 ของจีน โดยระบุว่าผลการตรวจเชื้อโควิดได้สร้างความสับสน ซึ่งทำให้เธอได้รับอนุญาตให้ลงแข่งรายการเดียว และหลังจากนั้นเธอก็ได้ถูกส่งกลับไปยังสถานกักกันโรค

ขณะที่นักกีฬาบางคนแสดงความไม่พอใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จัดให้ภายในสถานที่กักกันตัวที่พวกเขาถูกส่งตัวไปพักหลังจากติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ จีนยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬา และไม่มีการขายบัตรเข้าชมกีฬาให้กับประชาชนจีนทั่วไปด้วย

กลุ่มชาวจีนที่ได้รับเชิญเท่านั้นที่สามารถเข้าชมการแข่งขันกีฬาได้ และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดทั้งก่อน, ระหว่าง และหลังการเข้าชมการแข่งขัน

รัฐบาลยังแนะนำไม่ให้ประชาชนจีนเดินทางจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศเข้าสู่กรุงปักกิ่ง ขณะที่จีนกำหนดให้บรรดาสื่อ นักกีฬา และผู้สังเกตการณ์อยู่แต่ภายในสถานที่ที่รัฐกำหนดไว้หรือที่เรียกว่าบับเบิล (Bubble) สำหรับงานกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น โดยมีกฎว่าใครก็ตามที่เข้าสู่บับเบิลโอลิมปิกจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หรือต้องผ่านการกักตัวเป็นเวลา 21 วัน

บรรดาผู้เข้าร่วมงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศจะต้องเดินทางเข้าสู่บับเบิลโอลิมปิกทันทีเมื่อมาถึงจีน และจะต้องอยู่ภายในบับเบิลนั้นจนกว่าจะเดินทางออกจากประเทศ

ส่วนเจ้าหน้าที่ของจีน ซึ่งรวมถึงอาสาสมัคร พ่อครัว และคนขับรถ ก็จะต้องอยู่แต่ภายในบับเบิลที่เป็นวงปิด (closed-loop) โดยไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ แม้แต่กับคนในครอบครัวของพวกเขาเอง

มาตรการควบคุมโควิดสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวนั้นเป็นไปตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ที่จีนยังคงยึดมั่นต่อไป แม้ว่าจะฉีดวัคซีนได้มากกว่า 75% ของประชากรทั้งประเทศแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ที่เข้มงวด คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) ว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 6 รายภายในบับเบิลโอลิมปิกเมื่อวันจันทร์ (7 ก.พ.) โดยผู้ติดเชื้อ 5 รายเป็นนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ของทีมงานในการแข่งขัน

*โลกร้อนจนหิมะหาย จีนทุ่มสร้างของปลอมรองรับกีฬาฤดูหนาว

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกทำให้การแข่งกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ต้องใช้หิมะเทียม 100% ซึ่งเป็นหิมะฝีมือมนุษย์ที่ผลิตด้วยเครื่องจักรทดแทนหิมะตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ การขาดหิมะตามธรรมชาติสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหิมะประดิษฐ์โดยฝีมือมนุษย์เคยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1980 ที่เลกเพลซิด รัฐนิวยอร์ก, ประมาณ 80% ของหิมะที่ใช้ในโอลิมปิกฤดูหนาวที่โซซี ประเทศรัสเซียในปี 2014 ก็เป็นหิมะเทียม รวมถึงโอลิมปิกฤดูหนาวที่พยองชางในเกาหลีใต้ปี 2018 นั้น ใช้หิมะเทียมถึง 98%

การตัดสินใจของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในการเลือกเมืองที่ต้องพึ่งพาการใช้หิมะเทียม ได้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว โดยที่ปักกิ่งนั้นมีหิมะตกตามธรรมชาติเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในฤดูหนาว แต่ต้องจัดการแข่งขันกีฬาฤดูหนาวถึง 109 รายการ ดังนั้น จีนจึงต้องใช้ปืนสร้างหิมะเกือบ 300 ตัว และต้องใช้น้ำราว 49 ล้านแกลลอนในการผลิตหิมะปลอม

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูในแคนาดาแสดงให้เห็นว่า รายชื่อเมืองที่จะสามารถจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวอย่างยั่งยืนนั้นได้ลดน้อยลง หากไม่มีการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเพื่อลดโลกร้อน โดยในรายชื่อเมือง 21 แห่งที่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาฤดูหนาวได้นั้น จะลดลงเหลือแค่เมืองซัปโปโรของญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีอุณหภูมิและปริมาณหิมะที่เหมาะสมสำหรับในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวภายในปี 2080

เอ็นบีซี นิวส์รายงานว่า นักกีฬาบางคนแสดงความเห็นว่า การแข่งกีฬาบนหิมะปลอมนั้นเป็นอันตรายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งสกีลงจากเขา เพราะหิมะปลอมนั้นจะทำให้การแข่งสกีลงจากเขานั้นมีความเร็วสูงขึ้นและอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย รวมทั้งนักกีฬาอาจจะได้รับบาดเจ็บมากกว่า หากล้มลงหลุดออกนอกสนามที่ไม่มีหิมะอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ เพราะน้ำจากหิมะเทียมนั้นจับตัวเป็นก้อนแข็งได้เร็วกว่าจากหิมะตามธรรมชาติ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ระบุทิ้งท้ายไว้ว่า คณะกรรมการ IOC ควรตระหนักถึงปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมให้มากกว่านี้ในการเลือกสถานที่จัดการแข่งกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ