In Focusจีนวิกฤตหนักหลังเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงสุดในรอบ 60 ปี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 24, 2022 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับเป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกันแล้วที่หลายภูมิภาคของจีนประสบกับคลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี โดยศูนย์สภาพภูมิอากาศแห่งชาติจีนระบุว่าจีนเผชิญคลื่นความร้อนติดต่อกันนานเกิน 70 วัน หลายมณฑลมีอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส จนทางการจีนต้องออกประกาศเตือนภัยแล้งทั่วประเทศที่ระดับ "สีเหลือง" ซึ่งต่ำกว่าระดับรุนแรงที่สุดสองระดับ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนที่ยาวนานเช่นนี้จะกลายเป็น "ความปกติใหม่" เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

  • น้ำแล้ง กระทบภาคการเกษตร

คลื่นความร้อนและภัยแล้งส่งผลให้แม่น้ำแยงซี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในทวีปเอเชียและยาวที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ซึ่งเป็นเส้นเลือดสายหลักที่พาดผ่านหลายมณฑลสำคัญของจีน มีระดับน้ำในบางช่วงลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จนสามารถมองเห็นพื้นดินด้านล่างได้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งแม่น้ำแยงซีระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลงถึง 30% ในเดือนก.ค. และอยู่ต่ำกว่าระดับปกติถึง 60% ส่วนทะเลสาบโผหยางในมณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีระดับน้ำลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของระดับปกติในช่วงนี้ของปี ขณะที่ทะเลสาบต้งถิง ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่อันดับสองของจีน ก็มีระดับน้ำต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การที่แหล่งน้ำสำคัญมีระดับน้ำลดลงอย่างมากส่งผลให้ประชาชนในหลายมณฑลได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากต้องใช้น้ำในการทำการเกษตรและปศุสัตว์ โดยกระทรวงเกษตรจีนแสดงความกังวลว่า คลื่นความร้อนและภัยแล้งที่ยืดเยื้อได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อพืชผลในฤดูใบไม้ร่วง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำของแม่น้ำแยงซี ขณะที่เขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศว่าจะปล่อยน้ำเพิ่มเพื่อเพิ่มอุปทานปลายทาง นอกจากนั้นจะมีการโยกย้ายปศุสัตว์บางส่วนออกจากพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกัน หน่วยงานเกษตรกรรมได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อดูแลปกป้องพืชผลที่เปราะบาง และขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อชดเชยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ทางการจีนได้เร่งทำฝนเทียมในหลายมณฑลทางภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเพื่อบรรเทาภัยแล้งด้วย

คลื่นความร้อนที่ปกคลุมภาคตะวันออกของจีนยังส่งผลให้ราคาไข่ไก่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากแม่ไก่ออกไข่น้อยลง โดยราคาไข่ไก่ปรับตัวขึ้นถึง 30% ในนครเหอเฟ่ย เมืองเอกของมณฑลอันฮุย และนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ส่งผลให้เกษตรกรต้องติดตั้งระบบทำความเย็นในโรงเลี้ยงไก่เพื่อบรรเทาปัญหาผลผลิตไข่ไก่ลดลง

  • ขาดแคลนไฟฟ้า กระทบภาคอุตสาหกรรม

อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ประชาชนใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมากจนเกิดปัญหาไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำก็ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง เพราะภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง โรงงานจำนวนมากจึงถูกบังคับให้ลดการผลิตหรือหยุดทำงานชั่วคราว เพราะรัฐบาลจีนต้องการรับประกันว่าประชาชนจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอก่อนเป็นอันดับแรก

ในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งยังเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ได้มีการประกาศขยายเวลาตัดไฟโรงงานบางแห่งไปจนถึงวันที่ 25 ส.ค. จากเดิมที่มีผลถึงวันที่ 20 ส.ค. เนื่องจากมณฑลเสฉวนพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมาก ขณะที่บริษัทใหญ่อย่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และบริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี ได้สั่งปิดโรงงานในมณฑลเสฉวนหลายวันแล้ว ส่วนทางด้านบริษัทเทสลา และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ของทั้งสองบริษัทอยู่ในมณฑลเสฉวน

นอกจากมณฑลเสฉวนแล้ว มณฑลอื่น ๆ เช่น ส่านซี เหอเป่ย หูหนาน อันฮุย เจียงซี เจียงซู และเจ้อเจียง ก็ประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเช่นกัน โดยทางการจีนได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า เช่น มีการรณรงค์ให้เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส หรือใช้บันไดแทนลิฟต์หากสามารถทำได้ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าบางแห่งถูกจำกัดเวลาในการเปิดให้บริการเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน

นางตาน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารฮั่งเส็ง ระบุว่า สถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก พร้อมกับเตือนว่าเริ่มเห็นการชะลอตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมปุ๋ย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการก่อสร้าง กสิกรรม และการผลิตโดยทั่วไป

  • เตรียมรับมือ "ความปกติใหม่"

หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของรัฐบาลจีนรายงานว่า นักอุตุนิยมวิทยาต่างคาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ในอนาคต โดยเฉิน หลี่จวน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติจีน กล่าวว่า คลื่นความร้อนจะกลายเป็นความปกติใหม่ อุณหภูมิจะสูงเร็วขึ้น ลดลงช้า และคงอยู่นาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

ขณะเดียวกัน เทียน อวิ้น อดีตรองผู้อำนวยการสมาคมเศรษฐกิจปักกิ่ง กล่าวว่า ความปกติใหม่นี้ก่อให้เกิดความท้าทายมากมายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน เช่น อุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งต้องพึ่งพาพลังงานอย่างมาก และจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งยกระดับอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งนำพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ตลอดจนเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ในภาคการเกษตร เช่น การวางระบบชลประทานใต้ผิวดิน การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อบรรเทาภัยแล้ง และการผสมผสานเกษตรกรรมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น บิ๊กดาต้าและเอไอ เพื่อบรรเทาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชผลทางการเกษตร

ทั้งนี้ มีความกังวลว่าสถานการณ์คลื่นความร้อนครั้งรุนแรงในจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการเติบโตทางเศรษฐกิจหนักยิ่งกว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียอีก อย่างไรก็ตาม ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของจีนพยากรณ์ว่า คลื่นความร้อนที่ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนจะค่อย ๆ ลดลงหลังวันที่ 25 ส.ค. และทางตอนใต้ของจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดอาจมีอุณหภูมิลดลงในวันที่ 26-27 ส.ค. ซึ่งเป็นการจุดประกายความหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ