ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) สื่อตั้งข้อสังเกตว่า ปธน.ไบเดนมีอาการไอหลายครั้งในระหว่างการกล่าวถ้อยแถลงในพิธีลงนามในกฎหมายเพื่อจัดสรรงบอุดหนุนการผลิตและวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ขณะที่ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์หลังพิธีลงนามดังกล่าวระบุว่า ปธน.ไบเดนยังคงมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบในช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาสหรัฐ
In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า "โควิด รีบาวด์"
*กรณี "โควิด รีบาวด์" ที่เกิดกับ "โจ ไบเดน"
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 79 ปี มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก (พบเชื้อ) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 และได้รับการรักษาเป็นเวลา 5 วันด้วยยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาที่แพทย์สั่งสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส และได้รับบูสเตอร์หรือวัคซีนกระตุ้นแล้ว 2 เข็ม
หลังจากที่ได้รับยาต้านไวรัสครบโดส ปธน.ไบเดนมีผลตรวจเชื้อโควิดเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) ในวันที่ 26 และ 27 ก.ค. 2565 ซึ่งทำให้ปธน.ไบเดนสามารถยุติการกักตัว แต่หลังจากนั้น 3 วันต่อมา ปธน.ไบเดนกลับมามีผลตรวจโควิดเป็นบวกอีกครั้ง (พบเชื้อ) ในวันที่ 30 ก.ค. 2565 และผลการตรวจเชื้อนับตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 ก.ค.จนถึงวันศุกร์ที่ 5 ส.ค. ก็ยังคงเป็นบวก (พบเชื้อ) เป็นเวลาถึง 7 วันติดต่อกัน ซึ่งทำให้ปธน.ไบเดนยังคงต้องกักตัวต่อไป
ดร.เควิน โอ?คอนเนอร์ แพทย์ประจำตัวของปธน.ไบเดนกล่าวว่า ปธน.ไบเดนไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรงแต่อย่างใด โดยยังคงรู้สึกสบายดีอย่างมาก และผลตรวจเชื้อของปธน.ไบเดนได้กลับมาเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) อีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 6 ส.ค. และ 7 ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นผลตรวจที่เป็นลบสองวันติดต่อกัน ทำให้ปธน.ไบเดนสามารถยุติการกักตัว และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวและปฏิบัติภารกิจในฐานะประธานาธิบดีได้แล้ว
*ภาวะโควิด รีบาวด์คืออะไร
ภาวะโควิด รีบาวด์ ไม่ใช่การติดเชื้อซ้ำ แต่หมายถึงการที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมามีผลตรวจเชื้อเป็นบวกหรือกลับมามีอาการป่วยจากโรคโควิด-19 อีกครั้ง เพียงไม่กี่วัน หลังจากที่หายป่วยและมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ
การเกิดภาวะโควิด รีบาวด์ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเกิดกับผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดเท่านั้น แต่ภาวะดังกล่าวยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ได้รับการรักษาด้วยยาใด ๆ ด้วย
ผลการวิจัยซึ่งยังไม่ได้มีการตรวจสอบนั้นยังพบด้วยว่า ในบางกรณีที่เกิดโควิด รีบาวด์ อาการของผู้ป่วยอาจแย่ลง และปริมาณไวรัสอาจเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานมากขึ้นว่าพบการเกิดภาวะโควิด รีบาวด์ในผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดซึ่งรวมถึงปธน.โจ ไบเดน โดยปธน.ไบเดนได้รับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดเป็นเวลา 5 วันและมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ แต่หลังจากนั้น 3 วัน ปธน.ไบเดนกลับมามีผลตรวจเชื้อเป็นบวกอีกครั้ง
สำหรับยาแพกซ์โลวิดนั้นเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ โดยตัวยาประกอบด้วย PF-07321332 หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) ที่จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ซึ่งเชื้อไวรัสต้องใช้ในการเพิ่มจำนวน และเมื่อใช้กับยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่มีชื่อว่า ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ในปริมาณโดสต่ำ ก็จะทำให้ยาแพกซ์โลวิดอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ภาวะโควิด รีบาวด์เกิดขึ้นได้อย่างไรและเกิดจากสาเหตุใด แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดยับยั้งไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนในร่างกายของผู้ติดเชื้อ และยาแพกซ์โลวิดไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ทฤษฎีหนึ่งก็คือ การรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดเป็นระยะเวลา 5 วันนั้นไม่นานเพียงพอที่จะหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานและฆ่าเชื้อไวรัสได้ ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งก็คือผู้ป่วยไม่ได้ใช้ยาแพกซ์โลวิดตามที่แพทย์สั่ง หรือการรักษาไม่ได้เริ่มต้นในเวลาที่เหมาะสม
การวิจัยเกี่ยวกับการเกิดภาวะโควิด รีบาวด์หลังการใช้ยาแพกซ์โลวิดกับผู้ป่วย 11,000 คนพบว่า หลังจากการรักษา 7 วัน ผู้ป่วย 3.53% กลับมามีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกอีกครั้งจากการทดสอบแบบ PCR และ 2.31% มีกลับมามีอาการป่วย และหลังจากการรักษา 30 วัน ผู้ป่วย 5.4% มีผลตรวจโควิดเป็นบวก และ 5.87% มีอาการป่วยอีกครั้ง
จากกรณีดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า เพียงแค่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ติดเชื้อจะหายขาดจากโรคโควิด-19 โดยอัตโนมัติแต่อย่างใด
*อาการป่วยหลังเกิดโควิด รีบาวด์เป็นอย่างไร
ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์และแพทย์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นตรวจสอบการเกิดภาวะโควิด รีบาวด์ หลังผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดนั้น รายงานขั้นต้นบ่งชี้ว่า การเกิดภาวะโควิด รีบาวด์นั้นมีแนวโน้มที่ไม่รุนแรง โดยอาการป่วยที่มักกลับมาเป็นซ้ำได้แก่ น้ำมูกไหล, เจ็บคอ และไอ
ทั้งนี้ แทบไม่มีรายงานเกี่ยวกับการเกิดภาวะโควิด รีบาวด์ที่รุนแรงจนถึงขั้นที่ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และยังไม่มีรายงานว่า การเกิดภาวะโควิด รีบาวด์ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตแต่อย่างใด
แต่สิ่งสำคัญก็คือ หากผู้ติดเชื้อยังคงมีอาการป่วยอยู่ นั่นก็หมายความว่ายังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ภายในร่างกาย ซึ่งในประเทศออสเตรเลียนั้นได้มีการแนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับกรณีเช่นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า หากผู้ติดเชื้อยังคงมีอาการป่วยอย่างต่อเนื่องหลังจากพ้นระยะกักตัวแล้ว ผู้ป่วยนั้นก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังที่จะไม่แพร่เชื้อไวรัสให้กับผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เกิดภาวะโควิด รีบาวด์ แม้ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ เลย ก็อาจจะสามารถแพร่เชื้อไวรัสให้กับผู้อื่นได้
*ความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโควิด รีบาวด์
ดร.อาชิช จา ผู้ประสานงานการรับมือโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวเปิดเผยไว้ในทวิตเตอร์ว่า การกลับมาพบเชื้อซ้ำ (Rebound Infection) หลังได้รับยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยดร.แอนโทนี เฟาชี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของปธน.ไบเดนก็เผชิญกับปรากฏการณ์พบเชื้อซ้ำมาก่อนหน้าปธน.ไบเดนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจเชื้อบ่อยเท่ากับปธน.ไบเดนนั้น อัตราที่แท้จริงของการเกิดโควิด รีบาวด์ อาจจะอยู่ที่ราว 5%
ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การเกิดโควิด รีบาวด์หลังได้รับยาแพกซ์โลวิดนั้นแตกต่างหรือไม่จากการเกิดภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาแพกซ์โลวิด โดยในการทดลองที่นำไปสู่การอนุมัติใช้ยาแพกซ์โลวิดนั้น เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เกิดภาวะโควิด รีบาวด์นั้นเท่ากันระหว่างผู้ที่ได้รับและไม่ได้รับยาแพกซ์โลวิด
ดร.จาประมาณการว่า ผู้ใช้ยาแพกซ์โลวิดราว 5-8% จะเกิดภาวะโควิด รีบาวด์ และโดยทั่วไปแล้วภาวะโควิด รีบาวด์ไม่ได้ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรง
ขณะที่มีผู้ตั้งคำถามว่า แล้วการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาแพกซ์โลวิดนั้นยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ เว็บไซต์แชนแนลนิวส์เอเชีย.คอมได้รายงานความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ของดร.ลารา เฮอเรโร หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านไวรัสวิทยาและโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในรัฐควีนสแลนด์ของออสเตรเลียเอาไว้ว่า หากเป้าหมายของการใช้ยาคือการป้องกันอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง, ป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิตในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ยาแพกซ์โลวิดก็ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันกรณีต่าง ๆ ดังกล่าว
เมื่ออ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็คงรู้จักกับภาวะโควิด รีบาวด์กันแล้ว ซึ่งก็อาจจะสร้างความกังวลไม่มากก็น้อย เพราะถ้าใครติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว แต่เชื้อโควิดมันเกิดรีบาวด์กลับมาอีกโดยที่ไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจเชื้อซ้ำเพราะคิดว่าตัวเองหายดีแล้ว และไม่ได้มีอาการป่วยใด ๆ พวกเขาก็คงไม่รู้ว่าตัวเองยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย ไม่ได้กักตัว ไม่เว้นระยะห่าง และไม่ใส่หน้ากากอนามัย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับคนรอบข้าง ... หากพวกเขาได้กลายเป็นผู้แพร่เชื้อโดยไม่ตั้งใจ