In Focus"Pride Month" จากการต่อสู้ของคนกลุ่มเล็ก ๆ สู่การยอมรับทั่วโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 8, 2022 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็น "ไพรด์มันท์" (Pride Month) หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) โดยทั่วโลกมีการจัดกิจกรรมมากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์ นิทรรศการศิลปะ คอนเสิร์ต ฯลฯ แต่กิจกรรมที่สำคัญที่สุดคือการเดินขบวน "ไพรด์พาเหรด" (Pride Parade) เพื่อเฉลิมฉลองและรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ กิจกรรมไพรด์พาเหรดจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับในปีนี้ ประเทศต้นกำเนิดของไพรด์พาเหรดมีการจัดกิจกรรมในหลายเมือง เช่น นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ชิคาโก ซานฟรานซิสโก นิวออร์ลีนส์ และฟิลาเดลเฟีย ส่วนประเทศไทยของเราเพิ่งจัดไพรด์พาเหรดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง

*เดือนแห่งการลุกฮือ

เดือนมิถุนายนได้รับเลือกให้เป็นไพรด์มันท์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือสโตนวอลล์ (Stonewall Uprising) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2512 โดยในเช้าวันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าไปที่บาร์ "สโตนวอลล์ อินน์" ในย่านกรีนิชวิลเลจ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และถือเป็นสถานที่ผิดกฎหมายในเวลานั้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังควบคุมตัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ลูกค้าของร้านสโตนวอลล์ อินน์ รวมถึงลูกค้าของบาร์เกย์และเลสเบียนอีกหลายแห่งในย่านนั้น ตลอดจนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว ได้รวมตัวกันต่อสู้กลับเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้ความรุนแรง จนบานปลายกลายเป็นการปะทะกันนานหลายวัน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง จนเกิดการเคลื่อนไหวไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา

ในช่วงแรกมีการฉลองวัน "เกย์ ไพรด์ เดย์" (Gay Pride Day) ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ต่อมางานนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีการจัดกิจกรรมมากขึ้นตลอดทั้งเดือน ในที่สุดจึงเปลี่ยนเป็นไพรด์มันท์ สำหรับคำว่า "ไพรด์" นั้น คนส่วนใหญ่ยกเครดิตให้กับ เบรนดา โฮเวิร์ด นักเคลื่อนไหวชาวนิวยอร์ก ผู้ได้รับการขนานนามว่า "มาเธอร์ ออฟ ไพรด์" (Mother of Pride) เพราะเป็นผู้จัดไพรด์พาเหรดครั้งแรกในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2513 ในวาระครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์สโตนวอลล์ ด้านสัญลักษณ์สำคัญอย่าง "ธงสีรุ้ง" เกิดขึ้นในปี 2521 เนื่องจาก ฮาร์วีย์ มิลก์ นักการเมืองคนแรก ๆ ของอเมริกาที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ได้ขอให้ กิลเบิร์ต เบเกอร์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหว ช่วยออกแบบธงสำหรับเฉลิมฉลอง "เกย์ ฟรีดอม เดย์" (Gay Freedom Day) ในซานฟรานซิสโก โดยเขาได้เลือกใช้แถบแบบธงชาติอเมริกา แต่ใช้สีรุ้งแทนเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายทางเพศ

*การยอมรับทางการเมือง

นายบิล คลินตัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ประกาศยอมรับไพรด์มันท์อย่างเป็นทางการในปี 2542-2543 ต่อมานายบารัก โอบามา ได้ประกาศยอมรับไพรด์มันท์ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2552-2559 ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ประกาศยอมรับไพรด์มันท์ในสองปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่จะยอมรับในปี 2562 ส่งผลให้เป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนแรกที่ยอมรับ แต่ก็ไม่ได้เป็นคำประกาศอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดี โดยเป็นเพียงการโพสต์ในทวิตเตอร์ ก่อนที่จะออกเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ของทำเนียบขาวในภายหลัง

ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างนายโจ ไบเดน ได้ประกาศยอมรับไพรด์มันท์ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในปีที่แล้ว และในปีนี้ก็เช่นกัน เขาได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลมองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศสมควรได้รับเกียรติ ความเคารพ และการสนับสนุน พร้อมกับประณามร่างกฎหมายหลายฉบับในหลายรัฐทั่วประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่เยาวชนข้ามเพศ เช่น การจำกัดสิทธิการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาของโรงเรียน หรือการจำกัดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปรับเพศสภาพ ซึ่งนายไบเดนระบุว่าเป็น "การโจมตีอย่างไร้สามัญสำนึก" ส่งผลให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวและความเจ็บปวด นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายความเท่าเทียม หลังจากที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ผ่านวุฒิสภา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

*องค์กรระดับโลกร่วมสนับสนุน

แม้จะมีความกังวลว่าการรวมตัวของคนหมู่มากในกิจกรรมไพรด์มันท์ทั่วโลกอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ชายที่เป็นเกย์ และโรคนี้สามารถแพร่ระบาดไปยังผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อได้ เช่น ทางผิวหนัง แต่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า แม้มีการแพร่ระบาดที่ไม่ปกติของโรคฝีดาษลิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะต้องหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงานไพรด์พาเหรดของประเทศต่าง ๆ และเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแสดงการสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว โดยคุณแอนดี้ ซีล ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของแผนกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของ WHO ระบุว่า ไพรด์พาเหรดส่วนใหญ่เป็นงานกลางแจ้ง ขณะที่การติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวนมากในปัจจุบันเกิดขึ้นในพื้นที่ปิด เช่น ไนต์คลับ ด้านเจ้าหน้าที่ของ WHO อีกรายหนึ่งกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มที่การระบาดของโรคฝีดาษลิงนอกแอฟริกาจะนำไปสู่การระบาดใหญ่

*แบรนด์ดังร่วมแสดงพลัง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าระดับโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจกับไพรด์มันท์ ด้วยการร่วมมือกับองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศในการสร้างสรรค์สินค้าคอลเลกชันพิเศษเพื่อมอบรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้อง สำหรับปีนี้มีแบรนด์ดังมากมายที่เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ต้อนรับไพรด์มันท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์เครื่องแต่งกาย เช่น ลีวายส์, คาลวิน ไคลน์, ดีเซล, อาดิดาส, พูม่า, ไนกี้, เดอะนอร์ทเฟซ, คอนเวิร์ส, แวนส์ ฯลฯ ที่ตบเท้าเปิดตัวเสื้อผ้าและรองเท้าที่ใช้สีรุ้งเป็นหลัก ขณะที่แบรนด์ไอทีชั้นนำอย่าง "แอปเปิล" ก็เปิดตัวสายนาฬิกาแอปเปิลวอทช์ลิมิเต็ดเอดิชันสีรุ้งสดใสพร้อมคำว่า "Pride" และเปิดให้ดาวน์โหลดหน้าปัดนาฬิกาในธีมเดียวกัน ด้านแบรนด์คุกกี้ชื่อดังอย่าง "โอรีโอ" ก็เปิดตัวแพ็กเกจลิมิเต็ดเอดิชันที่ตกแต่งด้วยโทนสีสดใสพร้อมข้อความแสดงการสนับสนุน และตัวขนมก็ปั๊มคำว่า "Proud" เอาไว้ด้วย

การต่อสู้กับความอยุติธรรมของคนกลุ่มเล็ก ๆ เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน กิจกรรมไพรด์มันท์และไพรด์พาเหรดได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น เนื่องจากผู้คนมากมายตระหนักว่าการยอมรับความแตกต่างเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำ เพราะโลกของเราไม่ได้มีสีเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ